ยาวหน่อยนะ ไม่ได้หวังว่าแดงจะอ่าน แต่เชื่อว่า คนดี มีเหตุผล จะเข้าใจ
http://www.tnews.co....ศพวัดปทุมฯ.html
ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึกประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2556 เริ่มต้นรายการในวันนี้กับการติดตามความคืบหน้าคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553
โดยล่าสุดศาลก็ได้มีคำสั่งออกมาแล้ว และก็เป็นฝ่ายของกลุ่มนปช.ที่นำไปขยายผลเพื่อตอกลิ่มว่าเข้าหน้าที่รัฐในขณะนั้นเป็นผู้ลงมือสังหาร
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายของ
นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้ตายที่ 1
นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ตายที่ 2
นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี พนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้ตายที่ 4
น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี พยาบาลอาสา ผู้ตายที่ 5
และนายอัครเดช ขันแก้ว อายุ 22 ปี อาชีพรับจ้าง ผู้ตายที่ 6
ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553
คำสั่งศาลโดยสรุประบุว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 จากการไต่สวนพยานหลายปากและผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า แม้ผู้ร้องและญาติผู้ตายไม่มีประจักษ์พยานยืนยันเหตุการณ์ แต่จากคำเบิกความสอดคล้องกันว่า ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทิศทางบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนด้านหน้าวัด มีทิศทางการยิงจากด้านหน้าวัดเข้าไปด้านใน บนถนนหน้าวัด ประตูทางเข้าวัด ประตูทางออกวัด ประตูกระจกมูลนิธิ กำแพงรั้วด้านหน้าวัด ป้ายโฆษณาหน้าวัด และใกล้สะพานลอยทางเดินเชื่อมบริเวณแยกเฉลิมเผ่า ซึ่งด้านหลังของรางรถไฟฟ้ามีอาคารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห่างจากรางรถไฟฟ้า 100 เมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ยิงผ่านรางรถไฟฟ้าเข้าไปในวัดได้
จากการไต่สวน ส.ต.อ.อดุลย์ พรหมนอก สังกัดบก.ตม.2 จ.ส.ต.สุชาติ ขอมปวน สังกัดบก.ตม.1 และ ด.ต.อานนท์ ใจก้อนแก้ว สังกัดตชด.31 ที่ได้รับคำสั่งให้มาเป็นหน่วยปราบจลาจล กองกำลังสนับสนุน เบิกความว่าอยู่บนอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นไฟไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และได้ยินเสียงปืนมาจากหน้าวัด โดยทั้ง 3 คน ต่างใช้กล้องวิดีโอบันทึกภาพเหตุการณ์ พร้อมระบุว่าเห็นเจ้าพนักงานทหารเล็งปืนเข้าไปในวัด แต่ไม่มีท่าทีหลบกระสุนจากการยิงต่อสู้แต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลา 01.00 น. เจ้าพนักงานทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ได้รับคำสั่งให้ไปประจำการบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ร่วมกับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่บนถนนพระรามที่ 1 มีอาวุธประจำกายเป็นปืนเอ็ม 16 เอ 4 และปืนเอ็ม 16 เอ 2 โดย พ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ สังกัดฝ่ายกิจการพลเรือน ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองผบ.กองพันรบพิเศษที่ 1 กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ในฐานะหัวหน้าชุดทหารรบพิเศษ ปฏิบัติการอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้น 2 ส่วน จ.ส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธร มาขุนทด อายุ 38 ปี ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิฑูรย์ อินทำ ส.อ.เกรียงศักดิ์ สีบุ ส.อ.สุนทร จันทร์งาม และ ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ปฏิบัติการอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้น 1
คำสั่งศาลระบุต่อว่า โดยเจ้าพนักงานทหารเคลื่อนกำลังไปพร้อมกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่บริเวณรางรถไฟฟ้าเคลื่อนจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปจนถึงหน้าวัดปทุมฯ จากการไต่สวนเจ้าพนักงานที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าชั้น 1 ส่วนหนึ่งเบิกความยอมรับว่ายิงไปที่ตอม่อเกาะกลางถนน ยิงขึ้นฟ้า ยิงไปที่ลานจอดรถ และยิงไปที่ถนนหน้าวัด เนื่องจากเห็นชายชุดดำ แต่ส่วนหนึ่งเบิกความว่าไม่เห็นบุคคลใดอยู่หน้าวัด จึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิง ถ้อยคำของเจ้าพนักงานจึงมีความขัดแย้งกันเอง
จากการไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตรวจเศษกระสุนที่พบในศพผู้ตาย พบว่าเป็นกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่ใช้กับอาวุธปืนเอ็ม 16 ทุกรูปแบบ ใช้ในราชการสงคราม ผู้ที่สามารถใช้ได้คือเจ้าพนักงานทหารและตำรวจเท่านั้น แต่จากการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ส่งมาให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าไม่ตรงกับเศษกระสุนปืนที่พบ ซึ่งเจ้าหน้าที่เบิกความว่าอาวุธปืนเอ็ม 16 ถอดเปลี่ยนลำกล้องได้ ตามระเบียบของราชการ เมื่อมีการใช้อาวุธใดๆ จะทำความสะอาดก่อนเก็บรักษาทุกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ร่องรอยหายไปได้ อีกทั้งอาวุธปืนก็ส่งมาให้ตรวจภายหลังเหตุการณ์เป็นเวลาหลายเดือน จึงเชื่อได้ว่าการตายของผู้ตายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ถึงแก่ความตายด้วยอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. จากเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ
ต่อกันที่การตายของผู้ตายที่ 2 โดยศาลได้ระบุว่าออกมาในทำนองใกล้เคียงกับทั้ง 5 ศพ
ส่วนการตายของผู้ตายที่ 2 จากการไต่สวนพยานได้ความว่า ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางแยกเฉลิมเผ่า ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าพนักงานทหาร สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดย พ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ และ ร.ท.พิษณุ ทัศแก้ว เคลื่อนกำลังพล 500 นาย จากแยกปทุมวัน มีปืนเล็กยาว ทาโวร์ บรรจุกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. เป็นอาวุธประจำกาย โดย ร.ท.พิษณุ เบิกความว่า ขณะเคลื่อนกำลังเห็นชาย 2 คน ยืนอยู่ตรงขอบปูนและใช้อาวุธปืนยิงเข้ามา ร.ท.พิษณุ จึงยิงปืนออกไปยังตอม่อรถไฟฟ้า 10 นัด ซึ่งตำแหน่งที่ ร.ท.พิษณุ กับพวกอีก 3 นาย อยู่นั้น เป็นแนวระนาบกับแนววิถีกระสุนที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิง โดยบาดแผลของกระสุนปืนมีทิศทางจากหลังไปหน้า
ในช่วงเกิดเหตุ บริเวณถนนพระราม 1 ทั้ง 2 ฝั่งถนน เจ้าหน้าที่ควบคุมไว้หมดแล้ว สอดคล้องกับคำเบิกความของ น.ส.ผุสดี งามขำ ผู้ชุมนุมนปช. ที่ระบุว่าหลังจากแกนนำนปช. ประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 13.00 น. ให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับภูมิลำเนา และส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ในวัดปทุมฯ ซึ่งประกาศเป็นเขตอภัยทาน ระหว่างที่พยานอยู่บริเวณแยกราชประสงค์จนถึงเวลา 15.00 น. เห็นทหารเข้าล้อมพื้นที่การชุมนุมโดยรอบไว้หมดแล้ว และขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลากลางวัน อีกทั้งเจ้าพนักงานที่อยู่ใกล้กับ ร.ท.พิษณุ เบิกความว่าไม่เห็นชาย 2 คน ถืออาวุธปืนยิงเข้ามา หากยิงมาจริง คงไม่ปล่อยให้ ร.ท.พิษณุ ยิงปืนเพียงคนเดียวนานถึง 40 นาที จึงเชื่อได้ว่าการตายของผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายด้วยอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. จากเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการอยู่บริเวณถนนพระราม 1
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ประเด็นก็คือเรื่องเขม่าดินปืนที่พบในศพของผู้ตาย และการตรวจพบอาวุธภายในวัดปทุมฯ
ศาลอ่านคำสั่งต่อว่า สำหรับการตรวจพิสูจน์เขม่าดินปืน พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ ผอ.สำนักตรวจ สถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เบิกความว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2553 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำโดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เดินทางไปยังวัดปทุมฯ ในเวลา 08.00 น. โดยใช้แผ่นกาวเหนียวติดที่นิ้วมือ 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 เพื่อตรวจหาอนุภาคที่มาจากการยิงปืน ผลการตรวจไม่พบว่าผู้ตายทั้ง 6 มีอนุภาคที่มาจากการยิงปืนแต่อย่างใด
ที่น่าสนใจก็คือศาลได้ระบุว่ากรณีของการพบอาวุธในวัดปทุมฯจนถึงขณะนี้กลับยังไม่มีการตรวจสอบ แต่ที่ระบุว่าเป็นอาวุธของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นเพราะในขณะนั้นมีการตั้งด่านจากทหารหลายจุด ทำให้ศาลพิเคราะห์ว่าไม่สามารถมีใครนำอาวุธเข้าไปได้นอกจากทหาร
ส่วนอาวุธที่ตรวจยึดได้ภายหลังเหตุการณ์ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำอาวุธดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ ว่ามีการนำไปใช้หรือไม่ และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับอาวุธที่ตรวจพบ ประกอบกับคำเบิกความของนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2553 ศอฉ.มีคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจสกัดแข็งแรงจำนวน 6 จุด ได้แก่ แยกพงษ์พระราม พญาไท อโศกมนตรี ศาลาแดง อังรีดูนังต์ และนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นถนนโดยรอบพื้นที่ราชประสงค์
