พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ(ขวา)และ พลเอกฉัตรชัย สาธิกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 มีการประชุมเพื่อหารือในประเด็นเศรษฐกิจระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ
โดยมีพล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คสช. ให้ความสำคัญในการเร่งช่วยเหลือชาวนาให้มีเงินใช้จ่ายหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับครัวเรือนไปสู่เศรษฐกิจระดับชุมชน โดยเงินจำนวนนี้จะช่วยคลายความวิตกให้ชาวนา ให้สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติต่อไป
พลเอกฉัตรชัย สาธิกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมาทาง คสช.
ได้เชิญส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ปัญหาและเยียวยาชาวนาเข้า หารือร่วมกันในประเด็นแหล่งเงินที่เป็นปัญหา
ซึ่งขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว และได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินชาวนาแล้ว ซึ่งโครงการจำนำข้าวในส่วนของปี 2556/2557 นั้นยังมีวงเงินค้างชำระประมาณ 92,000 ล้านบาท
ช่วงต้นจะเป็นการนำเงินสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มาใช้ในการชำระคืนชาวนา จังหวัดแรกที่เริ่มดำเนินการคือ จังหวัดนครปฐม
โดยในส่วนขั้นตอนการปฏิบัติงานอาจมีปัญหาเรื่องความล่าช้าอยู่บ้าง แต่จะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว
ซึ่งทางกองทัพได้มอบหมายให้ทางทหารที่อยู่ในพื้นที่เข้าช่วยเหลือการดำเนิน งานของ ธ.ก.ส. ในส่วนของการตรวจสอบเอกสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
“อันนี้ก็จะมุ่งมั่นที่จะให้ชาวนาผู้ได้รับผลกระทบได้รับการแก้ไขปัญหา โดยเร็ว เราได้ดำเนินการตั้งแต่วันเสาร์–อาทิตย์ จนได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ววันนี้ก็เริ่มดำเนินการเลย”
พล.อ. ฉัตรชัยกล่าว
ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีการคลัง กล่าวว่า นอกจากการเร่งจ่ายเงินแก่ชาวนาของ ธ.ก.ส. ในเบื้องต้นแล้ว
ทางกระทรวงการคลังก็จะเร่งดำเนินการกู้ยืมเงินจากสถาบันการ เงินภายในประเทศ แล้วนำเงินเข้าสมทบกับส่วนของ ธ.ก.ส. ซึ่งภายใน 20 วัน
ก็จะได้ครบ 90,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ทางทีมงานเศรษฐกิจของคสช.มองว่าชาวนายังมีปัญหาอาทิ พันธุ์พืช เครื่องมือการเกษตร และปุ๋ย ทั้งนี้ดูว่าจะเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง
เพื่อให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่มีเงินอย่างจำกัด
ส่วนเรื่องการรับจำนำจะเป็นอย่างไรต่อไป พล.อ. ฉัตรชัยกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุอะไรได้ คงต้องเชิญผู้ที่รับผิดชอบมาหารือรวมกัน
แต่ได้วางแนวทางของการแก้ปัญหาในภาคการเกษตรทั้งหมดในลักษณะที่จะทำให้เกิด ความยั่งยืน และควบคู่ไปกับการยึดกลไกตลาด
ธ.ก.ส. ยัน สิ้นมิถุนายนจ่ายชาวนาครบ
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า การจ่ายเงินที่ยังค้างชำระอยู่ให้แก่ชาวนาคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน สิ้นเดือนมิถุนายนนี้ โดยเป็นเงินจากกองทุนช่วยเหลือชาวนาส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือเงินกู้ที่ทางกระทรวงการคลังจัดหามาให้ 92,431 ล้านบาท เบื้องต้นวงเงิน 40,000 ล้านบาทนั้นเป็นเงินที่ทาง ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน
สำหรับยอดล่าสุดของผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 มียอดใบประทวนรวม 1,671,720 ราย จำนวนข้าวเปลือก 11.64 ล้านตัน จำนวนเงิน 192,950 ล้านบาท ดำเนินการจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 833,182 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 6.29 ล้านตัน เป็นเงิน 103,019 ล้านบาท จากยอดจัดสรรรวม 105,500 ล้านบาท
ด้านนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุว่าจังหวัดที่มียอดเงินค้างชำระสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดยโสธร วงเงิน 8,600 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดพิจิตร วงเงิน 5,200 ล้านบาท จังหวัดพิษณุโลก วงเงิน 4,900 ล้านบาท จังหวัดกำแพงเพชร วงเงิน 4,600 ล้านบาท และจังหวัดสุรินทร์ วงเงิน 4,500 ล้านบาท ซึ่งมียอดรวมเกือบ 30,000 ล้านบาท
โดยจังหวัดที่มีจำนวนชาวนาไม่ได้รับเงินสูง 11 จังหวัดนั้น ประชากรส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ และนครราชสีมา
ถัดมาเป็นเขตลุ่มน้ำภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก และชัยนาถ ส่วนภาคเหนือมีเพียงจังหวัดเดียวคือจังหวัดเชียงราย
ทั้งนี้ การจ่ายเงินจะดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ในส่วนจังหวัดที่มียอดค้างชำระสูง หรือมีชาวนายังไม่ได้รับเงินจำนวนมาก ทางเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ก็จะมีการดำเนินการร่วมกับทหารที่ประจำในพื้นที่นั้นๆ เพื่อเร่งดำเนินการ
ในส่วนของยอดเงินที่เพิ่มขึ้นสูงเป็น 92,000 ล้านบาทนั้น นายสุพัฒน์เผยว่า เป็นวงเงินที่เพิ่มจากการนับรวมใบประทวนในเขตภาคใต้เพิ่มเข้ามา ซึ่งวงเงินรวมที่ยังไม่ได้นับรวมภาคใต้นั้น
อยู่ที่ประมาณ 192,000 ล้านบาท ทาง ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายไปแล้ว ประมาณ 130,000 ล้านบาท ก็จะเหลือเพียง 60,000 กว่าล้าน เมื่อนับรวมใบประทวนภาคใต้เข้ามา ทำให้วงเงินขยับสูงขึ้นโดยขณะนี้วงเงินค้างชำระที่หักเงินในส่วนของกองทุน ช่วยเหลือชาวนาไปแล้วนั้นมีประมาณ 92,000 ล้านบาท
“ตอนนี้จำนวนใบประทวนยังไม่นิ่ง แต่คาดว่าวงเงินที่เพิ่มเข้ามาคงไม่เกิน 2,500 ล้านบาท หากเกินจากนี้ถือว่ามีความผิดปกติ ต้องเร่งตรวจสอบ” นายสุพัฒน์กล่าว
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอปัญหาการจ่ายเงินรับ จำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาอย่างต่อเนื่อง
(อ่านข่าว “โต้ง” สั่งสำนักบริหารหนี้กู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท, คลังหน้าแตก ประมูลเงินกู้ลอตแรก 2 หมื่นล้านจ่ายชาวนา “ล้ม” และข่าว
“กิตติรัตน์” ดับเครื่องชน ไม่หวั่นผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ หาเงินใช้หนี้ชาวนา)
หลังจากที่อดีตรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปิดโครงการจำนำข้าวนาปี 2556/57 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 มีชาวนา 1,527,290 รายนำข้าวเปลือกมาจำนำกับรัฐบาล
11.63 ล้านตัน คิดเป็นวงเงิน 191,003 ล้านบาท (ไม่รวมภาคใต้) แต่เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ไม่สามารถที่จะหาเงินกู้มาจ่ายเงินให้กับ ชาวนาได้ รั
ฐบาลรักษาการในขณะนั้นได้อาศัยเทคนิคทางกฎหมาย ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การจัดหาแหล่งเงินเพื่อจ่ายชาวนาในรูปแบบต่างๆ ดังนี้(ข้อมูล ณ 21 พฤษภาคม 2557และคลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)
