ชี้ “เดือนเด่น-ณัฏฐา” ติชมสุจริตไม่หมิ่นประมาท-จี้ กทค.ถอนฟ้อง
เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 18 กันยายน 2556 เวลา 10:00 น.
เครือ ข่ายนัก กม.อาเซียนจี้ กทค.ถอนฟ้อง “เดือนเด่น-ณัฏฐา” ชี้ยับยั้งเสรีภาพการแสดงออก อ.นิติฯ มธ.ระบุติชมสุจริตเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิดคดีหมิ่นประมาท “ซีป้า” แปลกใจองค์กรสาธารณะฟ้องผู้ตรวจสอบ
(เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ - ณัฏฐา โกมลวาทิน)
เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2556 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดงานเสวนา ในหัวข้อ “เสรีภาพการตรวจสอบกับราคาที่ต้องจ่าย” กรณีที่กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ฟ้องนักวิชาการและสื่อ
จาก เสวนาครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก กทค.ทั้ง 4 คน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ฟ้องร้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ น.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในคดีหมิ่นประมาท จากกรณีวิพากษ์วิจารณ์มาตรการขยายเวลาคืนคลื่น 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.2556 ว่าอาจทำให้เกิดความเสียหายหลักแสนล้านบาท
แนะ กทค.ถอนฟ้อง “เดือนเด่น-ณัฏฐา”
ช่วงต้น นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนประเทศไทยของเครือข่ายนักกฎหมายสื่อมวลชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้อ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ต่อถึงกรณีดังกล่าว มีใจความว่า เครือข่ายฯ รู้สึกผิดหวังต่อกรณีดังกล่าว ด้วยเหตุผล 1.ดร.เดือนเด่นและ น.ส.ณัฏฐาเพียงแต่ใช้สิทธิในการแสดงออกเท่านั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและผู้บริโภค 2.การฟ้องหมิ่นประมาท ดร.เดือนเด่นและ น.ส.ณัฏฐาจะเป็นการยับยั้งเสรีภาพของนักวิชาการและสื่อ และเป็นไปได้ว่าจะเป็นการปิดปากการเสวนาสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้ และ 3.เสรีภาพในการแสดงออกเป็นปัจจัยสำคัญ ในการตระหนักถึงหลักความโปร่งใสและตรวจสอบได้ แทนที่จะฟ้องหมิ่นประมาท กทค.ทั้ง 4 คนควรจะแลกเปลี่ยนความเห็นต่อกรณีดังกล่าว กับประชาชนชาวไทยที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับประเด็นนี้
“เรา ขอเรียกร้องให้ กทค.ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อกรณี และสนับสนุนให้ กทค.ทั้ง 4 คนนำข้อถกเถียงนี้ไปสู่การอภิปรายกับประชาชนไทยแทน” นายยิ่งชีพกล่าว
อ.นิติฯ มธ.ชี้คดีหมิ่นประมาท ถ้าติชมสุจริตไม่ต้องรับผิด
จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพการตรวจสอบกับราคาที่ต้องจ่าย”
น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ที่ กทค.ฟ้อง ดร.เดือนเด่น ไม่ใช่เฉพาะที่ให้สัมภาษณ์ในรายการทีนี่ไทยพีบีเอสเท่านั้น แต่ฟ้องที่ ดร.เดือนเด่นไปพูดหลายๆ ที่ จริงๆ ไม่อยากโจมตีองค์กรใดองค์กรหนึ่ง อยากจะพูดในแง่หลักการทางกฎหมาย ใน 2 ประเด็น 1.หลักการทางกฎหมายทำได้หรือไม่ และ 2.ถ้าทำได้ควรทำหรือไม่
น.ส.สาว ตรีกล่าวว่า เรื่องแรก ถ้าดูแถลงการณ์ที่ กทค.ออกมาว่าเป็นการใช้สิทธิทางศาล ทั้งนี้ หลักการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยจะมีความย้อนแย้ง เพราะแม้เรามีรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่นการออกกฎหมาย ซึ่งกฎหมายหมิ่นประมาทก็เป็นการยกเว้นตามมาตรา 45 ซึ่งที่ กทค.ใช้ฟ้องคือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 แต่ก็มีมาตรา 329 ระบุว่า แม้จะหมิ่นประมาทแต่ถ้าเป็นการติชมโดยสุจริตไม่ต้องรับผิด