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2553 มีคำสั่งให้ตั้งด่านตรวจแข็งแรงอีก 4 จุด ได้แก่ สี่แยกปทุมวัน ถนนราชปรารภ ถนนพระราม 4 และถนนนเพลินจิต พร้อมตั้งจุดสกัดอีก 13 จุด นอกจากนี้ ยังปิดการสัญจรทางรถไฟฟ้า 4 สถานี ได้แก่ ราชดำริ สยาม ชิดลม และเพลินจิต โดยตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2553 เป็นต้นไป มีการประกาศห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหลายแห่ง อาทิ ตั้งแต่ ถนนเพชรบุรี แยกราชเทวีจนถึงสามย่าน แยกวิทยุเข้าทางด่วนเพชรบุรี ถนนพระราม 4 ถึงแยกเฉลิมเผ่า แยกอังรีดูนังต์ และถนนราชปรารภ จากแยกประตูน้ำถึงแยกสารสิน เป็นต้น พร้อมกับปิดการสัญจรทางน้ำ จึงเชื่อได้ว่า ไม่สามารถมีผู้ใดนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าไปก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานทหารก่อน
ส่วนกรณีของชายชุดดำนั้นก็นับว่าน่าสนใจเช่นเดียวกันเมื่อศาลได้สรุปว่าไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดพบเห็นชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว
นอกจากนี้ ในวันที่เกิดเหตุ 19 พ.ค.2553 ขณะนั้นเป็นเวลากลางวัน มีทั้งผู้สื่อข่าวชาวไทยและต่างประเทศจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏหลักฐานภาพถ่าย และจากคำเบิกความก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดพบเห็นชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ศาลจึงมีคำสั่งว่า
ผู้ตายที่ 1 คือนายสุวัน ศรีรักษา
ผู้ตายที่ 2 คือนายอัฐชัย ชุมจันทร์
ผู้ตายที่ 3 คือนายมงคล เข็มทอง
ผู้ตายที่ 4 คือนายรพ สุขสถิต
ผู้ตายที่ 5 คือ น.ส.กมนเกด อัคฮาด
ผู้ตายที่ 6 คือนายอัครเดช ขันแก้ว
ถึงแก่ความตายในวัดปทุมวนารามราช วรวิหาร แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพ มหานคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลากลางวัน
เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก ผู้ตายที่ 2 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ ตับ ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าในช่องปาก โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
อย่างไรก็ตามจากคำสั่งดังกล่าวของศาลก็ทำให้ญาติผู้สูญเสียและกลุ่มนปช.หยิบยกไปขยายผลทันที
ส่วนนางพะเยาว์ อัคฮาด มาดดาของน.ส.กมนเกด กล่าวว่า รู้สึกมั่นใจมากขึ้น เพราะมีรายละเอียดมากกว่าคดีอื่นๆ และมีความชัดเจนว่าฝ่ายไหนเป็นคนยิง สามารถตอบโจทย์ได้ดีว่าไม่ควรนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุ
นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องน่ายินดีคือผลการไต่สวนคดี 6 ศพวัดที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เมื่อปี 2553 ซึ่งศาลมีข้อสรุปที่สำคัญว่ากระสุนที่ยิงนั้นมาจากอาวุธฝั่งทหาร คนเหล่านี้ไม่มีอาวุธ ไม่มีชายชุดดำและการยิ่งต่อสู้มาจากฝั่งประชาชน ดังนั้นในนามของประชาชนผู้ถูกกระทำขอขอบคุณศาลสถิตยุติธรรมที่ทำให้ประชาชนมีความหวังและเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งแตกต่างกับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในช่วงที่ผ่านมา และคอป.ต้องออกมาขอโทษประชาชน
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงคำสั่งคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ว่าเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร เป็นไปตามคำสั่งของศอฉ. ที่มีผู้รับผิดชอบคือ นายอภิสิทธิ์ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศอฉ. ดังนั้น แนวทางการดำเนินคดีก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกับคดีการเสียชีวิตของราย อื่นๆ โดยจะแจ้งข้อกล่าวหาฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล เพื่อพิจารณาส่งฟ้องต่อไป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางกองทัพได้ชี้แจงไปแล้วว่าเป็นการไต่สวนเบื้องต้น ขั้นตอนต่อไปพนักงานอัยการจะดำเนินการต่อตามกฎหมาย ซึ่งเชื่อว่าในขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ฝ่ายต่างๆ สามารถที่จะเสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ได้ ซึ่งก็มีหลักฐานหลายอย่างในด้านนิติวิทยาศาสตร์ วิถีกระสุน ตนเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้ยังไม่อยู่ในสำนวนการไต่สวน
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่านายอภิสิทธิ์ยังคงเชื่อมั่นในการดำเนินคดี และการที่บอกว่าในขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ฝ่ายต่างๆ สามารถที่จะเสนอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ได้ ซึ่งก็มีหลักฐานหลายอย่างในด้านนิติวิทยาศาสตร์ ที่ไม่มีอยู่ในสำนวนการไต่สวน
