ความขัดแย้งระหว่างเสียงข้างมากกับศาลรัฐธรรมนูญและมวลชนของกลุ่มการเมืองนั้น ตนอยากชี้แจงว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบที่ออกแบบจากประเทศเยอรมันจากประสบการณ์เจ็บปวดของเผด็จการนาซี จนมีการปฏิรูปประเทศใหม่ในปี 1948 มีการวางรากฐานประเทศใหม่
ด้วยหลักคิดว่า เราไม่อาจปล่อยให้ประเทศถูกกำหนดทิศทางโดยเสียงข้างมากโดยลำพัง นี่คือการสรุปจากความหายนะของประเทศเยอรมันจนต้องปฏิรูปประเทศวางโครงสร้างทางการเมืองใหม่ จึงสร้างกลไกถ่วงดุลเสียงข้างมากในสภาด้วยการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นระบบรัฐสภาตามแบบอังกฤษแต่เป็นระบบที่ผูกพันภายใต้รัฐธรรมนูญ
คือมีศาลรัฐธรรมนูญมาถ่วงดุลว่าอำนาจต้องใช้ภายใต้รัฐธรรมนูญมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดไม่ให้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด พร้อมกับยกตัวอย่างฮิตเลอร์ว่าก้าวขึ้นสู่เผด็จการโดยอาศัยบันไดประชาธิปไตยที่มอบอำนาจให้ จุดอ่อนประชาธิปไตยคือกินตัวเอง เพราะจะขยายอำนาจทำลายการตรวจสอบจนทำลายตัวเองในที่สุด และในขณะนี้ไทยกำลังเดินตามรอยเยอรมันอยู่
คนไทยต้องให้กำลังใจศาลรัฐธรรมนูญในการถ่วงดุลกับฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันใช้อำนาจเพื่อพิทักษ์กติกาประชาธิปไตย พิทักษ์คุ้มครองฝ่ายข้างน้อย และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้อำนาจเกิดดุลยภาพ แต่วันนี้ประเทศไทยกำลังหายนะ ถ้าคนไทยไม่ช่วยกันลุกขึ้นมาถ่วงดุลชาวศาลรัฐธรรมนูญ ถ่วงรั้งไม่ให้ประเทศไปสู่หายนะ จากเสื้อคลุมประชาธิปไตยเนื้อในเผด็จการที่เอาประชาธิปไตยมาสร้างความชอบธรรม
อ้างเป็นตัวแทนประชาชนทั้งที่เนื้อในเน่าเฟะ เหลวแหลกนำชาติไปสู่หายนะ โดยมีการอาศัยงบระมาณแผ่นดินไปยึดกุมฐานเสียงผ่านประชานิยมสร้างความเข้มแข็งให้เผด็จการ เพื่อกลืนกินประเทศอย่างราบคาบโดยอาศัยเงินของประชาชนมาทำลายแผ่นดินของประชาชน แผ่นดินสุวรรณภูมิอาจจะเหลือเพียงชื่อในอนาคตข้างหน้าเพราะถูกกลืนกินไป นี่คือหายนะที่รออยู่ข้างหน้าของประเทศไทย
รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวที่เวทีไทยสปริง ฟอรั่ม ครั้งที่ 1 รับชมคลิปได้ที่http://youtu.be/drbIPIy06oo