แฉ "เต้น" เสียค่าโง่อินโดฯตกลงงดส่งออกยาง ทำเกษตรกรไทยเสียหายยับ ส่อผิด "พรบ.ควบคุมยาง"
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค
การเงินการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ในฐานะประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า
จากกรณี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์
ทำข้อตกลงร่วมกับประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ที่จะลดปริมาณการส่งออกยางทันที 3 แสนตัน
ซึ่งในส่วนของประเทศไทยต้องลดปริมาณการส่งออกยางทันที 10%
เพื่อเป็นแก้ไขปัญหาราคายางพาราในตลาดโลกที่ตกต่ำนั้น
เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง และสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรไทย
เนื่องจากช่วงเดือนตุลาคม - มกราคม ของทุกปี เป็นช่วงที่ผลผลิตยาง
ของไทยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย
ตรงกับช่วงผลผลิตไม่มากเพราะเป็นช่วงผลัดใบ และประเทศมาเลเซียไม่ได้รับผลกระทบ
เนื่องจากนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยเพื่อไปแปรรูปและส่งออก
ดังนั้น การทำข้อตกลงลดการส่งออกยางทันที จึงส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรไทย
นอกจากนี้ การทำข้อตกลงดังกล่าวของ นายณัฐวุฒิ ยังขัดต่อ
พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 เพราะไม่ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา
และไม่มีการหารือกับคณะกรรมการควบคุมยาง ซึ่งมีการกำหนดไว้
ในมาตรการ 6(8) เพื่อประโยชน์ในการผลิตยาง การค้ายาง การนำเข้ายางและส่งออก
ว่าด้วยเรื่องปริมาณควบคุมเนื้อยาง ปริมาณจัดสรรเนื้อยางตามความเหมาะสม
แก่สถานการณ์ยางของประเทศ รัฐมนตรีที่กำกับสามารถใช้อำนาจได้
ภายหลังจากที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา อีกทั้งมาตรการ 15(1), (6)
ยังระบุให้คณะกรรมการควบคุมยางมีหน้าที่ให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่รัฐมนตรี
ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ข้อผูกพันและโครงการระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับยาง
ในเบื้องต้นได้มีทำหนังสือทักท้วงไป และได้คำตอบว่า
จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมยางชุดใหม่เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวย้อนหลัง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางนั้น รัฐบาลควรเร่งออกมาตรการจูงใจ
และกระตุ้นการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ เช่น การกำหนดให้นำยางธรรมชาติ
ไปผสมยางมะตอยเพื่อใช้ทำถนนทั่วประเทศ ซึ่งหากมีการกำหนดให้ใช้เพียง 5%
ก็จะทำให้เกิดความต้องการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด นอกจากนี้
รัฐบาลควรเรียกเก็บภาษียางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น เพื่อให้ราคาปรับมาใกล้เคียงกัน
โดยล่าสุดราคายางสังเคราะห์เฉลี่ย กก.ละ 41.7 บาท ขณะที่ราคาน้ำยางข้นเฉลี่ย กก.ละ 53 บาท
แต่หากราคายางทั้ง 2 ชนิดใกล้เคียงกัน คาดว่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้ยางธรรมชาติ
ภายในประเทศให้สูงขึ้นโดยเฉพาะจากกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยาง
“แนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำโดยการลดปริมาณการส่งออกยางทันที
ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งด้านข้อกฎหมายและวิธีการ เพราะขณะนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตยางของไทยออกสู่ตลาดมาก
อีกทั้งขณะนี้เป็นช่วงที่ประเทศยุโรปต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก
การลดปริมาณการส่งออกจึงทำให้เกษตรกรไทยเสียโอกาส
รัฐบาลจึงควรออกมาตรการสร้างแรงจูงใจการใช้ยางธรรมชาติ ในประเทศมากกว่า”
นายอุทัยกล่าว
นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพด้านราคา
และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยางไทย
รัฐบาลควรพิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บเงินเซส (CESS) เหลือกก.ละ 10 สตางค์
แทนอัตราการจัดเก็บในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบผู้ประกอบจากประเทศอื่น
ที่ไม่มีการจัดเก็บเงินเซส นอกจากนี้ ฝากถึงรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งพิจารณา
เอกสารคืนเงินเซสให้กับผู้ประกอบการ ในส่วนที่เคยจัดเก็บในอัตราร้อยละ 5 บาท
ไปตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.)