คำพูดของนายอภิสิทธิ์ที่ระบุว่ามีข้อมูลบางอย่างในสำนวนหายไปนั้น นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าได้เกิดกระบวนการทำคดีในชั้นพนักงานสอบสวนที่ผิดปกติหรือไม่ส่งข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ทั้งหมดให้ศาล เพื่อหวังผลในทางคดีใช่หรือไม่
โดยเฉพาะข้อมูลจากพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าชี้แจงกับคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ถึงกระบวนการในการทำงานของนิติวิทยาศาสตร์ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกรณีชายชุดดำ
โดย พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิต 6 ราย บริเวณวัดปทุมวนารามราชวรวิหารพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวผิดปกติ โดยเฉพาะการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด ที่ยังคงหาวิถีกระสุนที่แน่ชัดไม่ได้ ว่ายิงมาจากจุดใด รายละเอียดที่เกี่ยวกับศพไม่ครบถ้วน อีกทั้งคณะทำงานชันสูตรที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจัดตั้งขึ้น บางรายไม่มีความรู้ทางด้านชันสูตร
อย่างไรก็ตาม พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยืนยันว่า ไม่เคยมีรายงานเรื่องกระสุนมาให้คณะทำงานของนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนหลักฐานที่ส่งมา เป็นการตรวจสอบหลังเกิดเหตุ 1 ปีแล้ว จึงไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานได้
อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนที่ทำคดีดังกล่าวก็คือกรมสอบสวนคดีพิเศษที่นำโดย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยืนยันว่าความเห็นและรายละเอียดของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ดีเอสไอได้รวบรวมความเห็นไว้ในสำนวนด้วย ไม่ได้มีการดึงออกแต่อย่างใด และดีเอสไอได้ส่งสำนวนไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น) และทราบว่า บช.น.ก็ได้นำสำนวนดังกล่าวอย่างครบถ้วนส่งไปยังพนักงานอัยการ เพื่อยื่นศาลไต่สวนเช่นกัน ส่วนพยานหลักฐานใดจะมีน้ำหนักเพียงพอต่อการมีคำสั่งของศาลก็เป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจในประเด็นของสำนวนการไต่สวนที่เริ่มจากพนักงานสอบสวนจนผ่านอัยการและไปถึงศาล ถ้าหากมีการนำเสนอหรือไม่นำเสนอข้อมูลบางอย่าง จะส่งผลกระทบต่อคำสั่งของศาลหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาจากกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ดังต่อไปนี้
ป.วิอาญามาตรา 150 วรรค 1
มาตรา 150 ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงาน สอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพ โดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติ หน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ ประจำโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจำ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวง สาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ให้พนักงาน สอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทำบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทำรายงานแนบท้ายบันทึกราย ละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับ แจ้งเรื่อง ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ รายงาน ดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวน ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการ ชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดำเนินการต่อไป
วรรค 4 เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการ เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทำสำนวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวันแต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้ง ไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
วรรค 5 เมื่อได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทำ คำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทำการไต่ สวนและทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึง เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็น ผู้กระทำร้ายเท่าที่จะทราบได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ สำนวน ถ้ามีความจำเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสอง ครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็น ในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ
วรรค 7 ในการไต่สวนตามวรรคห้า ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่ จะทำการไต่สวนไว้ที่ศาล และให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมผู้อนุบาล หรือญาติของ ผู้ตายตามลำดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทำได้ทราบก่อนวันนัด ไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและให้พนักงานอัยการนำพยานหลักฐาน ทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ
วรรค 8 เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกำหนดวันที่จะทำการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่น คำร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนำสืบ และ นำสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย เพื่อการนี้ สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิ แต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนได้ หากไม่มีทนายความที่ได้รับ การแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ให้ศาลตั้งทนายความขึ้น เพื่อทำหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย
วรรค 9 เมื่อศาลเห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะ เรียกพยานที่นำสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติม หรือเรียกพยานหลักฐานอื่น มาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความ เห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทำคำสั่ง แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้ นำสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือ ผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
วรรค 10 คำสั่งของศาลตาม มาตรานี้ ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึง สิทธิฟ้องร้องและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงาน อัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้อง หรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น
วรรค11 เมื่อศาลได้มีคำสั่งแล้ว ให้ส่งสำนวนการไต่สวนของศาลไปยัง พนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป
พิจารณาจากกระบวนการตามกฎหมายจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการรวบรวมข้อมูลในสำนวนของพนักงานสอบสวน และอัยการนั้น ถือว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพิจารณาคดีของศาล
ถามว่าการรวบรวมข้อมูลของดีเอสไอและอัยการก่อนที่จะส่งต่อให้ศาลนั้นเกิดขึ้นอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่ เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผลของคำสั่งศาลออกมาในทิศทางหนึ่งทิศทางใด
และอย่างที่เราได้นำเรียนไปแล้วก็คือคำสั่งของศาลที่ปรากฏออกมามีข้อที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลในสำนวนการไต่สวน
1.การตรวจพิสูจน์เขม่าดินปืน พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ ผอ.สำนักตรวจ สถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เบิกความว่าเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2553 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำโดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เดินทางไปยังวัดปทุมฯ ในเวลา 08.00 น. โดยใช้แผ่นกาวเหนียวติดที่นิ้วมือ 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 เพื่อตรวจหาอนุภาคที่มาจากการยิงปืน ผลการตรวจไม่พบว่าผู้ตายทั้ง 6 มีอนุภาคที่มาจากการยิงปืนแต่อย่างใด
แต่เมื่อวันที่ 29มีนาคม 2554 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โครงการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมวราราม
โดยพ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว่า วันที่ 20 พ.ค.2553 เวลา 10.00 น. นำกำลังเจ้าหน้าที่ลงปฏิบัติงานเมื่อไปถึงพบศพผู้เสียชีวิตนอนอยู่บนเสื่อทั้งหมด 6 ศพ พร้อมญาติหรือเพื่อนอีกจำนวนหนึ่ง ตนต้องการให้ญาติได้รับหลักฐานการตายก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำศพไป จึงลงมือชันสูตร ผลการชันสูตรพบสาเหตุการตายโดยเฉพาะศพที่ 5 พบรูกระสุนที่บ่า มีคราบเขม่าดินปืนที่เท้าขวา บ่งบอกว่าถูกยิงในระยะใกล้ กระสุนสังหารคือจากเอวด้านซ้ายทะลุอวัยวะเพศ
2.คำสั่งของศาลตอนหนึ่งที่ระบุว่า อาวุธที่ตรวจยึดได้ภายหลังเหตุการณ์ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำอาวุธดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ ว่ามีการนำไปใช้หรือไม่ และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับอาวุธที่ตรวจพบ ประกอบกับคำเบิกความของนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุว่า มีคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจสกัดเป็นจำนวนมาก ...
