รศ.ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ
น้ำก๊อกต้มแล้วดื่มได้ไหมคะ? สมาชิกหมายเลข 708090ถามประชาคมผู้เข้าใช้บริการในห้องสวนลุมพินี ของเว็บไซต์ pantip.comเมื่อเวลา 07:29 น. ของวันที่ 20 มกราคม 2556
ท่านผู้อ่านเห็นประเด็นของกระทู้นี้แล้ว หลายท่านคงคิดในใจว่า “คำถามนี้ตรงใจเราเหมือนกันแฮะ เพราะสงสัยมานานแล้ว”ดังนั้นผู้เขียนจึงเลือกเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่ออย่างน้อยก็ได้ตอบคำถามของผู้ตั้งประเด็นในห้องสวนลุมพินี โดยอาศัยเว็บไซต์โลกสีเขียว เนื่องจากการอธิบายให้เข้าใจดีนั้น ถ้าไปโพสต์ในเว็บดังกล่าวคงไม่เหมาะนัก เพราะจะยาวเกินไป
ในวันที่ผู้เขียนเข้าไปดูกระทู้ดังกล่าวนั้น มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นไว้ 36 ความคิดเห็น ผู้เขียนจะเลือกบางความคิดมาให้ท่านผู้อ่านดู แล้วอธิบายความว่าความคิดนั้นน่าจะมีปัญหาหรือไม่อย่างไร
ผู้แสดงความคิดเห็นรายหนึ่ง กล่าวว่า“อยู่ กทม. ใช่ไหมครับ? เขาประกาศว่าน้ำประปาดื่มได้ (แม้ไม่ต้องต้ม) ครับ”
ซึ่งเจ้าของกระทู้ก็ตอบว่า “ใช่ค่ะ กทม. แต่อยู่ที่คอนโด น้ำมันก็ต้องเอาไปเก็บไว้ในแทงก์ก่อนจะมาห้องเรา(รึเปล่าคะ??) ถ้าไม่ต้มคงไม่กล้าดื่มแน่ๆ เลย แต่สรุปว่าดื่มได้สินะคะ”
จากนั้นก็มีผู้แสดงความเห็นอีกรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า “แล้วแต่คน ถ้าคิดว่าไม่อยากมีปัญหาเรื่องไตก็กรองน้ำก่อน สารต่างๆ ในน้ำมันไม่ได้ระเหยไปพร้อมๆ กับการต้มนะคะ เราคิดว่าใช้เครื่องกรองน้ำดีกว่า”
ก่อนวิเคราะห์ความเห็นดังกล่าว ผู้เขียนได้พบข้อความที่น่าอิจฉาใน http://en.cop15.dk ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของการประชุมเกี่ยวกับโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน (ซึ่งล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในปี 2009) กล่าวว่า “Water -- Due to the very high quality of groundwater in Denmark, all potable water at the conference venue will be tap-water served in decanters or at self-service automatic dispensers. This implies a considerable energy saving advantage because production, transportation and disposal of water bottles will be avoided.”
