โครงการโฮปเวล (Hopewell)
โครงการนี้การดำเนินการก่อสร้างตามโครงการจริงๆ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน 1 ในขณะที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฐานราก เสา คาน ในดินและบนดินที่เห็นเรียงรายอยู่เป็นทิวแถว มันเกิดขึ้นในสมัยผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และไม่มีเสาหรือคานแม้แต่ต้นเดียวเกิดขึ้นอีกเมื่อผมพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการคมนาคม
แปลว่าการก่อสร้างโครงการโฮปเวลมันมาพร้อมกับผมและก็หายไปพร้อมกับการอำลากระทรวงคมนาคมของผม มันสร้างความฉงนให้คนทั่วไปว่าโครงการนี้เป็นโครงการ Hopewell หรือ Hopeless กันแน่ แล้วมันจะมีโอกาส Hopeful บ้างไหม
มันมีความเป็นมาอย่างไร ?
โครงการนี้ ผู้อนุมัติโครงการคือ ท่านอดีตรัฐมนตรีคุณ มนตรี พงษ์พานิช เมื่อปี พ . ศ .2533 ในขณะท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะที่ท่านมนตรี อนุมัติโครงการนี้ ผมยังเป็นรองผู้ว่า กทม . และผมก็ยังไม่รู้รายละเอียดว่าโครงการโฮปเวลเป็นแบบไหนอย่างไร
ต่อจากนั้นปี พ . ศ .2534 ท่านนายก อานันท์ ปันยารชุน เป็นคนว่างศิลาฤกษ์โครงการโฮปเวลบริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ จนกระทั้งประมาณปี 2535 ผมเข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อจากท่านนุกูล ประจวบเหมาะ จึงได้มีโอกาสศึกษาถึงรายละเอียดของโครงการโฮปเวล พอสรุปได้ว่าโครงการโฮปเวลเป็นโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการยกระดับ 3 ชั้น (Three levels)
ชั้น 1 อยู่บนพื้นดินเป็นถนน 4 เลน
ชั้น 2 เป็นรถไปลอยฟ้า
ชั้น 3 เป็นทางด่วนลอยฟ้า เหมือนโครงการดอยเมืองโทลเวย์
จุดศูนย์กลางของโครงการโฮปเวล อยู่บริเวณมักกะสันใกล้ ๆ กับยมราช จากจุดศูนย์กลางโครงการนี้ จ ะไปทางทิศเหนือ ถึงดอนเมือง และไปจนถึงสถานีรถไฟรังสิต ทางตะวันออกจะไปถึงสถานีหัวหมาก ซึ่งใกล้ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนทางทิศใต้และตะวันตกจะข้ามไปถึงฝั่งธน ซึ่งถ้ามองไปแล้วทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกจะเป็นการเชื่อมกันระหว่างทั้งสองสนามบิน ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ
ย้อนกลับไปในสมัยผมเป็นรองผู้ว่า กทม . ขณะช่วยพี่จำลอง ศรีเมืองทำงาน เรามีปัญหาการจราจรใน กทม . ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักอกมากๆ ตอนนั้นพี่จำลองกับผมและคณะผู้บริหารช่วยกันทำโครงการรถไฟฟ้า BTS ซึ่งก็เป็นระบบขนส่งมวลชนชนิดรถไฟลอยฟ้า ดังที่เห็นและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อผมมาเห็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่างโฮปเวล ซึ่งเป็นทั้งรถไฟลอยฟ้าและทางด่วนลอยฟ้า ก็ชอบในแนวความคิด เพราะผมคิดว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยในการแก้ปัญหาการจราจรให้คน กทม . และโฮปเวลมันก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ BTS เพราะเป็นรถไฟลอยฟ้าเหมือนกัน
ผมเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีในการแก้ปัญหาการจราจรให้คนกรุงเทพฯ และที่สำคัญ รัฐบาลไทยไม่ต้องควักกระเป๋า ไม่ต้องจ่ายเงิน ทางผู้ลงทุนมิสเตอร์ กอร์ดอน วู ลงทุนเองทั้งหมด ทั้งระบบราง และตัวรถไฟขนส่ง และตามสัญญาสัมปทาน เขาจะสร้างแฟลตให้พนักงานรถไฟอยู่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ จัดให้มีโรงเรียนบริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ผมอยากให้พนักงานรถไฟมีสวัสดิการดี ๆ มีบ้านพักดี ๆ อยู่ ก็พลอยเห็นดีไปด้วย
หลายคนตำหนิคุณมนตรี พงษ์พานิชว่าให้สัมปทานโครงการยักษ์ ๆ อย่างนี้รวดเร็วทันใจเหลือเกิน และเป็นเชิงตำหนิว่าอะไรได้มาไวมันก็อันตรธานไว หรือมาไวหายไว ผมอยากให้ความเป็นธรรมกับท่านมนตรีบ้าง สมัยโน้น ( ปี 2533) ในขณะคุณมนตรีให้สัมปทาน ตอนนั้นยังไม่มีพรบ . การร่วมทุน พรบ . การร่วมทุนมามีปี 2535 สมัยท่านนายกอานันท์ ซึ่งพรบ . ร่วมทุนปี 2535 ทำให้การทำอภิมหาโครงการต้องรอบคอบ หลายหน่วยงานต้องให้ความเห็นชอบก่อนจะอนุมัติได้ มีขั้นตอนมากมายและใช้เวลามากในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ด้วยเหตุนี้กระมังที่คุณมนตรีจึงอนุมัติโครงการได้เร็วดุจสายฟ้าแลบ ส่วนตื้นลึกหนาบางอย่างอื่นระหว่างคุณมนตรีกับโฮปเวล อย่าถามผม ผมไม่ทราบ และตอนที่ผมเขียนหนังสือนี้คุณมนตรีก็เสียชีวิตไปนานแล้ว ผมชอบแนวคิดการแก้ปัญหาการจราจรของคุณมนตรี จึงเอาโฮปเวลซึ่งคุณมนตรีเป็นคนคิดคนให้สัมปทานมาดำเนินการ ในขณะคุณมนตรีมีชีวิตอยู่ตอนผมทำพิธีตอกเสาเข็มโฮปเวลต้นปฐมฤกษ์ที่บริเวณวัดเสมียนนารี ผมยังเชิญคุณมนตรีไปเป็นประธานร่วม ผมให้เกียรติคนต้นคิดอะไรดีๆ และไม่ลืมคนต้นคิด
โครงการนี้เป็นโครงการ Turn key ซึ่งหมายความว่า ฝ่ายไทยกำหนดอะไร ๆ ที่เราอยากได้ อยากใช้ เรากำหนด What แล้วผู้รับสัมปทานรับผิดชอบการออกแบบและก่อสร้างและจัดหาให้ โครงการโฮปเวลนี้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนผลตอบแทน ( ตามสัญญาสัมปทาน ) คือการพัฒนาที่ดินริมทางรถไฟ ( หรือริมโครงการโฮปเวล )
ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างตามโครงการ ผมเชิญมิสเตอร์ กอร์ดอน วู ผู้รับสัมปทานไปประชุมที่หัวลำโพง ( รฟท .) ฝ่ายเราก็มีผมและผู้บริหารกระทรวงคมนาคมในยุคนั้นหลายท่าน ฝ่ายกอร์ดอน วู ก็มีกรรมการบริหารของบริษัทของเขา ผมเชิญสื่อมวลชนไปเป็นสักขีพยาน สาระการประชุม 2 ฝ่ายวันนั้นคือ ผมบอกมิสเตอร์ กอร์ดอน วู ว่าผมเปิดไฟเขียวให้โครงการดำเนินการได้ ถ้าเขาจะทำโครงการก็ให้เริ่มทำ ถ้าไม่ทำก็บอกมา อย่าเสียเวลา เพราะตั้งแต่มิสเตอร์ กอร์ดอน วู ได้รับสัมปทานมาประมาณ 2 ปี ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างอะไรให้เห็นเลย
ผมเป็นทหารเก่า พูดอะไรก็ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมให้เสียเวลา ผมมีศักดิ์ศรี ไม่แบมือขอใคร ลำพังแค่เงินเดือนก็พอกินพอใช้ได้ไม่เดือดร้อนเพราะอยู่อย่างง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ แต่สิ่งที่ต้องการสูงสุดคือ งาน งาน และงาน เพื่อแก้ปัญหามวลชน โดยเฉพาะการจราจรในกทม . ซึ่งยังเป็นความฝังใจที่ยังข้องใจจนทุกวันนี้
จากการประชุมร่วมโดยเปิดเผย ตรงไปตรงมาที่ รฟท . ( หัวลำโพง ) มิสเตอร์ กอร์ดอน วู เริ่มสตาร์ทเครื่องเต็มสูบ เสาเข็มของโครงการต้นมหึมา ราคาต้นละประมาณ 4 แสนบาท เสียบลงไปในดินตามแนวโครงการ เสาโผล่ขึ้น คานก็พาดเรียงรายให้เห็นเป็นพันต้น แนวแรกที่โครงการนี้ดำเนินการไปคือแนวทิศเหนือจนถึงดอนเมือง รังสิต และแนวตะวันออกไปทางสถานีรถไฟหัวหมากและไปใกล้ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ
เสาและคานโฮปเวลก็เรียงรายให้ท่านได้เห็นอยู่ ด้วยประการฉะนี้
เมื่อผมพ้นความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โครงการนี้ก็วูบ การก่อสร้างหยุดชะงัก เพราะอะไรผมไม่ทราบ