พร้อมกับปิดการสัญจรทางน้ำ จึงเชื่อได้ว่า ไม่สามารถมีผู้ใดนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้าไปก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานทหารก่อน
ในประเด็นดังกล่าวจากการตรวจสอบของสำนักข่าวทีนิวส์พบว่าในช่วงการชุมนุมมีการทำร้ายและขโมยอาวุธปืนของทหารไปหลายเหตุการณ์ และหนึ่งในนั้นก็ถูกนำไปทิ้งไว้ที่วัดปทุมอีกด้วย
ภาพที่เห็นคือนักโทษชายคำหล้า ชมชื่น ในถูกพิพากษาในคดีร่วมกันปล้นทรัพย์ฯ พรก.ฉุกเฉินฯ กำหนดโทษ 10 ปี ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารคนหนึ่งเพื่อแย่งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16
หลังจากนั้นนายคำหล้าได้นำเอาอาวุธดังกล่าวไปก่อเหตุอย่างภาพที่เห็น แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีแค่ทหารที่ใช้ปืนเอ็ม16
และที่สำคัญภายหลังจากการชุมนุมมีการตรวจพบว่าอาวุธปืนดังกล่าวได้ถูกนำไปซ่อนไว้ในวัดปทุมวนารามอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าได้มีการนำเอาอาวุธปืนดังกล่าวเข้ามาในวัดปทุมวนารามจริง แต่จะมีการใช้ก่อเหตุหรือไม่ นายคำหล้าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด
และภายหลังยุติการชุมนุมคนเสื้อแดงเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ บริเวณวัดปทุมฯ ก็พบอาวุธหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นปืนสั้นแบบไทยประดิษฐ์ ปืนเอ็ม 16 กระสุนปืนเอ็ม 60 ขนาด 7.6 มม. ซึ่งเป็นกระสุนเครื่องสาย จำนวน 4 สาย ๆ ละ 100 นัด รวม 400 นัด
3.คำสั่งที่ระบุว่า ในวันที่เกิดเหตุ 19 พ.ค.2553 ขณะนั้นเป็นเวลากลางวัน มีทั้งผู้สื่อข่าวชาวไทยและต่างประเทศจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏหลักฐานภาพถ่าย และจากคำเบิกความก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดพบเห็นชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ในเรื่องนี้เองผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นได้ทำการบันทึกภาพของชายชุดดำได้บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง ที่อยู่ใกล้กับวัดปทุมฯ
โดยในเวลาต่อมาทราบชื่อชายคนดังกล่าวคือนายศรชัย ศรีดี หรือจ่ายักษ์ โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา
เขาได้ร่วมกับกลุ่มมือปืน ลอบฆ่า นายบุญจริง พินิจ หรือกำนันแดง กำนันตำบลแก่งหางแมว อ. แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เสียชีวิต
และจากการตรวจสอบมีประเด็นที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกับแกนนำคนเสื้อแดงอย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ เนื่องจากนายศรชัยมีความใกล้ชิดกับแกนนำเสื้อแดงทั้งสองคน ถึงขนาดเคยไปประกันตัวให้ในคดีทำร้ายทหารที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2552 ???