ที่กล่าวว่าน่าอิจฉาชาวโคเปนเฮเกนเพราะ น้ำดื่มที่บริการผู้เข้าร่วมประชุมมาจากน้ำใต้ดินที่มีคุณภาพ ซึ่งหลีกเลี่ยงการสิ้นเปลืองพลังงาน ที่ต้องใช้ในการผลิตขนส่ง และกำจัดขวดน้ำ ในศตวรรษนี้เราคงไม่เห็นข้อมูลแบบนี้ในการประชุมในประเทศไทยแน่ เนื่องจากน้ำใต้ดินของประเทศเรานั้น นับวันมีแต่จะน่าเชื่อถือน้อยลงๆ และถ้ามีโรงแรมไหนเอาอย่างบ้างโดยกรอกน้ำก๊อกให้เรากินขณะไปใช้บริการ โดยไม่สนว่าคุณภาพน้ำก๊อกของเราเหมือนที่โคเปนเฮเกนหรือไม่ เราคงได้ฮาแบบขื่นขมกันทั่วหน้า เพราะในความเป็นจริงแล้ว แม้ตัวมาตรฐานข้อกำหนดคุณภาพน้ำประปา (เชิญไปดูได้ที่ http://www.envilab.c...h/13-29/29.html) ของเราที่อ้างว่าทำตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกปี 2006 ในการตรวจวิเคราะห์เพื่อควบคุมความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานนั้น ทำได้ตามกำหนดจริงหรือไม่ หากท่านผู้สนใจในประเด็นนี้สามารถสอบถามได้จาก กองวิเคราะห์คุณภาพน้ำ (twqc_div@mwa.co.th) ของการประปานครหลวง ซึ่งถ้าได้คำตอบว่าทำตามที่กำหนดทุกประการ ก็ขอให้เชื่อไว้ก่อนแล้วอ่านบทความนี้ต่อนะครับ
หลายปีมาแล้วผู้เขียนเคยเข้าไปในเว็บไซต์ที่น่าสนใจเว็บหนึ่งคือ www.wopular.com ซึ่งเป็นเว็บที่รวมข่าวจาก CNN, NY Times, Digg, Google News, Twitter, YouTube, Flickr, Yahoo, Bing, Wikipediaและอื่นๆ เพื่อให้สามารถติดตามข่าวสารสำคัญได้เร็วขึ้นโดยเข้าเว็บเดียว ซึ่งเมื่อค้นหาข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดื่มน้ำโดยใช้กุญแจคำว่า “drinking water” ก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ เช่น คำจำกัดความของน้ำดื่มว่า น้ำดื่มนั้นต้องมีคุณภาพที่ดีพอที่เราดื่มได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตรายต่างๆ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต (“Drinking water or potable water is water of sufficiently high quality that it can be consumed or used without risk of immediate or long term harm.”)
ในเว็บ www.wtop.com มีบทความที่น่าจะโดนใจคนทั้งโลกคือ “How safe is your tap water? Report finds hundreds of pollutants”ซึ่งหัวข้อดังกล่าวนี้เป็นประเด็นที่ตราตรึงใจคนไทยมานาน แม้ว่าปัจจุบันการประปาของไทยจะออกมายืนยันในแนวว่า น้ำประปาไทยเปิดก๊อกดื่มได้ (ถ้าระบบท่อสะอาด ไม่แตก ไม่มีการซ่อมนะครับ ไม่งั้นมีโคลนเข้าไปในระบบแน่)
ในบทความที่คนทั้งโลกน่าจะสนใจนี้กล่าวว่า ชาวอเมริกัน 53.6 ล้านคนได้รับมลพิษที่ปนเปื้อนในระบบน้ำที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการประปาของประเทศแล้ว ทั้งนี้เพราะน้ำที่ผ่านมาตรฐานนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นน้ำที่ปลอดจากสารพิษ
สำหรับมาตรฐานเรื่อง Drinking water ขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO นั้นสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.who.int/w...wq/fulltext.pdf ส่วนผู้ดื่มน้ำประปาเป็นประจำนั้น ถ้าต้องการดูข้อมูลที่ดูอินเตอร์หน่อย ขอแนะนำให้ไปดูที่ http://www.lenntech....r-standards.htm ซึ่งมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีที่ไม่ควรมีอยู่เกินในน้ำดื่มของคนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย
