รัฐบาล"ยกธงยอมถอยโครงการจำนำข้าว เตรียมพิจารณาปรับนโยบายใหม่ให้สอดรับสถานการณ์ราคาข้าวตลาดโลก รับผิดพลาดประเมินราคาสูง ชี้ตลาดโลกเปลี่ยน
โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย กรณีการใช้เงินทุน ไปจำนวนมากกว่า 6 แสนล้านบาท และประสบปัญหาขาดทุนมหาศาล ซึ่งจะส่งผลกระทบฐานะการคลังของประเทศ รวมทั้งการปรับลดอันดับเครดิต จากสถาบันจัดอันดับเครดิตระหว่างประเทศ ส่งผลให้รัฐบาลได้รับแรงกดดันในการทบทวนนโยบาย
โดยล่าสุด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจปรับนโยบายเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลก ณ ขณะนี้ และการปรับเปลี่ยนนโยบายใดๆ ทางรัฐบาลก็จะพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ "ผมได้เรียนท่านนายกฯ ไปว่า ดอกเบี้ยยังปรับได้เลย ดังนั้นการจะเปลี่ยนโครงการอะไรต่างๆ ก็น่าจะทำได้ แต่ให้ขึ้นกับสถานการณ์ด้วย การที่เรารับจำนำข้าวในราคานั้น ณ เวลานั้น ก็พยายามจะขายข้าวในราคาที่เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ แต่เมื่อตลาดโลกมีความแตกต่างออกไป มีความผันผวนเรื่องค่าเงินเข้ามาด้วย อีกทั้งสินค้าเกษตรประเภทคาร์โบไฮเดรต ชนิดอื่นๆ ทั่วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็จำเป็นต้องดูข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบ ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงการก็ได้"นายกิตติรัตน์ กล่าว
รัฐบาลจะใช้ข้อมูลต่างๆ นำมาพิจารณาอย่างดี ซึ่งถ้าดูการบริหารเศรษฐกิจตลอดปี 2555 จะเห็นว่า จีดีพี ของประเทศเติบโตขึ้น 1 ล้านล้านบาท จากการช่วยกันทำงานของหลายๆ ฝ่าย ในส่วนของกระทรวงการคลังก็พยายามยึดวินัยการคลังที่เข้มแข็ง ดังนั้นก็ไม่อยากให้เกิดภาระกับงบประมาณมากเกินไปเช่นกัน สำหรับตัวเลขที่ออกมาจาก คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว นั้น แม้ตัวเลขดังกล่าวยังไปไม่ถึง กขช. เพราะติดในเรื่องของกระบวนการขั้นตอน แต่รัฐบาลเองก็ได้ใช้ข้อมูลนี้ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ด้วยเช่นกัน
"ปรีดิยาธร"ยันตัวเลขขาดทุนถูกต้อง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตัวเลขการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มาจากคณะกรรมการปิดบัญชีพืชผลทางการเกษตร เป็นตัวเลขที่มาจากกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เป็นทางการ โดยข้อมูลนั้นได้มีการแยกปีการผลิตเอาไว้แล้ว โดยในโครงการนาปี 2554/2555 คือ ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2554-เดือนก.พ. 2555 มีการขาดทุนในโครงการ 42,900 ล้านบาท และช่วงนาปรัง 2555 จากเดือนมี.ค. 2555-ต.ค. 2555 มีการขาดทุนอีก 93,900 ล้านบาท รวม 136,800 ล้านบาท วิธีคิดของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีที่ปิดบัญชีเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2556 นั้น รวมดอกเบี้ยคงค้างของการดำเนินโครงการ ขณะที่ข้าวยังขายไม่ได้ ซึ่งอยู่ในโกดังมากถึง 3 ใน 4 ของข้าวที่เข้าโครงการทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับการขายข้าวได้หมด โดยปกติอ้างอิงจากข้อมูลเดิมหากจำนำข้าวสูงเกิน 