http://www.manager.c...D=9560000112307
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สมาคมอาหารเวียดนามได้เสนอไปยังกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ให้รีบเก็บซื้อข้าวจากชาวนาเข้าสต๊อกเพื่อรักษาระดับราคาในประทศ หลังจากไทยหั่นราคาข้าวลงต่ำมากจนเท่ากับข้าวเวียดนาม หรือต่ำยิ่งกว่า และดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะระบายสต๊อกข้าวออกมาเรื่อยๆ เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บต่อไปได้อีก
ราคาข้าวไทยยังตกลงเป็นรายวันสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association) หรือ VietFood ซึ่งกำกับดูแลการส่งออกข้าวของประเทศยังเสนอให้ผู้ส่งออกเอกชนเร่งเก็บข้าวเข้าสต๊อกเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ของทางการเวียดนามรายงาน
“ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยไม่สามารถจัดเก็บข้าวในโครงการเอาไว้ได้อีกต่อไป เนื่องจากมีในสต๊อกถึง 16 ล้านตัน ข้าวไทยจึงราคาเปลี่ยนแปลงเกือบจะเป็นรายวัน ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกข้าวของเวียดนาม เช่นเดียวกันกับผู้ส่งออกอินเดีย และปากีสถาน” หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงานในเว็บไซต์ข่าวภาษาเวียดนาม
ปัจจุบันข้าวไทยส่งออกราคา 380-390 ดอลลาร์ต่อตัน ระดับเดียวกันกับข้าวเวียดนาม ทำให้ผู้ค้าเวียดนามจำนวนไม่น้อยต้องหยุดเซ็นสัญญากับลูกค้า และบางรายจำต้องเสนอราคาต่ำลงอีกด้วยวิตกว่าตลาดจะหันไปหาข้าวไทยแทน VietFood ระบุในรายงานโดยไม่ได้ระบุเป็นราคาข้าวชนิดใด แต่เสนอให้รัฐบาลเร่งเก็บซื้อข้าวจากชาวนา
ตามรายงานของสื่อทางการก่อนหน้านี้ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ราคาจำหน่ายต่ำกว่าราคาข้าวของเวียดนามไม่มากนักขณะที่ข้าวเวียดนามมีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบชนิด โดยมีข้าวไทยรั้งอันดับ 3 แต่ราคาต่อชนิดยังต่างกันมาก
คาดว่าในช่วงเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 15 ก.ย.-15 พ.ย.ศกนี้ เวียดนามจะผลิตข้าวได้ประมาณ 300,000 ตัน และถ้าหากากข้อเสนอได้รับความเห็นชอบก็จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การส่งข้าวของประเทศที่ต้องเก็บสต๊อกข้าวทั้ง 3 ฤดู
ในช่วงเก็บเกี่ยวฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ รัฐบาลจัดซื้อเข้าสต๊อกราว 1 ล้านตัน กับอีก 1 ล้านตันในช่วงเก็บเกี่ยวฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ซึ่งสมาคมอาหารฯ กล่าวว่า การจัดซื้อเก็บเข้าสต๊อกได้ช่วยผ่อนคลายทางธุรกิจนั่นคือ หยุดการเจรจาต่อรองเอาไว้ชั่วขณะและนำเงินไปสะสางหนี้สิน
ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม นายเจืองแทงฝอมง์ (Truong Thanh Phong) กล่าวว่า ข้าวในสต๊อกจากการเก็บเกี่ยวฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง ยังเหลืออยู่ราว 700,000 ตัน ถ้าหากส่งออกขณะราคาตกลง 30 ดอลลาร์ต่อตัน จะสร้างความสูญเสียเป็นเงินประมาณ 24 ล้านดอลลาร์
การซื้อเข้าเก็บในสต๊อกจะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อรอจังหวะจากการกำหนดราคาของข้าวไทย ซึ่งหลายฝ่ายไม่เชื่อว่าจะสามารถหั่นราคาลงได้อีก นายฟอมง์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีลูกค้าประจำรายใหญ่อยู่ 2 ราย คือ ฟิลิปปินส์ กับอินโดนีเซีย และเป็นพิเศษอย่างยิ่งก็คือ ตลาดจีนซึ่งปีนี้นำเข้าข้าวจากเวียดนามมหาศาล นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเทศทั้งในเอเชีย และแอฟริกาที่ยังต้องการข้าวเวียดนาม
กระทรวงเกษตรฯ รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวทั้งสิ้น 4.69 ล้านตัน มูลค่า 2,050 ล้านดอลลาร์ ลดลง 15.7% ในเชิงปริมาณ และ 18.4% ในเชิงมูลค่าเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ราคาลดลงเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ลดลง 3.2% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งราคาข้าวส่งออกเฉลี่ย 438.49 ดอลลาร์ต่อตัน
ช่วงเดียวกันนี้ จีนได้เป็นลูกค้าข้าวรายใหญ่ของเวียดนาม โดยนำเข้าทั้งสิ้น 1.47 ล้านตัน มูลค่า 609.13 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 32.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดแ ละยังเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณ และมูลค่าซึ่งคิดเป็น 9.6% และ 6.8% ตามลำดับเทียบปีต่อปี
สมาคมอาหารฯ กล่าวว่า ปีนี้ทั้งปีจะส่งออกข้าวได้ราว 7.5 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยจาก 7.72 ล้านตันในปี 2555.
