ถึงนาทีนี้ก็ต้องบอกว่าชัดเจนแล้วสำหรับผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่าประสบกับความล้มเหลวอย่างชัดเจน หลังจากที่ล่าสุดกลุ่มบีอาร์เอ็นได้เสนอเงื่อนไขเพิ่มเติมกรณีเรื่องข้อตกลงลดการก่อเหตุในช่วงเดือนรอมฎอน ถึงขั้นเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐไทยถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข้อเสนอที่ฝ่ายรัฐไทยไม่สามารถที่จะตอบรับได้เลย
แกนนำบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย ได้เผยแพร่คลิปคำประกาศของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ครั้งที่ 4 ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย. โดยเงื่อนไขเรื่องการ ยุติก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน แต่ไทยต้องถอนทหารจากภาคอื่นและตำรวจจากส่วนกลางพ้นพื้นที่ชายแดนใต้
คลิปดังกล่าวมีความยาว 5.13 นาที มี นายฮัสซัน พูดเพียงคนเดียว โดยเป็นการกำหนดเงื่อนไขต่อรัฐบาลไทย ซึ่งยังคงใช้คำเรียกขานว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" ทั้งต่อกรณีที่บีอาร์เอ็นจะยุติการก่อเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน และการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไปที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้วย
นายฮัสซัน ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยและตัวแทนบีอาร์เอ็น กล่าวผ่านคลิปว่า ฝ่ายบีอาร์เอ็นลงมติที่จะยุติปฏิบัติการทางทหารตลอดช่วงเดือนรอมฎอน และ 10 วันแรกของเดือนชาวัล หรือเดือนเชาวาล เดือนต่อจากเดือนรอมฎอน ตามข้อตกลงจากการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยเมื่อ 13 มิ.ย.2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีเงื่อนไขและขอบเขตดังต่อไปนี้
1.ให้ถอนกำลังทหารและทหารพรานจากกองทัพภาค 1,2 และ 3 รวมทั้งตำรวจที่มาจากส่วนกลางออกจากดินแดนปาตานี คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และห้าอำเภอของ จ.สงขลา (ในคลิปใช้คำว่า 5 อำเภอ)
2.แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และห้าอำเภอของ จ.สงขลา) ให้อยู่ค่ายใหญ่ของแต่ละหน่วย
3.ให้ถอนกำลังตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดนออกจากเขตหมู่บ้านในปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และห้าอำเภอของ จ.สงขลา)
4.ปล่อยบรรดา อส.(อาสารักษาดินแดน) ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ให้ประจำการตลอดช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถปฏิบัติศาสนกิจและสามารถใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์
5.นักล่าอาณานิคมสยามไม่สามารถทำการโจมตี การสกัดถนน และการจับหรือควบคุมตัวอย่างเด็ดขาด
6.นักล่าอาณานิคมสยามไม่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอนได้
7.ขอบเขตและเงื่อนไขดังกล่างต้องมีการลงนามของนายกรัฐมนตรีของฝ่ายนักล่าอาณานิคมสยาม (รัฐสยาม) และต้องทำการประกาศในวันที่ 3 กรกฎาคม 2013
นายฮัสซัน ย้ำด้วยว่า ขอบเขตและเงื่อนไขดังกล่าวต้องมีการลงนามโดยนายกรัฐมนตรีไทย และต้องประกาศในวันที่ 3 ก.ค.2556 ก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนตามปฏิทินอิสลาม
ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นผ่านนายฮัสซัน ยังให้รัฐบาลไทยมีคำสั่งไม่ขายเหล้าหรือของมึนเมา รวมทั้งปิดสถานบันเทิงและแหล่งอบายมุขตลอดช่วงเดือนรอมฎอน พร้อมให้ทุกคนในสังคม ประชาสังคม องค์กรเอ็นจีโอ โดยเฉพาะบุคคลสำคัญทางด้านศาสนาในปาตานีให้ความสำคัญแก่เงื่อนไขและขอบเขตดังกล่าวด้วย ในตอนท้ายของคลิป นายฮัสซัน ได้ระบุคำเตือนว่า การเจรจาสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทยจะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่ไทยยังไม่ดำเนินและให้คำตอบต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของไทยด้วย
