ภาพเปรียบเทียบ "อภิสิทธิ์-ทักษิณ"
ท่ามกลาง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
โดย นงนุช สิงหเดชะ
บทความพิเศษ(มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ9-15 สิงหาคม 2556)
นับจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และเกิดวาทกรรมโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชนกว่า 90 คน นั้นเราได้เห็นภาพที่ขัดแย้งกันและยากจะหาคำมาอธิบาย ภาพที่ว่าก็คือ
1. ฝ่ายที่กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์เป็นฆาตกร กลับลุกลี้ลุกลนจะผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดให้กับทุกคนในเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม รวมทั้งล้างผิดให้กับฝ่ายที่ตนกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรฆ่าคนเสื้อแดงด้วย
2. แต่ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร กลับต่อต้านสุดฤทธิ์ไม่ให้มีการนิรโทษกรรมใดๆ (แม้จะนิรโทษให้พวกตนด้วย) แต่ขอพิสูจน์ความจริงตามกระบวนการยุติธรรม (พร้อมจะขึ้นศาล) หากจะมีการนิรโทษกรรมก็ขอให้นิรโทษเฉพาะผู้ชุมนุมทั่วไปที่ไม่ได้กระทำผิดอาญา (เช่น ไม่นิรโทษผู้เผาศาลากลางฯ หรือผู้ใช้อาวุธกระทำต่อบุคคลและสถานที่) แต่ไม่นิรโทษบรรดาแกนนำหรือผู้สั่งการ
แปลกตรงที่ว่าเมื่อกล่าวหาว่าคนอื่นเป็นฆาตกรแล้ว แกนนำเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยกลับไม่อยากหาตัวฆาตกรเสียดื้อๆ เท่ากับว่าแกนนำและพรรคเพื่อไทยทอดทิ้งมวลชนให้ตายฟรี
เพราะแม้ฉบับของ นายวรชัย เหมะ ที่จ่อเข้าสภาอยู่ ที่อ้างว่าจะไม่นิรโทษแกนนำ แต่ก็ต้องไปตีความอีกว่าใครเป็นแกนนำหรือไม่เป็น เพราะช่วงหลังๆ รู้สึกว่าหลายคนต่างออกตัวว่าไม่ใช่แกนนำ ผิดกับตอนชุมนุมดุเดือดปี 2553 ต่างอยากเป็นแกนนำกันทั้งนั้น
อีกอย่างหนึ่งเป็นไปได้ว่าเพื่อไทยอาจจะลักไก่ในขั้นแปรญัตติ เพื่อนิรโทษให้กับ "นายใหญ่" ด้วย
ทำให้ฝ่ายตรงข้ามและประชาชนส่วนหนึ่งเตรียมชุมนุมคัดค้าน
แต่ที่ขำคือเพื่อไทยเรียกร้องให้ใช้สภาแก้ปัญหา อย่าใช้การเมืองท้องถนน ทำเป็นลืมไปหน้าตาเฉยว่าปี 2552-2553 พรรคไหนกันที่ใช้การเมืองท้องถนน (แต่คงอ้างเข้าข้างตัวเองเหมือนเดิมว่าตอนนั้น ปชป. ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร)
พอตอนนี้โดนเองมั่งกลับโวยวายใหญ่
ท่ามกลางความดุเดือดในการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยและท่ามกลางการโจมตีนายอภิสิทธิ์ว่าเป็นฆาตกร เราได้เห็นภาพเปรียบเทียบชัดเจนระหว่างนายอภิสิทธิ์กับคุณทักษิณ นั่นก็คือคนหนึ่งประกาศตลอดเวลาว่าต้องการและพร้อมจะพิสูจน์ตัวเองผ่านกระบวนการยุติธรรม ไม่หลบหนีไปต่างประเทศ และหากถูกพิพากษาว่าผิดก็จะยอมติดคุก
ตลอดเวลาที่รัฐบาลนี้ได้กุมอำนาจรัฐ เราได้เห็นภาพนายอภิสิทธิ์ ขึ้นโรงขึ้นศาล ขึ้นโรงพักและถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เชิญตัวไปสอบสวนไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง บางครั้งหลายชั่วโมง แสดงให้เห็นถึงการเคารพกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้มีภาพของความมีอภิสิทธิ์ว่าเป็นคนของอำมาตย์แต่ประการใด
เมื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หรือไปดีเอสไอ ไม่มีมวลชนของนายอภิสิทธิ์ไปกดดันข่มขู่ศาลหรือเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ
ผิดกับอีกคนที่หนีลอยนวลอยู่ต่างประเทศ แล้วก็ใช้เงินทองที่มีมากล้นชักใยบริวารในประเทศ ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วก็คร่ำครวญอ้างว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม
ในทางกลับกัน ถ้าเปลี่ยนจากนายอภิสิทธิ์เป็นคุณทักษิณบ้างในสถานการณ์เดียวกัน เชื่อได้ว่าไม่มีทางที่คุณทักษิณจะถูกดีเอสไอเชิญตัวไปสอบสวน หรือถึงถูกเชิญคุณทักษิณก็ไม่มีทางไป จากนั้นก็คงจะเกณฑ์มวลชนมาเป็นผนังทองแดงกำแพงกั้นให้กับตัวเอง
ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของคนที่รู้จักและเคารพประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กับคนที่ใช้ประชาธิปไตยมาใช้ประโยชน์แค่การทำตลาดการเมืองก็อยู่ตรงนี้เอง
