มีคำถามจากเพื่อนพ้องว่าผู้คนจำนวนมากมายที่ออกจากบ้านและที่ทำงานมาร่วมการเดินขบวนเมื่อวานนี้มีความต้องการอะไรหรือ?
พวกเขาและเธอมีจุดยืนร่วมกันในเรื่องอะไร และต่างกันในประเด็นไหน?
คำว่า “มวลมหาประชาชน” กับ “ม็อบ” ต่างกันตรงไหน?
เมื่อนายกฯยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ จะนำไปสู่การ “ปฏิรูปประเทศไทย” หรือไม่?
คำตอบของผมก็คือว่าหากการยุบสภาหมายความถึงเพียงการกลับไปสู่การ เข้าคูหาเลือกตั้งตามกติกาเก่า ความหวังที่จะสร้าง “สังคมที่เป็นธรรม” ก็ยังไม่เกิดขึ้น
ตอนรวมตัวเพื่อประท้วงรัฐบาลนั้น มีความเห็นจากบางฝ่ายว่าคงจะเป็นเพราะถูกสุเทพ เทือกสุบรรณหลอกมา หรือเป็นการเกณฑ์มาของ ส.ส. ประชาธิปัตย์ อย่างมาก็คงมีมาสักไม่กี่พันคน หรืออย่างเก่งถ้า “อาหารดี ดนตรีเพราะ” ก็อาจจะเป็นหมื่นเป็นบางวัน และผ่านไปไม่กี่วัน คำปราศรัยไม่เผ็ดร้อนเหมือนวันแรก ๆ ก็คงจะสลายตัวหายไปกลับเป็น “ไทยเฉย” เหมือนเดิม
วันนี้พิสูจน์ว่าคำปรามาสอย่างนั้นมีพื้นฐานจากความเชื่อเก่า ๆ ที่ว่าคนไทยยอมผู้มีอำนาจ ผู้มีเงิน และผู้มีอิทธิพลเหนือกลไกบ้านเมืองต่าง ๆ ยอมให้ทหารปฏิวัติหมุนเวียนกันปกครองบ้านเมืองกับ “นักเลือกตั้ง” ที่หนุนโดยนายทุนไม่กี่กลุ่มสลับกันไปมาอย่างนั้น บ้านเมืองก็คงซอยเท้าอยู่กับที่อย่างนี้ เรียกว่าเอาตัวรอดไปวัน ๆ
แต่ถ้าสอบถามคนที่เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองตั้งแต่กรณี “พ.ร.บ. นิรโทษสุดซอย” และคำประกาศของพรรครัฐบาลและคนของรัฐบาลไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ น่าจะเชื่อว่าคนที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างล้นหลามนั้นตระหนักว่า พวกเขาเท่านั้นที่จะสามารถสร้าง “สังคมแห่งความเป็นธรรม” ได้
หลายคนที่มาร่วมเดินขบวนไม่ได้เป็น “สาวก” ของสุเทพ เทือกสุบรรณ และไม่มีความศรัทธาในพรรคประชาธิปัตย์ที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยซ้ำ แต่พวกเขาเห็นพฤติกรรมของกลุ่มการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา และนโยบายจำนำข้าว, เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราที่รับใช้ผลประโยชน์กลุ่มก้อนของตนเอง แล้วก็มาถึงข้อสรุปโดยไม่ต้องนัดหมายกันว่าพวกเขาอยู่เฉย ๆ ก็คงจะตอบลูกหลานไม่ได้ว่า “พ่อแม่ทำอะไรอยู่ตอนที่มีเรื่องอย่างนี้?”
คำว่า “สังคมที่เป็นธรรม” จึงกลายเป็นเป้าหมายของ “คนร่วมสมัย” ที่แสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้
ผู้เข้าร่วมต่อต้านรัฐบาลวันนี้จำนวนไม่น้อยอาจจะมีข้อสงสัยเหมือนนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่าข้อเสนอของสุเทพให้มี “สภาประชาชน” และ “นายกฯ มาตรา 7” จะดำเนินภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร และต้องการคำอธิบายในรายละเอียดจากแกนนำการต่อต้านพอสมควร
แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการเหมือนกันคือ “ทางออกประเทศไทย” ที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม, ความเคารพในความเห็นทุกภาคส่วนและที่สำคัญคือมีความภูมิใจในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นไทย
แน่นอน หากผู้ออกมาร่วมกิจกรรมการเมืองครั้งนี้มีความคลางแคลงว่าสุเทพและพวกกระทำ การครั้งนี้เพื่อหวังอำนาจการเมืองเพื่อกลุ่มตน, พวกเขาก็จะเป็นกลุ่มแรกที่จะประณามและลงโทษแกนนำการต่อต้านครั้งนี้อย่างไม่ ต้องสงสัย
แต่พวกเขาและเธอก็มีคำถามเช่นกันว่าเมื่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยประกาศไม่ ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ หรือรวบรัดตัดความใช้เสียงข้างมาก “ลักหลับ” ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีความผิดคอร์รัปชั่นได้ ก็เท่ากับเป็นการเหยียบย่ำกติกาบ้านเมืองอย่างโจ๋งครึ่มเช่นกัน
คนที่ออกมาร่วมคัดค้านครั้งนี้จำนวนไม่น้อยมองเห็นอันตรายของ “ระบอบทักษิณ” ที่จะทำให้ความมุ่งหมายที่จะสร้าง “สังคมแห่งความเป็นธรรม” เกิดขึ้นไม่ได้ในชั่วอายุคนรุ่นนี้ได้เลย หากพวกเขาไม่แสดงความรับผิดชอบด้วยการแสดงจุดยืนร่วมกันอย่างแข็งขัน
จะเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง หากนักวิเคราะห์การเมืองจะสรุปง่าย ๆ เหมือนปรากฏการณ์เดิม ๆ ว่าการเมืองของไทยวันนี้ตัดสินกันเพียงแต่ว่า
ใครสามารถเกณฑ์หรือระดม “ม็อบ” มาประจันหน้ากัน ใครมีจำนวนมากกว่า ใช้วาทกรรมเก่งกว่า มีเงินหนุนหลังมากกว่าหรือสามารถหว่านล้อมให้กองทัพมาเป็นฝ่ายตนก็จะเป็นผู้ มีชัยชนะ และสามารถครอบงำประเทศโดยที่ “เสียงข้างน้อย” จะหมดสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมปกครองประเทศอีกต่อไป
ผมเชื่อว่าผู้ออกมาร่วมชุมนุมเพื่อการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งนี้มีความเชื่อเหมือนกับคนที่เรียกตัวเองว่า “หัวก้าวหน้า” ในสังคมไทยว่าวาระสำคัญของการแก้ปัญหาบ้านเมืองคือการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน และคน “รากหญ้า” จะต้องมีสิทธิ์มีเสียงในกระบวนการการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้อีกหลายเท่า
ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ “คนละข้าง” กันวันนี้ไม่ว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นคน “สี” อะไรก็ตามต่างก็เห็นพ้องกันว่าประเทศไทยจะต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นใน ทุกระดับอย่างจริงจัง, ต้องไม่ให้ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งหรือกลุ่มการเมืองใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจและ อิทธิพลเหนือบ้านเมืองได้ขนาดที่เห็นอยู่วันนี้ ต้องไม่ให้ “ธุรกิจการเมือง” ครอบงำสังคมไทย
และทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้าง “สังคมที่เป็นธรรม”โดยไม่ถู ก “นักปลุกม็อบ” ฝ่ายใดชักจูงเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา
ประโยคหนึ่งของเนลสัน แมนเดลลา ผู้นำอัฟริกาใต้ที่เพิ่งจากโลกไปท่ามกลางเสียงชื่นชมของคนทั้งโลกต่อผลงาน การสร้างความปรองดองในประเทศที่แตกแยกกันอย่างรุนแรงควรจะเป็นหลักการสำหรับ การร่วมกันสร้างประเทศไทย
นั่นคือ....”ผมไม่ได้ต่อสู้เพื่อต่อต้านคนผิวขาวครอบงำประเทศ ผมไม่ได้ดิ้นรนเพื่อคนผิวดำมีอำนาจมากกว่าคนผิวขาว แต่ผมต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกสีผิว”
คำว่า “มวลมหาประชาชน” ต่างกับ “ม็อบ” ก็ตรงนี้...การยุบสภาเพียงเพื่อให้กลับไปเลือกตั้ง ส.ส. ตามกติกาที่ “ไม่เป็นธรรม” เหมือนเก่าก็จะได้คุณภาพการเมืองเหมือนเดิมเท่านั้น
สุทธิชัย หยุ่น
ผมคิดว่าสื่อที่ดีก็ควรแสดงจุดยืนเช่นเดียวกัน
วันนี้ผมได้เห็นจุดยืน ของคุณ สุทธิชัย คุณกนก และสื่อที่ดีมากมาย
ส่วนพวกแดง ก็โชว์จุดยืนแดงได้เลย อย่าเป็นอีแอบ แบบทหารครับ