รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยกำลังเปิดเกมรุกอย่างหนักกับทางกองทัพ โดยมีความพยายามที่จะเพิ่มอำนาจฝ่ายการเมืองให้เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเพื่อขับเคลื่อนกองทัพ โดยหนึ่งในปัจจัยหลักของการเข้ามามีบทบาทครั้งนี้กับการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 โดยมีเลขานุการประธานรัฐสภา ประสพ บุษราคัม เป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่สำคัญ
นับเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ถูกสังคมจับตาเป็นอย่างมากอีกฉบับหนึ่ง ที่พยายามแก้ไขกฎหมายเดิมที่จัดทำในสมัยของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเนื้อหาที่ผ่านการกลั่นกรองจากประสพ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎร ดูน่าสนใจไม่น้อย เป็นการดูแลในกรณีที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร โดยระบุในมาตรา 5 ว่า
"ในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อการรบหรือการสงคราม ปราบปรามล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือกบฏ กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหน่วยงานและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทางทหารพร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ได้ตามความเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจ ทั้งนี้เพื่อให้กลไกการใช้อำนาจรัฐเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ...
...ส่วนการควบคุมอำนวยการยุทธและการควบคุมบังคับบัญชากองกำลังเฉพาะกิจร่วมที่จัดตั้งขึ้น โดยกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่การกระทรวงกลาโหมหรือตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย ทั้งนี้เพื่อให้กลไกการใช้อำนาจรัฐเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ"
นอกจากนี้ ในมาตรา 6 ว่าด้วยเรื่องการถวายอารักขา ระบุว่า "ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่สนับสนุนภารกิจของกรมราชองครักษ์ ในการถวายอารักขาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย...
...ในกรณีที่มีการปฏิวัติ รัฐประหาร กบฏ หรือการกระทำอื่นใดในลักษณะเดียวกันให้สมุหราชองครักษ์มีหน้าที่จัดกองกำลังเพื่อถวายอารักขาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ และให้มีอำนาจเรียกกำลังพลทหาร ข้าราชการและตำรวจมาประจำการยังกองกำลังที่จัดตั้งขึ้นเพื่อถวายอารักขา และมีอำนาจสั่งใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ทางทหารเพื่อการดังกล่าว...
...และให้กำลังพลที่เรียกมาพ้นจากการกำกับบังคับบัญชาของต้นสังกัดเดิม และให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของสมุหราชองครักษ์ และให้มีหน้าที่ต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร ถ้ามีการฝ่าฝืนให้ถือเป็นการทำความผิดร้ายแรง ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่จะได้บำเหน็จความดีความชอบ"
ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 เกี่ยวกับการจัดกำลังพลในกองทัพ โดยเพิ่มเติมกำหนดเกี่ยวกับการจัดอัตรากำลังพล ชั้นนายพลของส่วนราชการในกระทรวงกลาโหม และระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการในกองทัพไทยใหม่ โดยแต่เดิมกำหนดให้มีคณะกรรมการประกอบด้วย...
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา
แต่ตามร่างใหม่นี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการแบบเดิม แต่เพิ่มเติมว่า "เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ความเห็นชอบ"
การปรับปรุงคณะกรรมการแต่งตั้งนายพล ที่ผ่านมาจะขึ้นอยู่กับที่ประชุม ผบ.ทสส., ผบ.ทบ, ผบ.ทอ., ผบ.ทร., ปลัดกระทรวงกลาโหม หรือ 5 เสือ เมื่อเกิดเผด็จการก็นำ รมว.กลาโหม และรมช.กลาโหม มาอยู่ในวงประชุมเดียวกัน เมื่อต้องการโหวตบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งสำคัญ ฝ่ายการเมือง ที่เป็น รมว.กลาโหม และ รมช.กลาโหม ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้
"ในร่างกฎหมายใหม่นี้ จะให้ รมว.และรมช.กลาโหมออกมาเป็นผู้ตัดสินใจครั้งสุดท้าย หรือเป็นผู้มีอำนาจลงนามเห็นชอบก่อนแต่งตั้งรายชื่อที่ 5 เสือกองทัพนำเสนอมา คือ รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม มีอำนาจอนุมัติ หากไม่เห็นด้วยก็ไม่อนุมัติ การแต่งตั้งนายพลก็ไม่จบ มันต้องมีการประนีประนอมกัน ต้องคุยกัน" ประธานคณะทำงานฯ ระบุ
พร้อมกันนี้ยังมีการปรับปรุงให้สมาชิกสภากลาโหมผู้ทรงคุณวุฒิต้องมาจากอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือผู้ทรงคุณวุฒิทางทหารและภาคเอกชนจำนวนไม่เกิน 7 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อให้สมาชิกสภากลาโหมเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางทหารอย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐในการเป็นสมาชิกสภากลาโหมตามแนวรัฐธรรมนูญกำหนดด้วย