สถานการณ์ที่คับขันหรือวิกฤตจะพิสูจน์ให้เห็นว่าใครคือ "คนจริง"
นายอภิสิทธิ์ถูกปรามาสว่าเป็นผู้ดีอังกฤษ ไม่ใช่ลูกชาวบ้าน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ซึ่งหากนายอภิสิทธิ์รู้ว่าตัวเองทำผิดจริงและไม่มีทางรอดแน่ นายอภิสิทธิ์น่าจะเป็นฝ่ายขวัญหนีดีฝ่อ ขี้แยเผ่นหนีไปต่างประเทศ แต่นี่กลับกล้าประกาศว่าหากทำผิดก็ยินดีติดคุก
ส่วนคุณทักษิณ ประกาศตัวเสมอว่าเป็นลูกชาวบ้าน เป็นคนติดดิน ลุยๆ กลับเผ่นหนีไปต่างประเทศ แม้จะอ้างเหตุผลต่างๆ นานาแบบเดิม (คือกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรมสำหรับตัวเขาเอง) แต่ถึงที่สุดลึกๆ แล้ว คุณทักษิณรู้ว่าตอนนั้นไม่มีทางต่อสู้คดีทุจริตชนะเพราะจำนนด้วยหลักฐานนั่นเอง ไม่เกี่ยวกับอำมาตย์อะไรทั้งนั้น
ในช่วงสงครามปราบยาเสพติดที่มีการฆ่าตัดตอนคนบริสุทธิ์ไปนับพันศพ รวมทั้งเหตุการณ์กราดยิงมัสยิดกรือเซะและตากใบ ไม่มีใครกล้าเอาผิดกับคุณทักษิณได้เพราะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันกว่า 6 ปี สามารถนั่งทับความผิดเอาไว้ได้ ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศคุณทักษิณไม่มีทางรอด ทันทีที่พ้นตำแหน่งถูกดำเนินคดีแน่ๆ
ทั้งคุณทักษิณและคนของคุณทักษิณ ทำเป็นแกล้งลืมสิ่งที่ตัวเองทำไว้ แต่ถนัดที่จะตีปี๊บประโคมเหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อปี 2553 เพื่อสร้างความได้เปรียบ
ท่ามกลางวาทกรรมการกล่าวหากันเรื่องคดี 90 กว่าศพ เมื่อปี 2553 สภากาแฟเขาถกเถียงกันเล่นๆ ให้ชวนคิดว่าระหว่างฝ่ายหนึ่งที่ในช่วงบริหารประเทศ มีมือไม้และลูกน้องที่เคยยิงถล่มมัสยิดกรือเซะจนมีคนตาย 32 คน หรือเคยฆ่าตัดตอนในสงครามปราบยาเสพติดมากว่า 3 พันคน อีกทั้งเกิดคดีทนาย สมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มตัวหายไร้ร่องรอยจนถึงปัจจุบัน
หรือตอนคนเสื้อเหลืองชุมนุม ก็มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าสังหาร จนฝ่ายเสื้อเหลืองเสียชีวิตไปกว่า 10 คน (ขณะที่คนเสื้อแดงชุมนุมทุกครั้ง ไม่เคยโดนยิงระเบิดใส่กลางวงเลย) นี่ขนาดตอนนั้นเสื้อเหลืองถูกกล่าวหาว่าเป็น "ม็อบมีเส้น" ยังถูกระเบิดตายเพียบ
กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เคยฆ่าใครมาก่อนเลย ดังนั้น มือไม้ของฝ่ายไหนกันแน่ที่น่าจะกล้าฆ่าคนเสื้อแดงหรือผู้ชุมนุมเมื่อปี 2553 เพื่อสร้างสถานการณ์มากกว่ากัน
ร่าง กม.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ ยังเผยให้เห็นความจริงอะไรบางอย่าง ดังที่แม้แต่ญาติของผู้ชุมนุมที่เสียชีวิต อย่าง นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่นางสาวกมนเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ซึ่งจัดทำร่างนิรโทษฉบับของตนเอง ซึ่งเป็นคนละแนวทางกับฉบับของนายวรชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยังได้กล่าวถึง กม.นิรโทษดังนี้
นางพะเยาว์-- "ร่างนิรโทษฉบับของญาติแตกต่างกับของวรชัย ตรงที่เราไม่นิรโทษทหาร เพราะเราต้องการให้กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์ทราบความจริงว่าการตายเกิดจากอะไร ฝ่ายประชาธิปัตย์แบไต๋เลยว่าขอขึ้นศาล ขอพิสูจน์ผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่ทางพรรคเพื่อไทยไม่มีใครพูด พอร่างนิรโทษฉบับของเราไม่นิรโทษให้ทหาร ก็ออกมาดิ้นกัน ถามว่าคุณจะดิ้นทำไม ที่ถูกต้องควรจะเป็นกองทัพ เป็นอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เป็นสุเทพ (เทือกสุบรรณ) เป็นฝ่ายดิ้น ไม่ใช่ นปช. ดิ้น เราแคลงใจนะว่าทำไมคุณมาดิ้นตรงนี้"
นางพะเยาว์ยังบอกว่า ตอนที่ไปเสียมเรียบช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว พอตนบอกคุณทักษิณว่าไม่เอา กม.นิรโทษกรรม คุณทักษิณตกใจใหญ่
คำโบราณว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คนนั้นยังใช้ได้ดีอยู่
อาจารย์ ลืมเปรียบเทียบเรื่อง
มาร์คหนีทหาร กับมาร์คชั่งไข่ ไปน่ะเนี่ยะ
ผมว่าถ้าไข่ทักษิณแพง...มันต้องแก้ไขด้วยการ
ออกมาโชว์กินไข่ แล้วบอกว่า...ถึงจะแพง แต่ก็ช่วยให้อิ่มท้อง
คุ้มค่า คุ้มราคา แถมช่วยเกษตรกร อะไรเทือกนั้นแหง๋ๆ...
Edited by Suraphan07, 16 August 2013 - 22:17.