วานนี้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้าน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ ( กยน.) , คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ( กนอช.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ( กบอ.) ประเด็นสำคัญ คือ พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และ 67 วรรค 2 ด้วยการนำแผนแม่บทฯ ไปดำเนินการจัดให้มีการบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงตามสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้มีการศึกษาและจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามสิทธิชุมชน ก่อนที่จะดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน (โมดูล)
1) ศาลปกครองไม่ได้พิพากษาให้ล้มเลิกโครงการทันที แต่สั่งให้ไปดำเนินการตามรัฐธรรมนูญเสียก่อน จึงจะไปดำเนินการจ้างออกแบบและก่อสร้างได้ เหตุผลที่ศาลพิพากษาเช่นนั้น เนื่องจากพิจารณารายละเอียดที่จะดำเนินการตามข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ตามโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยแล้ว เห็นได้ว่า ถ้าดำเนินการตามโครงการดังกล่าวจริงจะต้องมีการใช้พื้นที่ที่เป็นป่าไม้และที่ดินซึ่งประชาชนอยู่อาศัยรวมทั้งใช้ประกอบอาชีพ ดังนั้น ทำให้เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะต้องมีการศึกษาประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน รวมทั้งให้องค์กรอิสระที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
แม้ว่าทีโออาร์ดังกล่าวจะกำหนดให้เอกชนผู้รับจ้างทำหน้าที่ศึกษาด้านต่างๆ และจัดให้มีรับฟังความเห็นของประชาชน แต่ผลอาจเบี่ยงเบนหรืออาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเอกชนผู้รับจ้างดังกล่าวเป็นผู้ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบและก่อสร้างกับรัฐไปแล้ว ซึ่งจะเป็นปกติวิสัยในทางธุรกิจของผู้ประกอบการทั้งหลายที่จะคำนึงผลกำไรสูงสุดเป็นสำคัญ จึงอาจพยายามให้ผลการศึกษาดังกล่าวออกมาในลักษณะที่ให้มีการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เป็นที่ไม่มั่นใจในความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค2 อีกด้วย
2) รัฐบาลและพวกละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองชี้ว่า ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 กำหนดข้อกำหนดทีโออาร์ให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 แม้ว่าขณะยื่นฟ้องจนถึงระหว่างที่ศาลมีคำพิพากษา จะยังอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชนผู้ที่จะมาเป็นคู่สัญญาและยังไม่มีการออกแบบ รวมทั้งการก่อสร้างจริง ที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ต้องจัดให้มีการศึกษาและรับฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อน แต่เมื่อมีข้อกำหนดทีโออาร์ไว้ชัดแจ้งว่าให้เอกชนคู่สัญญาเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเป็นที่เล็งเห็นได้ว่า เมื่อมีการทำสัญญาขึ้นแล้วย่อมเกิดการกระทำที่ถือว่าผู้ถูกฟ้องทั้ง 4 ละเลยต่อหน้าที่อย่างแน่แท้
3) การกระทำของนายกรัฐมนตรีและพวก อาจเข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กฎหมายอาญา มาตรา 157 สมควรที่จะมีผู้ไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ต่อไป เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพวก โดยเฉพาะ กบอ.ได้กระทำการร่วมกันอย่างเป็นขบวนการ รู้หรือควรรู้ แต่ก็ยังจงใจกระทำการ และเห็นชอบให้กระทำการ อันเป็นการละเลยหรือละเว้น ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญบัญญัติ ทั้งในส่วนของการกู้เงินและดำเนินการคัดเลือกเอกชนผู้รับงาน
รายงานข่าวจากสำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 18 มิ.ย.2556) ยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างการประมูลโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำฯ ตามแผนที่กำหนดไว้ภายใต้กรอบวงเงินสูงสุด 350,000 ล้านบาท และรับทราบผลการเจรจาต่อรองราคาจาก 4 กลุ่มบริษัทเอกชน
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบอ. ยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กบอ. เดินหน้าการจัดซื้อจัดจ้าง(ทีโออาร์) การประมูลโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำฯ ในการดำเนินโครงการตามแผนงาน(โมดูล) 9 แผนงาน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีอนุมัติผลการพิจารณาคัดเลือกโครงการผู้ยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำฯ วงเงิน 291,000 ล้านบาท ดำเนินโครงการระยะเวลา 5 ปี การจัดซื้อจัดจ้างการประมูลโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย
นายปลอดประสพถึงกับกล่าวด้วยว่า เมื่อผ่านความเห็นเป็นมติคณะรัฐมนตรีแล้ว กบอ. ก็จะส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงินของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556
ทั้งหมดในข้างต้น เป็นการตอกย้ำ ยืนยันว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้าที่ ป.ป.ช.แจ้งเตือนอย่างเป็นทางการแล้วว่าการดำเนินการมีปัญหามากมาย เช่น การจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ ไม่มีราคากลาง ไม่มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างที่ควร ไม่ผ่านการดำเนินการตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อการละเว้น ละเลย และกระทำขัดต่อกฎหมายด้วย
4) เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ไปดำเนินการตามรัฐธรรมนูญเสียก่อน จึงจะทำสัญญากับบริษัทเอกชนได้ การกู้เงินที่เหลือตามพระราชกำหนด 3.5 แสนล้านบาท ก็ควรจะต้องระงับไป เพราะใน พ.ร.ก.กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องกู้ก่อนวันที่ 30 มิ.ย.2556 เพราะเมื่อยังไม่สามารถทำสัญญากับเอกชน และยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ทำหรือไม่ เมื่อใด ก็ไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันใดที่จะไปกู้เงิน เฉพาะโครงการที่ไม่เข้าข่ายที่จะต้องรับฟังความเห็นประชาชน อาจดำเนินการต่อไปได้ และกู้เงินเท่าที่นำมาทำโครงการเหล่านี้เท่านั้น เช่น โครงการจัดทำศูนย์ข้อมูล เป็นต้น
ถ้ารัฐบาลจะอุกอาจ อ้างว่าจะอุทธรณ์คดี และเดินหน้าเซ็นสัญญาว่าจะกู้เงินไว้ล่วงหน้าต่อไป ก็จะถือว่าจงใจหักดิบคำพิพากษา และยิ่งสะท้อนข้อพิรุธในโครงการยิ่งขึ้น
น้ำเป็นของเหลวที่คล่องคอก็จริง แต่โครงการน้ำที่จัดทำและดำเนินการแบบชิงหมาเกิด เร่งรีบ รวบรัด ละเลยที่จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จะติดคอใครตายบ้าง ก็ยังไม่รู้
http://www.naewna.co.../columnist/7375