http://www.thanonlin...2-45&Itemid=417
ราคาน้ำตาลดิบฤดูผลิตปี 2556/57 ทุบสถิติใหม่ในรอบ3 ปี ร่วงเหลือ16-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ หลังน้ำตาลโลกล้นตลาด 4 ปีติดต่อกัน ขณะที่ปริมาณอ้อยและน้ำตาลโลกพุ่งต่อเนื่อง เหตุบราซิล -อินเดียผลผลิตดีเกินคาด แถมค่าเงินเอื้อส่งออก ด้านสอน. หวั่นทุบราคาอ้อยปีหน้าร่วงเหลือไม่ถึง 1 พันบาทต่อตันอ้อย ตัวแทน ชาวไร่อ้อยภาคอีสานฝากการบ้านรัฐบาลเตรียมหาเงินชดเชยค่าอ้อย
alt นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกฤดูการผลิตใหม่ปี 2556/57 ว่า ตลอดฤดูการผลิตปีนี้ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกเมื่อเทียบกับปี 2555/56 จะลดลง จาก 20-24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ลงมาอยู่ในระดับ 16-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ เช่นเดียวกับราคาน้ำตาลทรายขาวจะลดลงจากราคา 550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันลงมาอยู่ที่ 460-480 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน
-ราคาน้ำตาลดิบต่ำสุดในรอบ3ปี
โดยเฉพาะราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี หลุดกรอบราคา 20 เซ็นต์ต่อปอนด์ไปแล้ว เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยทั้งปีย้อนหลังในตลาดนิวยอร์กปี 2553/54 ราคาอยู่ที่ 22.51 เซ็นต์ต่อปอนด์ ปี 2554/55 ราคาอยู่ที่ 24.74 เซ็นต์ต่อปอนด์ และปี 2555/56 ราคาอยู่ที่ 22.43 เซ็นต์ต่อปอนด์ (ดูตารางประกอบ)
ทั้งนี้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปี 2556/57 ที่อ่อนตัวลงมา มีสาเหตุมาจากที่บราซิล ผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกมีปริมาณน้ำตาลมากขึ้นทุกปี และค่าเงินเรียลที่อ่อนค่าลงมาเอื้อต่อการส่งออก โดยในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินได้อ่อนค่าลงไปถึงระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี กับอีก 6 เดือน โดยค่าเงินอยู่ที่ 2.45 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับต้นปี 2556 ค่าเงินอยู่ที่ 2.0 เรียลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบราซิลจะส่งออกน้ำตาลต่อปีเกิน 20 ล้านตัน ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกเป็นอันดับ 2 น้อยกว่าบราซิลถึง 3 เท่าโดยส่งออกต่อปีเพียง 6-7 ล้านตัน
-ประเมินอินเดียพลาด
นอกจากนี้อินเดียในฐานะที่เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ2 ของโลก ก็มีกำลังผลิตมากขึ้นเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนดี โดยผลิตน้ำตาลได้ถึง 24.5 ล้านตัน และคาดว่าฤดูการผลิตใหม่ปีนี้จะผลิตได้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้วงการอ้อยและน้ำตาลในตลาดโลกต่างคาดการณ์ผิด เพราะเดิมทีคิดว่าอินเดียจะมีผลผลิตในฤดูการผลิตใหม่นี้ไม่ดี เนื่องจากรัฐบาลอินเดียมีบทบาทในการกำหนดให้โรงงานน้ำตาลจ่ายค่าอ้อยสูงขึ้น ขณะเดียวกันตามประสบการณ์ที่ผ่านมาถ้าปีไหนที่อินเดียมีผลผลิตดี ในปีถัดไปจะมีผลผลิตไม่ดี แต่ในช่วงที่ผ่านมาอินเดียกลับมามีผลผลิตดีต่อเนื่องกัน3 ปี ทำให้พลิกจากผู้ที่เคยนำเข้าน้ำตาลจากไทย และบราซิล กลายมาเป็นผู้ส่งออกไปยังตลาดโลก โดยที่ค่าเงินรูปี ณ วันที่ 27 สิงหาคม2556 เงินรูปีร่วงแรง อยู่ที่ 65 รูปี ทำให้อินเดียสามารถส่งออกน้ำตาลมาแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น
ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด กล่าวอีกว่า การที่ตลาดโลกมีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินจากความต้องการใช้ในตลาดโลกอยู่มาก ก็มีส่วนที่ทำให้ราคาน้ำตาลตกต่ำลงด้วย โดยเมื่อปี2555/56 มีปริมาณน้ำตาลล้นตลาดโลกอยู่มากถึง 10-11ล้านตัน และในปี 2556/57 คาดการณ์ว่ายังมีน้ำตาลส่วนเกินอยู่ในระดับ 3-4 ล้านตัน
"นอกจากปริมาณอ้อยและน้ำตาลจากผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก 2 ราย (บราซิล,อินเดีย) แล้ว ผู้ผลิตไทยในฐานะที่ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก(มีการส่งออก 6-7 ล้านตันต่อปี) จะมีปริมาณอ้อยในปี 2556/57 มากถึง 110 ล้านตันอ้อย จะได้ปริมาณน้ำตาลเพิ่มจาก 9-10 ล้านตันเป็น 11 ล้านตันต่อปี ยิ่งทำให้น้ำตาลในตลาดโลกมีมากกว่าความต้องการใช้ กดให้ราคาในตลาดโลกร่วงลงมา"
-ผลผลิตอ้อยบราซิลขยายตัว
นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวเสริมถึงปริมาณอ้อยและน้ำตาลในประเทศบราซิลว่า เมื่อปี 2555/56 บราซิลจะมีปริมาณอ้อย 588.9 ล้านตัน และปี 2556/57 เดือนเมษายน มีปริมาณอ้อย 653.8 ล้านตัน และเดือนสิงหาคม มีจำนวน 652 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณน้ำตาลของบราซิลปี 2556/57ในช่วงเดือนเมษายอยู่ที่ 43.56 ล้านตัน และเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 40.97 ล้านตัน ส่วนการผลิตเอทานอลในบราซิลช่วงเดือนเมษายนปี 2557 อยู่ที่ 25.77 พันล้านลิตร และในเดือนสิงหาคมมีกำลังผลิตขึ้นมาอยู่ที่ 27.17 พันล้านลิตร โดยจะเห็นว่าบราซิลในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่มีการขยายตัวในอุตสาหกรรมน้ำตาลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
-มีน้ำตาลส่วนเกินล้นติดต่อ4ปี
สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศหรือISOระบุถึงดุลยภาพน้ำตาลโลกปี 2556/57 ว่า ผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกอยู่ที่ 180.837 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 176.335 ล้านตัน เท่ากับว่าปี 2556/57 จะมีน้ำตาลโลกส่วนเกินอยู่ 4.502 ล้านตัน เทียบกับปี 2555/56 มีปริมาณน้ำตาลโลกอยู่ที่182.956 ล้านตัน มีการบริโภคทั่วโลก 172.695 ล้านตัน ทำให้มีน้ำตาลส่วนเกินอยู่ที่ 10.261 ล้านตัน จากสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าในตลาดโลกมีผลผลิตอ้อยและน้ำตาลมากขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินที่อยู่ในตลาดโลกติดต่อกันถึง 4 ปี จึงส่งผลให้ราคาน้ำตาลโลกร่วง โดยบราซิลเป็นผู้กำหนดทิศทางตลาดเนื่องจากมีน้ำตาลประมาณ 50% ของปริมาณน้ำตาลของโลกที่บราซิลเป็นผู้ส่งออก
-สอน.ห่วงค่าอ้อยไม่ถึงพันบาท/ตัน
ต่อเรื่องนี้นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่าการที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกฤดูผลิตใหม่ร่วงลงมาเหลือ16-18 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก็น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้ราคาอ้อยเบื้องต้นปี 2556/57 ที่จะประกาศราคาได้ภายในเดือนกันยายนนี้ตกต่ำลงด้วย โดยคาดการณ์ว่าราคาอ้อยจะต่ำกว่า 1 พันบาทต่อตัน ทำให้ชาวไร่อ้อยเตรียมเรียกร้องที่จะให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาเงินมาช่วยชดเชยราคาอ้อย 3-4 หมื่นล้านบาท หากไม่สามารถหาเงินมาชดเชยให้ชาวไร่อ้อยได้เกรงว่าจะเกิดการชุมนุมขึ้นมาได้แบบทุกครั้ง ขณะที่สอน. ก็กังวลว่าจะหาเงินมาจากไหน เพราะเป็นวงเงินที่สูงมาก เกรงว่าถ้ากู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จะหาเงินไปคืนลำบากขึ้นในภาวะที่ราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกร่วงลงแบบนี้
"สุดท้ายแล้วจะต้องมีการชดเชยสุทธิเท่าไหร่ต้องรอดูต้นทุนการผลิตก่อน โดยภายในเดือนกันยายนนี้ก็น่าจะคำนวณต้นทุนอ้อยได้ทั้งหมด หลังจากนั้นก็ต้องมาดูทางออกกันต่อไป"
-ชาวไร่อ้อยฝากรัฐเตรียมรับมือ
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยมีการประเมินราคาอ้อยเบื้องต้นปี2556/57 ไว้ที่ 800-850 บาทต่อตัน ถือว่าราคาอ้อยร่วงลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เทียบกับปีที่แล้วราคาอ้อยอยู่ที่ 950 บาทต่อตัน ขณะที่ต้นทุนในการปลูกอ้อยสูงถึง 1,196 บาทต่อตัน ทำให้รัฐบาลต้องมาชดเชยอีก 160 บาท ต่อตัน ดังนั้นในฤดูการผลิตใหม่นี้ถ้าต้นทุนอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันก็จะเป็นปัญหากับชาวไร่อ้อย จึงอยากจะฝากรัฐบาลไปคิดเป็นการบ้านว่า จะต้องหาเงินมาชดเชยสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือครั้งนี้ ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วหากชาวไร่อ้อยไม่ได้รับการดูแล เกรงว่าจะเกิดการชุมนุมขึ้น เพราะชาวไร่ได้รับผลกระทบโดยตรง และปัจจุบันในพื้นที่ภาคอีสานจะมีปริมาณอ้อยสูงถึง 40%หรือ 40 ล้านตันอ้อยของปริมาณอ้อยทั่วประเทศที่มีอยู่ราว 100 ล้านตันอ้อย
"ทุกครั้งที่ชาวไร่อ้อยเรียกร้องให้รัฐบาลหาเงินมาชดเชยค่าอ้อย อยากย้ำให้เข้าใจว่าชาวไร่ไม่เคยเอาเงินภาษีประชาชนมาใช้ เพียงแต่อาศัยอำนาจจากมติครม.เพื่อขอให้สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)ไปค้ำปะกันเพื่อกู้เงินจากธ.ก.ส.มาชดเชยค่าอ้อย"ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวทิ้งท้าย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,875 วันที่ 1 - 4 กันยายน พ.ศ. 2556
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
จะถึงเดือนตุลาคมแล้ว ซึ่งจะเริ่มฤดูกาล เก็บเกี่ยวอ้อย ที่พูดเพราะเป็นห่วงกลัวยุบสภาหนีปัญหา ผมอยากได้ปู 8 ปี นะฮ้าบบบบ