มีตัวอย่างที่น่าทึ่งบวกอึ้งคือ มีการกำหนดปริมาณของสารก่อมะเร็ง (ที่เกินไม่ได้) ไว้ด้วย สารเหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่จัดว่าเป็น สารอินทรีย์ (organic compounds) ได้แก่ carbon tetrachloride, dichloromethane ,chlorinated hydrocarbon ต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่เรียกว่า solvents ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมแถวมาบตาพุด และเป็นยาฆ่าแมลงที่มีการห้ามใช้แล้ว เพราะก่อมะเร็งและทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สารพิษเหล่านี้สามารถพบได้ในน้ำที่อยู่ในมาตรฐานของ WHO ซึ่งกำหนดให้มีได้ไม่เกินค่าที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ดื่มน้ำ ทั้งนี้เพราะในหลักการทางพิษวิทยา มนุษย์ (ที่แข็งแรง) ควรมีความสามารถในการกำจัดสารพิษที่กินเข้าไปได้ในระดับหนึ่ง
มีข้อมูลจาก www.wtop.com ว่า เคยมีผู้วิเคราะห์ข้อมูลราว 20 ล้านข้อมูลที่ได้จากรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา พบว่าตั้งแต่ปี 2004 นั้น มีการพบมลพิษในน้ำประปาถึง 316 ชนิด ซึ่งเป็นมลพิษที่มาจาก 97 แหล่ง เช่น สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีจากภาคเกษตร รวมถึงของเสียจากชุมชน ที่สำคัญคือ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีถึง 205 ชนิด พร้อมอีก 86 ชนิดจากน้ำที่ปล่อยสู่ลำรางสาธารณะของโรงงานที่มีระบบการกำจัดน้ำเสีย เป็นต้น ทั้งนี้เพราะการผลิตน้ำประปาที่ส่งให้เมืองใหญ่นั้นมักใช้น้ำท่า ซึ่งเป็นรูปแบบที่ประเทศไทยทำเช่นกัน เพราะน้ำท่าหรือน้ำจากแม่น้ำนั้นต้นทุนถูก ดังนั้นการตรวจพบสารพิษในน้ำประปาจึงไม่น่าประหลาดใจ
การพบสารพิษในน้ำประปาของประเทศที่เจริญแล้วนั้น ไม่ได้บอกว่าน้ำนั้นไม่ได้มาตรฐาน เพราะปริมาณมลพิษแต่ละชนิดที่เจอนั้นอาจต่ำมากๆ เพียงแต่ว่าประเทศที่เจริญแล้วเขาวิเคราะห์เพื่อคอยตรวจสอบหากเกิดความผิดปรกติด้วยเครื่องมือที่วิลิศมาหรา ในขณะที่บางประเทศยังไม่มีโอกาสซื้อเครื่องมือขั้นนั้นมาวิเคราะห์เลยตรวจไม่เจอ คนในประเทศนั้นก็คงยังสบายใจได้ เพราะทางผู้ผลิตน้ำประปาในหลายประเทศมักบอกว่า ไม่พบ (ซึ่งไม่ได้แปลว่าไม่มี)
ที่น่าประหลาดใจมากก็คือ Jane Houlihan ซึ่งเป็นคนสำคัญของ EWG หรือ The Environmental Working Group ในสหรัฐอเมริกาได้กล่าวว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของมลพิษเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตราย เพราะไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลกลาง จึงไม่น่าประหลาดใจที่ตรวจพบส่วนผสมของน้ำมันเครื่องบินเจ็ท สารเปอคลอเรต สารอะซีโตน สารกำจัดวัชพืช น้ำยาจากระบบปรับอากาศและตู้เย็น ตลอดจนสารเรดอนที่เป็นผลพลอยได้จากการสลายตัวของสารกัมมันตรังสีในน้ำประปาบางแห่งของประเทศเขา
มาถึงตอนนี้ ถ้าบทความนี้ทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อผู้ดื่มน้ำประปาแล้ว ก็ดื่มน้ำที่กรองผ่านระบบกรองน้ำก็แล้วกัน โดยให้ไปเลือกดูสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบจาก http://www.consumers...m/water-filters ซึ่งน่าจะพอเชื่อได้ว่า ไม่ได้เสียเงินเปล่า เหตุที่จำเป็นต้องเชิญให้ไปดูเว็บไซต์ต่างประเทศ เพราะหาเว็บไซต์ไทยที่กล้าออกมาแนะนำว่าให้ซื้อระบบกรองน้ำของบริษัทใดไม่ได้ เหตุที่ยังหาไม่ได้เนื่องจากยังไม่มีใครว่างจะทำ นี่คือคำตอบของบุคลากรในหน่วยงานหนึ่งที่ควรมีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับมาตรฐานเครื่องมือต่างๆ ที่ผู้บริโภคใช้