ได้ตรวจสอบเอกสารเสร็จเรียบร้อย และส่งเรื่องให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ
ไปพิจารณาสักระยะหนึ่งแล้ว รวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ
ควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีเร่งอนุมัติงบประมาณจำนวน 15,000 ล้านบาท
สำหรับใช้แทรกแซงราคายาง เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ
ที่ได้นำยางพาราไปขายให้องค์การสวนยาง ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ที่ผ่านมา
แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวเลย
วันที่ 29 สิงหาคม 2556 19:45
'สุเทพ'แนะแก้ราคายางตกเจรจาอินโดนีเซีย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์
สภาถกปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ "สุเทพ"แนะนายกฯจับมืออินโดนีเซีย กุมราคาตลาดโลก
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาญัตติที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เสนอให้รัฐบาลพิจารณาปัญหาความเดือดร้อนประชาชนในเรื่องราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำและค่าครองชีพที่มีราคาแพง โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขณะนี้ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำทุกตัว ไม่ว่าข้าวโพด ลำใย มันสำปะหลัง อ้อย โดยเฉพาะยางพารา สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ขณะนี้เหลือเพียง 66.76 บาท ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเตรียมชุมนุมพร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 3 ก.ย. สิ่งที่เห็นได้ชัดช่วง 2 ปีที่รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไร้ประสิทธิภาพ ทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยับสูงต่อเนื่อง ไข่ไก่แพงสุดฟองละ 7 บาท ราคาก๊าชหุงตุ้มที่จะปรับขึ้นวันที่ 1 ก.ย. ค่าเอฟทีไฟฟ้า ค่าทางด่วน เมื่อค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นรายได้ประชาชนไม่พอกับรายจ่าย ผลตามมาคือภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้น ตัวเลขภาวะสินเชื่อครัวเรือนเมื่อเทียบกับจีดีพี พุ่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 77.51 ทั้งหมดนี้เกิดจากรัฐบาลบริหารงานผิดพลาดล้มเหลว ไม่โปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น ส.ส.ทั้ง 73 คน จึงขอเรียกร้องนายกฯให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังและเร่งลงมาแก้ปัญหา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่นั่งรับฟังอยู่ได้ชี้แจงว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้พูดคุยกันถึงปัญหาราคาสินค้าและสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลยินดีรับฟังและพยายามแก้ปัญหา เราไม่เคยเลือกปฏิบัติ และรับไปแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นยางพารา หรือข้าว แต่มาตรการอาจแตกต่างกัน ข้าวก็มาตรการหนึ่ง ยางพาราก็มีอีกหลายวิธีที่จะแก้ เราจะเร่งรับฟังและพูดคุยกับชาวสวนยาง เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน รวมไปถึงข้อแนะนำของสมาชิก แต่วันนี้ต้องขออภัย ณ ตรงนี้เนื่องจากติดภารกิจ พ.ท.หญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ ส.ส.เขต 8 รัฐอีรีนอยส์ สหรัฐอเมริกา มารอพบที่ทำเนียบรัฐบาล ก็จะขอให้รัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องชี้แจงก่อน ส่วนที่มีส.ส.ตั้งคำถามถึงการเดินทางไปต่างประเทศ หลายคนอาจมองและนำมาผูกกับเรื่องการส่งออก แต่การเดินทางไปต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ หลายประเทศที่ไปแทบไม่เคยสร้างความสัมพันธ์กันเลย เราก็ต้องเริ่มสร้าง เพื่อเปิดประตูการค้าขาย แล้วการส่งออกจึงค่อยๆ ตามมา แต่ไม่ใช่ว่าตามมาทันที บางอย่างก็มีอุปสรรคด้านการค้า เราก็ต้องลดปัญหา บางประเทศต้องไปเปิดความสัมพันธ์ให้ภาคเอกชน ในหลายประเทศที่ท่านตั้งข้อสังเกต ก็ไปเพื่อร่วมประชุมความร่วมมือระดับผู้นำโลก อาทิ เวทีผู้นำอาเซียน ผู้นำเอเปก
หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวจบ และทำท่าจะลุกออกจากห้องประชุม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ท้วงขอให้นายกฯ อยู่รับฟังข้อคิดเห็นของสมาชิกสัก 2 นาที ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยอมนั่งฟัง นายสุเทพจึงอภิปรายเชิงแนะนำว่า ถือเป็นโอกาสดีที่นายกฯจะได้รับฟังปัญหาราคายางพารา และอยากให้นายกฯมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้มอบหมายให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ขณะนั้นลงมาแก้ก็ไม่ได้ผล จนเป็นปัญหาหมักหมมมา 2 ปีแล้ว รัฐบาลต้องพูดให้ชัดว่าจะใช้เวลาอีกเท่าไหร่ จะให้รอไปอีก 2 ปี ก็หมดวาระพอดี การบอกว่าเป็นเรื่องกลไกตลาดโลก เป็นการทำลายน้ำใจและความหวังชาวสวนยาง รัฐบาลต้องทำให้กลไกตลาดในประเทศดำเนินไปภายใต้การกำกับของรัฐบาล นายกฯต้องลงมาประชุมร่วมกับบรรดาพ่อค้าผู้ส่งออกทั้งหลาย เพื่อให้เขามั่นใจว่าสิ่งที่จะทำไม่ได้คิดไปหาเศษหาเลย หรือเอาประโยชน์ ถ้านายกฯพูดเองเขาคงเชื่อ แต่ถ้านายณัฐวุฒิไปพูดเขาคงไม่เชื่อ
นายสุเทพ กล่าวว่า นายกฯต้องตั้งราคาเป้าหมายว่าจะให้ขายได้ราคาเท่าไหร่ ขายไม่ได้ 120 บาท แต่จะตั้งไว้ 105-110 บาทก็ว่ามา ต้องบอกเกษตรกรได้ว่าจะใช้เวลากี่เดือน โดยที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยราคายางในระหว่างนี้ด้วย จากนั้นนายกฯต้องไปเจรจากับประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้นายณัฐวุฒิไปคงไม่ได้พบหรอก เพราะกระจอกเกินไป ขณะนี้มีแต่ไทยและอินโดนีเซียเท่านั้นที่ผลิตยางมากที่สุด หากจับมือตกลงกันได้ว่าจะไม่ขายตัดราคากัน เราจะสามารถกุมราคายางในตลาดโลกได้
"ผมเคยทำมาแล้ว เคยไปพบประธานาธิบดีอินโดนีเซียมาแล้ว และถ้าจะให้เกียรติเขาเป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่านายกฯมีศิลปะในเรื่องนี้อยู่แล้ว จากนั้นไปพบประเทศผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งจีนและญี่ปุ่น ไปบอกเขาว่าเราจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น นี่เป็นโอกาสที่ทำให้เราปรับราคาขึ้นได้ และไม่เสียไมตรี ทำให้ปัญหานี้คลี่คลาย แต่อย่าไปเชื่อพวกลิ่วล้อว่าผมอยู่เบื้องหลังการชุมนุม หากผมจะร่วมมือกับผู้ชุมนุมจะประกาศให้นายกฯรู้ แล้วเดินหน้า ไม่ทำตัวเป็นอีแอบ ยืนยันว่าวันนี้เขาชุมนุม เพราะเดือดร้อนจริงๆไม่ใช่เรื่องการเมือง" นายสุเทพ กล่าว
หลังจากนายสุเทพ กล่าวจบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอตัวไปรับ พ.ท.หญิงลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ โดยมอบให้นายณัฐวุฒิ ชี้แจงข้อซักถามต่อ โดยนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า เชื่อว่าพี่น้องเกษตรกรเข้าใจสถานการณ์ดี หลังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้ามาแก้ปัญหา ตนพยายามหาทางทำให้ราคายางขยับขึ้น โดยของบประมาณจากครม.เพื่อมารักษาเสถียรภาพยางพารา หากได้ย้อนกลับไปดูจะเห็นว่าตนเป็นคนแรก ที่เสนอให้ทำถนนสายยางพารา รวมไปถึงเปลี่ยนถุงมือแพทย์จากพลาสติก เป็นถุงมือยาง ที่ทำจากยางพารา และอีกหลายมาตรการ