เหลือง-แดง โดย ฌาฒ สหัชชะ
ธงไตรรงค์ แปลว่า ธงสามสี คือ สีแดง หมายถึงชาติ สีขาวหมายถึง พระศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ และได้ยึดเป็นหลักในการบริหาร ปกครองชาติตลอดมา
สีเหลือง หมายถึง สีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน และเป็นสีของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแห่งราชวงศ์จักรี คือ จักรีบรมมหาราชวงศ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระราชทานให้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง หรือข้าราชการที่ได้รับพระบราราชโองการโปรดเกล้าได้รับฐานันดรระดับสมเด็จเจ้าพระยาหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือพระราชอาคันตุกะต่างชาติที่เป็นประมุข เท่านั้น
ส่วน สีแดงเหลือง อีกแห่งหนึ่ง คือ สีประจำโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า(จปร)
และ สีเหลืองแดง แห่งสุดท้าย คือ สีประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(และการเมือง) กำหนดสีโดยผู้ประสาธน์การมหาวิทยาลัย พณฯ ปรีดี พนมยงศ์(หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ว่า เหลืองคือธรรมประจำจิต แดงคือโลหิตอุทิศให้ และกำหนด
อุดมการณ์ไว้ว่า เรารักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้รักประชาชน
แต่วันนี้มีมนุษย์ที่ไม่เข้าใจของดีของประเทศมาแยกสีให้เกิดการขัดแยังกัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้
ผมในฐานะเป็นลูกเหลืองแดง แม่โดมคนหนึ่ง ได้ไปร่วมงานวันธรรนมศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555 ได้ซึมซับบรรยากาศความเป็นเหลืองแดง อย่างซาบซึ้งอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อได้ยินเพลง “มอญดูดาว” ซึ่งเป็นเพลงแรกของนักศึกษาของ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก) เมื่อ ปี 2478 ขออธิบายคำสองคำนี้ก่อนครับ
ธรรมศาสตร์ เป็นคำศัพท์ แปลว่า ความรู้ความเข้าใจของธรรม คือ ความจริง
การเมือง คือ ศาสตร์ของรัฐ เป็นโครงสร้างของแต่ละรัฐ(ประเทศ) เมื่อบัญญัติเป็นศัพท์ก็คือ คำ ว่า “รัฐศาสตร์”
จึงเมื่อเอามาตั้งเป็นชื่อมหาวิทยาลัยก็ต้องมีคำนามมาเป็นตัวนำชื่อศาสตร์สองคำนี้ให้สมบูรณ์ตามหลักภาษา จึงได้เอาคำว่า “วิชา” มานำหน้า
แต่นักปราชญ์ยุคหลัง และผู้มีอำนาจในทางการเมือง กลัวว่าคนจะหลั่งไหลมาสังกัดมาก จะรู้การเมืองมากจึงได้ตัดคำว่าการเมือง ออกไป และเลยพาลตัดคำว่า วิชา ออกไปด้วย คงเหลือแต่เพียง ธรรมศาสตร์ ลอย ๆ เช่นทุกวันนี้
เท่าที่ทราบคนเสนอให้ตัดหวังให้ มหาวิทยาลัยนี้ ไม่มีหัว ไม่มีก้อย จะได้ไม่มีพลัง ในอนาคต
แต่...พวกเขาคิดผิด ยิ่งเหลือแต่คำว่า ธรรมศาสตร์ กลับแกร่งเป็นที่สุด เพราะ อะไรจะมาเหนือกว่า “ธรรม” ไปได้ จะเห็นได้ชัดในวันที่ นายสุวิทย์ เผดิมชิต นำนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับหมื่นไปยื่นข้อเสนอในการปรับเปลี่ยนนโยบายการรังแกทางการเมืองให้กับจอมพล ป พิบูลสงคราม เมื่อ พศ 2499 ถ้าทำไม่ได้ก็ให้ถวายบังคมลาออกจาก “ผู้นำแห่งชาติไทย” (จอมพล ป เรียกตนเองอย่างนี้แทนที่จะเรียกเป็น นายกรัฐมนตรี คงจะตาม คำว่า “ฟือเรอร์” ของฮิตเล่อร์ ซึ่งแปลว่า ผู้นำ)