นอกจากนั้นยังต้องประกาศให้การเจรจาสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ จะไม่มีการเจรจาลับอีก และต้องกำหนดสถานะของหัวหน้าคณะตัวแทนไทยและสถานะนั้นต้องมั่นคงด้วย พิจารณาจากเงื่อนล่าสุดของกลุ่มบีอาร์เอ็นก็ต้องบอกว่าเป็นเงื่อนไขที่แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่พยายามวางตัวอยู่ในฝ่ายรุกไล่รัฐบาลไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว และยังเป็นเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นมาบนพื้นฐานของความเป็นไปไม่ได้ที่รัฐไทยจะปฏิบัติตาม ทั้งนี้หากย้อนกลับไปพิจารณา การเจรจาระหว่างสมช.กับบีอาร์เอ็น 3 ครั้งที่ผ่านมา ก็เป็นที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่าบีอาร์เอ็นกลุ่มนี้ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แต่ทว่ารัฐบาลก็ไม่เคยสนใจคำท้วงติงจากหลายฝ่าย จนทำให้บีอาร์เอ็นเหิมเกริมยื่นเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการตบหน้ารัฐบาลอย่างชัดเจน
ก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ 28 ก.พ.2556 ฝ่ายบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน เคยสื่อสารผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์มาแล้ว 3 ครั้ง คือช่วงก่อนวันที่ 29 เม.ย.2556 (ก่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพรอบที่ 2 ราว 2-3 วัน) วันที่ 24 พ.ค. และ 28 พ.ค.2556 (ก่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพรอบ 3) โดยล่าสุดวันที่ 24 มิ.ย.ก็ยังคงใช้ช่องทางเดียวกันในการสื่อสารอีก ทั้งๆ ที่คณะพูดคุยฝ่ายไทยเคยขอร้องให้นำทุกเรื่องไปคุยกันบนโต๊ะเจรจาเท่านั้น
สำหรับ 5 ข้อเสนอที่กลุ่มบีอาร์เอ็นยื่นให้รัฐบาลไทยพิจารณา ประกอบด้วย
1.ผู้ปกครองชาวสยามจะต้องยอมรับบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในฐานะ “ตัวกลาง” การสนทนา
2.การสนทนาที่จะเกิดขึ้นจะจำกัดวงเฉพาะตัวแทนชาวมลายู ซึ่งนำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น ร่วมกับคณะผู้ปกครองชาวสยาม
3.จะต้องอนุญาตให้กลุ่มผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน องค์การความร่วมมือแห่งศาสนาอิสลาม (โอไอซี) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (เอ็นจีโอ) เข้าร่วมในการสนทนาด้วย
4.ผู้ปกครองชาวสยามจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาอย่างไม่มีเงื่อนไข และจะต้องระงับการออกหมายจับผู้ต้องสงสัย
และ5.จะต้องยอมรับสถานะของกลุ่มบิอาร์เอ็น ในฐานะองค์กร เพื่อการปลดปล่อยปัตตานี มิใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
พิจารณาจากเงื่อนไขดังกล่าวของบีอาร์เอ็นแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่แท้จริงเพื่อที่จะแบ่งแยกดินแดน แต่ทว่ารัฐบาลก็ยังมองโลกในแง่ดีเดินหน้าเจรจากับบีอาร์เอ็นทั้งๆที่รู้ว่ามีความสุ่มเสี่ยงว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญและก็รู้ดีว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างกันที่มีการเจรจาในครั้งแรก
รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้