กลับมาที่กระทู้ น้ำก๊อกต้มแล้วดื่มได้ไหมคะ? ซึ่งมีสมาชิกอีกรายแสดงความเห็นที่น่าสนใจ (แบบภาษาชาวเน็ทซึ่งทำให้ครูภาษาไทยปวดหัวได้) ว่า“ไม่ควรดื่มคับ เคยลงหนังสือพิมเมื่อนานมาแล้ว มีงานวิจัยออกมาว่า เมื่อคลอรีน โดนความร้อน จะเปลี่ยนสภาพเป็นสารก่อมะเร็งคับ ถ้าบริโภคเป็นระยะเวลานานๆ อาจจะเป็นมะเร็งได้คับ”
ในขณะที่สมาชิกของ pantip.com อีกราย (ซึ่งภาษาไทยไม่แข็งแรง) กล่าวว่า “กินมาตั้งแต่เกิดเลยล่ะค่ะ ยี่สิบปีล่ะคุณพ่อก็กินตั้งแต่เกิดเหมือนกันค่ะ จะหกสิบปีอยู่แล้ว คุณย่าก็กินแบบนี้เหมือนกันค่ะ ... อยู่มาจะเก้าสิบแว้ววว ไม่เป็นอะไรเลยนอกจากเบาหวาน ตอนนี้ก็สุขภาพดีแจ่มใสทั่วไป แค่เป็นเบาหวาน (ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับน้ำกรองซักเท่าไหร่ - -" ค่ะ) ทั้งบ้านก็กินแบบนี้ล่ะค่ะ ไม่มีใครเป็นอะไรนอกจากเบาหวาน มีคุณปู่คนเดียวที่เป็นโรคไต แต่น่าจะเป็นสาเหตุอื่นมากกว่าไม่น่าจะเป็นเพราะน้ำต้มหน่ะค่ะ แต่กาต้มน้ำหน่ะ ตะกรันเยอะอยู่ค่ะ ก็ล้างๆ เขาบ้างงง กินน้ำต้มอร่อยกว่าด้วยค่ะในความคิดของเรานะ กินน้ำกรองเรากลับรู้สึกไม่ค่อยสะอาดด้วย ฮ่า ๆ เป็นความรู้สึกหน่ะค่ะ ทั้งๆ ที่จริงๆ มันอาจจะสะอาดกว่า เหมือนเคยไปอ่านเรื่องข้างในเครื่องกรองน้ำอะไรเนี่ยล่ะค่ะ ไม่ดูแลทำความสะอาด สยองมาก”
ประเด็นเรื่องสารพิษในน้ำประปาที่ต้มแล้วนั้น เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมานานแล้ว โดยเฉพาะที่มีการกล่าวว่า “เมื่อคลอรีน โดนความร้อน จะเปลี่ยนสภาพเป็นสารก่อมะเร็ง”ซึ่งถ้อยคำนี้ไม่ได้เกินเลยไปจากความจริงนัก เพียงแต่ว่าปริมาณสารพิษนั้นไม่ได้มากมายอะไร แต่ก็ยังเป็นสารพิษอยู่ดี
สารพิษที่เกิดขึ้นจากการต้มน้ำประปานั้นอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า ไตรฮาโลมีเทน (Trihalomethanes) ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาระหว่าง คลอรีน ซึ่งใช้ในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ (หรือธาตุอื่นอีก 3 ชนิด ที่อยู่ในกลุ่มฮาโลเจนได้แก่ โบรมีน ไอโอดีน และฟลูออรีน) และสารอินทรีย์ที่หลุดรอดจากกระบวนการผลิตน้ำประปา
ในหลายประเทศได้กำหนดมาตรฐานน้ำประปาให้มีสารนี้ในปริมาณต่ำ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น สหรัฐอเมริกากำหนดปริมาณสูงสุดไว้ไม่เกิน 80 ส่วนในพันล้านส่วน อย่างไรก็ตามสารพิษกลุ่มนี้เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่มีการตรวจวัดในน้ำประปา หลายประเทศยังกังวลใจถึงสารเคมีกลุ่มอื่นที่อาจมีขึ้นเนื่องจากการต้มน้ำประปา แต่ยังตรวจไม่พบ
ดังนั้นถ้าผู้บริโภคน้ำประปามีความกังวลใจต่อการเกิดสารพิษเนื่องจากการต้มน้ำแล้ว อาจใช้วิธีกรองน้ำประปาก่อนต้มโดยใช้เครื่องกรองที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดคลอรีนได้ เพื่อป้องกันการเกิดสารกลุ่มฮาโลมีเทนหลังจากการต้มน้ำประปา ทั้งที่ในความจริงแล้วถ้าเครื่องกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพดี สามารถกรองเอาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคได้ด้วย ปัญหาอยู่ที่ว่าเครื่องกรองที่ดีนั้นหาซื้อได้ที่ไหน
