https://www.facebook...631658633534612
- เนื่องจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้ได้มีผู้สื่อข่าวสอบถามมาต่อเนื่อง เดิมผมไม่ได้คิดจะวิจารณ์ภาวะเศรษฐกิจไทย แต่วันนี้ผมเปลี่ยนใจ เพราะคิดว่าผู้อ่าน ควรจะได้ข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อวางแผนสำหรับตัวของท่านเองได้ดีขึ้น
- คำถามแรก เศรษฐกิจไทยชะลอหรือถดถอย
- ตามคำนิยามเศรษฐศาสตร์ หากตัวเลข GDP รายไตรมาสลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาส เขาเรียกว่าเข้าลักษณะถดถอยทางเทคนิก (technical recession)
- ดังนั้น เนื่องจากตัวเลขไตรมาสสี่ 2555 ไตรมาสหนึ่ง และไตรมาสสอง 2556 ขยายตัวร้อยละ 18.9 ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 2.8 จึงเข้าลักษณะถดถอยทางเทคนิก
- คำถามที่สอง เราควรจะเดือดร้อนกังวล กับสภาวะการถดถอยทางเทคนิกหรือไม่
- ยังไม่ถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับครับ เพราะ GDP ปีต่อปียังขยายตัว ไม่ใช่หดตัว อีกประการหนึ่ง ตัวเลขไตรมาสสี่ 2555 นั้นสูงผิดปกติ
- อย่างไรก็ดี การที่ตัวเลขถดถอยทางเทคนิก เป็นการส่งสัญญาณ เตือนว่าอนาคตมันไม่สดใสเหมือนเดิม เตือนว่ามีปัญหาที่ต้องเอาใจใส่
- การเตือนทางเศรษฐศาสตร์ เขาจะอาศัยข้อมูลไตรมาส ซึ่งเป็นข้อมูลเร็ว เพราะหากดูแต่เฉพาะข้อมูลปีต่อปี กว่าจะเห็นปัญหา ก็จะกลับตัวกันไม่ทันเสียแล้ว
- คำถามที่สาม มีปัจจัยอะไร ที่ทำให้ตัวเลขส่งสัญญาณเช่นนี้
- ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์ธรรมชาติอะไร ที่กระทบตัวเลขได้บ้าง
- ถ้าไม่คำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลไทย ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ทำให้เกิดสภาวะแบบนี้ เพราะถึงแม้ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ เศรษฐกิจได้ชะลอตัว แต่หลังจากนั้น การทำงานก็ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ภาคเอกชนเดินหน้าได้ปกติ
- ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีภาวะเศรษฐกิจโลก ที่กระทบการส่งออกหรือไม่
- ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐค่อยๆ ดีขึ้นมาตลอด ยุโรปยังแย่ แต่ก็เป็นเหมือนเดิม ไม่ได้ทรุดลงหนักกว่าเดิม ญี่ปุ่นดีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนรัฐบาล ถึงแม้ประเทศกำลังพัฒนาชะลอตัวลงบ้าง แต่เศรษฐกิจก็ยังขยายตัว
- ดังนั้น พิจารณาโดยรวม ถึงแม้ภาวะต่างประเทศไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการส่งออกมากนัก แต่สถานการณ์ไม่ได้ทรุดลงมากเป็นพิเศษในช่วงสองปีนี้
- แสดงว่าปัจจัยที่สำคัญ น่าจะมาจากภายในประเทศ โดยเฉพาะจากนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาลไทย
- ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีปัจจัยภายในประเทศหลายปัจจัย
- ปัจจัยที่หนึ่ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- ย่อมกระทบต้นทุนและราคาขายของผู้ส่งออก ปัจจัยนี้จะมีผลต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะกว่าผู้ส่งออกจะปรับตัว กว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือเพิ่มมูลค่าสินค้า ก็ต้องใช้เวลา
- ปัจจัยที่สอง โครงการจำนำข้าว
