ขอตอบเรื่องการแต่งตั้ง "ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" กับ "การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช" นะครับ
1. การแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อาศัยความตาม มาตรา 10 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่บัญญัติว่า
".. ในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช.."
มาตรา 10 วรรค 1 กล่าวถึงกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆรราชว่างลง ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด "โดยสมณศักดิ์" เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
จะเห็นว่าในการแต่งตั้ง จะพิจารณาความอาวุโสโดยสมณศักดิ์ คือ เรียงตามการได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อน-หลัง ไม่ได้เรียงตามอาวุโสโดยพรรษา ซึ่งสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ในปัจจุบันก็คือ "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" ฉะนั้นในข้อการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก็เป็นอันยุติตามนี้ครับ
2. การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช อาศัยความตามมาตรา 7 แห้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ที่บัญญัติว่า
มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง
ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ตามบทบัญญัติในมาตรานี้ การเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาจะมี 2 กรณี
1) กรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีจะเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด โดยความยินยอมของมหาเถรสมาคมขึ้นทูลเกล้า ซึ่งก็เช่นเดียวกับการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ถือความอาวุโสโดยสมณศักดิ์
2) ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
เมื่อพิจารณาตามนี้ สมเด็จพระราชาคณะที่สูงสุดโดยสมณะศักดิ์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามมาตรา 10 ก็ย่อมได้รับการเสนอนามเพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชตามาตรานี้นั่นเอง และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ (ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตามลำดับ) ก็เข้ากับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติทุกประการครับ
Edited by Alkene, 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 - 14:10.