ในระหว่างผมเป็นรัฐมนตรี มิสเตอร์ กอร์ดอน วู เคยไปเยี่ยมหารือผมที่กระทรวงอยู่บ้าง ผมก็ถือโอกาสเลี้ยงเขาด้วยก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ไอศกรีมแบบไทย ๆ และจะมีสื่อมวลชนเป็นพยาน เขาเคยเชิญผมไปฮ่องกง ไปประเทศจีน ผมปฏิเสธและขอบคุณเขา เมื่อผมพ้นกระทรวงคมนาคม เราไม่เคยเจอกันอีกเลย เหลือแต่โครงการค้างเติ่ง เข็มเสาและคานที่ผมขมขื่นและสะเทือนใจ
คนมองว่ามันเป็นอนุสรณ์ของความล้มเหลว
คนมองว่า Hopeless
และคนเข้าใจผิดคิดว่าโครงการนี้เป็นการผลาญเงินรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ทุกบาททุกสตางค์ เขา - ผู้รับสัมปทานเป็นคนเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งผมคาดว่าเขาคงจะลงทุนไปสัก 6-7 พันล้านบาท ( ผมไม่รู้เขาหมดสตางค์ไปเท่าใด ได้แต่คาดเอาว่าคงประมาณ ๆ นั้น ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ )
เมื่อพ . ต . ท . ทักษิณ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ ๆ คุณทักษิณคิดจะทุบเสาทุบคานโฮปเวลทิ้ง ผมก็ออกมาคัดค้านหัวชนฝา ผมบอกว่าเสาและคานเป็น Asset เป็นสมบัติของแผ่นดิน มูลค่าวันนี้อาจจะเป็นหมื่นล้าน หน้าที่ของรัฐบาลคือเอารางรถไฟขึ้นพาดบนเสาบนคาน ไม่มีประเทศไหนที่รถไฟและรถยนต์อยู่บนพื้นดินระดับเดียวกันโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ รถไฟต้องลอยฟ้าหรือมุดลงดิน รถยนต์จะได้ไม่ติดรถไฟ การจราจร จะได้ลื่นไหล
ผมค้านคุณทักษิณเรื่องท่านจะทุบเสาโฮปเวล จนคนกรุงเทพฯ มีความเห็นด้วยกับผม (85% เห็นด้วย ) ว่าไม่ควรทุบทิ้งแต่หาทางเอารางรถไฟยกขึ้นไปบนคานโฮปเวลเสีย
มิสเตอร์ กอร์ดอน วู ทำโครงการโฮปเวลแล้วเท่าที่เราเห็น แม้จะมีข้อพิพาทฟ้องร้องกับรัฐบาลไทย โครงการต้องหยุดชะงัก แต่เขาก็ม้วนแผ่นดินเราไปไหนไม่ได้ เสาและคานโฮปเวล ต้องอยู่ในแผ่นดินของเรา เมื่อสร้างในแผ่นดินเรา เราต้องหาทางใช้ประโยชน์
ผมเขียนบทความโฮปเวล ลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับเพื่อให้คนรู้ คนเข้าใจ
เมื่อกลางเดือนมิ.ย. 50 ท่านอลงกรณ์ พลบุตร รองหน . พรรคประชาธิปัตย์ ส่งผมไปร่วมสัมมนากับกระทรวงคมนาคม เรื่อง Transportation และ Logistics ผมมีโอกาสอภิปรายในที่สัมมนาซึ่งมีผู้ร่วมสัมมนาประมาณ 2-3 ร้อยคน โดยผมก็แนะนำว่ากระทรวง ( โดยเฉพาะ รฟท .) ควรใช้ประโยชน์จากเสาและคานโฮปเวล เอารางรถไฟซึ่งอยู่ ณ พื้นดินขึ้นพาดบนคานโฮปเวลเสีย เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในกทม .
ผมดีใจมาก ดีใจจริง ๆ ที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ( คุณ สรรเสริญ วงศ์ชอุ่ม ) ยืนยันว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ระหว่างบางซื่อ - ดอนเมือง - รังสิต จะเอาเสาและคานโฮปเวล มาใช้ประโยชน์แน่นอน และผมก็ได้รับคำยืนยันจากผู้ใหญ่ใน ( สนข .) กระทรวงคมนาคมด้วยเช่นกัน ว่าเสาและคานโฮปเวลไม่สูญเปล่าแน่นอน
Hopewell กลายเป็น Hopeless และเปลี่ยนมาเป็น Hopeful อย่างนี้เอง
มันเป็นบทพิสูจน์เจตนาดี กว่าจะบรรลุผลอาจจะพบอุปสรรคนานัปการ อย่างน้อยที่สุดหลายฝ่าย หลายคนที่ทุ่มเททำงานด้วยกัน ด้วยหวังที่จะแก้ปัญหาให้มวลชน งานนั้นไม่สูญเปล่า เป็นเจตนาดีและเจตนาบริสุทธิ์ ผลงานนั้นก็ยังประโยชน์ให้มวลชนในที่สุด
Hopeful
ขอวิญญาณคุณมนตรี พงษ์พานิชได้รับทราบด้วยความภาคภูมิใจด้วย เพราะเขาคือคนคิด ผมเพียงแต่เห็นด้วยกับเขาแล้วก็เอามาดำเนินการตามสัมปทานที่เขาให้กับมิสเตอร์ กอร์ดอน วู
http://www.democrat.or.th/th/news-activity/article/winai-book/winai-book7.php