สื่อนอกสับโครงการรถไฟความเร็วสูงรัฐบาลปู ชี้ไม่ตอบโจทย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย เชื่อการกู้เงินซ้ำเติมหนี้สาธารณะให้มากยิ่งขึ้น
ดิอิโคโนมิสต์วิจารณ์โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและการโรดโชว์ “สร้างอนาคตไทย 2020” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่า โครงการนี้อาจไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทย โดยแจงหลักฐานว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาหดตัวลงจาก 88 ล้านคนต่อปี เป็น 46 ล้านคนต่อปี
สิ่งพิมพ์ดังรายงานเพิ่มเติมว่า แผนการสร้างทางรถไฟของรัฐบาลที่ต้องทุ่มงบมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท และต้องจ่ายดอกเบี้ยกว่า 3 ล้านล้านบาท ในอีก 50 ปีนั้น ถือเป็นความพยายามเที่ยวล่าสุดที่จะผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์หลังจากประเทศไทยไม่มีโครงการลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 1997 และเป็นความชาญฉลาดในการใช้งบประมาณซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ดิอิโคโนมิสต์แจงด้านบวกของโครงการว่า เมกะโปรเจกต์น่าจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 แสนตำแหน่ง แต่น่าเสียดายที่ตัวเลขผู้ว่างงานชาวไทยมีไม่ถึงตัวเลขดังกล่าว ฉะนั้นผลประโยชน์จึงน่าจะตกกับแรงงานต่างด้าว
สื่อมะกันยังวิเคราะห์อีกว่า เส้นทางรถไฟส่วนใหญ่ผ่านภาคอีสานและ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย โดยละเลยประชาชนอีกกว่า 2 เท่า ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ดังนั้นการเดินเส้นทางรถไฟเช่นนี้อาจไม่ตอบวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าขนส่งโดยรวม รวมทั้งลดภาวะ “เมืองหัวโต” โดยการเชื่อมโยงต่างจังหวัดกับเมืองให้แรงงานไทยไม่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่มาทำงานในเมืองใหญ่เท่านั้น
ดิอิโคโนมิสต์ปิดท้ายโดยเผยผลสำรวจจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ที่ระบุว่า ครัวเรือนไทยเป็นหนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 68% ของค่าจีดีพี ซึ่งจำนวนนี้มากกว่าหนี้ที่พลเมืองในประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง จีน (20%) อินเดีย (18%) อินโดนีเซีย (17%) ก่อขึ้น
ส่วนการกู้ยืมเงินสำหรับอภิมหาโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูงจะซ้ำเติมให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยจาก 45% ต่อจีดีพีเลวร้ายขึ้นไปอีก หลังจากที่ตัวเลขนี้เคยลดลงตั้งแต่ปี 2006
ขอบคุณโพสทูเดย์ http://www.posttoday...็วสูงยิ่งลักษณ์