7 ล้านตัน ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี แต่ขณะนี้มีสูงถึง 21 ล้านตัน "สมมติว่าเราให้เครดิตรัฐบาลว่ามีความสามารถในการระบายข้าวในสต็อกได้หมดภายใน 4 ปี แต่ต้องยอมรับว่าใน 4 ปีจากนี้มันจะมีค่าบริหารจัดการ ได้แก่ ค่าเก็บข้าวสาร ค่าเช่าโกดังที่ต้องจ่ายปีละหลายพันล้าน ค่าดอกเบี้ยที่คิดจากเงินที่รัฐบาลกู้มาใช้ในโครงการคิดดอกเบี้ยแค่ 1% รัฐบาลก็ยังต้องแบกรับภาระค่าดอกเบี้ยปีละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และยังมีค่าเสื่อมปีละ 10% คิดไป 4 ปีเสื่อมลงไม่ต่ำกว่า 40% บวกค่าใช้จ่ายในโครงการจะเท่ากับปีละ 2 หมื่นล้านบาท รวม 8 หมื่นล้านบาท รวมกับผลขาดทุนกว่า 1.38 แสนล้านบาท ก็ถึง 2 แสนล้านบาทแน่นอน"
ชี้ลดราคาจำนำค่าโง่ไม่ได้ลด
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการปรับปรุงโครงการ โดยลดราคารับจำนำข้าวที่จะเข้าโครงการลง จะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การลดราคารับจำนำข้าว หรือลดวงเงินในการดำเนินโครงการลง ไม่ใช่การแก้ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวที่ถูกต้อง เนื่องจากขณะนี้เงินที่ใช้ในโครงการส่วนใหญ่ใช้ไปกับค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ไม่ใช่เงินที่จ่ายให้กับชาวนา โดยผลการขาดทุนที่เกิดขึ้น 2 แสนล้านบาท ชาวนาได้เงินเพียง 8 หมื่นล้านบาท โดยได้แค่ส่วนต่างระหว่างราคารับจำนำกับราคาตลาด ขณะที่อีก 1.2 แสนล้านบาท ไปเสียเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ดอกเบี้ย เงินที่รั่วไหลเบี้ยบ้ายรายทาง และค่าเสื่อมของข้าวที่เกิดจากการที่รัฐบาลอุตริเอาข้าวมาเก็บไว้เองแล้วก็ขายไม่เป็น ซึ่งมูลค่าที่ข้าวเสื่อมราคาในระยะเวลา 4 ปี จะเป็นเงินรวมกันถึงประมาณ 1 แสนล้านบาท "การลดราคารับจำนำทำให้ชาวนาได้เงินลดลงไปอีก แต่ค่าใช้จ่ายในโครงการยังเท่าเดิม ซึ่งเท่ากับว่าส่วนที่เสียค่าโง่ยังไม่ได้ลดลง การแก้ไขโครงการรับจำนำข้าวจะต้องหาทางออกที่ดี อยากให้ใช้สมองคิดให้มากกว่านี้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ทีดีอาร์ไอหนุนรัฐลดราคาจำนำ
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ตัวเลขโครงการรับจำนำข้าวที่ออกมามีผลการขาดทุนที่สูง และแนวโน้มในอนาคตก็คือจะมีการใช้เงินในโครงการนี้และมีการขาดทุนที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลที่บ่งชี้ไปในทางนี้ก็น่าจะเพียงพอให้รัฐบาลแก้ไขโครงการได้เพราะไม่เช่นนั้นจะมีความเสียหายมาก "ในความเห็นของนักวิชาการต่อโครงการจำนำข้าวนั้น ควรยกเลิก และไม่ควรมีตั้งแต่เริ่มต้นด้วยซ้ำ แต่ในทางการเมืองก็คงไม่ใช่ และยังคงต้องมีอยู่ ซึ่งจะต้องมีการปรับรูปแบบ ส่วนจะปรับอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับฝั่งการเมือง จะตอบสนองข้อสังเกตหรือข้อกังวลของสังคมได้อย่างไร กรณีที่มีแนวคิดปรับลดราคารับจำนำลงมานั้น ผมก็คิดว่า ช่วยได้ เพราะต้นทุนราคาซื้อจะน้อยลง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาขายออกด้วย ถ้าราคารับซื้อลดลง แต่ถ้าตอนระบายไม่ดี ก็จะทำให้ผลขาดทุนยังเหมือนเดิม" เขากล่าว
กขช.ยืดเวลาสรุปขาดทุนไป 17 มิ.ย.
