บะหมี่ยอดขายวูบ-สัญญาณหายนะ ประจานแม้วคิด-ปูทำ!!
http://www.manager.c...D=9560000073844
การสะท้อนดัชนีชี้วัดการเติบโตหรือถดถอยทางด้านเศรษฐกิจบางครั้งอาจไม่มีอะไรซับซ้อนหรืออ้างอิงตัวเลขอะไรมากมาย เพียงแค่พิจารณาจากยอดขายของสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการก็สามารถชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมได้เป็นอย่างดี อย่างกรณีที่มีการเปิดเผยตัวเลขจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือสหพัฒน์ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนาที่ระบุว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซา ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ทำให้ส่งผลกระทบไปถึงยอดขายของเครือสหพัฒน์ที่คาดว่าในปีนี้ทั้งปีจะเติบโตแค่ร้อยละ 4-5 เท่านั้น จากปกติจะโตปีละร้อยละ 10 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 10 ปี
ประธานเครือสหพัฒน์ยังระบุอีกว่า สาเหตุสำคัญมาจากนโยบายของรัฐบาล เช่น รถคันแรก และค่าแรงวันละ 300 บาท เป็นต้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นการประจานผลงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงประจานความล้มเหลวของระบบคิดของ ทักษิณ ชินวัตร ที่บอกว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพราะสิ่งที่ทักษิณคิดล้วนสะท้อนออกมาเป็นนโยบาย “ประชานิยม” ของรัฐบาลชุดนี้ทั้งสิ้น
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า นโยบายประชานิยมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น “จำนำข้าว” ที่เจ๊งบักโกรกกว่า 200,000 ล้านบาท และกำลังปกปิดบิดเบือนกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดในเวลานี้ นโยบายรถคันแรก ค่าแรงวันละ 300 บาท กลับไปสร้าง “ผลกระทบในมุมกลับ”ได้อย่างไร ในเมื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ก็น่าจะเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตไปด้วย เหมือนกับว่า “หมุนไปหลายรอบ”
แต่ในความเป็นจริงก็คือ หากยกตัวอย่างกรณีโครงการ “รถคันแรก” ก่อน ที่ทุกอย่างกำลังกลับตาลปัตร เพราะกำลังกลายเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจหดตัว กระทบเป็นลูกโซ่ และที่สำคัญกำลังสร้าง “หนี้เสีย” ให้กับภาคครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่ต้องรับรู้กันก็คือ คนส่วนใหญ่ที่ซื้อรถคันแรกล้้วนแล้วแต่เป็นคนหนุ่มสาว เพิ่งทำงานมีเงินเดือนได้ไม่นาน และมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 2 หมื่นบาท เมื่อต้องมีภาระต้องผ่อนค่างวด 6-8 พันบาท บวกด้วยค่าน้ำมัน (อาจมีค่าทางด่วนและค่าจอดรถ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีบ้านต้องเช่าอพาตเมนท์และเมื่อนำมารวมกับค่าใช้จ่ายประจำที่เป็นค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นประจำวันทำให้เป็นภาระหนัก หรือเงินไม่พอจ่าย และนี่คือคำตอบว่าทำไมบรรดาห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงสินค้าขายไม่ออก เพราะคนไม่ออกไปไหน หรือไปแล้วก็ซื้อน้อยหรือไม่ซื้อ
จากข้อมูลของเครือสหพัฒน์ที่ถือว่าเป็นเจ้าตลาดสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือนที่จำเป็นทุกอย่าง ยังได้รับผลกระทบหนักแบบนี้ มันก็ย่อมเป็นยืนยันแบบเถียงไม่ออกว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวหรืออาจเข้าขั้นถดถอยในอนาคตก็เป็นได้ เพราะจากข้อมูลที่น่าตกใจก็คือเวลานี้ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังยอดขายตก” ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกก็เป็นได้ เพราะหากให้น้อนกลับไปในปี 2540 คราวเกิด"วิกฤติต้มยำกุ้ง" แม้ว่าสินค้าอื่นจะขายไม่ได้ แต่สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยอดขายกลับพุ่งพรวดโตสวนทาง เมื่อเป็นแบบนี้ก็ต้องถือว่าแย่จริงๆ
