“...ที่พูดเรื่องนี้เพราะอยากให้พวกเราช่วยกันดู เพราะเรื่องแบบนี้จะเป็นการยุติการทำหน้าที่ของสื่อ ถ้าจับพิรุธแบบนี้ได้ก็ช่วยกันพูดต่อ จะได้มีพลังกันมากขึ้นในการพูดความจริง...”
(รุจน์ โกมลบุตร)
ระหว่างการงานเสวนาหัวข้อ “เสรีภาพการตรวจสอบกับราคาที่ต้องจ่าย” สืบเนื่องจากกรณีที่กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน ฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กับ น.ส.ณัฎฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในคดีหมิ่นประมาท จากกรณีวิพากษ์วิจารณ์มาตรการขยายเวลาคืนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในวันนี้ (17 ก.ย.2556)
“นายรุจน์ โกมลบุตร” ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวใน 2 ประเด็น 1.ราคาที่จะต้องจ่ายจากการแทรกแซงสื่อ และ 2.รูปแบบการแทรกแซงสื่อที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นายรุจน์ออกตัวว่า แม้อาจไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการเสวนาซะทีเดียว แต่ว่ามีความน่าสนใจ มีรายละเอียด ดังนี้
00000
สำหรับ “ราคาที่ต้องจ่าย” มี 3 เสีย เสียแรก สื่อจะมีความสามารถตรวจสอบกิจการสาธารณะน้อยลง เช่น สนามบินสุวรรณภูมิที่ซ่อมแล้วซ่อมอีก จำนำข้าวที่ไม่รู้เจ๊งไปเท่าไรและจะเจ๊งอีกเท่าไร แผนน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ไม่รู้ว่าบางโครงการ อย่างเขื่อนแม่วงก์ผ่านมาได้อย่างไร ทำใ้ห้ประโยชน์ระยะยาวจะหายไป เสียสอง เสียชีวิต เช่นพฤษภาทมิฬ ทีวีปิดหูปิดตาตัวเอง มีคนเสียชีวิต และเสียสาม เสียชื่อ เช่น องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ที่จัดอันดับสื่อ ปี 2545 ต้นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไทยอยู่ที่ 65 จาก 139 ประเทศของโลก อยู่ครึ่งบน แต่พอปี 2549 มาอยู่ที่ 122 จาก 168 ประเทศของโลก หลังจากนั้นเราก็ 100 กว่ามาโดยตลอด การแทรกแซงสื่อจึงถูกนับด้วยว่า เป็นเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แม้ว่าปีนี้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอยู่ที่ 135 ดีขึ้น 2 อันดับก็ตาม
สำหรับ “รูปแบบการแทรกแซงสื่อ” ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีด้วยกัน 10 วิธี
1.การซื้อสื่อ เราจะเห็นท่านๆ ทั้งหลาย ขึ้นปกกันมากมาย มีตัวเลขน่าสนใจ จากการตรวจสอบโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ในวันนี้ เปรียบเทียบกัน ระหว่างไทยรัฐ เดลินิวส์ และหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ผมไม่ขอเอ่ยชื่อ แต่ทุกคนน่าจะเดาได้ เรียกว่าเป็น “หนังสือพิมพ์เอ็กซ์” ไทยรัฐมีโฆษณาจากภาคเอกชน 48 ชิ้น จากภาครัฐ 0 ชิ้น เดลินิวส์มีโฆษณาจากภาคเอกชน 18 ชิ้น จากภาครัฐ 1 ชิ้น และหนังสือพิมพ์เอ็กซ์ มีโฆษณาจากภาคเอกชน 8 ชิ้น จากภาครัฐ 7 ชิ้น เมื่อมีการซื้อสื่อขนาดนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยที่มีเนื้อหาตรวจสอบรัฐบาลมาโดยตลอด กลับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี 2548 ว่า กลุ่มทักษิณาธิปไตยผนึกกำลังไม่ใช้จ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับระบอบทักษิณาธิปไตย และผู้ทรงอำนาจในระบอบทักษิณาธิปไตยและกำกับดูแลงบประมาณของหน่วยงานราชการ ให้เฉพาะแต่สื่อที่เป็นเด็กดี และไม่ให้งบประมาณกับสื่อที่เกเร พูดไว้ตั้งแต่ปี 2548 นี่ปี 2556 ก็ 8 ปีผ่านมาแล้ว
