Jump to content


Photo

เวิ่นเว้อเพ้อรสวรรณศิลป์


  • Please log in to reply
2 ความเห็นในกระทู้นี้

#1 ศรีปาด นะท่านนะ

ศรีปาด นะท่านนะ

    น้องใหม่

  • Members
  • Pip
  • 25 posts

ตอบ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 01:32

๏ จักเขียนกลอน ตอนลีลา มหาบท         ตามกำหนด สันสกฤต ลิขิตศรี
ว่ารสเล่า เก้าประเด็น ที่เห็นดี                  สมควรมี หมายช่อง ให้ต้องการณ์

หนึ่งควรมี จี้จก ตลกเหย้า                       มาป่วนเป้า ปลุกโปก โขยกขาน
สองควรมี เมตตา มหากาฬ                     ควรเขียนงาน เมตตา มหาคุณ

สามบทโกรธ โคตรแค้น ต้องแม้นเหมือน   ว่าสะเทือน แทรกไต จนไส้หมุน
สี่ควรปลุก ฉุกกล้า ไปคว้าบุญ                  เขียนคำหนุน หนักเนื่อง ไปเฟื่องแรง

ถึงบทกลัว รัวเกลา ให้เขลาขลาด              สำแดงบาท บทกลัว ที่ตัวแหยง
บทรังเกียจ เดียดฉันท์ ต้องหันแทง            ให้ตะแบง บทเหยียด เสนียดมัน

เจ็ดประดิษฐ์ พืศวง ให้งงนึก                     ให้ระทึก ทุกคำ ที่นำสรรค์
ซ่อนอุบาย หมายเลศ วิเศษณ์วรรณ           อัศจรรย์ แจ่มฟ้า ปัญญาไฟ

อย่าลืมขาน ศานติรส บทพระศาสน์           พุทธิปราชญ์ เปรื่องปรุง ให้พรุ้งไหว
สาธุธรรม คำสติ ให้ผลิใบ                        ให้งอกใน เนื้อความ จึงงามเอย

แปดข้อนั้น สันสกฤต ลิขิตไซร้                   แต่คนไทย ท่านกลับคิด ลิขิตเสย
ขมวดกลาง บางข้อ ให้ย่อเกย                   ไทยไม่เชย เชื่อมแหลก ให้แปลกบัง

เก้าสุดท้าย จึงหมายไว้ ว่าไทยเขียน           เป็นกลอนเรียน เรื่องความรส กำหนดขลัง
เสาวรสนีย์ นารีย์ปราโมทย์ พิโรธวาทัง        สัลลาปังคพิไสย กระไรฤา ๚ะ

เสาวรจนีย์ วลีเชิด                                บรรยายเลิศ รุ้งวาว และพราวผา
บรรยายโฉม โนมเนื้อ ทุกเสื้อบรา               ให้เห็นท่า ทางกลิ้ง ที่วิ่งเดิน

ส่วนนารีปราโมทย์ คือโอฐษ์อ้อย                น้ำตาลสร้อย แทรกพลี สตรีเขิน
สุนทรภู่ ครูเฒ่า ท่านเก๋าเกิน                       ท่านเขียนเยิน เยี่ยมยอด ตลอดกาล

ถึงม้วยดิน สิ้นฟ้า มหาสมุทร                        ไม่สิ้นสุด ความรัก สมัครสมาน
แม้นเกิดใน ใต้ฟ้า สุธาธาร                          ขอพบพาน พิศวาส ไม่คลาดคลา ( สุนทรภู่ )

อีกหนึ่งนาม ตามหมาย ถวายโกรธ               คือพิโรธวาทัง กำลังก๋า
ขณะเขียน ควรบ่น ถลนตา                          ปลุกภาษา สร้อยโหด ว่าโกรธมัน

สัลลาปังคพิไสย คือไหลโศก                        ว่าตกโตรก ตรมเต้า หรือเฝ้าฝัน
ว่ารักล่ม จมหนอง หรือคลองตัน                    เพ้อทั้งวัน ว้าวุ่น วัยรุ่นเซ็ง ๚ะ

๏ มีเก้าข้อ ขอเล่า มาเท่านี้                          ว่ากลอนดี เด่นงาม ตรงความขลัง
แม้นกลอนปาด อาจเลอะ หรือเกรอะกรัง         แต่ก็ยัง เขียนต่อ นะพ่อเอย ๚ะ๛


https://www.facebook...931?ref=tn_tnmn

Attached Images

  • 601873_518952488142243_15850847_n.jpg

Edited by ศรีปาด นะท่านนะ, 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 12:01.


#2 พระฤๅษี

พระฤๅษี

    มหาเมพ

  • Members
  • PipPipPipPipPipPipPip
  • 10,127 posts

ตอบ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 10:14

>>>>>>> ๔  อรรถรส....แห่งบทกวี..

......๑. เสาวรจนีย์,   ๒.นารีปราโมทย์,

......๓. พิโรธวาทัง. ๔. สัลลาปังคพิไสย.


Edited by พระฤๅษี, 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 10:18.


