ศีลธรรมกับเสียงนกหวีด ของ "ปวีณา หงสกุล"

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2556 นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนถึงกรณีปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี พร้อมตอบคำถามถึงการที่มีผู้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองด้วยการเป่านกหวีดใส่กัน ว่าเป็นความรุนแรงหรือไม่
เธอตอบด้วยเสียงแผ่วและแหบพร่าประจำตัวของเธอว่า ตนคิดว่าตรงนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นความรุนแรง ถือว่าเป็นความรุนแรง เพราะว่าจริงๆ แล้วต้องเป็นมารยาทพอสมควร เพราะว่าการที่จะมาดำเนินการทางการเมืองต่างๆ ก็ตาม ตนคิดว่าทำได้โดยที่เคารพสิทธิซึ่งกันและกันแต่การที่จะมากระทำสิ่งเหล่านี้ตนคิดว่าก็ไม่ควรจะกระทำ แต่ว่าถ้าคนกระทำอยากจะทำ ก็เป็นสิทธิของเขา ก็ต้องปล่อยไป เพราะว่าตนถือว่าพระพุทธเจ้าท่านยังมีมารผจญเลย ต่อให้เราเป็นคนธรรมดา ปุถุชนคนธรรมดาก็ต้องยอมรับตรงนี้
แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ควรจะระลึกถึงและนึกถึงในสิ่งที่ถูกต้อง ความถูกต้องของสังคม ความอยู่กันอย่างสันติสุข อย่างเป็นสุข หรือว่าการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ซึ่งตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยเราจะให้ความเคารพสิทธิอันพึงมีพึงได้ไม่ว่าจะเป็นหญิงชาย ระหว่างสิทธิที่ควรเคารพซึ่งกันและกันเป็นเรื่องที่สำคัญ ตรงนั้นก็คงจะเป็นเรื่องที่ตนเห็นว่าการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี หรือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งหลายจะต้องมี 365 วัน
พ้นไปจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรตำแหน่งนายกฯ หญิง ก็ต้องเป็นของนางปวีณานี่แหละ เพราะพูดจาวกไปวนมา ใช้คำเกิน คำฟุ่มเฟือย ที่ไม่สื่อสาระอะไรเลยพอๆ กัน พูดง่ายๆ ว่า ระดับสติปัญญาใกล้เคียงกัน
เมื่อสติปัญญามีจำกัด การพูดหรือการอธิบายก็มักเป็นไปในทำนอง “หาเรื่องใส่ตัว” ซึ่งเมื่อสำรวจตามโซเชียลมีเดียทั้งหลาย จะพบปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ของนางปวีณามากมายหลายแบบ
1) มีคนย้อนถามว่า ถ้าเป่านกหวีดเป็นความรุนแรง แล้วการเอาเลือดไปเทหน้าบ้าน การเผาห้าง การบุกโรงพยาบาล การขู่ศาล อย่างเช่นที่คนเสื้อแดง นปช. ทำ จะเรียกว่าอะไร นางปวีณาเคยมีความเห็นในเชิงตำหนิการกระทำเหล่านั้นบ้างหรือไม่
2) การเปรียบตัวเองกับพระพุทธเจ้าที่ยังมีมารผจญ ผู้คนรู้สึกว่าปวีณาหาคู่เปรียบเทียบที่สูงส่งเกินไป ไม่คู่ควร และไม่สมควร
3) นางปวีณาเข้าใจพระพุทธประวัติถ่องแท้หรือไม่ ในช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าประสบกับการขัดขวางของพญาวสวัตตีมารนั้น เป็นการขัดขวางการเข้าถึงการ “ตรัสรู้” ของพระองค์ ซึ่งเป็นการขัดขวางการกระทำที่ดี ที่ถูกต้อง และยิ่งใหญ่ แต่การเป่านกหวีดขัดขวางการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้ ประชาชนเขาเป็นฝ่าย “ตื่นรู้” และเป่านกหวีดเพื่อ “ขจัดมาร” ที่รวมหัวกันฉีกกฎเกณฑ์กติกาของบ้านของเมืองทิ้ง ช่วยอาชญากรให้พ้นผิด ช่วยคนโกงให้พ้นผิด ปกปิดการฆ่า การเผา การปล้น การทำลายชีวิตและทรัพย์สินของสุจริตชน ทำลายกระบวนการยุติธรรม ก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายตุลาการ และไม่เป็นไปตามหลักสากลที่เขาไม่นิรโทษกรรมให้คดีคอร์รัปชั่น ฉะนั้น คำให้สัมภาษณ์ของนางปวีณาจึงเป็นสิ่งยืนยันถึงสภาวะ “ศีลธรรมวิบัติ” ในตัวของนางอย่างแจ่มชัด