อย่างไรก็ดีมีข่าวเล็กๆ ในเว็บ http://www.miamiherald.com
เล่าถึง Tourist killed by hotel waterซึ่งผู้เขียนเคยเข้าไปดูเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยมีเนื้อข่าวว่า มีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งตายและอีกสองคนป่วย เนื่องจากการติดเชื้อที่เรียกว่า Legionnaire's Disease หลังจากเข้าพักในโรงแรมหรูในเมืองไมอามี โดยมีผู้ตั้งสมมุติฐานถึงสาเหตุการเจ็บป่วยครั้งนี้ว่า “After a hotel's powerful filter removed all the chlorine from city water, bacteria grew -- killing one and making two others ill..”ซึ่งแปลง่ายๆ ให้ได้ความว่า เนื่องจากระบบกรองน้ำของโรงแรมดีมากเกินไป จนกรองเอาคลอรีนที่ใช้ฆ่าเชื้อในน้ำประปาออกไปหมด น้ำในระบบท่อของโรงแรมเลยมีเชื้อที่ทำให้เกิดการป่วยได้ จึงทำให้ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าตำรับของการเปิดน้ำดื่มจากก๊อกได้เลยต้องเสียหน้าด้วยประการฉะนี้
ก่อนจบเรื่องราวของการต้มน้ำก๊อกดื่มนี้ ผู้เขียนมีเรื่องเล่าซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อนักอ่านบางท่าน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของน้ำประปา โดยเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2514 ซึ่งผู้เขียนยังเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.5 (สมัยนั้นเป็นชั้นสุดท้ายของระดับมัธยมศึกษาก่อนสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย) ผู้เขียนและเพื่อนสองคนได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปแข่งกับโรงเรียนอื่นๆ ในงานนิทรรศการของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็มีคำถามสุดท้ายซึ่งจะใช้ตัดสินว่าใครเป็นผู้ชนะคือ การประปาในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยใด ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนอื่นตอบเหมือนกันหมดว่า สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ผู้เขียนบอกเพื่อนที่ไปด้วยว่า เราต้องให้บทเรียนแก่กรรมการที่ตั้งคำถามว่า ต้องหาความรู้เชิงลึกก่อนจึงจะตั้งคำถามได้
ผู้เขียนบอกเพื่อนที่ไปตอบคำถามว่า ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจนเราไม่ชนะนั้น ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว โดยเอาตำแหน่งประธานชมรมสังคมศึกษาของโรงเรียนเป็นเดิมพัน แล้วจึงตอบคำถามดังกล่าวว่า “การประปาในประเทศไทยนั้นเกิดครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองลพบุรี” ในตอนแรกกรรมการให้คะแนนเป็นศูนย์ ผู้เขียนจึงขอประท้วงแล้วอธิบายให้กรรมการทราบว่า ความหมายของคำว่าการประปานั้น หมายถึงการจัดการให้มีการจัดส่งน้ำที่เหมาะสมต่อการอุปโภคและบริโภคสู่ประชาชน ซึ่งมีการตรวจพบซากท่อส่งน้ำดินเผาที่จัดทำขึ้นที่เมืองลพบุรี ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามคำแนะนำของข้าราชการที่เป็นชาวฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อคำถามถามว่าการประปาเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยคือเมื่อใด คำตอบที่ถูกต้องที่สุดควรเป็น สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สุดท้ายกรรมการจัดการตอบคำถามก็ต้องกลับคำตัดสินให้ทีมของผู้เขียนได้ถ้วยรางวัลกลับโรงเรียน