คนงานปั่นจักรยานภายในโกดังเก็บใน จ.อยุธยา ที่ข้าวเปลือกกองพะเนินเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2555 หรือประมาณ 1 ปีก่อนหน้านี้ ปีที่ไทยเสียตำแหน่งแช้มป์ให้แก่อินเดียกับเวียดนาม ปีนี้อาจจะขายได้มากขึ้นแต่ในราคาที่ต่ำติดดินอย่างไม่เคยมีมาก่อน ภายใต้โครงการรับจำนำข้าวจากชาวนาที่เรียกกันว่าโครงการ "ซื้อข้าวทุกเมล็ด" ช่วงเดือนนี้ข้าวไทยกำลังทำให้ตลาดโลกปั่นป่วนซึ่งสมาคมอาหารเวียดนามกล่าวว่าราคาเปลี่ยนแปลงเกือบจะเป็นรายวันและยังคาดคะเนทิศทางได้ยาก. -- REUTERS/Sukree Sukplang.
คนงานอินโดนีเซียนำข้าว 42,494 ต้นที่ซื้อจากไทยขึ้นจากเรือที่ท่าตันจุงปริอ็อก (Tanjung Priok) กรุงจาการร์ตาวันที่ 25 ม.ค.2554 หรือเมื่อ 2 ปีกับ 7 เดือนก่อนที่ข้าวไทยยังส่งออกได้ราคาดี ปีนี้ชาวอินโดนีเซียได้กินข้าวราคาถูกอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่จะต้องไม่ลืมขอบคุณประชาชนชาวไทยที่เสียภาษีสนับสนุนราคาในประเทศและทำให้ต้องขายข้าวระบายสตอกในราคาต่ำติดดิน. -- REUTERS/Crack Palinggi.
คนงานกำลังโหลดข้าวขึ้นรถบรรทุกที่ จ.อยุธยา ในภาพวันที่ 7 ส.ค.2555 ภายใต้โครงการรับจำนำข้าวโดยซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนาในราคาแพงทำให้ไม่สามารถส่งออกได้และเสียตำแหน่งแชมเปี้ยนให้แก่อินเดียกับเวียดนาม ส่วนปี 2556 โครงการนี้ได้ซ้ำเติมข้าวไทยหนักหน่วงลงไปอีกกลายเป็นข้าวราคาถูกที่สุดในโลกอีกยี่ห้อหนึ่ง. -- REUTERS/Sukree Sukplang.
เจ้าของร้านชำนั่งรอลูกค้าในตลาดสดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ วันที่ 26 ก.ค.2556 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจัดประกวดราคาจำหน่ายข้าวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องออกมาต่ำกว่าราคาที่ "รับซื้อทุกเมล็ด" จากชาวนา ข้าวที่เก็บอั้นในสตอกประมาณมหาศาลกดดันให้ราคาจำหน่ายในประเทศลดลงโดยเฉลี่ย แต่ขณะเดียวกันชาวโลกก็ได้รับประทานข้าวราคาถูกจากประเทศไทยด้วยเงินภาษีอากรของประชาชนไทยที่ใช้ในการสนับสนุนราคา. -- REUTERS/Athit Perawongmetha.