4) นางปวีณาเป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นชอบ รับรองกฎหมายฉบับนี้ด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ ยิ่งต้องถามถึง “ศีลธรรมดัดจริต” ของนางให้ลึกขึ้นว่า นางปวีณา“ได้หน้า” จากการช่วยเหลือเด็กและสตรีมาตลอดชีวิต แต่กฎหมายที่นางปวีณาสนับสนุนนี้ ทำให้ผู้หญิงที่ชื่อ “นิชา หิรัญบุรณะ ธุวธรรม” ถูกละเมิดสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรม เธอควรได้รับทราบว่า ใครฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และคนฆ่าจะต้องได้รับการพิพากษาและลงโทษ ใช่หรือไม่ แต่นางปวีณาคือผู้หญิงคนหนึ่ง ที่สนับสนุนให้ “ทำลายสิทธิ” ที่นางนิชาพึงได้รับ เฉกเช่นเดียวกับนางพะเยาว์ อัคฮาด และผู้สูญเสียอีกหลายคนควรได้รับ นางปวีณายัง “มีหน้า” อวดอ้างการรักและเคารพในสิทธิที่ผู้อื่นพึงมีพึงได้อยู่อีกหรือ?
5) จำกรณี “หมวยโซ” ได้ไหมครับ คนขับตุ๊กๆ รายหนึ่งต้องติดคุกฟรี โดยมีชื่อ “ปวีณา หงสกุล” เกี่ยวข้องอยู่ในกระบวนการ “ถีบเขาเข้าคุก” อย่างม่เป็นธรรมและไม่รับผิดชอบอยู่ด้วยใช่ไหม ผมจะเท้าความเรื่องนี้ให้คุณทราบอีกหนนะครับ
เหตุการณ์อื้อฉาวครั้งนี้ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2546 โดยนางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ได้พา น.ส.โซ เหลียง อิง ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าวอิสระของฮ่องกง เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ว่าถูกคนขับรถตุ๊กตุ๊ก ชาวไทย 4 คน รุมข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อคืนวันที่ 2 ต่อเนื่องวันที่ 3 มิถุนายน ปีเดียวกัน
น.ส.โซ เหลียง อิง หรือหมวยโซ อ้างว่า ในคืนวันเกิดเหตุได้ว่าจ้างคนขับรถตุ๊กตุ๊ก จากหน้าห้างนารายณ์ภัณฑ์ ใกล้ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ ให้ไปส่งที่โรงแรมอโนมา ย่านสุขุมวิท ระหว่างทางเผลอหลับมารู้สีกตัวอีกทีก็มีชายฉกรรจ์ 3 คนนั่งเบียดอยู่ในรถ ขณะวิ่งผ่านบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จึงขอลงจากรถ แต่ถูกชายที่นั่งอยู่ด้านซ้ายใช้มีดปลายแหลมจี้เอว ขณะที่ชายที่นั่งด้านขวาใช้มีดจี้คอ ก่อนที่ชายอีกคนจะใช้มือทุบที่ต้นคอ
ระหว่างนั้นมี รปภ.ที่ประจำอยู่ในสวนอัมพรเดินผ่านมา แต่คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ได้ส่งเงินให้ไป 500 บาท รปภ.คนดังกล่าวจึงเดินกลับไป ส่วนตัวเธอถูกคนขับรถตุ๊กตุ๊ก และพวกรุมข่มขืนกระทำชำเราต่อ พร้อมกับถูกทำร้ายด้วยการจับหัวโขกกับฟุตบาท
ระหว่างการสอบปากคำหมวยโซให้การวกวนไปมาเหมือนคนสับสนปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ ตำรวจและเจ้าหน้าที่มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ต้องนำหญิงสาวย้อนกลับไปยังโรงแรมอโนมา ก่อนจะตระเวนขับรถตู้พาย้อนลำดับเหตุการณ์ตามสถานที่ต่างๆ ตามที่ได้ให้การไว้ แต่เธอก็ยังยืนยันอยู่เช่นเดิมว่า สถานที่เกิดเหตุคือริมถนนอู่ทองฝั่งตรงข้ามอาคารรัฐสภาอยู่นั่นเอง
แถมยังอ้างด้วยว่านอกจากที่หน้าอาคารรัฐสภาแล้ว เธอยังถูกคนขับรถตุ๊กตุ๊ก และพวกพลัดกันข่มขืน ขณะวิ่งผ่านสถานที่ต่างๆ ไปแทบตลอดทางด้วย อีกทั้งหลังลงมือข่มขืนแล้วคนขับรถตุ๊กตุ๊ก และพรรคพวกได้ชิงเงินสดไป 4,000 บาท และโทรศัพท์มือถืออีกเครื่อง
