ตายคนแรกคือชาวนา! "อัมมาร" จวกรบ.ล้มเหลวแก้ปัญหาส่งออกข้าว
เขียนวันที่ วันพุธ ที่ 30 เมษายน 2557 เวลา 16:00 น.เขียนโดยนางสาวมณนิสา แท่งทองหมวดหมู่
อัมมาร สยามวาลา จวก จีทูจีรัฐบาลคือการซื้อขายแบบโจรทูโจร ชี้รบ.ถังแตกเร่งระบายข้าวหาเงินส่งผลให้ราคาข้าวไทยตกต่ำ ย้ำวันนี้หากแก้ปัญหาส่งออกข้าวไม่ได้คนที่ตายคนแรกคือชาวนา
30 เมษายน 2557 สถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนาเรื่อง “การก้าวสู่งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและนโยบายสาธารณะจะสร้างความท้าทายได้อย่างไร?” ณ ห้องประชุมชวนชม 1 โรงแรมรามาการ์เด้น โดยมี รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สกว. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
ทั้งนี้ภายในงานมีการบรรยายพิเศษโดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในหัวข้อ “เล่าสู่นักวิจัยรุ่นใหม่กับความท้าทายในงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร”
ดร.อัมมาร กล่าวว่า สิ่งที่ท้าทายสำหรับตนเองและพยายามต่อสู้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ คือแนวคิดว่า ราคาข้าวเป็นราคาที่เริ่มต้นจากเกษตรกรจริงหรือไม่ ต้นทุนเป็นอย่างไร ค่าขนส่งไปกทม.เป็นอย่างไร ซึ่งพบว่า ราคาข้าวของเราคิดแบบสินค้าอุตสาหกรรมไม่ใช่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และเป็นไปได้หรือไม่ว่าชาวนาที่อยู่ไกลอาจจะได้เงินน้อย
"การคิดราคาสินค้าโดยเริ่มต้นจากต้นทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรมไม่ผิด แต่หากนำมาคิดในระบบเกษตรผิด สาเหตุที่คิดแบบนี้ผิดเพราะว่าภาคเกษตร อย่างเช่นข้าวมาจากทั่วประเทศ คนเล็กๆ ทำกันหมด และข้าวที่เราบริโภคไม่ได้มาจากเขตที่ผลิตข้าวในต้นทุนต่ำเสมอไป ดังนั้นการรวมตัวของตลาดข้าวจึงสะท้อนอยู่ที่การซื้อขายและความต้องการทั้งต้นทุนการผลิตก็จะเข้ามาสะท้อนอยู่ในราคาที่เขาต่อรอง"
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงประเด็นที่ต้องวิจัยและใช้เวลามากพอสมควรว่า การตั้งราคาจากต้นทุนการผลิตเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ หรือเป็นอำนาจผูกขาดของคนไม่กี่คน แต่ที่ผ่านมามักมีตรรกะและใช้ความเชื่อในการตั้งราคาสินค้าเกษตรจากต้นทุนการผลิตเป็นแนวคิดที่ฝั่งในจิตวิญญาณของผู้กำหนดนโยบายประเทศ ซึ่งหากวิเคราะห์ดูให้ดีเป็นการรวมตัวความต้องการแล้วเอาขึ้นแท่นโต๊ะหมู่บูชา บางทีนักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่เข้าใจวิธีการประยุกต์อุปสงค์อุปทานและส่งผลให้ไม่เข้าใจตลาดข้าว
“ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลรักษาการชุดนี้กำหนดราคาข้าวที่ 15,000 บาท ตั้งราคาแบบหืดขึ้นคอ ซึ่งการกำหนดราคาดังกล่าวเป็นการตัดสินใจของคนเป็นล้านๆ คนหรือไม่ เป็นการตัดสินใจโดยตลาดต่างๆ หรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญ ซึ่งท้ายที่สุดก็เป็นการตัดสินใจเพียงลำพัง โดยรัฐบาลชุดนี้ช่วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า บิดเบือนกลไกตลาดเป็นอย่างไรและทำได้แบบหืดขึ้นคอ”
ดร.อัมมาร กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาสิ่งแรกที่เรียนรู้คือ ราคาสินค้าไม่ได้เริ่มต้นจากต้นทุนการผลิต กลไกราคากำหนดโดยพ่อค้าในตลาดกลางโดยคำนวณจากราคากลางลบค่าขนส่ง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าพวกเราที่ทำวิจัยเรื่องนี้ พยายามต่อรองและบอกกับผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายแต่ก็ไม่สำเร็จ เขามักตอบกลับมาว่าสิ่งที่เราบอกนี่ดีแต่ปฏิบัติไม่ได้ อย่างเช่นเรื่องพรีเมี่ยมข้าวที่ทำไม่ได้เพราะมีประโยชน์ส่วนตัวกับกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงกรณีการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีของรัฐบาลว่า หากเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลพูดถึงการซื้อขายแบบจีทูจี นั้นหมายความว่า เป็นการซื้อขายแบบโจรทูโจร แถมพ่อค้าที่เป็นพรรคพวกกับรัฐบาลยังขาดวามสามารถในการส่งออก เมื่อส่งออกก็มีปัญหา
“คุณทักษิณ ชินวัตร นึกว่าเราจะกำหนดราคาขายเองได้ แถมเคยบอกด้วยว่าเวียดนามโง่ขายข้าวราคาถูกไม่ยอมดึงไว้ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นพ่อค้าผูกขาดตลาดมือถือมาก่อน เลยคิดว่าจะใช้ได้ผล แถมนั่งสั่งจากดูไบ วันนี้จึงพิสูจน์แล้วว่า ประเทศไทยมีอำนาจผูกขาดในตลาดข้าวของโลกได้จริงหรือไม่”
ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า หากข้าวไทยไม่ส่งออกคนที่จะตายก่อนเพื่อนก็คือชาวนา ขณะนี้ตลาดข้าวเป็นตลาดของผู้ซื้อจะเห็นว่า ไทยขายข้าวไม่ออก แต่ที่ต้องรีบเร่งขายเพราะรัฐบาลถังแตกเลยเร่งระบาย พอยิ่งเร่งระบายราคาข้าวก็ยิ่งตก
"ความจริงแล้วการระบายข้าวเป็นความคิดที่ดี แต่เป็นผมจะไม่ทำเวลานี้ เพราะจะส่งผลให้ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะไปเล่นระยะยาว แต่ก็รู้สึกเห็นใจรัฐบาลเช่นกันว่าต้องการหาเงินมาด้วยการขายข้าวโดยเร็ว ยิ่งการไปห้ามไม่ให้กู้ยิ่งมีผลกระทบค่อนข้างแรงต่อตลาดข้าว"
ที่มา สำนักข่าวอิศรา http://www.isranews....rice_29026.html