เอกสารลงนามร่วมระหว่างไทย และกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มีขึ้นระหว่างการเจรจาในครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ก.พ.56 ระบุว่า รัฐบาลไทยกำหนดให้เลขาธิการทั่วไปแห่งสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหน้าคณะในการสนับสนุนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เรายินดีที่จะร่วมสร้างสันติภาพกับประชาชนผู้มีความคิดเห็นและอุดมการณ์ที่แตกต่างระหว่างรัฐ เพื่อเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนในการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ภายใต้กรอบและรัฐธรรมนูญของไทย ในขณะที่มาเลเซียยินดีที่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ ซึ่งทั้งนี้มาตรการรักษาความปลอดภัยต่างๆจะถูกมอบให้กับผู้ร่วมผลักดันกระบวนการสันติภาพ จนกว่ากระบวนการนี้จะเสร็จสิ้น ไม่แค่เพียงเรื่องของหลักการที่ไม่สามารถตกลงกันได้แล้ว ตลอดช่วงการเจรจาก็ปรากฎสถิติความรุนแรงในพื้นที่ ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า สรุปเหตุการณ์ในรอบ 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 30 พฤษภาคม 2556 ซึ่งอยู่ในช่วงเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาล กับบีอาร์เอ็น โดยพบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งสิ้น จำนวน 171 ครั้ง แยกเป็นเหตุลอบยิง 90 ครั้ง เหตุระเบิด 54 ครั้ง ก่อกวน 13 ครั้ง และเหตุลอบวางเพลิง 4 ครั้ง โดยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งหมด 133 ราย แบ่งเป็น
เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 43 นาย เสียชีวิต 14 นาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 18 นาย เสียชีวิต 2 นาย
ข้าราชการครูได้รับบาดเจ็บ 1 ราย เสียชีวิต 1 ราย
ประชาชนได้รับบาดเจ็บ 39 ราย เสียชีวิต 30 ราย
และ สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ เสียชีวิต 6 ราย
สอดคล้องกับ ข้อมูลจากแหล่งข่าว ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด หรือ ชุด EOD ARMY ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) สรุปสถิติเหตุระเบิด ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา
ตั้งแต่ 1 ม.ค.56 ถึง เดือนพฤษภาคม เกิดเหตุระเบิด รวม 132 ครั้ง
พื้นที่ จ.ยะลา จำนวน 25 ครั้ง
พื้นที่ จ.ปัตตานี จำนวน 54 ครั้ง
พื้นที่ จ.นราธิวาส จำนวน 52 ครั้ง
และ พื้นที่ จ.สงขลา จำนวน 1 ครั้ง
การจุดระเบิด
ด้วยโทรศัพท์ จำนวน 21 ครั้ง
ด้วยวิทยุมือถือ จำนวน 43 ครั้ง
ด้วยวิธีลากสาย จำนวน 26 ครั้ง
แบบนาฬิกา จำนวน 13 ครั้ง
แบบ IC Timmer จำนวน 8 ครั้ง
ภาชนะบรรจุระเบิด
มีการใส่ในถังแก๊ส จำนวน 41 ครั้ง
ใส่ในถังดับเพลิง จำนวน 11 ครั้ง
ใส่ในกล่อง/ท่อเหล็ก จำนวน 49 ครั้ง
ใส่ในท่อ PVC จำนวน 6 ครั้ง
และ อื่นๆ จำนวน 20 ครั้ง
ถึงวันนี้ก็ต้องบอกว่ามีความชัดเจนแล้วว่า ถ้าหากรัฐบาลยังคงเดินหน้านโยบายพูดคุยกับบีอาร์เอ็นต่อไปก็จะยิ่งสร้างความเสียหายต่อประเทศ และที่ต้องย้ำกันเลยก็คือการเจรจานี้เป็นความภาคภูมิใจของนางสาวยิ่งลักษณ์ถึงขั้นแถลงร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียว่ามีพันตำรวจโททักษิณอยู่เบื้องหลัง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงร่วมกับนายกฯมาเลเซียภายหลังการเจรจารอบแรกว่า การที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุว่า การพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของไทยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นได้มาจากการสนับสนุนส่วนหนึ่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากเห็นบ้านเกิดเมืองนอนมีความสงบสุข ซึ่งก็เหมือนกับทุกๆ คน จึงไม่อยากให้มองเจตนารมณ์ผิดเพี้ยนไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นวาระของชาติที่ทุกคนต้องช่วยแก้ปัญหา และอย่ามองเป็นเรื่องการเมือง เราพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกคน
http://www.tnews.co....”คือตัวการ.html
Edited by wat, 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 21:41.