หมวยโซ ยังอ้างด้วยว่า หลังก่อเหตุคนขับรถตุ๊กตุ๊ก ได้นำเธอไปส่งที่หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ราชดำริ เช่นเดิม หลังจากหลุดรอดมาได้จึงเดินทางไปที่ สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ แต่พนักงานสอบสวนกลับไม่รับแจ้งความ แถมยังไล่ให้เธอกลับที่พักอย่างไม่แยแส
อย่างไรก็ตามหลังการสอบปากคำ น.ส.โซ เหลียง อิง ตำรวจได้เร่งสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแวดล้อม เพราะสงสัยในคำให้การของหญิงสาวชาวฮ่องกงผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเธอให้การวกวนไปมา ปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ จนเกิดข้อพิรุธชวนให้สงสัยหลายอย่าง
ต่อมาชุดสืบสวนกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 1 ภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ธัมรงค์ วงศ์แป้น ผกก.สส.บก.น.1 และ พ.ต.ท.คณิศร์ชัย มหินทรเทพ รอง ผกก.สส.น.1 (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) ได้เดินทางไปที่โรงแรมอโนมาเพื่อสอบปากคำ รปภ.กลับได้ข้อมูลว่าในคืนวันเกิดเหตุเห็นรถตุ๊กตุ๊กเข้ามาส่ง น.ส.โซ เหลียง อิง ที่หน้าโรงแรม โดยที่ตัวหญิงสาวอยู่ในอาการปกติ ไม่เหมือนคนที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ตำรวจยังตรวจสอบวิดีโอวงจรปิดของโรงแรม ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของ รปภ.โรงแรม แต่ถึงแม้จะพบข้อพิรุธหลายอย่าง แต่ด้วยเธอเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ และยังอ้างเป็นผู้สื่อข่าวอิสระด้วย ประกอบกับช่วงนั้นประเทศไทยอยู่ระหว่างการส่งเสริมการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกรงจะกระทบกับภาพลักษณ์ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติกับ น.ส.โซ เหลียง อิง ในฐานะผู้เสียหาย
ต่อมาตำรวจได้ใช้เทคนิคขยายภาพที่ได้จากวิดีโอวงจรปิดของโรงแรมอโนมา ได้เลขทะเบียนของรถตุ๊กตุ๊กคันที่ขับมาส่ง น.ส.โซ เหลียง อิง แต่เลขทะเบียนที่ได้ไม่ชัดจึงเรียกผู้ขับรถตุ๊กตุ๊กทะเบียนใกล้เคียงมาสอบสวน
ปรากฏว่า นายทองใบ อำมะเหียะ หนุ่มร้อยเอ็ดวัย 29 ปี ซึ่งขับรถตุ๊กตุ๊กอยู่ในละแวกศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ถูกตำรวจเชิญตัวมาสอบสวน และยังเปิดโอกาสให้ น.ส.โซ เหลียง อิง ดูตัว ทันทีที่เห็นหน้านายทองใบ น.ส.โซ เหลียง อิง ได้ยืนยันกับตำรวจอย่างเต็มปากเต็มคำว่า คนร้ายที่ลงมือข่มขืนเธอมีนายทองใบรวมอยู่ด้วย
แม้นายทองใบจะปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตัวเอง โดยระบุว่าในวันและเวลาเกิดเหตุ เขาไม่ได้ขับรถไปย่านสุขุมวิท และไม่ได้รับนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่อย่างใด แต่กำลังวิ่งรถอยู่ย่านบางลำพูและสถานีรถไฟบางกอกน้อย อย่างไรก็ตามตำรวจได้ควบคุมตัวนายทองใบไปขังไว้ที่ สน.ดุสิต เพื่อดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตนในลักษณะโทรมหญิงและปล้นทรัพย์
ขณะที่พนักงานสอบสวนส่งตัว น.ส.โซ เหลียง อิง ไปตรวจสอบร่างกายหาร่องรอยการถูกข่มขืน แต่กลับไม่พบร่องรอยการถูกข่มขืนแต่อย่างใด ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานหลายอย่าง โดยหนึ่งในนั้นได้สอบปากคำนายวราวุธนิลทลักษณ์ พนักงานการไฟฟ้าคลองเตย ซึ่งในวันเกิดเหตุได้ร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ ยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์อย่างที่ น.ส.โซ เหลียง อิง กล่าวอ้าง
ต่อมาหลังจากตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานจนมีความชัดเจนเชื่อได้ว่า น.ส.โซ เหลียง อิง กุเรื่องทั้งหมดขึ้น จึงเดินทางไปควบคุมตัว น.ส.โซ เหลียง อิง จากเมืองพัทยามาสอบสวนอีกครั้ง เธอจึงรับสารภาพว่าได้กุเรื่องขึ้นเพราะเมายาเสพติด
ตำรวจแจ้งข้อหา น.ส.โซ เหลียง อิง ฐานแจ้งความเท็จและใส่ร้ายผู้อื่น กระทั่งถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2547 น.ส.โซ เหลียง อิง ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ จึงถูกส่งตัวกลับประเทศเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ปีเดียวกัน
ทันทีที่ถึงฮ่องกงในวันที่ 15 สิงหาคมก็ถูกตำรวจท้องถิ่นจับกุมตัวคาสนามบิน เนื่องจากมีคดีค้างเก่าที่เจ้าตัวได้กระทำผิดไว้ก่อนเดินทางมาประเทศไทยราวหนึ่งสัปดาห์ โดยติดค้างชำระเงินค่าปรับเป็นเงิน 1,700 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 8,720 บาท เป็นโทษปรับคดีทิ้งขยะไม่เป็นที่ทำให้บ้านเมืองสกปรก แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ
พ.ต.อ.คณิศร์ชัย มหินทรเทพ ผกก.สส.น.1 หนึ่งในชุดสืบสวนคลี่คลายคดีหมวยโซ บอกว่า หลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้ น.ส.โซ เหลียง อิง ยอมรับสารภาพว่ากุเรื่องขึ้น คือภาพวิดีโอวงจรปิดที่ได้จากโรงแรมอโนมา
โดยภาพในวิดีโอวงจรปิดบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ในเวลา 01.12 น.วันที่ 3 มิถุนายน 2546 น.ส.โซ เหลียง อิง นั่งรถตุ๊กตุ๊กมาเพียงลำพัง และก้าวลงจากรถจ่ายค่าโดยสารอย่างคนปกติ ไม่ได้มีอาการของผู้ที่เพิ่งผ่านการถูกรุมโทรมมาแต่อย่างใด ทั้งที่หญิงรายนี้ให้การว่าถูกคนขับรถตุ๊กตุ๊กถึง 4 คนรุมข่มขืน
"ตำรวจไม่เชื่อตั้งแต่ที่เขาอ้างว่าถูกตุ๊กตุ๊กข่มขืนบนรถ ขณะขับผ่านสวนสัตว์ดุสิต ผ่านสวนอัมพร แล้วไปจบลงที่หน้ารัฐสภาแล้ว แต่เขาเป็นชาวต่างชาติเราเกรงว่าจะกระทบกับการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องปฏิบัติกับเขาในฐานะผู้เสียหาย สุดท้ายเมื่อได้หลักฐานมาชัดเจน เขาก็ยอมรับสารภาพ" พ.ต.อ.คณิศร์ชัย กล่าว
6) เมื่อความจริงของคดีดังกล่าวปรากฏ นางปวีณาซึ่งได้ประโยชน์ ได้ชื่อเสียงจากการออกโทรทัศน์ หายหัวไปไหน ได้ขอโทษ ได้เยียวยา ผู้ที่ถูกกล่าวหาบ้างหรือไม่
7) นั่นไม่ใช่กรณีเดียว ในการทำงานและได้รับชื่อเสียงอย่างสะเพร่าและละเมิดสิทธิของคนอื่นๆ
คุณปวีณาครับ คุณยังห่างไกลจากพระพุทธเจ้ามาก เฉพาะศีล 5 ข้อ ทำให้ครบก่อนเถอะครับ ขอเน้นหนักเรื่องมุสาฯ กับกาเมฯ เป็นกรณีพิเศษด้วย จะยิ่งดีเลิศ
คุณเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่สนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเสมือนคุณร่วมพายเรือให้โจรระยำลอยนวลจากกฎหมาย ผมจะไม่ตัดสินหรอก แต่ฝากให้คุณคิดเอง ว่าระหว่างคุณกับโจรเห็นแก่ได้ที่จะได้ประโยชน์พวกนั้น ใคร “ระยำ” กว่ากัน!!
เส้นใต้บรรทัด โดย จิตกร บุษบา
http://www.naewna.co.../columnist/9665
Edited by ดอกปีบ, 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 - 13:42.