“คำ ถามว่าโดยสุจริตคืออะไร โดยสุจริตก็คือเชื่อโดยสุจริตใจ แม้จะเป็นความเข้าใจผิด แต่คุณเชื่อว่าจริง กฎหมายเขียนไว้ว่าคุณพูดได้ ถ้าดูที่ ดร.เดือนเด่นถูกฟ้อง มีการนำงานวิจัยเรื่องความเสียหาย 1.6 แสนล้านบาทมาอ้างอิง ซึ่งลักษณะการพูดเช่นนี้ไม่ใช่การบิดเบือน ดังนั้นที่ กทค.บอกว่าถูกบิดเบือนทำให้เสียหาย โดยหลักกฎหมาย กทค.มีสิทธิแน่นอน แต่ฟ้องแล้วจะมีการยกเว้นความผิดอะไรหรือไม่” น.ส.สาวตรีกล่าว
ติงองค์กรสาธารณะ ควร “อดกลั้น” มากกว่านี้
น.ส.สาว ตรี กล่าวว่า เรื่องที่สอง แม้กฎหมายจะให้ใช้ใช้สิทธิฟ้องร้องหมิ่นประมาทก็ตาม แต่ด้วยสถานะขององค์กรอย่าง กสทช. แม้จะใช้สิทธิได้ แต่จะมีคำถามว่า ควรจะใช้สิทธิหรือไม่ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 โดยเจตนาคือจะให้วิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ หรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะได้ เพราะแม้ กสทช.จะเป็นองค์กรอิสระ แต่ไม่ได้หมายความว่าอิสระจากการตรวจสอบ แค่อิสระจากรัฐบาล ถ้า กสทช.ดำเนินนโยบายต่างๆ จะต้องถูกตรวจสอบได้กสทช.ในฐานะที่เป็นองค์กรสาธารณะ ควรจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนตรวจสอบคุณเอง
น.ส.สาว ตรี กล่าวว่า ที่สำคัญกฎหมายหมิ่นจะใช้มากใช้น้อย จะมีโทษมากโทษน้อย ขึ้นอยู่กับความอดทนอดกลั้นของคนในสังคม ถ้าบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไป เราคงไปคาดหมายให้เขาอดทนอดกลั้นไม่ได้ ลุงคนหนึ่งเขาถูกด่า เขาก็มีสิทธิที่จะไปฟ้องหมิ่นประมาท แต่องค์กรหรือบุคคลสาธารณะ ประชาชนจะคาดหมายว่า คุณจะมีความอดทนอดกลั้นมากกว่าปกติ เพราะคุณทำนโยบายเกี่ยวกับประชาชนจำนวนมาก การถูกวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นเรื่องปกติ
“ดัง นั้นการใช้กฎหมายฉบับนี้ ไปข่มขู่ ว่าอย่าวิจารณ์ฉันนะ จะฟ้องนะ สำหรับองค์กรสาธารณะ ก็รับไม่ได้เหมือนกัน ถ้า กทค.ทั้ง 4 คน จะอ้างว่า ฉันก็เป็นคนธรรมดา ความอดทนมีจำกัด ส่วนตัวมองว่า ถ้าทนการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ กลับไปนอนเลี้ยงหลานจะดีกว่า เพราะคุณเป็นบุคคลสาธารณะ ควรจะมีความอดทนอดกลั้นมากกว่า การใช้กฎหมายลักษณะนี้ ส่วนตัวจึงมองว่าเป็นการข่มขู่คุกคาม” น.ส.สาวตรีกล่าว
ท้า กสทช.เดิมพันเก้าอี้ หากศาลตัดสินว่าไม่ผิด
ด้าน น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ที่มาของ กสทช.เกิดจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 เพื่อมาจัดสรรคลื่นความถี่ ให้เกิดต่อประโยชน์สาธารณะ และลดช่องว่างในสังคม จึงเป็นที่มาทำให้ กสทช.เป็นองค์กรอิสระ แต่ไม่ใช่อิสระจากการวิพากษ์วิจารณ์ ในอีกด้านการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ยังทำให้ กสทช.ทรงความชอบธรรมในการทำภารกิจเหล่านั้นได้
น.ส.สุว รรณา กล่าวว่า ถ้าไปดูใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2544 ก็ระบุว่า อีกหน้าที่หนึ่งของ กสทช. คือการส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ดังนั้นการฟ้องหมิ่นประมาทนี้จึงเป็นการทำลายการกำกับดูแลกันเองของสื่อนอก จากนี้ ไทยพีบีเอสมีกฎหมายของตัวเอง มีช่องทางร้องเรียน ทำไม กสทช.ไม่ใช่ช่องทางนั้น กลับไปฟ้องหมิ่นประมาทเลย