1. โยกงบประมาณปี 2557 จำนวน 62,000 ล้านบาท มาจ่ายให้ชาวนาก่อน โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้อำนาจบริหารโยกงบฯ 62,000 ล้านบาท จากรายการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวในอดีตวงเงิน 73,426 ล้านบาท โดยเงินก้อนนี้ต้องนำไปลดภาระเงินต้นและดอกเบี้ยในบัญชีสินเชื่อนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA) ซึ่งผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมรัฐสภามาจ่ายให้ชาวนาก่อน
ทั้งนี้นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยืนยันว่า “ ธ.ก.ส. สามารถใช้อำนาจบริหารโยกงบฯ 62,000 ล้านบาทมาใช้หนี้ให้กับชาวนาก่อนได้ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ เนื่องจากที่ผ่านมาสำนักงบประมาณกระจายอำนาจการตัดสินใจ โอนย้ายงบประมาณไปให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจหมดแล้ว แต่ ธ.ก.ส. ต้องหาเงิน 62,000 ล้านบาทกลับไปชดเชยความเสียหายที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวในอดีตตามที่ระบุ ไว้ในเอกสารงบประมาณภายในวันที่ 30 กันยายน 2557 หากไม่สามารถดำเนินการได้ ถือว่าผิดกฎหมายวิธีการงบประมาณ อาจจะถูกสำนักงานการตรวจแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ”
2. คณะกรรมการการเลือกตั้งอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ยืมงบกลาง 20,000 ล้านบาท ให้ ธ.ก.ส. นำไปใช้หนี้ชาวนา ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์นำเงินรายได้จากการระบายข้าวชำระคืนงบกลางจนครบ 20,000 ล้านบาทแล้ว
3. กระทรวงพาณิชย์นำเงินระบายข้าวส่วนที่เหลือจากการชำระคืนงบกลางอีก 13,000 ล้านบาท ส่งให้ ธ.ก.ส. ชำระหนี้ชาวนา ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าว และคาดว่าจะส่งเงินให้ ธ.ก.ส. ชำระหนี้ชาวนาทั้งสิ้น 33,000 ล้านบาท โดยผ่านการระบายข้าว 5 ช่องทาง ดังนี้
1) การประมูลทั่วไป
2) การประมูลในระดับภูมิภาค โดยเริ่มต้นเปิดประมูลครั้งแรกที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2557
3) การประมูลผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) เป็นช่องทางที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนั้นได้อนุมัติให้เปิดระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลผ่าน AFET ส่วนหนึ่ง โดยการประมูลครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 11 จำนวนข้าว 2.2 แสนตัน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ปรากฏว่ามีการยื่นเสนอราคาส่วนต่างซื้อข้าวต่ำกว่าราคาตลาด และเตรียมเปิดประมูลครั้งที่ 12 จำนวน 2.1 แสนตัน ในวันที่ 30 พฤษภาคม ที่จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งนี้ การระบายข้าว AFET ที่ผ่านมา 10 ครั้ง อนุมัติระบายแล้ว 5.88 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 7, 000 ล้านบาท
4) การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ล่าสุดมีการเจรจากับประเทศมาเลเซีย แต่ยังไม่สามารถตกลงราคากันได้ หลังจากที่ได้ขายข้าวจำนวน 1 ล้านตัน ให้กับรัฐวิสาหกิจจีน บริษัท COFCO corporation
5) ประมูลผ่านเอกชนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งการประมูลที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 รัฐบาลไทยสนับสนุนให้เอกชนไทยเข้าร่วมการประมูล ปริมาณข้าว 8 แสนตัน แต่ผลปรากฏว่าประเทศเวียดนามเป็นผู้ชนะการประมูล
