เทศกาลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีเวียนมาอีกครั้ง
โดยในวันที่ 29-31 พฤษภาคม นี้ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ในการประชุมสมัยวิสามัญ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 มีรายละเอียด 35 มาตรา วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,525,000 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมา 125,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2
คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
วงเงินดังกล่าวสามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภทของการใช้จ่าย ประกอบด้วย
1. รายจ่ายประจำ จำนวน 2,017,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 116,767 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79.9 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
2. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 13,423 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.5 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
3. รายจ่ายการลงทุน จำนวน 441,510 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 8,863 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.5 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
4. รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 52,821 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3,672 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด
ทั้งนี้ หากจำแนกงบประมาณรายจ่ายปี 2557 ตามหน่วยงานนั้น หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1. กระทรวงศึกษาธิการ 481,337 ล้านบาท 2. งบกลาง 345,459 ล้านบาท 3. กระทรวงมหาดไทย 328,755 ล้านบาท 4. กระทรวงการคลัง 229,355 ล้านบาท 5. กระทรวงกลาโหม 184,737 ล้านบาท 6. กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 155,231 ล้านบาท 7. รัฐวิสาหกิจ 150,745 ล้านบาท 8. กระทรวงสาธารณสุข 106,436 ล้านบาท 9. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือ ทบวง 101,923 ล้านบาท และ 10. กระทรวงคมนาคม 99,389 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับงบประมาณปี 2556 จะพบว่าหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมมากที่สุด 10 อันดับ ประกอบด้วย
1. กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมามากที่สุด จำนวน 48,647 ล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดในเอกสารงบประมาณปี 2557 ของกระทรวงการคลัง พบว่างบประมาณรายจ่ายส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในเป้าหมายต่างๆ อาทิ การเสริมสร้างความมั่นคงทางการคลัง (การบริหารหนี้สาธารณะ) 162,332 ล้านบาท และเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในโครงการรถยนต์คันแรก 40,000 ล้านบาท
2. งบกลาง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 25,259 ล้านบาท โดยวงเงินงบประมาณทั้งหมดมีจำนวน 345,459 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในส่วนของการจ่ายเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ มากที่สุดจำนวน 132,277 ล้านบาท รองลงมาคือ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 72,500 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐจำนวน 60,000 ล้านบาท เป็นต้น
3. รัฐวิสาหกิจ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 21,704 ล้านบาท โดยมีวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งหมด 150,745 ล้านบาท เป็นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 82,861 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย 17,025 ล้านบาท เป็นต้น
4. กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20,926 โดยวงเงินงบประมาณทั้งหมดจำนวน 481,337 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในเป้าหมายต่างๆ อาทิ ประชาชนได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีมาตรฐานและคุณภาพ จำนวน 294,155 ล้านบาท ประชาชนได้รับโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามสิทธิที่กำหนดไว้ จำนวน 85,606 ล้านบาท และกำลังคนระดับกลางและระดับสูงมีคุณภาพมาตรฐานสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล จำนวน 72,172 ล้านบาท เป็นต้น
5. กระทรวงมหาดไทย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 19,920 ล้านบาท มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 328,755 ล้าน ถูกนำไปใช้ในเป้าหมายต่างๆ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี วงเงิน 159,913 ล้านบาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหลักประกันรายได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม หรือเบี้ยยังชีพ วงเงิน 60,999 ล้านบาท และประชาชนมีความพึงพอใจในการให้บริการและการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด วงเงิน 40,605 ล้านบาท เป็นต้น
6. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 13,423 ล้านบาท โดยมีวงเงินงบประมาณเท่ากับจำนวนที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 13,423 ล้านบาท เนื่องจากในปีงบประมาณ 2556 ไม่มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้
7. กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 6,648 ล้านบาท วงเงินรวม 106,436 ล้านบาท ใช้ในเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนในเขตเครือข่ายบริหารได้รับบริหารสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานทุกระดับและเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยในเขตเครือข่ายบริหารได้ จำนวน 81,156 ล้านบาท และเป้าหมายให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถลดภาวะโรคและภัยคุกคาม ตลอดจนได้รับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 21,090 ล้านบาท เป็นต้น
8. สำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 6,496 ล้านบาท วงเงินรวมทั้งสิ้น 31,742 ล้านบาท เป็นของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จำนวน 8,544 ล้านบาท สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 5,955 ล้านบาท และกรมประชาสัมพันธ์ 2,973 ล้านบาท เป็นต้น
9. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4,624 ล้านบาท โดยมีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 101,923 ล้านบาท เป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 86,388 ล้านบาท สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 5,344 ล้านบาท และสำนักพระราชวัง 3,219 ล้านบาท เป็นต้น
10. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4,393 ล้านบาท วงเงินงบประมาณรวม 77,276 ล้านบาท ใช้ในเป้าหมายขยายพื้นที่ชลประทานไม่น้อยกว่าปีละ 2 แสนไร่ วงเงิน 43,422 ล้านบาท และฐานการผลิตภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง 25,058 ล้านบาทเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วงเงินงบประมาณในส่วนต่างๆ ยังเป็นเพียงการเสนอในส่วนของสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เท่านั้น ซึ่งเมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ผ่านวาระที่ 1 จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการนั้นจะมีการ “ปรับลด” และ “ปรับเพิ่ม” งบประมาณของหน่วยงานรัฐตามความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
การจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์
เงินงบประมาณปี 2557 กว่า 2.5 ล้านล้านบาท จะถูกนำไปใช้จ่ายตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 8 ยุทธศาสตร์ 52 แผนงานและรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ซึ่งจะถูกกำหนดให้สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555-2558 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 รวมไปถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาล และสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยสามารถเรียงลำดับการจัดสรรงบประมาณแก่ยุทธศาสตร์ต่างๆ จากมากที่สุดไปน้อยที่สุดได้ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม จำนวน 849,861 ล้านบาท ผ่านแผนงานขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษา จำนวน 395,787 ล้านบาท แผนงานพัฒนาระบบประกันสุขภาพ จำนวน 270,916 ล้านบาท แผนงานสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 91,721 ล้านบาท แผนงานพัฒนาด้านสาธารณสุข 44,832 ล้านบาท แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงาน จำนวน 18,664 ล้านบาท
แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด จำนวน 10,146 ล้านบาท แผนงานอนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม จำนวน 8,907 ล้านบาท แผนงานเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตและสังคม 7,534 ล้านบาท แผนงานสร้างโอกาสการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน 845 ล้านบาท แผนงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ 505 ล้านบาท
2. ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี งบประมาณจำนวน 351,399 ล้านบาท ในแผนงานส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 160,407 ล้านบาท แผนงานปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม 81,723 ล้านบาท แผนงานพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน 50,896 ล้านบาท แผนงานสนับสนุนการจัดการของรัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ 40,142 ล้านบาท แผนงานส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 18,170 ล้านบาท
3. ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำนวน 343,746 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 102,019 ล้านบาท แผนงานเสริมสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร 85,276 ล้านบาท แผนงานยกระดับรายได้และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน 44,327 ล้านบาท แผนงานบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความยั่งยืน 29,462 ล้านบาท แผนงานส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน 15,379 ล้านบาท
แผนงานส่งเสริมและพัฒนาการกีฬา 9,393 ล้านบาท แผนงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 8,200 ล้านบาท แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพภาคการตลาด การค้า และการลงทุน 8,036 ล้านบาท แผนงานยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม 4,369 ล้านบาท แผนงานพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ 2,624 ล้านบาท แผนงานพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 1,614 ล้านบาท
4. ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวน 210,783 ล้านบาท ผ่านแผนงานเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ 181,006 ล้านบาท แผนงานเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ 13,670 ล้านบาท แผนงานรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ 15,684 ล้านบาท และแผนงานสร้างความปรองดองสมานฉันท์และฟื้นฟูประชาธิปไตย 421 ล้านบาท
5. ยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน 145,006 ล้านบาท ในแผนงานดูแลผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส 78,502 ล้านบาท แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ 25,921 ล้านบาท แผนงานเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ 11,617 ล้านบาท แผนงานรองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 8,039 ล้านบาท
แผนงานเชื่อมโยงระบบคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ 7,600 ล้านบาท แผนงานส่งเสริมสินค้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 7,455 ล้านบาท แผนงานยกระดับคุณภาพแรงงาน การจัดการแรงงานต่างด้าว และป้องกันการค้ามนุษย์ 2,353 ล้านบาท แผนงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 1,797 ล้านบาท และแผนงานพัฒนาศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน 1,719 ล้านบาท
6. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 112,288 ล้านบาท ในแผนงานส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ 59,871 ล้านบาท แผนงานจัดการภัยพิบัติ 23,740 ล้านบาท แผนงานอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 23,457 ล้านบาท แผนงานจัดการสิ่งแวดล้อม 4,071 ล้านบาท แผนงานป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ 1,147 ล้านบาท
7. ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 21,323 ล้านบาท ในแผนงานส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา 12,202 ล้านบาท แผนงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 9,121 ล้านบาท
8. ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 9,004 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณทั้งหมดในแผนงานส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติ
ส่วนรายการค่าดำเนินการภาครัฐนั้น มีจำนวน 481,644 ล้านบาท แบ่งเป็นแผนงานบริหารบุคลากรภาครัฐ 208,184 ล้านบาท แผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 185,861 ล้านบาท แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 74,175 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 13,423 ล้านบาท