- รัฐบาลไม่ได้เร่งขายข้าวออกไป การกักเก็บเอาไว้ในสต๊อก ไม่ได้ช่วยเพิ่มตัวเลขส่งออก ปัจจัยนี้จะมีผลต่อไปอีกระยะหนึ่งเช่นกัน เพราะเท่าที่ดูแนวโน้มการประมูลขาย จะใช้เวลาอีกนาน
- ปัจจัยที่สาม โครงการรถคันแรก
- ทำให้ผู้ที่ผ่อนซื้อ มีภาระต้องจ่ายค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย และค่าดอกเบี้ยรวมทั้งต้นเงิน ปัจจัยนี้จะมีผลต่อไปอีกหลายปี ภาระเหล่านี้จะกดดันกำลังซื้อสินค้าด้านอื่นๆ
- ปัจจัยที่สี่ หนี้ครัวเรือน
- เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบกระตุ้น ก็ควรจะปล่อยให้แบงค์ชาติเขาดำเนินนโยบายการเงินแบบระมัดระวัง เพื่อถ่วงดุล
- แต่รัฐมนตรีคลังกลับพยายามกดดันแบงค์ชาติให้ลดดอกเบี้ย ทำให้ดอกเบี้ยต่ำ
- ดอกเบี้ยต่ำนี้เอง ทำให้ประชาชนกู้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาก ปัจจัยนี้จะมีผลต่อไปอีกหลายปี กระทบกำลังซื้อ
- ปัจจัยที่ห้า การลงทุนภาคเอกชนไม่ขยายตัวมากอย่างที่หวัง
- นักธุรกิจส่งออก ที่มีภาระค่าแรงสูงขึ้น แต่สภาวะตลาดไม่สดใส คงยังไม่คิดขยายการลงทุน
- โรงงานที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ ที่มีภาระค่าแรงสูงขึ้น ก็พบว่าพ่อค้าสามารถนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาแข่งขันตีตลาดได้มากขึ้น ก็คงยังไม่คิดขยายการลงทุน
- ปัจจัยที่หก ฟองสบู่ที่เกิดจากเงินทุนไหลเข้า
- ปัจจัยนี้ผมเห็นว่าเป็นปัจจัยที่มีผลมากที่สุด ก็คือการที่กระทรวงการคลังปล่อยให้มีเงินทุนไหลเข้ามา มากจนเกินไป โดยไม่มีมาตรการควบคุม และกว่าจะยอมเตรียมการที่จะควบคุมเรื่องนี้ เงินก็กลับเป็นภาวะไหลกลับออกไปเสียแล้ว
- เงินทุนไหลเข้า ทำให้ตลาดหุ้นบูม กดดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดพันธบัตรให้ต่ำ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมซ้ำซ้อน คนที่กำไรหุ้น ก็เก็งกำไรคอนโดกันซ้ำซ้อน
- ช่วงที่เงินทุนไหลเข้า อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด ทำให้ภาพลักษณ์ของกระทรวงการคลังดูดีไปด้วย จนกระทั่งเริ่มก่อปัญหา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นๆ ยิ่งกระทบส่งออก
- แทนที่กระทรวงการคลัง จะใช้อำนาจออกมาตรการเพื่อชะลอเงินไหลเข้า กลับคิดในทาง “คุณ น่ะ ทำ” (ไม่ใช่คุณธรรมนะครับ) คือพยายามพูดให้แบงค์ชาติลดดอกเบี้ย โดยเข้าใจว่าดอกเบี้ยระยะสั้น เป็นตัวการที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า
- หลังจากถกเถียงกัน ในที่สุดกระทรวงการคลังก็ยอมตามที่แบงค์ชาติเสนอ มีการออกกฎระเบียบ ให้อำนาจในการชะลอเงินไหลเข้า เตรียมการเอาไว้
- แต่ก็สายไปเสียแล้ว เงินทุนได้กลับเข้าสู่โหมดไหลออกเสียแล้ว
- ทิ้งเหลือไว้แต่สภาพตลาดหุ้นที่แฟบลง ตลาดพันธบัตรที่ดอกเบี้ยระยะยาวกลับสูงขึ้น และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าสภาวะฟองสบู่
- เพื่อนๆ ของผม เล่ากันว่า ขณะนี้ทุกๆ สัปดาห์ จะมีเซลล์โครงการอสังหาริมทรัพย์ โทรศัพท์พยายามขายคอนโดให้แก่เขา สามหรือสี่ราย
- มาบัดนี้ แบงค์ก็เริ่มไหวตัว และระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ
- ปัจจัยที่เจ็ด คือพันธนาการต่อโครงการพื้นฐาน
- ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การใช้เงินของรัฐบาลนั้น นอกเหนือจากสวัสดิการรัฐซึ่งจะเป็นจำนวนเท่าๆ กันแต่ละปีแล้ว หากจะมีการใช้เงินพิเศษเป็นก้อนๆ มักจะเน้นสองอย่าง คือการพัฒนาความเก่งของประชากร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
- (ส่วนเรื่องประชานิยม แบบไฟใหม้ฟาง ที่เน้นการอุปโภคบริโภค ชนิดที่กินใช้กันปีเดียว แล้วก็หายหมดไปนั้น จะเป็นเรื่องยอดนิยมเฉพาะในประเทศยังไม่พัฒนา)
- ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จึงไม่ค่อยจะขัดข้อง ต่อโครงการลงทุนพื้นฐานของรัฐบาล (แต่ยังมีข้อท้วงติง ว่าต้องเป็นโครงการที่คุ้มค่านะครับ) ซึ่งการลงทุนแบบนี้ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทางหนึ่ง
- อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีคลังได้สร้างกับดักให้แก่ตัวเองเอาไว้ครับ
- กรณีโครงการเรื่องน้ำ 350,000 ล้าน ถึงแม้ศาลรัฐธรรนูญจะได้ช่วยตีความ ให้ออกเป็นพระราชกำหนดได้ แต่แทนที่จะทำให้ขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แทนที่จะดำเนินการอย่างโปร่งใสตามขั้นตอนปกติ กลับไปใช้วิธีพิสดาร จนเรื่องต้องช้าออกไป
- กรณีโครงการ 2 ล้านล้าน แทนที่จะใช้ช่องทางงบประมาณปกติ ที่จะเริ่มทะยอยทำได้เลย กลับไปใช้วิธีออกกฎหมายเฉพาะ ผิดรัฐธรรมนูญ ทำให้เรื่องจะต้องล่าช้าออกไปอีกด้วย
- คำถามที่สี่ แบงค์ชาติจะช่วยลดดอกเบี้ยได้หรือไม่
- ถึงวันนี้ หากแบงค์ชาติมีการลดดอกเบี้ย เศรษฐกิจก็คงจะกระเตื้องขึ้น
- แต่เนื่องจากเดิมถูกกกดดันให้ดอกเบี้ยมีระดับที่ต่ำ ช่องทางที่จะลด จึงจะไม่มากนัก
- แต่ปัญหาที่สำคัญ คือเงินทุนไหลออก ได้ทำให้เงินบาทอ่อนตัว
- เงินบาทที่อ่อนตัวนี่แหละครับ จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้น ถ้าแบงค์ชาติจะคิดลดดอกเบี้ย ก็จะมีปัญหานี้ให้ต้องระมัดระวัง
- นอกจากนี้ แบงค์ชาติย่อมตระหนักดีถึงความเสี่ยงฟองสบู่ หากลดดอกเบี้ย หนี้ครัวเรือนอาจจะสูงขึ้นไปอีก โครงการอสังหาริมทรัพย์อาจจะยิ่งบูมขึ้นไปอีก
- และต่อไป หากเมื่อใดที่สหรัฐเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ก็หนีไม่พ้น ที่ดอกเบี้ยของไทยจะต้องกลับเป็นแนวโน้มขาขึ้น ไม่มากก็น้อย
- เมื่อใดที่เกิดภาวะดังกล่าว ภาระการผ่อนดอกเบี้ยรายเดือนของครัวเรือน และของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็จะยิ่งหนักขึ้น
- ความเสี่ยงทั้งด้านครัวเรือนและด้านอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จะทำให้แบงค์ชาติยิ่งเตือนให้แบงค์พาณิชย์ ต้องระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อรายใหม่อีกด้วย
- ยิ่งระมัดระวังสินเชื่อ เศรษฐกิจก็ยิ่งอืด
- คำถามสุดท้าย อนาคตเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร
- ถ้าท่านผู้อ่านฟังแต่รัฐมนตรีคลัง ก็อาจจะคิดเหมือนท่านว่าไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง เพราะน้ำเสียงของท่าน ทุกอย่างยังสดใส ท่านยังอยากให้แบงค์ชาติลดดอกเบี้ยลงไปอีกเสียด้วย
- แต่ท่านจะสามารถตอบคำถามนี้ได้เองครับ โดยกลับไปดูแต่ละปัจจัยข้างต้น ว่ามีแนวโน้มจะคลี่คลายได้อย่างเร็วหรือไม่
Edited by คนกรุงธน, 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556 - 17:20.