รวม 5 เดือนแรกของปี 2557 กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวได้ทั้งสิ้น 33,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งนำไปชำระคืนงบกลาง 20,000 ล้านบาท และที่เหลืออีก 13,000 ล้านบาท ส่งให้ ธ.ก.ส. นำไปชำระหนี้ชาวนา
4. นำเงินจาก “กองทุนช่วยเหลือชาวนา” 10,500 ล้านบาท ชำระหนี้ชาวนา โดยนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานล่าสุด ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มีลูกค้านำเงินมาบริจาคและฝากเงินกับ “กองทุนช่วยเหลือชาวนา” ทั้งสิ้น 12,033 ล้านบาท แบ่งเป็นบริจาคเงินผ่านกองทุนช่วยเหลือชาวนากองที่ 1 จำนวน 26 ล้านบาท, กองที่ 2 เป็นเงินสบทบแบบรับเงินต้นคืนแต่ไม่มีผลตอบแทน 909 ล้านบาท และกองที่ 3 เงินสมทบแบบรับเงินต้นคืนได้รับผลตอบแทน 0.63% ต่อปี 11,098 ล้านบาท ก่อนสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 คาดว่าจะระดมเงินช่วยเหลือชาวนาได้ตามเป้าหมายที่ 20,000 ล้านบาทแน่นอน
“กลุ่มลูกค้าที่นำเงินเข้ามาฝากกับกองทุนช่วยเหลือชาวนากองทุนที่ 3 ส่วนใหญ่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งประเทศมีอยู่ประมาณ 7,000 แห่ง
นำเงินมาฝากกับ ธ.ก.ส. แห่งละ 1 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากกรมบัญชีกลางแล้ว
โดย ธ.ก.ส. โอนเงินจากกองทุนฯ ไปให้ชาวนาเมื่อครบทุกๆ 1,000 ล้านบาท ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ธ.ก.ส. นำโอนเงินจากกองทุนฯไปให้ชาวนาแล้ว 10,500 ล้านบาท” นายลักษณ์กล่าว
สรุปปิดโครงการจำนำข้าวนาปี 2556/57 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ธ.ก.ส. ค้างชำระหนี้ชาวนา 1,527,290 ราย คิดเป็นวงเงิน 191,003 ล้านบาท ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2557
ธ.ก.ส. รวมรวมเงินจากแหล่งต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้นมาชำระหนี้ชาวนาแล้ว 849,829 ราย คิดเป็นเงิน 103,019 ล้านบาท เหลือชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวอีก 677,461 ราย คิดเป็นวงเงิน 87,984 ล้านบาท
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาระหว่างที่ชาวนายังไม่ได้รับเงิน ทาง ธ.ก.ส. ยังดำเนินมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนระหว่างรอเงินรับจำนำ ข้าว ธ.ก.ส. ดังนี้
1. ยืดเวลาการชำระหนี้เดิมที่ชาวนามีอยู่กับ ธ.ก.ส. อีก 6 เดือน โดยมีชาวนาได้รับการยืดหนี้แล้วจำนวน 468,860 ราย ต้นเงินคงหนี้เป็นจำนวน 61,000 ล้านบาท
2. จัดวงเงินสินเชื่อก้อนใหม่ให้ชาวนานำไปใช้จ่าย หรือลงทุนระหว่างรอเงินรับจำนำ คิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี หรือ 0.583% ต่อเดือน ล่าสุดสิ้นเดือนเมษายน 2557 มีชาวนายื่นกู้แล้วทั้งสิ้น 130,512 ราย คิดเป็นวงเงิน 9,085 ล้านบาท ในจำนวนนี้ชาวนาที่ได้รับการยืดหนี้ทั้งหมดมีการใช้จ่ายเงินกู้ผ่านบัตร เครดิตชาวนาอีกจำนวน 569,988 ราย คิดเป็นวงเงิน 9,653 ล้านบาท รวมแล้วมีชาวนาที่ได้รับประโยชน์จากการกู้เพิ่ม และการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตชาวนาทั้งสิ้น 700,500 ราย คิดเป็นวงเงินรวม 18,738 ล้านบาท
จากการที่ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยการจัดหาเงินมาใช้หนี้ชาวนากว่า 1 แสนล้านบาท และดำเนินมาตรการยืดหนี้ ปล่อยกู้เพิ่มและจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตชาวนา ทำให้ชาวนายุติการชุมนุมประท้วงมาตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน