http://www.posttoday...กับพระเอกคนใหม่
ประชานิยมกับพระเอกคนใหม่
- 11 กันยายน 2556 เวลา 17:35 น. |
โดย...เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
ภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ออก มาประกาศถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ปรากฏว่า จีดีพี ของไตรมาสที่ 2 ปีนี้ขยายตัวที่ 2.8% ลดจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 5.4% ก็ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วหรือไม่ใน ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังจากที่ตัวเลขดังกล่าวได้ถูกประกาศออกมาผมก็ได้กลับมานั่งย้อน หลังและหาข้อมูลของเมื่อตอนไตรมาสที่แล้วว่ามีใครให้ความเห็นและคาดเดากัน ไว้อย่างไรบ้าง และมีความคลาดเคลื่อนและเที่ยงตรงกันบ้างอย่างไร ซึ่งบังเอิญไปอ่านเจอข่าวเก่าเมื่อเดือน พ.ค. ที่คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ได้ให้ความเห็นเอาไว้
“ตัวเลขของไตรมาส 1 ที่ออกมาถือว่าต่ำกว่าที่ได้คาดหมายไว้ และน่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้อยู่ในระดับ 4% น้อยกว่าที่ทางธนาคารเคยมองไว้ที่ระดับ 5% โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามาจากภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาที่ น่าจะยังมีแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะนี้ แม้จะยอมรับว่า|นโยบายประชานิยมเป็นมาตรการที่ให้ผลระยะสั้นก็ตาม โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภคในประเทศที่ควรจะยังได้รับแรงส่งต่อเนื่อง”
สิ่งที่คุณโฆสิตกล่าวเอาไว้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและทำให้ผมกลับมานั่ง พิจารณาถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จากความเห็นดังกล่าวของคุณโฆสิต เมื่อนำมาประกอบกับผลตัวเลขจีดีพีของไตรมาสที่ 2 ที่ออกมา เราจะตั้งเป็นสมมติฐานได้หรือไม่ว่า “นโยบายประชานิยมที่ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงที่ผ่านมากำลังหมดแรงส่งให้เศรษฐกิจ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องแล้ว และมาตรการต่างๆ ส่งผลในระยะสั้นกว่าที่เราทุกคนคาดคิดกันไว้”
แนวนโยบายประชานิยม เป็นเรื่องที่ถูกนำมาถกเถียงและแสดงความเห็นกันมามากมายสำหรับนักวิเคราะห์ นักวิชาการ และคนในสังคมไทยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราติดตามข่าวสารบ้านเมืองก็คุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 30 บาทรักษาทุกโรค การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ทุนการศึกษาของแต่ละตำบล นโยบายภาษีมรดก รถเมล์ฟรีสำหรับคนกรุงเทพฯ เช็คช่วยชาติ มาจนถึงค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นโยบายบ้านหลังแรก รถคันแรก การจำนำข้าว ซึ่งนัยของนโยบายเหล่านี้ถึงแม้จะมีประโยชน์มากหรือน้อยเพียงใดต่อสภาพ เศรษฐกิจสังคมและความเป็นอยู่โดยรวมของประชาชน ท้ายที่สุดแล้วก็เหมือนกับบริษัทที่มีการลงทุนทางธุรกิจที่ต่างก็ต้องการผล ตอบแทน ซึ่งในที่นี้ผู้ลงทุนก็คือรัฐบาลและมีการหวังผลทางการเมือง นั่นก็คือการยอมรับ เห็นชอบ และคะแนนเสียงจากประชาชนนั่นเอง
ต้องยอมรับครับว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถือเป็นนาทีทองของรัฐบาลใดๆ ที่ขึ้นมาบริหารประเทศและนำเอาแนวนโยบายดังกล่าวมาใช้ ภาพที่เราเห็นเป็นอย่างที่คุณโฆสิตกล่าวไว้ คือปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา มาจากภาครัฐเสียส่วนมาก เป็นการกระตุ้นการบริโภค จับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ด้วยนโยบายประชานิยมที่ส่งผลทั้งทางตรงและอ้อมต่อกำลังซื้อและความต้องการ บริโภคสินค้าของผู้บริโภค แต่ก็เหมือนกับประโยคอุปมาอุปไมยที่เค้าว่ากันว่า “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา” ณ จุดหนึ่งเมื่อสถานการณ์ต่างๆ รอบตัวเปลี่ยนไป อาจถึงเวลาที่เราต้องมาพิจารณากันแล้วว่าจะเปลี่ยน Theme ของงานเลี้ยงยังไงดีที่ไม่ให้ความสนุกต้องจบลง
ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า นโยบายประชานิยมสิ้นมนต์ขลัง แต่เพียงอยากชี้นำและแสดงความเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์ที่มองว่าการกระตุ้น เศรษฐกิจที่ใช้การดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างเต็มที่แล้วก็ควรจะมีผลลัพธ์ทำ ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ มิใช่เดินหน้าเต็มตัวแล้วโตได้เพียงเท่านี้ การอุปโภคบริโภคชะลอตัวลงเร็วตามตัวเลขที่ออกมา นอกจากนี้แล้วเราอาจต้องพิจารณาถึงสัดส่วนของผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ก่อนหน้าที่เริ่มใช้นโยบายประชานิยม เราเห็นเศรษฐกิจขยายตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป นโยบายดังกล่าวมีต้นทุนที่เริ่มสูงขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนคือตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจก็มิได้ขยับสูง ขึ้นตามสัดส่วนของต้นทุน ดังนั้นเราอาจต้องทบทวนการดำเนินนโยบายอีกครั้งว่ายังควรใช้นโยบายนี้ต่อไป หรือไม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวที่ดูจะเหมาะสมกว่า
หนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวที่ผมคิดว่าเป็นอัศวินม้าขาวได้คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางยุทธศาสตร์ของประเทศนั่นเองครับ เรากำลังต้องการอัศวินม้าขาวอีกคน อัศวินที่จะมารับหน้าที่สร้างความต่อเนื่องให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมา และเป็นอัศวินที่อาจจะมาช่วยเปิดโอกาสให้แนวนโยบายประชานิยมได้กลับเข้ามา เป็นกำลังเสริมทัพในการขับดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีก ครั้งอย่างยั่งยืนด้วย
หลักการง่ายๆ ทางเศรษฐศาสตร์ในมุมมองของคนทำธุรกิจอย่างผมก็คือ เราต้องอย่าหยุดหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการเจริญเติบโต และคงเป็นไปไม่ได้ถ้าเราจะหวังให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อ เนื่องถ้าหากไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม องค์กรธุรกิจฉันใดประเทศก็ฉันนั้น
ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การลงทุนที่จะเกิดขึ้น เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่จะอยู่กับเราไปอีกนานหลายสิบปี จนกระทั่งระบบโครงสร้างนี้หมดอายุใช้งานหรือถูกแทนที่ด้วยระบบโครงสร้างหรือ เทคโนโลยีใหม่ๆ นี่มิใช่การลงทุนกับแนวนโยบายทางการเมืองหรือสังคมในเชิงนามธรรม และมิใช่การลงทุนในรูปแบบที่จับต้องเป็นสิ่งของไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่สามารถยกเลิกหรือปัดเข้าใต้พรมได้ เปรียบเหมือนกับเราสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมากลางเมืองแล้วก็ต้องพยายามหา นิทรรศการหรืองานแสดงต่างๆ มาต่อยอดเพื่อสร้างอรรถประโยชน์จากสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา คนเข้าเยี่ยมชมได้ความรู้เพิ่มเติมเรื่อยๆ ดังนั้นช่วงเวลาภายหลังจากที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานสามารถใช้งานได้จริง ควรจะเป็นช่วงเวลาที่เราทุกคนพยายามแสวงหาแนวทางในการต่อยอดจากสิ่งที่เรามี
นอกเหนือไปจากปัจจัยภายนอกประเทศและความนิ่งของการเมืองในประเทศเรา สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจภาคเอกชนต้องการก็คือ มาตรการ แนวนโยบาย ที่ชัดเจนของรัฐบาลในการส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนมากกว่าเดิม เพราะคนทำธุรกิจย่อมแสวงหาโอกาสและความเป็นไปได้ที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ผ่าน นโยบายเหล่านี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยุทธศาสตร์ระยะยาวก็จะเป็นโอกาสที่สำคัญมากครั้ง หนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนเอกชนให้ก้าวมาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้ จริงได้อย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ผมยังเชื่อว่า เมื่อใดที่โอกาสเหมาะสม การที่รัฐบาลจะหยิบเอานโยบายประชานิยมกลับมาปัดฝุ่นใช้เป็นครั้งคราวตามวาระ ก็จะยิ่งเป็นกำลังเสริมในการผลักดันการเจริญเติบโตของประเทศ และจะยิ่งช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น ด้วย
คนเขียนคือ เศรษฐา ทวีสิน
เลยเอามาให้อ่านกันดู
บทความนี้ง่ายๆ ก็คือ ประชานิยม เริ่มเสื่อมลงไป เลยต้องดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
แต่ที่บทความนี้ขาดไปคือ ประสิทธิภาพ ,ความเหมาะสม และความโปร่งใส ของทั้งโครงการประชานิยม และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
โดยการบริหารงานของรัฐบาลนี้ มันห่วยมากๆ