“คดี นี้ กสทช.ฟ้องตรงต่อศาล ยังไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องเลย บุคคลทั้ง 2 จึงยังไม่ได้เป็นจำเลย แต่ผลกระทบคือสังคมมองว่าบุคคลทั้ง 2 เป็นผู้กระทำผิดไปแล้ว” น.ส.สุวรรณากล่าว
น.ส.สุวรรณา กล่าวว่า ส่วนตัวก็เป็นนักวิชาการและสื่อที่ตรวจสอบ กสทช.อยู่เสมอ เมื่อรู้ข่าวการฟ้องครั้งนี้ ก็รู้สึกหวาดหวั่นและหวาดกลัว หากนักวิชาการและสื่ออื่นๆ รู้สึกหวาดหวั่นและหวาดกลัว ก็จะทำให้ กสทช.ปราศจากการตรวจสอบอย่างแท้จริง
"อยาก ถามว่าท้ายสุดหากศาลตัดสินว่า ดร.เดือนเด่นและ น.ส.ณัฎฐาไม่มีความผิด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ กสทช.จะกล้าเดิมพันความเสียหายนี้ด้วยตำแหน่งและเกียรติยศหรือไม่" น.ส.สุววรรณกล่าว
“ซีป้า” ชี้การฟ้องปิดปากผู้ตรวจสอบมีมากขึ้น
น.ส.กายาทรีย์ เวนกิตสวารัน ผอ.บริหารเครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) กล่าวผ่านล่ามว่า การที่องค์กรกำกับดูแลสื่อมาฟ้องสุนัขเฝ้าบ้านก็เป็นเรื่องที่แปลก เร็วๆ นี้มีประชาชนถูกฟ้องหมิ่นประมาทถูกฟ้องโดยองค์กรสาธารณะ เช่นในประเทศสิงคโปร์ ที่คณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยรับแห่งหนึ่งฟ้องบล็อกเกอร์ จึงเห็นได้ชัดเจนว่าในภูมิภาคนี้ องค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะกลับฟ้องเพื่อปิดปากผู้อื่น ทั้งๆ ที่นโยบายสาธารณะส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่องค์กรผู้ให้บริการกลับฟ้องประชาชนเสียเอง รวมถึงมีการฟ้องร้องสื่อ ทั้งๆ ที่ ถ้าสื่อไม่ได้ตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ ก็น่าสงสัยเหมือนกันว่า แล้วสาธารณชนจะเป็นอย่างไร
“เป็น แนวโน้มในภูมิภาคนี้ที่องค์กรสาธารณะจะฟ้องผู้ตรวจสอบ เพื่อให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ลดน้อยลงไป เพราะแม้กฎหมายจะมีให้ความคุ้มครองระดับหนึ่ง แต่กฎหมายยังปกป้องประชาชนไม่ได้จากการกระทำลักษณะนี้ ดังนั้นจะมีการแสวงประโยชน์จากการใช้กฎหมายหมื่นประมาท สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ทำให้สื่อไม่กล้าตรวจสอบองค์กรเหล่านั้น แม้การวิพากษ์วิจารณ์จะทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ” น.ส.กายารีย์กล่าว
นักวิชาการติง กสทช.มีปัญหา “ธรรมาภิบาล”
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยกลุ่มติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม NBTC Policy Watch กล่าวว่า กสทช.มีอำนาจมากในการจัดการกับสื่อในหลายๆ มิติ ทั้งกำกับดูแล ผ่านการจัดสรรคลื่น การซื้อสื่อ ผ่านทางการลงโฆษณาต่างๆ และล่าสุด การฟ้องร้องดำเนินคดี ที่ตนมองว่าเป็นการคุกคาม
นาย วรพจน์ กล่าวว่า อยากจะพูดถึงธรรมาภิบาล ที่ผ่านมา กสทช.ยังทำตรงนี้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ กฎหมายระบุว่าให้เปิดเผยมติของบอร์ดทุกชุดภายใน 30 วัน แต่ทั้ง กสทช. กทค. หรือกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กลับไม่ปฎิบัติตาม นอกจากนี้ อีกเรื่องแม้กฎหมายไม่ได้บังคับ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรเปิดเผยข้อมูล เช่นควรจะเปิดเผยข้อมูลการประชุมของคณะอนุกรรมการหรือไม่ เพราะการทำงานคณะอนุกรรมการจะมีผลต่อการคิดนโยบายของ กสทช. กทค. หรือ กสท. เห็นได้จากการที่ กทค.ชี้แจงคำฟ้องว่า ดร.เดือนเด่นอ้างสิ่งที่คณะอนุกรรมการไม่เคยเสนอ เรื่องให้เตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทั้งๆ ที่ตนไปดูเอกสารพบว่ามีเคยมีการเสนอเรื่องดังกล่าวในคณะอนุกรรมการ ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูล สาธารณชนจะได้ตัดสินเองว่าใครพูดจริงหรือไม่จริง ไม่ใช่กล่าวอ้างกันลอยๆ
“นอก จากนี้ การขยายเวลาคืนคลื่น 1800 MHz เท่าที่ผมได้อ่านข้อเสนอของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ พบว่า แทบจะไม่มีการเสนอขยายเวลาคืนคลื่น เสนออยู่เพียงติ่งหนึ่งเท่านั้น ข้อเสนอส่วนใหญ่ระบุว่า ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะอาจมีปัญหาทางข้อกฎหมาย” นายวรพจน์กล่าว
มอง กทค.ฟ้องเพื่อ “รักษาหน้า”
นายนคร ชมพูชาติ ทนายความ กล่าวว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ ความขัดแย้งจริงๆ ส่วนตัวมองว่า ประเด็นหลักคือการรักษาหน้าของคนที่ทำงานไม่ครบถ้วน โดยพยายามหลีกไปอีกทาง อ้างว่าได้ปกป้องสิทธิประชาชนแล้ว ด้วยการออกประกาศมาอ้างว่ารักษาสิทธิผู้บริโภค ผลก็คือสัมปทานหมดแล้วคุณไม่เอามาประมูลใหม่ สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วก็มีคนเอาไปตอกย้ำคุณว่าบกพร่องต่อหน้าที่ รวมถึงมีข้อสงสัยว่าประกาศที่ออกมาผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นการให้สัมปทานเทียมกับรายเดิมหรือไม่ ที่สำคัญพอนักวิชาการนำตัวเลขความเสียหายมาแสดง ก็ไปฟ้องร้องเขา ทั้งที่จริงๆ การฟ้องร้องคดี ต้องออกมาเป็นมติ กสทช.หรือไม่ เพราะจะมีผลต่อ กสทช.โดยรวม ไม่ใช่แค่ กทค.ทั้ง 4 คนนี้เท่านั้น
“การฟ้องคดีอาญาจะต้องพิจารณาให้ดี แล้วถ้าฟ้องเท็จจะเป็นอย่างไร” นายนครกล่าว
นายรุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำวารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. กล่าวว่า ราคาที่ต้องจ่ายการการแทรกแซงสื่อ มี 3 เสีย 1.เสียประโยชน์สาธารณะในระยะยาว เพราะทำให้สื่อมีความสามารถในการตรวจสอบกิจการสาธารณะน้อยลง 2.เสียชีวิต เช่นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่โทรทัศน์ไม่รายงานการสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต และ 3.เสียชื่อ เห็นได้จาการจัดอันดับขององค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ที่เดิมไทยเคยอยู่อันดับที่ 65 ในปี 2545 แต่ปัจจุบันตกมาอยู่ที่อันดับร้อยกว่าๆ ทุกปี
นาย รุจน์ ยังกล่าวว่า จากการติดตามพบว่ามีการแทรกแซงสื่อที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 10 วิธี 1.การซื้อสื่อ2.การสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว 3.การฟ้องหรือตั้งข้อหา 4.การสปินข่าว 5.หลีกเลี่ยงการอธิบาย 6.โกหก 7.การเลี้ยงดูปูเสื่อสื่อ 8.การทำให้แหล่งข่าวกลัว 9.ความไม่สามารถของรัฐในการยุติความรุนแรงกับนักข่าว และ 10.ประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการวิทยุและโทรทัศน์
“ที่ พูดเรื่องนี้เพราะอยากให้พวกเราช่วยกันดู เพราะเรื่องแบบนี้จะเป็นการยุติการทำหน้าที่ของสื่อ ถ้าจับพิรุธแบบนี้ได้ก็ช่วยกันพูดต่อ จะได้มีพลังกันมากขึ้นในการพูดความจริง” นายรุจน์กล่าว
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงานเสวนาครั้งนี้ จัดขึ้นโดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ร่วมกับนักศึกษาปริญญาโทสาขาสื่อสารมวลชน รุ่น 31 คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. และศูนย์กฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw).
http://isranews.org/...nbtc_23869.html