ปลอมร่างรธน.! แฉต้นฉบับไม่ตรง‘สำเนา’เอื้อส.ว.ลงเลือกตั้งต่อเนื่อง
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของสมาชิกวุฒิสภาอยู่ระหว่างการตัดสินใจของนายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายหรือไม่ เพราะยังมีข้อพิพาทว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ใช้มาตรา 154 ขอให้ศาล รธน.สั่งให้ระงับทูลเกล้าฯ ถวายไว้ก่อน
อีกทั้ง “ส.ว.คำนูณ” ได้เปิดหลักฐานใหม่ พบร่างฯ ไม่ตรงกับสำเนา ทั้งๆ ที่เลขรับตรงกันถึง 3 จุด โดยเฉพาะมีการเพิ่มมาตรา 116 วรรคสองเข้าไปเพื่อให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันลงสมัครได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ยังไม่ลงนามเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เขียนข้อความเมื่อวันจันทร์ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่มา ส.ว. มีข้อน่ากังขามากกว่าที่คิด ประเด็นที่ยังไม่ค่อยได้พูดถึงกันคือ ตัวร่างฯ ที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 20 มีนาคม 2556 เลขรับ 20/2556 เวลา 13.05 น. มีข้อความในสาระสำคัญไม่ตรงกับตัวร่างฯ ฉบับสำเนาที่สมาชิกรัฐสภาได้รับในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ระเบียบวาระที่ 5.1 ทั้งๆ ที่ระบุเลขรับตรงกันคือ 20/2556 และวันที่รับก็ตรงกันคือ 20 มีนาคม 2556
นายคำนูณระบุว่า ข้อความที่ไม่ตรงกันในสาระสำคัญระหว่างร่างฯ ที่น่าจะถ่ายจากเอกสารต้นฉบับ ณ วันยื่น (20 มีนาคม 2556 เวลา 13.05 น.) กับร่างฯ สำเนาที่จัดทำขึ้นใหม่โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจกแก่สมาชิก ณ วันพิจารณา (1 เมษายน 2556) ที่มีเลขรับตรงกัน มีถึง 3 จุด
1.ข้อความในส่วนของหลักการ ร่างฯ สำเนามีการเพิ่มคำว่า “มาตรา 116 วรรคสอง” เข้าไป
2.ข้อความในมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 115 ข้อความในมาตรา 115 (9) แตกต่างกัน โดยร่างฯ สำเนามีการเติมประโยค “...ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา” เข้าไป
3.ในร่างฯ สำเนามีการเติมมาตรา 6 ใหม่แทรกเข้าไป เป็นการแก้ไขมาตรา 116 วรรคสอง เติมคำว่า “...ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา” เข้าไป ไม่ปรากฏในรายงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าคณะผู้เสนอร่างฯ ได้มีการยื่นขอแก้ไขร่างฯ หรือไม่ อย่างไร
เขาระบุอีกว่า นี่คือข้อกังขาสำคัญที่ว่าเอกสารที่มีเลขรับเดียวกันไฉนมีข้อแตกต่างกันถึง 3 จุด และเป็น 3 จุดสำคัญที่เพิ่มเข้ามาในร่างฯ สำเนา (1 เมษายน 2556) ทำให้การแก้ไขให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันได้ลงสมัครได้ต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ ถ้ามีเพียงเท่าที่ปรากฏในร่างฯ แรก (20 มีนาคม 2556) การแก้ไขจะไม่มีผลสมบูรณ์ หรืออาจทำให้เกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายได้
“อันที่จริงผมเตรียมอภิปรายซักถามเรื่องนี้ตั้งแต่ในการพิจารณาวาระ 2 ตรงมาตรา 5 ที่มีการแก้ไขมาก ได้เข้าชื่อไว้แล้ว แต่ไม่มีโอกาส เพราะมีการเสนอปิดอภิปรายก่อน แม้จะได้บรรจุไว้เป็นประเด็นหนึ่งในคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 แล้ว แต่ ณ นาทีนี้ก็จำเป็นต้องกล่าวบันทึกต่อสาธารณะไว้ ณ ที่นี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีปัญหาข้อกังขาตั้งแต่ต้นอย่างนี้สมควรนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วหรือ” นายคำนูณระบุ
แฉหมกเม็ดฟื้นสภาผัวเมีย
ส.ว.สรรหาผู้นี้ยังได้ขยายความจากภาพที่โพสต์ด้วยว่า “ลองดูตัวอย่างจากความแตกต่างจุดที่ 1 ที่กล่าวไว้นะครับ ภาพซ้ายมือคือเอกสารที่น่าจะถ่ายจากร่างฯ แรกที่ยื่นเมื่อ 20 มีนาคม สังเกตดูตรงหลักการจะไม่มีมาตรา 116 วรรคสอง ส่วนภาพขวามือเป็นเอกสารร่างฯ ฉบับสำเนาที่จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่แจกสมาชิกในวันพิจารณา 1 เมษายน สังเกตดูตัวหลักการจะมีมาตรา 116 วรรคสองโผล่ขึ้นมาแล้ว”
นายคำนูณให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า นี่เป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เพราะมีความผิดถึง 3 จุด และตนได้ยื่นเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว พร้อมกับประเด็นอื่นๆ ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามช่องทางตามมาตรา 68 ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคิดว่าเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลจะตัดสินอย่างไรก็ถือเป็นดุลยพินิจ
“ผมเคยจะพูดประเด็นนี้ในวาระ 2 แต่ถูกเสียงข้างมากปิดการอภิปรายไปก่อน จึงไม่สามารถนำเสนอให้สมาชิกรัฐสภาและสังคมให้เห็นถึงความผิดพลาดได้ ดังนั้นอยากเรียกร้องไปที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ให้เห็นว่าเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่ต้น แล้วทำไมถึงกล้านำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีก” นายคำนูณย้ำ
วันเดียวกัน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสุรจิต ชิรเวทย์ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเดียวกัน โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีชะลอนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดย พล.อ.สมเจตน์กล่าวว่า ขณะนี้นายกรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกฯ ยืนยันว่าจะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เราก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่มิบังควร เพราะร่างฯ กฎหมายดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การทูลเกล้าฯ ถวายจะกลายเป็นการผลักปัญหาไปให้สถาบัน
เนื่องจากเชื่อว่าจากนั้นจะมีการโจมตีของมวลชนว่าเรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของศาล และสถาบันชะลอการโปรดเกล้าฯ ถวายลงมา จึงไม่อยากให้นำสถาบันมาอยู่บนพื้นฐานความขัดแย้งทางการเมือง
"เรื่องนี้ถือว่าเราช่วยนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ เพราะหากนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่นำเรื่องที่ยังมีความขัดแย้งเป็นร่างกฎหมายที่เป็นปัญหา ไม่ปกติสมบูรณ์ขึ้นกราบบังคมทูลฯ ส่งผลให้ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคคลบาท และทำให้ฝ่ายตรงข้ามอ้างว่าสถาบันดึงเรื่อง เราช่วยหาทางออกให้นายกฯ เพราะที่ผ่านมาประธานสมศักดิ์มักพูดว่าอะไรที่เป็นเผือกร้อน ขอที่จะรับไว้เอง แต่คราวนี้กลับโยนเผือกร้อนให้กับนายกรัฐมนตรี
ซึ่งนายกฯ ก็อ้างว่ามีเวลาแค่ 20 วัน หากไม่ปฏิบัติตามก็ขัดรัฐธรรมนูญ เราจึงต้องมาขอต่อ ถ้าศาลมีคำสั่งให้นายกฯ ชะลอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ไม่ได้ถือว่านายกรัฐมนตรีทำอะไรผิด แต่ถ้ายังคงดึงดันนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แล้ววันข้างหน้าเกิดปัญหา คนที่จะต้องรับผิดชอบคือนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ไม่ใช่ประธานสมศักดิ์" พล.อ.สมเจตน์กล่าว
ยื่นศาลสั่งระงับ ‘ปู’ ทูลเกล้าฯ
ขณะเดียวกัน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. พร้อมด้วย น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี เข้ายื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ตรวจสอบการพิจารณากรณีรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.วาระที่ 3 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยร้องผ่านมาตรา 68 โดยขอให้ศาลเทียบเคียงกับมาตรา 154 เพื่อที่จะกำหนดมาตรการให้รัฐสภาหยุดยั้งกระบวนการที่จะส่งไปถึงนายกฯ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ขอให้รอฟังศาลวินิจฉัยก่อนจึงค่อยดำเนินการตามกระบวนการต่อไป
ก่อนหน้านี้ช่วงเช้า กลุ่ม น.ส.รสนาได้เข้ายื่นคำร้องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 68
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งตัวแทนมายื่นเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 310 ชุด ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง กรณีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช กับพวก 309 คน เข้าชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ประเด็นที่มาของ ส.ว. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แถลงว่า เมื่อเวลา 09.40 น. ตนได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกฯ เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มา ส.ว. ที่มีการอ้างว่าจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วันนั้น ใช้ในกรณีที่ร่างกฎหมายไม่มีการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ แต่หากยื่นให้ศาลตรวจสอบตามมาตรา 154 แล้ว ต้องระงับการทูลเกล้าฯ ถวายไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย แม้จะพ้นกำหนด 20 วันแล้วก็ตาม
“ซึ่งล่าสุดกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ก็เลยกำหนดการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วันแล้วเช่นเดียวกัน” นายไพบูลย์กล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม ส.ว. ได้ยื่นเรื่องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ต่อประธานรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน เพื่อให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่ากระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และแจ้งนายกรัฐมนตรีให้ทราบ แต่ปรากฏว่าจากการตรวจสอบวันนี้ (30 ก.ย.) ก็ยังไม่มีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญและยังไม่แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ เหมือนการกระทำคนละมาตรฐานกับการส่งความเห็นชอบของรัฐสภาไปให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งประธานรัฐสภาควรดำเนินการโดยเร็ว
ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีจะอ้างว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้ เพราะวันนี้ (30 ก.ย.) ตนได้มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ไปแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีทราบแล้วที่ทำเนียบรัฐบาล ว่ามีสมาชิกรัฐสภาได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แม้ประธานรัฐสภาจะไม่แจ้งนายกรัฐมนตรี ก็ถือว่านายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ถ้ายังดึงดันเร่งรัดนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบและไม่ต้องบอกว่าบังควรหรือไม่
Edited by Nong, 2 October 2013 - 09:49.