2.การสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว ให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ผลิตเนื้อหา จนนำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง เช่น กรณีละครเรื่องเหนือเมฆของช่อง 3 ที่ถูกตัดจบอย่างกะทันหัน หรือกรณีรายงานสกู๊ปข่าวเรื่องบริษัท เควอเตอร์ ของรายการฮาร์ดคอร์ข่าวทางช่อง 5 ที่ถูกตัดกลางอากาศ
3.การฟ้องร้องหรือตั้งข้อหา เท่าที่นับในสองปีที่ผ่านมา มี 6 กรณี เช่นกรณีคุณชัย ราชวัตร กรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ฟ้องหนังสือพิมพ์7 ฉบับที่เขียนว่าเมา กรณีคุณเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ที่ถูกตำรวจ ปอท.เรียกไปสอบ และล่าสุด กรณี ดร.เดือนเด่นกับ นส.ณัฎฐา ที่ถูก กทค.ฟ้องร้อง
4.การสปินข่าว เท่าที่ดูก็มีกรณีเณรคำที่ถูกสปินขึ้นมาในช่วงที่มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ จากการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ผมสอนอยู่ กลับเจอว่าหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เล่นข่าวหน้าหนึ่งกรณีเณรคำน้อยกว่าหนังสือพิมพ์เอ็กซ์ ทั้งๆ ที่หนังสือพิมพ์เอ็กซ์เป็นหนังสือพิมพ์เชิงคุณภาพควรจะเล่นข่าวเณรคำน้อยกว่า
มีอีกกรณีหนึ่งที่สนุกดี ช่วงกลางปี 2547 มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณใช้วิธีสปินข่าวด้วยการบอกว่ารัฐบาลจะซื้อทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล โดย พ.ต.ท.ทักษิณพูดเองว่า ระหว่างข่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจกับข่าวลิเวอร์พูลข่าวไหนจะดังกว่ากัน ถ้าเป็นข่าวลิเวอร์พูลสัปดาห์หน้าจะดังกว่านี้อีก แล้วให้สัมภาษณ์เรื่องลิเวอร์พูลทุกวัน กระทั่งเมื่อถึงวันสุดท้ายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่า เดี๋ยวค่อยว่ากัน เวลานี้รายละเอียดยังไม่จบ เปลี่ยนไปพูดเรื่องอื่นบ้าง ไม่ควรพูดเรื่องนี้ทุกวัน ต้องปล่อยวาง
5.หลีกเลี่ยงการอธิบาย ไม่ยอมอธิบายในสิ่งที่สังคมต้องการ ผมเคยถามนักข่าวสายทำเนียบที่ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า impression ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์คืออะไร พวกเขาก็บอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคนที่มาทำงานไม่ตรงเวลา เวลานักข่าวจะเข้าไปคุย ก็ต้องเดินคุย แล้วถ้าคุยเรื่องยากมากๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็จะเดินเข้าตึกหรือขึ้นรถยนต์ไปเลย ส่วนเรื่องที่ยืนคุยนิ่งๆ ก็จะตอบกว้างๆ แล้วจะมีกลุ่มคำอยู่ 2-3 กลุ่มคำที่ใช้บ่อยๆ เช่น ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กับบูรณาการ แล้วพอนักข่าวซักในรายละเอียด น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็จะเดินขึ้นรถยนต์ไปทันที นอกจากนี้ยังไม่ค่อยไปตอบคำถามที่สภา