ทั้งนี้ จ่ายักษ์เล็กเคยร่วมเป็นการ์ดเสื้อแดงตั้งแต่การเคลื่อนไหวในปี 2552 และในปี 2553 นอกจากนั้นสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นยังถ่ายภาพจ่ายักษ์เล็กแต่งกายเลียนแบบทหารพกอาวุธปืนอยู่บนรถไฟฟ้าในช่วงการชุมนุมปี 2553 ด้วย และยังเป็นคนเดียวกับที่บุกไปช่วยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำคนเสื้อแดง ที่โรงแรมเอสซีปาร์คด้วย โดยจ่ายักษ์เล็กถูกมองว่าคือหนึ่งกองกำลังติดอาวุธในที่แฝงตัวในการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือไม่
ประกอบกับคำยืนยันของนายโอลิเวอร์ โรตรู อายุ 48 ปี นักข่าวอิสระชาวฝรั่งเศส ที่ได้เดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อขึ้นเป็นพยาน ในคดีผู้เสียชีวิต จำนวน 6 ศพในวัดปทุมวนาราม โดยได้ให้สัมภาษณ์ กับ นสพ.บางกอกโพสต์ ว่า เขาไม่สามารถบอกได้ว่า 6 ศพที่เสียชีวิตเกิดจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหาร หรือ กองกำลังที่เรียกว่าชายชุดดำ แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหาราบที่ 1 รักษาพระองค์ ที่เขาได้ติดตามอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วันปราบปรามสลายการชุมนุม
นายโอลิเวอร์ ระบุอีกว่า เขาก็เหมือนกับนักข่าวจากต่างประเทศหลาย ๆ คนที่ ติดตามหน่วยทหารชุดนี้ มาจากสี่แยกศาลาแดง ในตอนเช้าวันที่ 19 พฤษภาคาม 2553 ระหว่างปฏิบัติภารกิจ เพื่อขับไล่พวกประท้วงกลุ่มคนเสื้อแดงออกจากสี่แยกราชประสงค์ แต่มั่นใจว่า การเสียชีวิต 6 ศพไม่ใช่ฝีมือทหารหน่วยนี้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ให้การกับศาลอาญากรุงเทพใต้
จากข้อมูลที่ปรากฏก็เป็นเรื่องที่จะต้องตามพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันต่อไป เนื่องคำสั่งของศาลดังกล่าวเป็นเพียงคดีชันสูตรพลิกศพ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นของคดี ที่คาดว่าพนักงานสอบสวนอย่างดีเอสไอจะนำไปทำคดีฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพต่อไป ซึ่ง ณ เวลานั้น ก็จะมีการต่อสู้ทางคดีและนำเอาข้อเท็จจริงที่ว่าหายไปนั้นมาหักล้าง
พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งในคดีการเสียชีวิต 6 ศพ วัดปทุมวนาราม ว่า ถูกยิงจากอาวุธปืนซึ่งเป็นวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารว่าอย่างเพิ่งด่วนสรุป เพราะขั้นตอนดังกล่าวยังเป็นแค่กระบวนการไต่สวน ซึ่งยังไม่มีการพิจารณาดำเนินคดีอาญา ถ้าจะมีการพิจารณากันจริงต้องอาศัยองค์ประกอบทางด้านพยานหลักฐานอีกมากมายหลายขั้นตอน เช่น เรื่องคราบเขม่าดินปืนที่ปรากฏที่มือของผู้ตายบางคน ซึ่งผลการตรวจก็ยังขัดแย้งกันอยู่ และยังคงต้องพิสูจน์ต่อไป ส่วนกรณีมีหรือไม่มีชายชุดดำจะต้องดูที่พยานหลักฐานอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะสังคมทราบดีว่า อาวุธปืนที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปล้นยึดไป จะถูกตรวจพบอยู่ในวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพบก ขอยืนยันว่าจะใช้แนวทางด้านกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมให้ได้อย่างดีที่สุดสำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารรุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทางกองทัพบก มีการทวงถามติดตามความคืบหน้า เรื่องคดีกับเจ้าหน้าที่พนักงานที่รับผิดชอบอยู่ตลอดด้วยเช่นกัน