เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านน้ำและเปิดปูมหลังบริษัท เค-วอเตอร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และโครงการสื่อสารสุขภาวะคนชายขอบ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยัม ฮยอง โชว ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ เอ็นจีโอซึ่งเกาะติดการดำเนินโครงการก่อสร้างต่างๆ ในเกาหลีใต้ ของบริษัทเค-วอเตอร์ ได้เปิดปูมชำแหละความล้มเหลวรัฐวิสาหกิจแห่งนี้อย่างละเอียดและน่าสนใจยิ่ง
“ปี 1960 ยุคที่เกาหลีกำลังก่อร่างสร้างตัว รัฐบาลท้องถิ่นหรือภาคเอกชนเองไม่มีศักยภาพพอที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเขื่อน การจัดการน้ำขนาดใหญ่ได้ รัฐบาลจึงลงทุนตั้งรัฐวิสาหกิจคือ “เค-วอเตอร์” ขึ้นมารับผิดชอบโครงการเหล่านี้”ยัม เริ่มกล่าวถึงที่มา
ล่าสุดข้อมูลเมื่อปี 2012 จะพบว่าทรัพย์ของบริษัทเค-วอเตอร์ อยู่ที่ 6.76 แสนล้านบาท ทุนอยู่ที่ 3.04 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นหลัก 99.9% มีรายได้ 2.27 แสนล้านบาท ขณะที่หนี้สินอยู่ที่ 3.72 แสนล้านบาท ภาษีที่ได้ 9.9 หมื่นล้านบาท รายได้สุทธิอยู่ที่เพียง 8,000 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อไปดูประวัติการทำโครงการของเค-วอเตอร์ ในเกาหลี ตั้งแต่ปี 1967 ที่ก่อตั้งบริษัทในฐานะรัฐวิสาหกิจ จากช่วงปี 1970-1980 ได้งานก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จำนวนมากทั่วประเทศเกาหลี
ถัดมาในปี 1980-1990 ย้ายไปรับงานระบบประปาและระบบน้ำ หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา เริ่มทำงานที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่เป็นการก่อสร้างในภารกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดชายฝั่ง การก่อสร้างพนังกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม
“สถานการณ์ทางการเงินของบริษัทเค-วอเตอร์ ตั้งแต่ปี 2006-2012 เห็นได้ว่าทุนจะอยู่เท่าเดิม แต่หนี้สินเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในปี 2012 จะเห็นว่าหนี้สินสูงกว่าทุน ฉะนั้นเท่ากับว่าสถานการณ์ทางการเงินของเค-วอเตอร์ย่ำแย่ ภายในระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2009-2012 การดำเนินงานใน 2 โครงการหลักของเค- วอเตอร์ ได้แก่ 1.พัฒนาแหล่งน้ำหรือ 4 rivers project 2.พัฒนาคลองใช้เป็นฟลัดเวย์ พบว่าหนี้สินเพิ่มขึ้นถึง 758%”
ยัม ระบุอีกว่า กลุ่มงานของเค-วอเตอร์แบ่งได้เป็น 3 ประเภท 1.งานเขื่อน 2.ระบบน้ำประปา 3.งานพัฒนาทั่วไป เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือพื้นที่อยู่อาศัย โดยทุกๆ ปี รัฐบาลเกาหลีต้องนำเงินมาถมเพื่อใช้หนี้ให้กับรัฐวิสาหกิจแห่งนี้สูงมาก
เหตุผล 3 ข้อที่องค์กรสิ่งแวดล้อมมอง เค-วอเตอร์ ก็คือ เป็นองค์กรที่เป็นมิตรกับฝ่ายการเมืองในประเทศมาก ได้แก่ 1.ซีอีโอของเค-วอเตอร์ แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีของเกาหลี 2.เค-วอเตอร์ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาโดยตลอด 3.ลูกค้าหลักของเค-วอเตอร์ คือหน่วยงานรัฐหรือรัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้น เค-วอเตอร์ จึงไม่ต้องสนใจเรื่องการขาดทุนหรือกำไร เพราะได้รับการอุดหนุนอยู่แล้ว และไม่ต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะเพราะลูกค้าหลักคือรัฐบาลท้องถิ่น
“ที่มองเห็นว่าเค-วอเตอร์ทำงานสร้างเนื้อสร้างของตัวเอง มี 5 ประเด็น คือ 1.ตลอดเวลาที่อยู่ในโครงการสร้างเขื่อน เค-วอเตอร์จะสร้างเร็วและเก็บค่าดูแลรักษาโครงการจากรัฐบาล 2.ยิ่งสร้างโครงการมากกำไรก็มากขึ้นตามไปด้วย 3.เค-วอเตอร์สร้างเขื่อนและโครงสร้างขั้นพื้นฐานเกินความจำเป็น โดยปัจจุบันมีเขื่อนหรือโครงการต่างๆ ที่ทำแล้วและไม่ได้ใช้งานถึง 50% หรือครึ่งหนึ่งของโครงการที่อนุมัติทั้งหมด จริงๆ แล้ว เค-วอเตอร์ไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรต่อแล้ว เพราะไม่มีที่ให้สร้างแล้ว แต่เขาก็พยายามที่จะสร้างโครงการต่อไปในเกาหลี ซึ่งสะท้อนถึงการพยายามรักษาฐานอำนาจของตัวเองต่อไปในเกาหลี แต่เมื่อไม่มีงานให้ทำ ตอนหลังก็พยายามจะออกนอกประเทศไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยโครงการต่างๆ อาทิ โครงการกิจการพลังงาน โครงการการแปรรูปกิจการน้ำ”
เอ็นจีโอ รายนี้ย้ำว่า หลายโครงการที่เค-วอเตอร์ดำเนินการในเกาหลีและต่างประเทศ มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมหาศาล
“โครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่อยากจะนำเสนอในวันนี้ คือโครงการที่เค-วอเตอร์สร้างในเกาหลี คือการพัฒนา 4 แม่น้ำ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ สร้างเขื่อน 6 แห่ง ใน 4 ลุ่มน้ำ นอกจากนี้ยังมีการขุดลอกนำทรายออกไปถึง 560 ล้านลูกบาศก์เมตร (กว้าง 100 เมตร สูง 10 เมตร ยาว 560 กิโลเมตร) และยังมีการก่อสร้างเป็นสวนสาธารณะ 234 แห่ง เงินทุนที่ใช้ประมาณ 5.9 ล้านล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นเงินทุนของเค-วอเตอร์เอง ความยาวทั้งหมด 600 กิโลเมตร ดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2008-2011
สำหรับโครงการนี้ ประเด็นปัญหาแรกคือผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมเกาหลี โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อพื้นที่มรดก รวมถึงพื้นที่แม่น้ำ “ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของสาหร่ายสีเขียวในแม่น้ำ เป็นผลให้เกิดน้ำเสีย ปลาในแม่น้ำตาย นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบโครงการโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของเกาหลี พบว่าโครงการดังกล่าวไม่มีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้าง และไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันน้ำท่วมและการนำมาใช้เพื่อประปา และยังพบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างต่างๆ ที่ได้ก่อสร้างไปจำนวนมาก พบกรณีการคอรัปชั่น และสวนสาธารณะมีปัญหา
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มี พบว่าการก่อสร้างเขื่อนใน 4 ลุ่มน้ำไม่สัมพันธ์กับพื้นที่น้ำท่วมแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับพื้นที่ภัยแล้ง เมื่อเปรียบเทียบจากแผนที่แล้วก็พบว่าไม่สัมพันธ์กัน สรุปคือโครงการที่ก่อสร้างไม่สัมพันธ์ทั้งกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง หลายกรณี ยังพบว่ามีการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน นำมาสู่ความเสียหายในโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสะพาน ฝาย คันกั้นน้ำ และยังพบการคอร์รัปชั่นด้วย โดยใช้วิธีฮั้วประมูลเพื่อให้ช่องว่างของกำไรเพิ่มมากขึ้น”
อย่างไรก็ดี การก่อสร้างโครงการ 4 ลุ่มน้ำขึ้นในหลายพื้นที่ดังกล่าวทำให้ชาวเกาหลีเกิดคำถามมากมายและมีการรวมตัวคัดค้าน โดยเฉพาะจาก 70% ของชาวบ้านในพื้นที่ ไม่พึงพอใจโครงการ จนขณะนี้มีการวางแผนตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อตรวจสอบ
“อีกกรณีซึ่งเป็นผลงานของเควอเตอร์คือการสร้างคลอง Gyungin เพื่อใช้เป็นทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ และขนส่งสินค้า โดยขนาดมีขนาดยาว 18 กิโลเมตร กว้าง 100 เมตร ลึก 6 เมตร งบประมาณประมาณ 54.7 หมื่นล้านบาท ได้ยินว่าเค-วอเตอร์มาโฆษณาในเมืองไทยว่ามีประสบการณ์มากในการทำทางระบายน้ำ หรือฟลัดเวย์ แต่เท่าที่หาข้อมูลมา พบว่ามีเพียงโครงการนี้โครงการเดียวเท่านั้นที่ยาว 18 กิโลเมตร... จากการศึกษารายงานของสถาบันพัฒนาเกาหลี พบว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และมีผลกระทบด้านระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง นอกจากนี้หลังจากการสร้างเรียบร้อยแล้วพบว่า ไม่มีเรือขนส่งสินค้ามาใช้พื้นที่นี้แต่อย่างใด มีการวางแผนไว้ว่าจะมีเรือขนของ 5 แสนลำต่อปี เรือนักท่องเที่ยว 6 แสนลำต่อปี แต่เอาเข้าจริงแทบไม่มีเลย”
ยัม ทิ้งท้ายอีกว่า ไม่ทราบข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีของไทยได้เชิญไปเยือนเกาหลี และต่อมาบริษัท เค-วอเตอร์ มาได้งานใน 2 โมดูลหลักในโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท แต่จะพยายามตรวจสอบในเรื่องนี้มีนัยยะอะไรหรือไม่ เพราะเค-วอเตอร์ก็ถูกกล่าวถึงในเรื่องคอร์รัปชั่นในประเทศตัวเอง และยังเป็นหน่วยงานที่มีปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
“ในฐานะที่ผมเป็นเอ็นจีโอเกาหลีที่ติดตามผลงานเค-วอเตอร์มาโดยตลอด ก็จะติดตามโครงการน้ำในประเทศไทยด้วย โดยจะร่วมมือกับเครือข่ายเอ็นจีโอในในประเทศไทยทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะเงินที่นำมาลงทุนเป็นภาษีของคนเกาหลี และหากมาสร้างเสียหายในประเทศไทยจะทำให้คนไทยได้รับความเสียหายเช่นกัน” ยัม ทิ้งท้าย
นายมณฑล ภาณุโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-วอเตอร์ ได้แถลงตอบโต้ว่า ข้อมูลของ นายยัม ฮยอง โชว ผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ไม่เป็นความจริง และยืนยันว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะทำงานโครงการบริหารจัดการน้ำที่ชนะการประมูลจำนวน 2 โมดูล
http://www.posttoday...ม-ทำโครงการเหลว
เริ่มโครงการเมื่อไหร่... คงต้องเตรียมขายบ้านที่ปทุมฯ หนีไปอยู่ลาวดีกว่าแล้วมั้งกรู... เฮ้อออออออออออ...