การเดินขบวนเดินผ่านสะพานมัฆวาน จึงได้เผชิญหน้า กับ รอ อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่ง ทส ของจอมพล ป รอ อาทิตย์ ได้ประกาศว่า ถ้าจะบุกไปทำเนียบ ก็ต้องข้ามศพผมไปก่อน นายสุวิทย์ กล่าวตอบว่า พวกเราไม่ต้องการจะข้ามศพใคร แต่เราต้องไปพบท่านผู้นำให้ได้ รอ อาทิตย์ จึงบอกว่าให้ไปได้เฉพาะตัวแทนนักศึกษา ส่วนที่เหลือให้อยู่ฝั่งสะพานทิศใต้ นายสุวิทย์ ยอมจึงได้ไปพบท่านผู้นำ ที่ทำเนียบไทยคู่ฟ้า ท่านผู้นำได้ออกมาพบในชุดชั้นในคือ เสื้อกล้ามและกางเกงขาสั้นชนิดหูรูดสีขาว ท่านรับปากว่าจะทำตามที่นักศึกษาขอมาทุกประการ แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง นักศึกษาก็ยอมและเดินทางกลับ
แต่..เมื่อถึงวันที 16 กุมภาพันธ์ 2500 ก็ถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนรัชตน์ ปฏิวัติเสียก่อน
ความโดดเด่นในความกล้าของ รอ อาทิตย์ กำลังเอก ดังกล่าวส่งเขาให้ก้าวถึง พลเอก ผบ สส และ ผบ ทบ
ขณะที่นายสุวิทย์ไปเจรจากับจอมพล ป นักศึกษาทีรอเชิงสะพานก็ร้องเพลง มอญดูดาว กันตลอดเวลา เนื้อร้องมีดังนี้
สำนักไหนหมายชู (เอ๊ย) ประเทศชาติ (ซ้ำ) ด้วยอำนาจปกครองให้ผ่องเฟื่องเอ๋ย (เอ๊ย) เราเป็นไทย เรารักไทย บูชาไทย ไม่ยอมให้ใครผู้ใดมาล้างเสรีไทย
สำนักนั้น ธรรมศาสตร์(เอ๊ย) และการเมือง ก่อรุ่งเรืองสมบูรณ์เขต ประเทศไทยเอย (เอ๊ย) ธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ การเมือง ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี
เหลืองของเราคือธรรม (เอ๊ย) ประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิสให้เอย (เอ๊ย) เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง ทุก ๆ แห่ง ทุกแห่งแต่ล้วนเหลืองกับแดง
ชื่อว่าธรรมแล้วเราเทิด(เอ๊ย)ให้สมไทย ทุกอย่างไป งานหรือเล่น ต้องเป็นธรรมเอย (เอ๊ย) ใครรักชาติ ใครรักธรรมเหมือนกับเรา จงมาเข้าและโปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง
ตามตำนานเล่ากันว่า ทำนองเพลงมอญดูดาวคือทำนองเพลงที่ทหารหาญชาวมอญ อันเป็นทหารเอกของสมเด็จพระอนุชาธิราชพิษณุวาธิราช กรมพระราชวังหน้า ที่พม่าให้สมัญญานามว่า พระยาเสือ ในคราวที่ท่านใช้ทหารเพียงสามหมื่นพิชิตทหารพม่าเรือนแสนได้ที่ทุ่งลาดหญ้า และในการสงครามทุกครั้งท่านจะมีทหารเอกคือ พญาเจ่ง นำทัพมอญเป็นทัพหน้าตลอดมา ตอนหลังพญาแจ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหาสงคราม ท่านเป็นต้นตระกูล คชเสนีย์ (เจ่ง แปลว่า ช้าง)
เจ้าพระยามหาเสนา เป็นแม่ทัพใหญ่ของกรมฯ วังหน้า ได้สร้างโรงช้าง โรงม้าและโรงทหารด้านหลังของวังหน้า คือสถานที่ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ด้วยศักดิ์และสิทธิ์เหล่านี้ ธรรมศาสตร์ จึงเอาทำนองมอญดูดาวมาใช้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ส่วนเนื้อ เท่าที่เป็นตำนานเล่าว่า ช่วยกันแต่งหลายท่าน เช่น ขุนวิจิตรมาตรา หลวงวิจิตรวาทการ หลวงประดิษฐไพเราะ ศจ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ฯ เป็นอาทิ จึงยังไม่ยืนยันในเรื่องเนื้อร้อง
ส่วนแดง กับเหลือง ต้องบรรยายกันอีกอารมณ์หนึ่งในวันหน้า เพราะ โรงเรียนนายร้อย จปร ยิ่งใหญ่มาก