http://www.oknation....3/08/02/entry-1
Posted by ตัวจุ้น
โดย อ.วิชัย กอสงวนมิตร คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏเชียงใหม่
(บทความนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายวัน ฉบับวันที่ 2 ส.ค. 56)
ผมเริ่มได้กลิ่นไม่ดีเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกทีแล้ว ได้ยินจากพ่อค้าจำนวนไม่น้อยที่ให้ข้อมูลตรงกันว่าสองสามเดือนที่ผ่านมา ยอดขายตกลงอย่างมากในแทบทุกกลุ่มสินค้าและบริการ ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งยอดขายตกไปเกือบ 30 % ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคบางบริษัทยอดขายต่ำกว่าเป้าถึงครึ่งหนึ่ง แม้กระทั่งโบเบ๊ สำเพ็ง ก็ประสบปัญหายอดขายตกมากที่สุดในรอบ 16 ปี
16 ปีแห่งความหลังของวิกฤตเศรษฐกิจไทยมาบรรจบในปีนี้ ต้มยำกุ้งไครซิสที่ทำให้คนทั่วโลกพูดถึงประเทศไทยกำลังจะหวนกลับมาใหม่ ผมยังจำได้ดีถึงความหลังครั้งนั้นที่ผมได้ยินคนขับแท็กซี่ในยุโรปและอเมริกายังต้องบ่นถึงความเดือดร้อนจากที่เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกที่เริ่มจากประเทศไทย และถามผมว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจไทยจะฟื้น (แสดงว่าไทยเราก็สำคัญไม่น้อยนะนี่) โชคดีที่ไม่กี่ปีหลังจากนั้นประเทศเราก็พอฟื้นตัวได้ แต่รอบนี้โปรดระวังให้ดี ด้วยเหตุเพราะครั้งนี้
๑. เป็นวิกฤตการบริหารจัดการที่ไม่ใช่ฟองสบู่ที่เกิดจากตลาดเงิน วิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ เกิดจากนโยบายการเงินที่ผิดพลาดของทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รอบนี้นั้นจะเกิดจากทั้งรัฐบาลและประชาขนใช้จ่ายเกินตัว จนทำให้ฐานะทางการคลังของประเทศมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตแล้ว รัฐบาลจะหาทางแก้ปัญหาได้ยากมาก
๒. เป็นปัญหาถึงในระดับรากหญ้าไม่ใช่แค่ชนชั้นกลาง ในปี ๒๕๔๐ ผู้คนที่เดือดร้อนหนักส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป แต่ระดับชาวบ้านนั้นได้รับผลกระทบแค่ทางอ้อม เพราะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากค่าเงินบาทและหุ้นที่ลดลงอย่างมาก แต่ครั้งนี้ประชาชนเกือบทั้งประเทศอยู่ในภาวะหนี้สินสูง ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตแล้ว จะทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคหดหายไปอย่างมาก และเมื่อเกิดการเบี้ยวหนี้ ก็จะเกิดปัญหาต่อเนื่องล้มแบบโดมิโนวงใหญ่
๓. เกิดปัญหาขึ้นพร้อมกับประเทศอื่นๆ ในปี ๒๕๔๐ หลายประเทศไม่มีปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในเวลานี้ไม่ว่ายุโรป อเมริกา ก็ยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้กระทั่งจีนก็ไม่รู้ว่าฟองสบู่จะแตกวันไหน ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตแล้ว การส่งออกก็จะสะดุดและจะใช้เป็นตัวช่วยไม่ได้อีก และกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่สาหัสกว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตามที่นายอลัน กรีนสแปร์เคยทำนายไว้
๔. ความสามารถในการแข่งขันของไทยกับต่างประเทศแย่ลงกว่าแต่ก่อนมาก ในปี ๒๕๔๐ หลังเกิดวิกฤต ภาคการผลิตของไทยส่วนที่ไม่ได้เลิกกิจการ ยังเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ได้ แต่ในปีนี้ ด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ๓๐๐ บาท ตลอดค่าสาธารณูปโภคและอื่นๆ ที่สูงขึ้นมาก ไม่ว่าการผลิตภาคเกษตรหรืออุตสาหกรรม ก็ไม่อาจต่อสู้ต้นทุนการผลิตกับต่างประเทศได้ จึงอาจมีการเลิกกิจการจำนวนมากตามมา
๕. แรงงานต่างชาติในไทยมหาศาลที่จะสร้างปัญหาหลังวิกฤต ในปัจจุบันมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยทั้งถูกต้องและผิดกฏหมายนับล้านคน หากพวกเขาไม่มีงานทำ ก็คงเป็นการยากที่จะเดินทางกลับประเทศโดยเร็ว ดังนั้น ปัญหาอาชญากรรมและสังคมก็จะเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย
๖. เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ในปี ๒๕๔๐ ด้วยสปิริตของผู้นำรัฐบาล จึงมีการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศทันที แต่ในปีนี้ ปีที่สีเหลือง สีฟ้า สีแดง ไม่สามารถมองหน้ากันได้ หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ อาจจะตามมาด้วยปัญหาการทะเลาะกันรุนแรงทางการเมืองต่อไป โดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศชาติ
๗. การแข่งขันในธุรกิจแบบโอเว่อร์ซัพพลายเกือบทุกวงการ เนื่องจากหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา มีการเกิดขึ้นใหม่ของธุรกิจจำนวนมาก จนปัจจุบันแทบทุกวงการมีการแข่งขันรุนแรง หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้ การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดจะเกิดการแข่งขันตัดราคากันอย่างสุดฤทธิ์เดช และจะทำให้มีธุรกิจล้มตายจำนวนมากกว่าเดิมมาก
๘. ไม่สามารถดึงเงินจากต่างประเทศเข้ามากู้วิกฤต ด้วยเหตุที่วิกฤตเศรษฐกิจมีอยู่ทั่วโลก การหวังพึ่งยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือหวังนักลงทุนจากต่างชาติมาช่วยซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือธุรกิจไทย หรือแม้กระทั่งจะอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็อาจไม่สามารถทำได้แบบในปี ๒๕๔๐
อันตรายมาก....มันมาใกล้ถึงแล้ว เตรียมตัวรับสถานการณ์ได้แล้วครับ ต้มยำกุ้งไครซิสรอบสอง ที่ผมให้ชื่อใหม่รอแล้วว่า "วิกฤตเศรษฐกิจส้มโอเน่า" เพราะเกิดจากผู้ปลูกใส่ปุ๋ยเกินขนาด และการแก้ไขก็คงจะยากกว่าเดิมมากด้วยเหตุตามที่ได้กล่าวมา