(ที่มา:ข่าวหน้า 1 มติชนรายวัน 24 มิ.ย.2556)
ผบก.ปอ ท.เตือนนักท่องเที่ยวสังคมออนไลน์ โพสต์ข้อความต่อว่า-เสียดสีระวังเจอคดีหมิ่นประมาท โทษถึงคุกไม่เกิน 5 ปี ชี้ตำรวจจับตาดูอยู่ ไม่ต้องรอให้แจ้งความก่อน จับได้ทันที
เมื่อ วันที่ 23 มิถุนายน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) กล่าวถึงการกระทำความผิดทางโลกโซเชียลมีเดียที่มีมากขึ้น ว่า ปัจจุบันพบว่าเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด เป็นคดีที่มีเนื้อหาความผิดเกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทต่อบุคคลทางโลกโซ เชียลมีเดีย ในลักษณะการโพสต์ข้อความต่อว่ากันไปมาระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ด้วยคำพูดหยาบคาย รุนเเรงเเละหมิ่นประมาท ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งการกระทำลักษณะนี้จะเข้าข่ายการกระทำความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทและมี ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีเเละปรับไม่เกิน 1 เเสนบาท อีกด้วย
"ลักษณะ การบิดเบือนข้อมูล ตัดต่อภาพ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามถ้าหากข้อมูลเป็นเท็จ เเละทำให้ผู้อื่นเสียหายนั้นเป็นความผิดหมด อีกทั้งหากมีการดัดแปลงข้อมูลหรือข้อความเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้อง ทางก็ตำรวจจะตรวจสอบดูเนื้อความว่าสื่อถึงผู้เสียหายหรือไม่ เเละหลายครั้งต้องตรวจสอบดูความต่อเนื่องของการกระทำนั้นประกอบ เพราะหากทำครั้งเดียวอาจจะไม่สื่อ เเต่หากมีการทำหลายครั้ง ตำรวจก็จะวิเคราะห์เเละจับใจความให้ได้ว่า มีเป้าหมายสื่อถึงใครหรือต้องการโจมตีทำร้ายใคร เรียกว่าดูเจตนาเป็นสำคัญ" พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื่องจากความรุนเเรงเเละเกิดคดีความทางโลกไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการปรับเเก้กฎหมายให้มีความรุนเเรงมากขึ้นหรือไม่ พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า จะไม่มีการปรับเเก้กฎหมายหรือบทลงโทษ เพราะโทษที่ได้รับในปัจจุบันนั้นมีความรุนเเรงอยู่เเล้ว เพียงเเต่ว่าต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ผู้ใช้งานก็จะเริ่มเกิดความกลัวมากขึ้นเอง
"ตอนนี้ตำรวจอยู่ระหว่าง ช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี กำลังพยายามทำให้ตำรวจเข้มเเข็งเเละมีประสิทธิภาพ เชี่ยวชาญในเรื่องการใช้งานทางคอมพิวเตอร์มากกว่านี้ เพราะปัจจุบันมีตำรวจเก่าๆ มากมาย เราก็พยายามเติมความรู้ความสามารถให้เเก่พวกเขาอยู่ โดยจัดการอบรมกับตำรวจเพื่อให้ทำงานทางด้านเทคโนโลยีได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งให้มีความรู้ความเข้าใจในการสืบสวนสอบสวนคดีประเภทนี้ เพื่อเเก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชนเบื้องต้นก่อน เเละหากเกินขีดความสามารถก็จะส่งให้ตำรวจ ปอท.เข้าไปช่วย" พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว
พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าวว่า ปัจจุบันตำรวจ ปอท. เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเรื่องเทคโนโลยี มีจำนวนเพียงเเค่ 200 คนเเต่ต้องรับผิดชอบผู้ใช้งานทั่วประเทศ ถือว่าเกินกำลัง ตอนนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ให้โจทย์ทาง ปอท.ปรับเพิ่มกำลังคน เเละเครื่องมือในการดูเเล นอกจากนี้ การดำเนินคดีความทางโลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบันนั้น ไม่ต้องรอให้ผู้ใดมาเเจ้งความก่อนตำรวจถึงจะดำเนินการ เพราะตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน่วยที่เฝ้าจับตาดู หากพบเจอการกระทำความผิดก็จะดำเนินการทางกฎหมายทันที
"ฝากถึงผู้ใช้ งานโลกโซเซียลมีเดียอีกด้วยว่า ขอให้ใช้อย่างมีสติ สร้างสรรค์ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเเละอย่าไปละเมิดสิทธิผู้อื่น" พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า กฎหมายได้กำหนดให้การโพสต์ข้อความอันเข้าข่ายหมิ่นประมาทนั้น อาจเสี่ยงที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาใน 3 มาตรา ดังนี้
1) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
2) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 "ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงบันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท"
3) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 "ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหาย แก่ชื่อเสียง หรือ เกียรติคุณ ของบุคคลอื่น ก็ดี หรือ เป็นที่เสียหาย แก่ทางทำมาหาได้ หรือ ทางเจริญของเขา โดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหาย อย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ ผู้ใด ส่งข่าวสาร อันตนมิได้รู้ว่า เป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้น มีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้น หาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่"
ดังนั้น การโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่า คนโพสต์จะเป็น "ผู้ใด" หากทำให้คนอื่นเสียหาย ก็เป็นความผิดตามกฎหมายได้ เนื่องจากการ หมิ่นประมาทถ้าได้โพสต์หรือกล่าวพาดพิง ถึงใครให้คนอื่นฟัง ก็ถือเป็นการ "ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม" ถ้าข้อความที่โพสต์ ทำให้ผู้อ่านรู้สึก ไม่ดีกับผู้ที่ถูกกล่าวพาดพิงย่อมเป็นการโพสต์หรือกล่าวที่อาจเข้าข่าย "โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง" ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายได้ และเมื่อได้โพสต์ในอินเตอร์เน็ต ถือเป็นการ "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา"
"ตายแน่พวกแมงหวาบ พวกสลิ่ม พวกโพสด่านายกปู ด่ารัฐบาลต้องจับให้หมด"
admin เพจ go6 tv ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้