" นายกปู " ให้สัมภาษณ์ ถึงการบูรณาการประเทศ และเศรษฐกิจไทย
ด้วยเหตุเพราะเศรษฐกิจเติบโตได้เพียง 3% ไม่มากพอจะดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยเฉพาะเมื่อค่าครองชีพ และต้นทุนต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่นายกยิ่งลักษณ์ ก็แสดงความวิตกกังวลกับเรื่องนี้ และออกปากบอกกับพวกเราใน ทีมเศรษฐกิจ ว่า นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอต้องทำงานหนักและเดินสายไปโรดโชว์ต่างประเทศ ตลอดเวลา เพื่อนำนักธุรกิจไทยเอาสินค้าของตนและของประเทศไทยในรูปแบบต่างๆออกไปขาย พร้อมกับชักชวนผู้คนให้เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้เงินตราต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ก็เดินสายไปขอรับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจหลักๆ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพื่อช่วยรัฐในการทำให้ผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากในประเทศ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ด้วยวิธีที่รัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะบรรดาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ร่วมด้วยช่วยกันทำ ทั้งในการแก้ไขกฎ กติกาที่เป็นอุปสรรค และเรื่องสำคัญอื่นๆ ความห่วงใยต่อตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจข้างต้นนี้ เป็นเหตุผลให้นายกฯ ตอบรับการขอสัมภาษณ์พิเศษกับ ทีมเศรษฐกิจ แบบเปิดอกและตรงไปตรงมา
และเปิดฉากกับเราด้วยความยืนยันหนักแน่นว่า ตัวเธอและคณะรัฐบาลชุดนี้ ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เติบโตอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3.8–4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งอาจจะสูงกว่าตัวเลขที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้เล็กน้อย
จริงๆแล้วท่านนายกฯ มองภาพรวมเศรษฐกิจเวลานี้อย่างไร
อย่างที่เคยเรียนไว้ว่า เราเข้ามาเป็นรัฐบาลไม่ทันไร ก็เกิดสภาวะน้ำท่วมใหญ่ทั่วประเทศเกือบครึ่งค่อนปี และนั่นทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเกือบจะติดลบ พอเข้าสู่ปี 2555 การผลิตรวมถึงกำลังซื้อ ก็ดีดกลับขึ้นมาเป็นบวกได้ และทำให้จีดีพีขยายตัว 6.7%
เพราะรัฐบาลอัดฉีดเงินจำนวนหนึ่งเข้าไปช่วยในการฟื้นฟูสภาพหลังน้ำท่วม สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ปีต่อไป ทั้งโรงงานและเรือกสวนไร่นาจะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นปีนั้นอีก แต่มาปีนี้ ถ้าเรามองสถานการณ์รอบตัวเราและประเทศต่างๆ ก็จะพบว่า ประเทศไทยเผชิญวิกฤตการณ์เดียวกัน คือ การส่งออกปรับตัวลดลง เพราะเศรษฐกิจตลาดหลักของโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะพวก Big Three ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึง จีน โฟกัสเข้ามาดู Growth (การเติบโต) ในอาเซียนเอง ก็ปรับตัวลดลงในหลายประเทศ ส่วนของประเทศไทยจะเห็นชัดเจนว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกลดลงอย่างหนักก็คือ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นไปเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งถึง 28 บาทกว่าต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เหตุนี้ทำให้การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลดลงในลักษณะที่ติดลบ ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้สินค้าของประเทศไทยแข่งขันกับใครไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การทำงานเชิงรุกของรัฐบาลในทุกเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาสและรายได้ต่ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ก็ทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เติบโตได้ประมาณ 4.1%
ไม่ใช่ไม่เติบโตเลย หรือ ติดลบนะคะ!!