ขณะเดียวกัน อีกแง่มุมหนึ่งยังไม่นับเรื่องการยกเลิกใบจอง เลื่อนการขอรับรถ รวมไปถึงการค้างชำระค่างวดที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
สำหรับผลจากนโยบายขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาทก็เช่นเดียวกัน บอกว่าเป็นการเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังการใช้จ่ายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เอาเข้าจริง มันก็ไม่ได้เพิ่มจริง เพราะสินค้าราคาแพงขึ้นจากต้นทุนดังกล่าว มิหนำซ้ำสวัสดิการก็จะถูกนำมารวมกับต้นทุนค่าแรงอีก รวมไปถึงเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างอีกไม่น้อย หรือแม้แต่ที่อ้างว่าชาวนามีรายได้เพิ่มจากนโยบายจำนำข้าวนั้น จากสำรวจในวันแรงงานที่ผ่านมาผลก็ออกมาว่า ทั้งคนงานและชาวนามีความเป็นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังพบว่ามีปัญหา “หนี้ครัวเรือน” เพิ่มขึ้นด้วย
สิ่งที่สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวมก็คือ สัญญาณเตือนล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่เพิ่งส่งตัวแทนเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยคาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้“จะไม่เป็นไปตามเป้า”ที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าเอาไว้ว่าเกินร้อยละ 5 พร้อมทั้งเตือนเรื่อง “หนี้ครัวเรือน-โครงการจำนำข้าว” ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารโลกที่เตือนในเวลาไล่เลี่ยกันว่าให้ระวังภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเห็นสัญญาณจาก “ไตรมาสแรก” มาแล้ว แต่ที่น่าจับตาที่สุดก็คือการคาดการณ์จาก บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา บิ๊กสหพัฒน์ ที่ระบุว่าน่าจะโตแค่ร้อยละ 2-3 เท่านั้น ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงยิ่ง
นี่ยังไม่นับกรณีที่สถาบันจัดอันดับ “มูดี้ส์” ออกโรงเตอนว่าอาจจะลดเครดิตไทยลงมาในปลายปีนี้จากกรณีความไม่โปร่งใส มีความพยายามปกปิดตัวเลขขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว ก็ภาวนาว่าอย่าให้เกิดขึ้น เพราะหากเกิดขึ้นจริงถือว่าหายนะอย่างชัดเจน ที่สำคัญ “โคตรเงินกู้ 2 ล้านล้าน”ที่เมื่อรวมเงอนต้นดอกเบี้ยเดิมคำนวณไว้ที่ 5 ล้านล้านบาทจะพุ่งพรวดไม่ต่ำกว่า 7 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี เมื่อหันมาพิจารณาจากความเชื่อมั่น และการประเมินการทำงานจากนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำที่สำรวจโดย “กรุงเทพโพลล์” ก็ให้คะแนนรัฐบาลสอบตก โดยจากคะแนนเต็มสิบได้แค่ 4 กว่าเท่านั้น รวมทั้งตัวนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจล้วนสอบตกกราวกรูด โดยเฉพาะ บุญทรง เตริยาภิรมย์ ผลออกมา “ห่วยแตก” ที่สุด มันก็ยิ่งชวนหดหู่ไร้ความหวังไปอีก
ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคตที่รับรู้ได้จากสถานการณ์จริง ไม่มีเรื่องการเมืองมากล่าวหา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นดัชนีชี้วัดได่อย่างดี ว่าแนวโน้มความเดือดร้อนชาวบ้านตั้งแต่ระดับชนชั้นกลางลงมาในอีกไม่ช้า!!