พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ได้เขียนเรื่องราวแห่งความประทับใจเกี่ยวกับการเสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภาคต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ในหนังสือ
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี" ตอนหนึ่งว่า
"...ในการเสด็จ ฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ซึ่งจะทรงใช้เวลาปีละประมาณ ๖ เดือน องคมนตรีที่ตามเสด็จก่อนหน้านั้น มีองคมนตรี หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ และองคมนตรีประกอบ หุตะสิงห์ ต่อมามี องคมนตรี หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (ภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ) ซึ่งทรงชำนาญด้านการเกษตร องคมนตรีจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการชลประทาน แล้วก็ผม
เวลาเสด็จ ฯ อย่างที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเองบ้าง รถยนต์พระที่นั่งไปไม่ได้ ก็ทรงพระดำเนินลุยน้ำลุยโคลน พระหัตถ์ทรงถือแผนที่ ทรงสังเกตพื้นที่ และทรงบันทึกภาพ ทรงถามชาวบ้านเป็นเวลานาน ๆ ถึงเวลาพระกระยาหารก็ประทับเสวยข้าวกล่องเหมือน ๆ กับผู้ตามเสด็จทั้งหลาย ตกค่ำจะพระราชทานเลี้ยงผู้ที่มาช่วยงาน เสวยเสร็จก็ทรงกางแผนที่บนโต๊ะ มีพระราชดำรัสถึงปัญหาที่ทรงพบระหว่างการเสด็จ ฯ ทรงซักถามความคิดเห็น และพระราชทานพระราชดำริถึงวิธีการแก้ปัญหานั้น ๆ อย่างตรงจุดและยั่งยืน
ฉะนั้น พระตำหนักตามภาคต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่เป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถ แต่เป็นสำนักงานที่ใช้ทรงงาน..."
ที่มา : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี หน้า ๑๕๒.
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์เป็นของสำคัญที่พระราชครูพราหมณ์จะถวายแด่พระมหากษัตริย์เพื่อความสมบูรณ์ของพระราชพิธีโดยจะถวายจากลำดับสูงลงต่ำ เริ่มจากพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี และแส้หางจามรี และท้ายสุดจะสอดฉลองพระบาทเชิงงอนถวาย
เครื่องราชกกุธภัณฑ์เก็บรักษาไว้ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง เดิมเจ้าพนักงานที่รักษาเครื่องราชูปโภคได้จัดพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นประจำทุกปี โดยเลือกทำในเดือน ๖ เพราะมีพระราชพิธีน้อยจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า วันพระบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๙๔ พระราชทานชื่อว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่า พระราชกุศลทักษิณานุประทาน และพระราชพิธีฉัตรมงคลสืบมาจนปัจจุบัน
ที่มา : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร, King Prajadhipok Study
พระมหาเศวตฉัตร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตร ๙ ชั้น หุ้มผ้าขาว มีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด มียอดพระมหาเศวตฉัตรนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้หุ้มด้วยผ้าขาว แทนตาด ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นถวายที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรหลังจากทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังก็เชิญไปปักกางไว้เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ จึงไม่ต้องถวายเศวตฉัตรรวมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นอื่น
พระมหาพิชัยมงกุฎ
พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นราชศิราภรณ์สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมแต่งพระมหาพิชัยมงกุฎให้งดงามและทรงคุณค่ายิ่งขึ้น จึงให้ผู้ชำนาญการดูเพชรไปหาซื้อเพชรจากประเทศอินเดียได้เพชรขนาดใหญ่ น้ำดี จากเมืองกัลกัตตา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำมาประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ แล้วพระราชทานนามเพชรนี้ว่าพระมหาวิเชียรมณี พระมหามงกุฎหมายถึงยอดวิมานของพระอินทร์ ผู้เป็นประชาบดีของสวรรค์ชั้นสอง คือ ชั้นดาวดึงส์ พระมหาพิชัยมงกุฎรวมพระจอน สูง ๖๖ เซนติเมตร หนัก ๗.๓ กิโลกรัม ในสมัยโบราณถือว่ามงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่าภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเชิญทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธี และทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่า พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระแสงขรรค์ชัยศรี
เป็นพระแสงราชศัสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เป็นพระแสงราชศัสตราประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาในการปกครองบ้านเมือง พระแสงขรรค์องค์ปัจจุบันมีประวัติว่า ในปี พ.ศ.๒๓๒๗ ชาวประมงพบพระแสงองค์นี้ในทะเลสาบเมืองเสียมราฐ กรมการเมืองเห็นว่าองค์พระแสงขรรค์ยังอยู่ในสภาพดีและงดงาม จึงนำพระแสงไปมอบให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเสียมราฐในขณะนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เห็นว่าเป็นของเก่าฝีมือช่างสมัยนครวัด จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่พระแสงองค์นี้มาถึงพระนคร ได้เกิดฟ้าผ่าในเขตในพระนครถึง ๗ แห่ง มีประตูวิเศษไชยศรีในพระราชฐานชั้นนอก และประตูพิมานไชยศรี ในพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งเป็นทางที่อัญเชิญพระแสงองค์นี้ผ่านไป เพื่อเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ดังนั้น ประตูพระบรมมหาราชวังดังกล่าว จึงมีคำท้ายชื่อว่า "ไชยศรี" ทั้งสองประตูเช่นเดียวกับชื่อพระขรรค์องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองลงยาประดับมณีพระแสงขรรค์ชัยศรีนี้เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว ๖๔.๕ เซนติเมตร ประกอบด้ามแล้วยาว ๘๙.๘ เซนติเมตรหนัก ๑.๓ กิโลกรัม สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ เซนติเมตร หนัก ๑.๙ กิโลกรัม พระแสงราชศัสตราที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีสำคัญหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
ธารพระกร
ธารพระกรของเดิมสร้างในรัชกาลที่ ๑ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ที่สุดสันเป็นซ่อม ลักษณะเหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสกุล เรียกธารพระกรของเดิมนั้นว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า ยอดมีรูปเทวดา จึงเรียกว่า ธารพระกรเทวรูป ที่แท้ลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร แต่ได้ทรงสร้างขึ้นแล้วก็ทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำธารพระกรชัยพฤกษ์กลับมาใช้อีกและยังคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
พัดวาลวีชนีและพระแส้หางจามรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น พัดทำด้วยใบตาลปิดทองทั้งสองด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองคำลงยา่วนพระแส้ขนจามรีทำด้วยขนจามรีซึ่งเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่มีอยู่ในธิเบต พัดวาลวีชนีและพระแส้ขนจามรีเปรียบเสมือนพระเมตตาบารมีปกเกล้า ฯ พสกนิกรได้พระบรมโพธิสมภารให้ร่มเย็น
ฉลองพระบาทเชิงงอน
ฉลองพระบาทมีที่มาจากเกือกแก้ว หมายถึงแผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุ และเป็นที่อาศัยของอาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งแว่นแคว้น ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ทำด้วยทองคำทั้งองค์ น้ำหนัก ๖๕๐ กรัม ลายที่สลักประกอบด้วยลายช่อหางโตแบบดอกเทศ ลงยาสีเขียวแดง โดยดอกลงยาสีเขียว เกสรลงยาสีแดง ส่วนเชิงงอนนั้นทำเป็นตุ่มแบบกระดุมหรือดอกลำดวนมีคาดกลางทำเป็นลายก้านต่อดอกชนิดใบเทศฝังบุษย์น้ำเพชร