ซึ่งแต่เดิมระบุสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิในสภากลาโหมว่า เป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ทั่วไปในด้านการทหาร ด้านความมั่นคง ด้านการบริหารราชการ ด้านกฎหมายหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม จำนวนไม่เกินสามคน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งตามมติของสภากลาโหม
การเข้ามาจัดระเบียบกองทัพของฝ่ายการเมืองครั้งนี้อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวสร้างความไม่พอใจให้แก่เหล่าทหารหาญที่ดูคล้ายการเมืองเข้าครอบงำและล้วงลูกกองทัพอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
"กฎหมายออกมาบังคับข้าราชการ ถ้าข้าราชการไม่เอา แล้วประชาชนจะใช้อำนาจจากไหน เพราะอำนาจเป็นของประชาชน ถ้าคุณไม่เอาก็ลาออกจากข้าราชการทหารไปซิ คนที่เขาเห็นด้วยเขาก็มา คุณเป็นทหารกินเงินเดือนประชาชน ปืนเราก็ซื้อให้เขา แล้วทำไมวันดีคืนดีเอาปืนมายิงเจ้าของปืน" ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยในลำดับที่ 93 ระบุ
เขายังคงแสดงความมั่นใจว่า สิ่งที่ทำไปนั้น ไม่จำเป็นต้องไปคุยกับทางกองทัพหรือสภากลาโหมแต่อย่างใด เพราะพวกนั้นถือว่าเป็นข้าราชการประจำ ก็เสมือนเป็นฝ่ายบริหาร ที่ต้องนำกฎหมายที่ออกจากฝ่ายนิติบัญญัติไปปฏิบัติ ดังนั้นกฎหมายออกจากสภาอย่างไร ฝ่ายบริหารต้องนำไปปฏิบัติตาม ระบบประชาธิปไตยทั่วโลกที่เจริญเป็นแบบนี้
"เราปรับปรุงไม่ให้มีการปฏิวัติ ทหารจัดกำลังตัวเองไม่ได้ ต้องให้ฝ่ายการเมืองมาดูแลว่าตำแหน่งระดับนายพล หรือคนคุมกำลังใครที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม"
เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ผลที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือก้อนอิฐก็ตาม แต่ ประสพ ย้ำว่า เขาทำงานเพื่อชาติ บ้านเมือง ไม่ได้ทำเพื่อใคร!
"มือกฎหมายกองทัพ"ฟันธงชัดติดดาบรมว.กห.หยุดปฏิวัติไม่ได้
จากประเด็นร้อนแรง กรณีที่ นายประสพ บุษราคัม เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อเพิ่มอำนาจให้ รมว.กลาโหม สามารถที่จะแต่งตั้งกองกำลังต้านรัฐประหารได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกองทัพมองว่า เป็นการหยิบยกขึ้นมาเพื่อ "ปราม" กองทัพไม่ให้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
ส่วนประเด็นที่เขียนกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ รมว.กลาโหม สามารถจัดกำลังต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกองทัพเชื่อว่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ และเอาเข้าจริงกองทัพคงไม่ฟัง เพราะการทำปฏิวัติรัฐประหารก็เพื่อต้องการที่จะยึดอำนาจการบริหารของรัฐบาล
"เมื่อกองทัพทำปฏิวัติรัฐประหารแล้ว ตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็ต้องหมดไปตามวาระ เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งทางการเมือง และเรื่องนี้เขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วคงไม่สามารถปฏิบัติได้" มือกฎหมายกองทัพคนเดิม กล่าว
เขากล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเขียนเสร็จแล้ว และไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาในสภากลาโหม เพราะการพิจารณากฎหมายเรื่องนี้ไม่ได้มาจากกระทรวงกลาโหม แต่เป็นกฎหมายที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อพิจารณาเสร็จก็นำเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรเลย
ทั้งนี้ ตามกลไกตามมาตรา 142 ที่ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เปิดช่องทางให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎร ที่มีจำนวนเสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎรสามารถดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ แต่ความชอบธรรมสามารถทำได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกองทัพยังกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการจัดเพิ่มบทบัญญัติการถวายการรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ โดยให้อำนาจกรมราชองครักษ์ว่า จริงๆ แล้วทหารมีอำนาจหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้ว โดยมีอำนาจปกป้องพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ และตามพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม อยู่แล้ว
"การรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์เป็นหน้าที่ของทหารทุกคนอยู่แล้ว ส่วนกำหนดหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมราชองครักษ์ หรือหน่วยงานต่างๆ ก็เป็นการจัดงานตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ ขณะที่กรมราชองครักษ์ก็มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ราชองครักษ์ และพ.ร.บ.ตำรวจราชสำนัก จะมีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่แล้ว ซึ่งการเขียนข้อความดังกล่าวเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดี และพร้อมที่จะปกป้อง แต่ภาพใหญ่คือ ไม่ต้องการให้กองทัพมาขัดขวางการเดินเกมของรัฐบาลเท่านั้น" ผู้เชี่ยวชาญคนเดิม ระบุ