#3 kwan_kao

kwan_kao

    ขาประจำ

  • Members
  • PipPipPip
  • 1,444 posts

ตอบ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 12:55

ขออนุญาตเสริมนะค่ะ

 

 

รสในวรรณคดีนอกจาก 4 รสหลัก
 
แล้วยังแบ่งโดยยึดหลักแบบวรรณคดีสันสกฤตได้อีก 9 รส
 
หาสยรส (รสแห่งความขบขัน)
เป็นการพรรณนาที่ทำให้เกิดความร่าเริง สดชื่น เสนาะ ขบขัน
อาจทำให้ผู้อ่าน ผู้ดูยิ้มกับหนังสือ ยิ้มกับภาพที่เห็น ถึงกับลืมทุกข์ดับกลุ้มไปชั่วขณะ
เช่น เรื่องระเด่นลันได เป็นต้น (บาลีเรียกรสนี้ว่า หาสะรส)

กรุณารส (รสแห่งความเมตตากรุณาที่เกิดภายหลังความเศร้าโศก)

เป็นบทพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านหดหู่เหี่ยวแห้ง เกิดความเห็นใจถึงกับน้ำตาไหล พลอยเป็นทุกข์

เอาใจช่วยตัวละคร

เช่น เห็นใจนางสีดา เห็นใจจรกา และเห็นใจนางวันทอง เป็นต้น(บาลีเรียกรสนี้ว่า โสกะรส)

 

 

รุทรรส/เราทรรส (รสแห่งความโกรธเคือง)

บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้ผู้ดูผู้อ่านขัดใจฉุนเฉียว ขัดเคืองบุคคลบางคนในเรื่อง

บางทีถึงกับขว้างหนังสือทิ้ง หรือฉีกตอนนั้นก็มี

เช่น โกรธขุนช้าง โกรธชูชก(บาลีเรียกรสนี้ว่า โกธะ)

 

วีรรส (รสแห่งความกล้าหาญ)

บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่าน ผู้ดู ผู้ฟังพอใจผลงานและหน้าที่

ไม่ดูหมิ่นงาน อยากเป็นใหญ่ อยากร่ำรวย อยากมีชื่อเสียง เลียนแบบสมเด็จพระนเรศวร

ชอบความมีขัตติมานะของพระมหาอุปราชา

จากเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย (บาลีเรียกรสนี้ว่า อุตสาหะรส)

 

ภยานกรส (รสแห่งความกลัว ตื่นเต้นตกใจ)

บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านผู้ฟัง ผู้ดู มองเห็นทุกข์ เห็นโทษ

เห็นภัยในบาปกรรมทุจริต เกิดความสะดุ้ง

กลัวโรคภัยสัตว์ร้าย ภูตผีปีศาจ

บางครั้งต้องหยุดอ่าน รู้สึกขนลุกซู่

อ่านเรื่อง ผีต่างๆ (บาลีเรียกรสนี้ว่า อุตสาหะรส)

 

พีภัตสรส (รสแห่งความชัง ความรังเกียจ)

บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านผู้ดู ผู้ฟังชังน้ำหน้าตัวละครบ้างตัว

เพราะจิต(ของตัวละคร) บ้าง เพราะความโหดร้ายของตัวละครบ้าง

เช่น เกลียดนางผีเสื้อสมุทร ในเรื่องพระอภัยมณีที่ฆ่าพ่อเงือก เป็นต้น (บาลีเรียกรสนี้ว่า ชิคุจฉะรส)

 

อัทภูตรส (รสแห่งความพิศวงประหลาดใจ)

บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้นึกแปลกใจ เอะใจ อย่างหนัก

ตื่นเต้นนึกไม่ถึงว่าเป็นไปได้เช่นนั้น หรือ อัศจรรย์คาดไม่ถึงในความสามารถ

ในความคมคายของคารม ในอุบายหรือในศิลปวิทยาคุณแปลกใจในสุปฏิบัติ

(ความประพฤติที่ดีงาม)แห่งขันติ เมตตา กตัญญู

อันยากยิ่งที่คนธรรมดาจะทำได้ (รสนี้บาลีเรียก วิมหะยะรส)

ศานติรส(รสแห่งความสงบ)

อันเป็นอุดมคติของเรื่อง

เช่น ความสงบสุขในแดนสุขาวดี ในเรื่อง วาสิฏฐี

อันเป็นผลมุ่งหมายทางโลกและทางธรรม

เป็นผลให้ผู้อ่าน ผู้ดู ผู้ฟัง เกิดความสุขสงบ

ในขณะได้เห็นได้ฟัง ตอนนั้น ด้วย (บาลีเรียกรสนี้ว่า สมะรส)

 

 

เครดิต  ครูวิมลรัตน์ สืบชมภู

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1665.0


ขอเป็นเพียงดินก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่งของพ่อ ก็ภูมิใจแล้ว




ผู้ใช้ 0 ท่านกำลังอ่านกระทู้นี้

สมาชิก 0 ท่าน, ผู้เยี่ยมชมทั่วไป 0 ท่าน และไม่เปิดเผยตัวตน 0 ท่าน