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) วานนี้ (13 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีไปศึกษาในรายละเอียด และให้พิจารณาตัวเลขของแต่ละหน่วยงานประกอบ เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าจะใช้ตัวเลขใด ในการทำการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว โดยให้ได้ข้อสรุปเพื่อนำเสนอให้ กขช. พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย. 2556 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของกระทรวงการคลัง ที่มี นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งนางสาวสุภาได้ยืนยันต่อ กขช. ว่า ตัวเลขการขาดทุนจำนำสูงถึง 2.6 แสนล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขที่ไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารรายงานที่ได้จัดทำขึ้นมา "กขช. ได้มีมติรับทราบรายงานฉบับนี้เป็นทางการ แต่ยังมีหลายส่วนที่ไม่สามารถสรุปได้ ขอให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีนำกลับไปศึกษา โดยเฉพาะการลงบัญชีสินค้าคงเหลือ ที่สามารถลงได้ 2 ลักษณะ คือ ใช้ราคาตลาดต่ำสุด กับใช้ราคาต้นทุนที่รับจำนำมา ซึ่งคลังได้ใช้ตัวเลขแรก และเป็นตัวเลขที่ขาดทุนสูงสุด" นายบุญทรง กล่าว
คลังชี้ขาดทุน 1.36 แสนล้าน ปี 2554/55
สำหรับรายละเอียดของการปิดบัญชี โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ พบว่า มีรายได้ 34,197.36 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 77,160.49 ล้านบาท ขาดทุน 42,963.13 ล้านบาท นาปรัง 2555 มีรายได้ 24,943.96 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 118,877.62 ล้านบาท ขาดทุน 93,933.67 ซึ่งรวมเฉพาะปี 2554/55 ทั้งนาปี นาปรัง มีรายได้รวม 59,141.32 ล้านบาท ขาดทุน 196,038.11 ล้านบาท โดยขาดทุนเพียง 136,896.80 ล้านบาท ซึ่งวิธีการคำนวณนี้เป็นตัวเลขการคำนวณผลกำไร (ขาดทุน) สุทธิซึ่งใช้สมมติฐานว่าขาดทุนสูงสุด เพราะใช้ราคาตลาดต่ำสุด ณ วันปิดบัญชีมาคำนวณเป็นมูลค่าสินค้าคงเหลือ ส่วนตัวเลขของปี 2555/56 ยังไม่สามารถสรุปโครงการได้ เพราะอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ
พาณิชย์ยันขาดทุน 3.4 หมื่นล้าน
ส่วนการคำนวณของกระทรวงพาณิชย์ ข้าวเปลือกนาปี 2554/55 มีรายได้ 29,511 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 47,685.60 ล้านบาท ขาดทุน 18,174.60 ล้านบาท ข้าวเปลือกนาปรัง 2555 มีรายได้ 20,401 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 37,071.44 ล้านบาท ขาดทุน 16,670.44 ล้านบาท หรือรวมทั้งปี มีรายได้ 49,912 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 84,757.04 ล้านบาท หรือขาดทุนเพียง 34,845.04 ล้านบาท "การคำนวณของกระทรวงพาณิชย์ ได้รวมค่าใช้จ่ายรวมค่าสีแปรและค่าจัดการ แต่ยังไม่รวมต้นทุนดอกเบี้ย เป็นการคำนวณผลกำไรขาดทุนสุทธิ ซึ่งใช้สมมติฐานของการคำนวณเฉพาะต้นทุน ทั้งที่ได้รับมาและส่งมอบ รับเงินแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เอาตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ณ วันคำนวณ สินค้าคงเหลือ ถือว่ายังไม่ได้ส่งมอบ รับเงิน จึงไม่นำมาคำนวณรวมค่าใช้จ่าย จึงทำให้ตัวเลขขาดทุนของกระทรวงพาณิชย์ ต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังคำนวณ "นายบุญทรงกล่าว สำหรับวิธีการคำนวณของทั้งสองหน่วยงาน ถือว่ามีการใช้หลักการทางบัญชีสากล ซึ่งมี 2 รูปแบบคือ การคำนวณสต็อกที่เหลือตามราคาตลาด และการคำนวณมูลค่าสต็อกตามต้นทุนที่รับซื้อมา
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง โดย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง และนางสาวสุภาเข้าร่วมด้วย ขณะที่บรรยากาศในหน้าห้องประชุม มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมมากกว่า 50 คน ซึ่งคาดว่าจะมาร่วมประชุม แต่ไม่สามารถเข้าร่วมในห้องได้ เนื่องจากอนุญาตให้เฉพาะคณะกรรมการ กขช.เท่านั้น ส่วนหลังการประชุมแล้ว นายบุญทรง ไม่ได้นั่งแถลงข่าว แต่ออกมายืนให้สัมภาษณ์หน้าห้องประชุม โดยมีเวลาจำกัดสำหรับการซักถามของผู้สื่อข่าว
http://www.bangkokbi...äËÃèäÁèÊÃػ.html
เห็นแล้วนึกถึงตอนเลือกตั้ง สมัยที่ยังดูสอยุดเรียก 2 พรรคมาดีเบต พรรคหนึ่งก็ส่งไอ้เหียกที่ได้เป็น รมตวย พลังงานคนแรก ที่แจกคูปองพลังงาน แพงชิหายวายวอดไปทั้งแผ่นดินต่อมานั่นแหละ กับอีกฝ่ายก็ส่งหมอที่เกาะติดเรื่องนี้ไป... อีกฝ่ายพูดอย่างเดียว... ดีแน่นอน ทำได้ ไม่รู้จริง ฯลฯ แล้วไอ้สอยุดก็เบรคอีกฝ่ายเวลาจะอธิบายตลอด...