ชี้ยุคยิ่งลักษณ์ มหาวิกฤติโกง ลามทุกหย่อม! (ไทยโพสต์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra
จวก นักการเมืองสมคบข้าราชการ พ่อค้า โกงชาติถึงกระดูก โดยเฉพาะโครงการรับจำนำ ประธานต่อต้านคอรัปชั่นชี้ประเทศกำลังก้าวสู่ มหาวิกฤติคอรัปชั่น คนดี-สื่อที่ไม่ยอมก้มหัวถูกทำลาย เรียกร้องหน่วยงานตรวจสอบผนึกกำลัง เสนอ รธน.ใหม่วางกรอบตรวจสอบนโยบายประชานิยมส่งผลเสียโดยรวมมากน้อยแค่ไหน
ที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ วันที่ 6 กันยายน มีการจัดงานวันต่อต้านคอรัปชั่น 2556 "ACT NOW ร่วมกันสู้ กอบกู้อนาคต" โดยมีสมาชิกองค์กร ผู้บริหารทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประชาชน เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น กล่าวว่า ปัญหา คอรัปชั่นในประเทศไทยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแต่ทรงกับทรุดลงเรื่อย ๆ กระทั่งกำลังก้าวเข้าสู่ "มหาวิกฤติคอรัปชั่น" เนื่องจากสังคมยังขาดจิตสำนึกการต่อต้านคอรัปชั่น เริ่มแต่ความไม่จริงจังของรัฐบาลและฝ่ายบริหาร แม้รัฐบาลจะแสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามทุจริต แต่ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น โครงการรับจำนำ นอกจากนี้ มีปัจจัยความเห็นแก่ตัวของนักธุรกิจ เกิดการสมยอม จำยอม โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมักมีวงเงินสูงมาก จึงมีพ่อค้าวิ่งเต้นเพื่อให้ได้งาน กลายเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจอนุมัติเรียกร้อง "เงินทอน" จำนวนมาก ซึ่งหากไม่ยอมจ่ายก็ไม่ได้งาน
"ยัง พบว่าข้าราชการดีถูกกลั่นแกล้ง จากผลการวิจัยของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง พบว่า วงราชการมีการซื้อขายตำแหน่งมาก และมีมูลค่าสูงมากเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ยังขาดความกล้าในการติดตามขุดคุ้ยนำเสนอข้อเท็จจริง ขณะที่สื่อซึ่งทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมามักถูกแกล้งทั้งทางลับและทางกฎหมาย"
นายประมนต์กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นอยู่ระหว่างผลักดันการต่อต้านคอรัปชั่นในหลายเรื่อง ทั้งร่วมมือกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แก้ปัญหาการรับสินบนในการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน เพิ่มมาตรการทางกฎหมายในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การแต่งตั้งตัวแทนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท เป็นต้น
มีข้อเสนอจากนายประมนต์ด้วยว่า ใน การแก้ปัญหาคอรัปชั่นระยะยาว ต้องเน้นการสร้างจิตสำนึก เน้นความใส่ใจในการต่อต้านคอรัปชั่น และปฏิเสธการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ ไม่เช่นนั้นต่อไปในอนาคต เชื่อว่าประเทศไทยคงจะล่มสลาย
"แม้รัฐบาลจะประกาศว่าจะแก้ปัญหาคอรัปชั่น แต่ยังไม่เห็นผลออกมาในเชิงการปราบปราม และนำคนผิดมาลงโทษ ส่วนโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างโครงการรับจำนำข้าว อยากให้รัฐบาลดูโครงการเก่าที่ได้ดำเนินไปแล้ว และปิดช่องว่างต่างๆ ที่ทำให้เกิดการทุจริตดังที่ผ่านมา" นายประมนต์กล่าว
ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปัญหา โครงการรับจำนำข้าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และเชื่อว่าปัญหาทุจริตจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ส่วนระยะยาวอยากให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชน เป็นแบบทางตรงมากขึ้น เพื่อลดช่องทางที่จะก่อให้เกิดการทุจริต
ต่อมา น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "ชำแหละผลการวิจัยนิสัยโกงกินและการตอบสนองของแต่ละภาคส่วน" ว่า การจะลดคอรัปชั่นต้องเริ่มต้นจากทุกภาคส่วน ต้องร่วมกันตรวจสอบและขับเคลื่อน จากปัจจุบันที่แต่ละส่วนมีบทบาทสำคัญ แต่ยังแยกกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ช.) นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ทำให้ไม่มีพลังในการต่อต้านคอรัปชั่น จึงอยากให้ดูประเทศเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง ที่ภาคเอกชนรวมตัวกันตรวจสอบภาครัฐได้อย่างเข้มแข็งมาก ทำให้สามารถพลิกประเทศจากอดีตที่มีการคอรัปชั่นอย่างหนักเหมือนประเทศไทย ขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างปัจจุบัน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ เพราะปัจจุบันหลายปัญหาไม่สามารถหาทางออกได้เพราะไม่มีข้อมูล ในขณะที่กฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่มีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
นาง วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบัวหลวง กล่าวว่า เพื่อลดการทุจริตในโครงการภาครัฐต่าง ๆ ในช่วงที่รัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนี้ ก็ควรมีการเขียนลงไปในรัฐธรรมนูญว่า นโยบายการหาเสียงทั้งหมดของพรรคการเมือง ต้องมีผู้วิเคราะห์ความเป็นไป ได้ของนโยบาย ผลได้ผลเสียต่อประเทศโดยรวม ก่อนที่นโยบายจะถูกนำไปปรับใช้จริง เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังควรมีการลงโทษให้รุนแรงสำหรับผู้ที่กระทำผิดข้อหาคอรัปชั่น
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น กล่าวว่า การแก้ปัญหาคอรัปชั่นจะต้องพึ่งกลไก 2 ส่วนที่สำคัญ คือการปราบปราม ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น และกลไกการป้องกัน ซึ่งเป็นทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี, นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ได้ไปร่วมงานด้วย
http://fb.kapook.com...ight-90818.html
ภาพจาก : http://news.voicetv....land/47839.html
นายกรัฐมนตรีประกาศเดินหน้านโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยยึดหลักความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ พร้อมเปิดช่องทางให้ประชาชนร่วมร้องเรียนเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย