เห็นข้อความ fb ของ เรารักด่านตรวจ กรณี สน.เตาปูน ทำโครงการ "1 ตำรวจ 4 อาสา" ตั้งด่านตรวจค้นในยามวิกาล ผมเริ่มงงว่า ตำรวจเอากฎหมายข้อไหนมาทำโครงการนี้
โครงการนี้ไม่ใช่โครงการนำร่อง แต่เห็นมาหลาย สน. ที่เอาอาสาสมัครตำรวจ หรือเรียกกันติดปากว่า ตำรวจบ้าน มาตั้งด่านตรวจค้นรถ ขอดูใบขับขี่ หรือแม้แต่โบกให้รถหยุด
จากประสบการณ์ (หาอ่านจากกระทู้ที่ผ่านมา) ผมเจอมากับตัวเองว่า สน.หนึ่งใช้ตำรวจโบกให้รถหยุด แล้วส่งต่อให้อาสาสมัคร ที่แต่งชุดสีฟ้า ตรวจใบขับขี่ ตรวจเอกสารประกอบรถ และตรวจสภาพรถ แจ้งข้อหาให้กับคนขับขี่รถ ได้เหมือนเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายกำหนด
ลองดูขอบเขตอำนาจของอาสาสมัคร ตาม ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๕๑
หมวด ๒ อำนาจหน้าที่ของอาสาสมัคร
ข้อ ๑๒ (๑) อำนาจหน้าที่ของอาสาสมัคร
(๑.๑) ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องอำนาจการจับกุมกรณีความผิดซึ่งหน้า ในฐานะราษฎรคนหนึ่ง
(๑.๒) พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
ซึ่งมันชัดว่า อาสาสมัครเหล่านี้ มีอำนาจในฐานะเป็นราษฎรคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีอำนาจตรวจค้นใครทั้งนั้น แม้รู้ว่าเขาเป็นโจร หรือผู้ร้ายก็ตาม แม้จะจับกุมยังทำได้เฉพาะการทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งเป็นหน้าที่ตาม รธน.ของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว จึงสงสัยว่า ตอนนี้ตำรวจเอากฎหมายข้อไหนมาใช้ทำโครงการนี้
มันจะเป็นอย่างไร หากตำรวจบอกว่าสามารถมอบอำนาจให้คนอื่นเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้
ถ้าวันหนึ่งหากตำรวจมีลูกแล้วสอบเข้าตำรวจไม่ได้ ก็มอบอำนาจให้ลูกเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายเพื่อทำงานเสมือนตำรวจนายหนึ่ง หากเป็นลูกนายพล ก็มอบอำนาจตำแหน่งนายพล หากเป็นลูกจ่า ก็ทำหน้าที่จ่าไป ถ้าเป็นอย่างงี้มันก็คงสนุก เพราะตำรวจคนหนึ่งมอบอำนาจได้แบบไม่จำกัด ซึ่งไม่แน่ลูกของตำรวจอาจนึกสนุกมอบอำนาจต่อให้แฟน ให้กิ๊ก หรือแม้แต่คนที่บ้านให้ไปทำหน้าที่แทนตำรวจ
มันจะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งเราจะเจอใครก็ไม่รู้โบกรถให้จอดแล้วอ้างว่าเป็นอาสาสมัครตำรวจ แล้วขอตรวจค้นรถแบบไม่มีหลักมีเกณฑ์ใด การตรวจค้นก็คงทำกับแบบลูกทุ่ง ที่พอเปิดมือออกมาก็พบสิ่งผิดกฎหมาย
แล้วมันจะเป็นอย่างไรถ้าเราจะเจออาสาสมัครทำได้ทุกอย่างในสิ่งที่ตำรวจทำโดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะตั้งด่าน ขอดูเอกสาร หรือแม้แต่บอกว่าเขามีหมายจับแล้วเอาตัวขึ้นรถไปตามที่เขาจะพาไป เหมือนกับข่าวที่เคยเกิดขึ้นมา
ซึ่งถ้าใครติดตามข่าวก็คงพอทราบผลงานของอาสาสมัครเหล่านี้มาบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่ากรณีอาสาสมัครนายหนึ่ง เอารถร้อยเวรขนยาบ้า หรืออาสาสมัครทำตัวเป็นตำรวจตรวจค้นของละเมิดลิขสิทธิ์ หรือแม้แต่อาสาสมัครถีบรถจักรยานยนต์ของคนที่ไม่หยุดด่านจนเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่ว แต่เหนืออื่นใดทุกเรื่องที่เกิดขึ้นไม่มีตำรวจคนไหนออกมายอมรับว่าเป็นคนสั่ง มีแต่ว่าอาสาสมัครทำไปโดยพละการ อันนี้ยังไม่รวมการกระทำที่อาสาสมัครทำพฤติกรรมกร่าง (พูดตาม internet) ซึ่งก็หาอ่านได้ทั่วไป
ผมไม่รู้หรอกว่า โครงการนี้เป็นอย่างไร แต่จากประสบการณ์ผมก็พอนึกภาพออกว่าการทำโครงการนี้มันมีลักษณะอย่างไร เพราะเท่าที่รู้ เท่าที่เห็น เพียงไม่กี่วันเองอย่างน้อยก็มีสอง สน. ที่เริ่มทยอยทำกัน อีกไม่นานก็คงขยายไปทั่วราชอาณาจักร ว่าแต่ประชาชนอย่างผมจะทำอะไรได้ เพราะบางกระทู้ที่เห็นใน internet กล่าวถึงขนาดว่า อาสาสมัครบางคนพกอาวุธกันบ้างแล้ว ก็คงเอาให้ตามสบายตำรวจแล้วกัน เพียงแต่วันนี้อยากเห็นความรับผิดชอบตำรวจต่อเรื่องนี้ ข่วยตอบผมให้กระจ่างทีว่า ใช้กฎหมายข้อใดทำโครงการนี้ แล้วถ้าประชาชนคนธรรมดาแบบผมเจอด่านแบบนี้ แบบที่ตำรวจเรียกให้หยุดแล้วส่งต่อให้อาสาสมัคร ผมจะใช้สิทธิตาม รธน. ที่จะไม่ให้ตรวจค้นได้หรือไม่ ถ้าได้ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ได้จะเกิดเรื่องเหมือนเมื่อ 5 ปีก่อนที่ชายหนุ่มคนหนึ่งเจอที่อาสาสมัครขอตรวจค้น แต่ชายคนนั้นไม่ยอมบอกไม่ใช่ตำรวจ ตำรวจ สน.ยานนาวา เห็นเท่านั้นตะโกนเสียงดังว่า *คุณ*เมายามาหรือเปล่าจับ***ไปตรวจฉี่สิ แล้วทำท่าขึงขังจะลากชายคนนั้นไปที่ไหนสักแห่ง บังเอิญว่าชายคนนั้นโทรไปหาญาติที่ท่าทางน่าจะใหญ่พอควร เกือบได้เรื่อง จนต้องขอโทษขอโพยกันใหญ่ เรื่องนี้ไปถามตำรวจใน สน.ยานนาวา ดูแล้วกันว่ายังพอจำเรื่องนี้กันได้หรือเปล่า กรณีนั้นเขาใหญ่คงไม่เป็นไร แต่สำหรับผมละ จะเป็นอย่างไรหากโดนเข้าบ้าง คงต้องก้มหน้าก้มตารับกรรมและภาวนาว่า อย่าให้เขายัดอะไรใส่ผมเลย สาธุ