เหมือนงานเสวนาวันนี้ จริงๆ เราเชิญ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค.ให้มาร่วม ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย.2556 กระทั่งวันที่ 12 ก.ย.2556 ถึงได้ตอบปฏิเสธที่จะมาร่วมงาน
6.โกหก เช่นกรณีคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง ไวท์ลาย เรื่องตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือกรณีคลิปถั่งเช่า ที่โฆษกพรรคเพื่อไทยบอกว่าเป็นคลิปปลอมแต่ไม่กี่วันถัดมาแฟนเพจคุณพานทองแท้ ชินวัตร ก็บอกว่าเป็นเสียงของพ่อจริงๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใครโกหกกันแน่
7.การเลี้ยงดูปูเสื่อสื่อ เช่น กรณีที่ประธานรัฐสภาพานักข่าวในก๊วนไปดูงานที่ประเทศอังกฤษ พอกลับมานักข่าวกลุ่มนั้นก็บอกว่าที่บอกว่าของแพง จริงๆ ไม่ได้แพงขึ้น แต่คนรู้สึกไปเอง หรือกรณีอีเมล์รั่วข้อเสนอวิมถึงท่านพงษ์ศักดิ์ ที่ระบุถึงให้เงินนักข่าว 4 คนเพื่อขอให้ประชาสัมพันธ์พรรคเพื่อไทย
หรือกรณีล่าสุด ที่มีน้องนักข่าวมาเล่าให้ฟังว่า มีกระทรวงเศรษฐกิจกระทรวงหนึ่งจัดงานแต้งก์เพรส แล้วเชิญสื่อไปร้องเพลงบนเวที พอลงมาจากเวทีก็จะยื่นซองให้ พร้อมเงินในซอง 10,000 บาท
8.สร้างความหวาดกลัวให้กับแหล่งข่าว เช่น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษจะมาแถลงเรื่อง ปตท.ทำน้ำมันรั่วเกาะเสม็ด จ.ระยอง ที่สัปดาห์แรก อธิบดีระบุว่ามีค่าสารตัวหนึ่งในน้ำทะเลเกินมาตรฐาน แต่หลังจากนั้นก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ไปเตือนอธิบดีท่านนี้ ทำให้ไม่มีการแถลงข่าวอีก หรือกรณีนางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ทำให้ไม่สามารถพูดเรื่องตัวเลขขาดทุนจำนำข้าวได้
9.ความไม่สามารถของรัฐในการยุติความรุนแรงกับนักข่าว ผมลองนับดูสองปีที่ผ่านมา มี 8 กรณี เช่น แกนนำเสื้อแดงเขียนข่มขู่นักข่าวช่อง 7 ที่ถามแบบไล่จี้นายกฯ ตลอด นักข่าวช่อง 7 คนนั้นก็นำเรื่องไปฟ้องศาล แต่ปรากฏว่าอัยการไม่สั่งฟ้อง เพราะอัยการบอกว่าความผิดยังไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกรณียิงศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ยิงป้อมยามหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยิงรถข่าวของหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ และกรณียิงบ้านนายภัทระ คำพิทักษ์ บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
และ 10.ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ ที่อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นข่าวร้าย เรพาะมีข้อหนึ่งระบุว่า ถ้านำเสนอข่าวที่มีคู่ขัดแย้ง จะต้องให้มีคู่ขัดแย้งมาให้ข้อมูลด้วย ถ้าประกาศนี้บังคับใช้ สมมุติภาคประชาชนบอกว่าขอตรวจสอบการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ถ้า ปตท.ไม่ออกพูด เรื่องนี้จะนำเสนอไม่ได้เลย เพราะคู่กรณีนี้ไม่พูด จะทำให้สื่อทำงานไม่ได้เลย
นี่คือการแทรกแซงสื่อ 10 กรณี ที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่พูดเรื่องนี้เพราะอยากให้พวกเราช่วยกันดู เพราะเรื่องแบบนี้จะเป็นการยุติการทำหน้าที่ของสื่อ ถ้าจับพิรุธแบบนี้ได้ก็ช่วยกันพูดต่อ จะได้มีพลังกันมากขึ้นในการพูดความจริง
00000