http://www.dailynews...politics/231625
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ศูนย์ประชุมสถาบันจุฬาภรณ์ สถาบันพัฒนาภาวะผู้นำการปกครองส่วนท้องถิ่น (สพท) ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “ระบบนิติรัฐกับทางออกของประเทศไทย” โดยมีนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นองค์ปาฐก โดยได้กล่าวว่า นิติรัฐหมายถึงรัฐที่มีการปกครองโดยยึดหลักกฎหมาย การชนะการเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าให้มาบริหารประเทศอย่างเดียว รัฐบาลจะต้องบริหารตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมือกฎหมายที่เก่ง มีความรู้ และแก้ปัญหาได้ดีไว้ใกล้ตัว นักกฎหมายที่เก่งควรรู้กฎหมายและผูกโยงกฎหมายหลายฉบับที่เชื่อมโยงกันเพื่อให้บริหารถูกต้อง และเพื่อใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ ไม่ใช่เอาช่องโหว่กฎหมายมาหาประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง และต้องบริหารตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บริหารตามอำเภอใจ รัฐบาลนี้ก็มีมือกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ที่ออกมามักจะมาคุยโม้ โอ้อวด หนักไปทางคุยมากกว่า พูดเก่ง โม้เก่ง แต่พอเอาจริงเอาจังแล้วไม่ค่อยได้เรื่อง ไม่ว่าจบจากต่างประเทศ หรือเป็น ดร. ซึ่งยิ่งออกมาพูดมากย่อมแสดงความไม่รู้ของตัวเอง
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ตนฟันธงตอนนี้รัฐบาลทำขัดรัฐธรรมนูญแล้ว 2 เรื่อง แต่ไม่มีกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญก้าวล่วงไปวินิจฉัย คือ
1.กรณีไม่แถลงผลงานปีละ1 ครั้งต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสองที่กำหนดไว้ ตรงนี้ไม่เหมือนศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันที่มีอำนาจจะเข้าไปตรวจสอบ เรียกไต่สวน หรือออกคำสั่งห้ามได้ โดยที่ไม่ต้องมีคนร้องหากเห็นว่า รัฐบาลหรือรัฐสภากำลังทำผิด นอกจากนี้ ที่น่าหงุดหงิดคือ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตั้งแต่เดือน ก.พ.55 เมื่อครั้งขอออกเป็น พ.ร.ก.ถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ วันนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าวออกเป็นพ.ร.บ.แล้ว โดยมาตรา 3 เขียนให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และในวรรคหนึ่งกำหนดให้การกู้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.56 แต่จนถึงขณะนี้มีคำยืนยันจากรองปลัดกระทรวงการคลังว่าไปเซ็นสัญญากับ4 ธนาคารแล้ว มีคำถามว่าการกู้เงินตามพ.ร.บ.กำหนดให้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. 56 การเซ็นสัญญากับธนาคารแล้วว่าถือว่าเป็นกู้หรือยัง ซึ่งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เขียนไว้ว่าสัญญานี้จะบริบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม แต่ตอนนี้ถ้าเป็นไปตามที่รองปลัดกระทรวงการคลังบอกว่ายังไม่มีการส่งมอบเงิน จึงเท่ากับว่ายังไม่มีการกู้เงินเกิดขึ้น ปัญหาคือ ถ้าหลังจากเดือนมิ.ย.แล้วธนาคารจะเสี่ยงกล้าให้เงินกับรัฐหรือไม่ เพราะถ้ายึดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การเสี่ยงให้เงินของธนาคารก็อาจนำมาสู่การไม่ได้รับเงินต้นคืนและดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน รัฐจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย
“ ผมเป็นห่วงบริษัทอิตาเลี่ยนไทย และเค.วอเตอร์ ไม่ทราบว่าเกาหลีมีแห้วขายไหม ผมแนะนำว่าหากรัฐทวงเงินกู้ตามสัญญาจากธนาคาร วิธีที่ดีที่สุดสำหรับธนาคารคือไม่ส่งมอบเงินให้กับกระทรวงการคลัง แต่ให้กระทรวงการคลังไปฟ้องแพ่งเอา เพราะถ้าให้ก็ไม่แน่ว่าจะได้เงินคืน” นายวสันต์ กล่าวและว่า นี่คือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ถามว่าปีครึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มัวไปทำอะไรกันอยู่ มัวแต่ไปเล่นละครพญาเม็งรายหรือไม่ มีคนไปฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองก็มีคำสั่งว่าจะต้องทำรายงานวิจัยศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก็ไปด่าศาลว่าถ้าน้ำท่วมศาลปกครองต้องรับผิดชอบ บอกได้เลยว่า ถ้าตอนนี้น้ำท่วมขึ้นมาคนที่รับผิดชอบคือรัฐบาลอย่างเดียว เพราะปีกว่า ๆ ไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่ความจริงบ้านเรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้ต้องทำประชาพิจารณ์ในโครงการที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี35 และมีรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 67กำหนดว่าโครงการที่มีผลกระทบกับชุมชนต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งกรณีก็โยงไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะมีการกู้เงินตามพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถามว่าวันนี้จะทำรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ต้องขุดลงใต้ดินผ่านอุทยานฯ ป่าสงวน และชุมชนไหนบ้างรัฐก็ตอบไม่ได้ พูดอย่างเดียวจะเอาเงินกู้ โดยการกู้เงินเอามาทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐระบุเป็นโครงการ 7 ปี ถ้าเฉลี่ยรายปีจะต้องใช้งบประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท ทำไมไม่กู้ผ่านพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี คำตอบคือ ถ้าทำตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การยื่นคำขอในแต่ละปีต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน และจะถูกตรวจสอบได้ง่าย จึงเลี่ยงที่จะถูกตรวจสอบ ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 169 และถ้าเรื่องนี้ผ่านไปได้ ต่อไปรัฐบาลจะไม่เลือกใช้การกู้ผ่านวิธีการงบประมาณแล้ว
อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส่วนอีกเรื่องที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผิด แต่ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคือ กรณที่นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โครงการรับจำนำข้าว เพราะผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (5) ที่บัญญัติเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ว่า นโยบายที่รัฐกำหนดขึ้นต้องให้มีการแข่งขันเสรีเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด ตัดตอน แต่โครงการรับจำนำข้าวที่ทำกันอยู่ถือว่ารัฐตัดตอนเสียเอง เพราะแท้จริงแล้วไม่ใช่การรับจำนำ แต่เป็นการรับซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนา กลายเป็นโรงสีของรัฐเท่านั้นที่มีสิทธิได้ซื้อ แต่โรงสีเอกชนบางรายจะไม่ได้สิทธิรับซื้อ ขัดกับหลักของการรับจำนำ เพราะการจำนำคือ การเอาทรัพย์ไปประกันหนี้กับเจ้าหนี้ เมื่อถึงเวลาหนึ่งต้องมีการไถ่ถอนหรือมีการต่อรอง แต่นี่กลับเป็นการตั้งโต๊ะรับซื้อทั้งหมด ถือเป็นการโกหกตั้งแต่ต้น
อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มีประเด็นอยู่ 3 มาตรา คือ
1.มาตรา 3 วรรคสอง เรื่องหลักนิติธรรม เช่น คดีที่เกิดพิพากษามาแล้ว อยู่ๆ จะยกเลิกมาพิจารณาใหม่ไม่ได้
2.การออกกฎหมายต้องใช้บังคับเป็นการทั่วไป จะบังคับใช้กับคนเดียวๆ หรือบางกลุ่มไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญในมาตรา 29
และ 3.ในมาตรา30 กำหนดไว้ว่า กฎหมายต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะสถานะของบุคคล ฟันธงเลยผู้ใช้จ้างวาน ผู้โฆษณาก่อให้เกิดความผิด ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมจะต้องไปทั้งยวง ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะยกเว้นให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ หากออกกฎหมายแล้วยกเว้นแกนนำจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา30 เรื่องนี้หากจะวินิจฉัยไม่ยากเลย.
------------------
ทำไปทำมา เกือบจะเน้นมันทุกบรรทัดแล้ว เลยเลิก
ขอทำแค่นี้แล้วกัน
อ่านแล้วคิดอะไรกันบ้างไหม? แล้วข่าวนี้จะเป็นข่าวใหญ่
ในวันพรุ่งนี้หรือเปล่า ผมว่าสรย้วยไม่เล่นข่าวนี้ หรือว่าอ่านเร็ว
จบภายใน 20 วิ.
แปลกที่เห็นอะไรกันขนาดนี้ แต่ไม่สามารถฟ้องได้ เพราะศาลตี
ความว่า ประชาชนไม่ใช่ผู้เดือดร้อน ทั้งๆ ที่มันก็มาจากการขูดรึด
ภาษีและทรัพยากรของประเทศทั้งนั้น