King of the Kings
บทความ ดร.วิษณุ เครืองาม
ในฐานะที่ทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาลโดยหน้าที่ต่างๆ กันถึง ๑๕ ปี ผมขอยืนยันว่า พระองค์ทรงมีมาตรฐานเดียวโดยตลอด จะต่างกันก็ที่โอกาส เช่น คณะรัฐมนตรีบางคณะเข้ามาในช่วงที่ทรงพระประชวร บางคณะมีราชการงานเมืองต้องเข้าเฝ้าฯ ขอพระราชทานมหากรุณาบ่อยหรือห่างตามเหตุการณ์
ในการมีพระราชดำริ พระราชดำรัส และการทรงงานใดๆ ไม่มีเลยสักเรื่องที่จะแสดงว่าทรงรับเอาประโยชน์ส่วนพระองค์ แม้พสกนิกรจะเต็มใจถวาย
สมัยจอมพลถนอมเป็นนายกฯ คราวหนึ่งประจวบโอกาสครองราชย์ครบรอบ ๒๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๔) รัฐบาลจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ และถาวรวัตถุใหญ่โต “ที่สุดในประเทศ” ถวาย รับสั่งว่า “สิ้นเปลืองและไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สร้างถนนกันรถติดดีกว่า” นี่คือที่มาของ “ถนนรัชดาภิเษก”
สมัยคุณบรรหารเป็นนายกฯ เคยกราบบังคมทูลว่า จะสร้างทาวเวอร์หรือหอคอยสูงใหญ่ข้างสะพานพระราม ๙ ใช้เป็นหอดูวิว หอโทรคมนาคม และเฉลิมพระเกียรติ รับสั่งว่า “เทคโนโลยีสมัยนี้ไม่ต้องสร้างหอโทรคมนาคม และเปลืองเงินเปล่าๆ”
นายกฯ คนหนึ่งเคยกราบบังคมทูลถามว่า ที่พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ตอนพลบค่ำคนมักมาจุดประทัดแก้บน บางทีก็ยิงปืนสนั่นหวั่นไหว ดังรบกวนมาถึงสวนจิตรฯ หรือไม่ รับสั่งว่า “อยู่ที่หลักการว่าทำอย่างนั้นผิดกฎหมายไหม ถ้าผิดก็ต้องห้าม แต่ถ้าเป็นเสรีภาพก็ต้องปล่อยไป รำคาญหนวกหูก็ต้องทน อย่าใช้มาตรฐานสวนจิตรฯ หรือทำเนียบรัฐบาลมาตัดสิน”
สมัยนายกฯ ทักษิณ เคยกราบบังคมทูลว่า เมื่อประทับรักษาพระองค์ที่วังไกลกังวลอย่างนี้ รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักพระราชวังปรับปรุงวังไกลกังวล ให้สะดวกสบายสมกับที่จะใช้เป็นที่ประทับยาวนาน รวมทั้งจะปรับปรุงโรงพยาบาลหัวหินให้ทันสมัยพร้อมทุกประการ
รับสั่งว่า การปรับปรุงโรงพยาบาลเป็นประโยชน์แก่ทุกคนถ้ามีงบก็ควรทำ แต่การปรับปรุงวังไกลกังวลเป็นเรื่องพระสำราญ “แค่นี้ก็พออยู่พอเพียงแล้ว”
รัฐบาลหลายคณะเคยออกกฎหมายที่มุ่งจะเฉลิมพระเกียรติ เช่น มีคำว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” มีพระราชกระแสให้รัฐบาลนำกลับไปปรับปรุง เพราะ “ไม่อาจทรงสถาปนาพระองค์เองได้” เช่นเดียวกับที่ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติยศทหาร ซึ่งถวายพระยศทางทหารเป็นจอมพล จนร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไปเองในที่สุด
รัชกาลนี้ทรงลงพระปรมาภิไธยตรากฎหมายมาแล้ว ทั้งที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกานับหมื่นฉบับ ทรงวินิจฉัยฎีกานักโทษ ฎีการ้องทุกข์ขอพระราชทานความเป็นธรรมอีกหลายพันราย บางรายขอพระราชทานยืมเงิน บางรายขอความเป็นธรรมเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย
รายหนึ่งพ่อตาย ลูกชายบวชหน้าไฟให้พ่อ อยู่มาก็ไม่ยอมสึก แม่มีลูกชายคนเดียว ทำหนังสือถวายฎีกาว่าเดือดร้อนหนัก ขอพระมหากรุณาให้ลูกสึกมาช่วยเลี้ยงแม่เถิด โปรดให้ตรวจสอบแล้วมีพระราชกระแสว่า แท้จริงแม่ไม่ได้อยากให้ลูกสึก แต่ปัญหาคือแม่ลำบากยากจน จึงโปรดให้กรมประชาสงเคราะห์เข้าไปช่วยดูแล สอนอาชีพให้และหาเครื่องมือทำมาหากินไปให้แม่ ลงท้ายแม่ก็ทำมาหากินได้ ส่วนลูกก็อยู่ไปจนเป็นสมภาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสงเคราะห์ทั้งส่วนรวมและพระองค์เองเพื่อจะได้มีพระอนามัยดี ทรงงานเพื่อส่วนรวมต่อไป จึงทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ทรงเล่นคอมพิวเตอร์ ทรงฉายภาพ ทรงกีฬา ทรงวาดรูป ปั้นรูป ทรงงานไม้งานช่าง จะทรงจับงานด้านใดก็ทรงทำได้ดี
ที่คนไม่ใคร่ทราบคือ ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในเรื่องภาษาไทย การศึกษา ระบบสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข และพุทธศาสนา ส่วนที่ทรงพระปรีชาทางดิน น้ำ ระบบระบายน้ำ และการแก้ปัญหาจราจรนั้น เป็นที่ทราบทั่วไปอยู่แล้ว
พระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ทั่วโลก เนื่องในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙
นับได้ว่าในหลวงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระชนมชีพอยู่ ผู้ครองราชยสมบัติยาวนานที่สุดในโลก
พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์แห่งภูฏาน
และสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระบรมราชชนก
เมื่อครั้งยังเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผมเคยได้รับพระมหากรุณาพระราชทานคำแนะนำเรื่องการใช้ถ้อยคำภาษาไทยหลายหน ครั้งหนึ่งได้ถวาย “รายชื่อ” บุคคลให้ทรงแต่งตั้ง รับสั่งถามว่า ตั้งกี่คน ผมกราบบังคมทูลว่าคนเดียว ตรัสว่า คนเดียวเรียกว่า “ชื่อ” ถ้า “รายชื่อ” ต้องหลายคน
อีกคราวหนึ่ง มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมมาเพื่อทรงพิจารณา” ทรงพระสรวล ตรัสว่า “ถ้าทูลเกล้าทูลกระหม่อมก็อยู่บนกระหม่อม ยังไม่ถึงฉัน ถ้าจะให้ถึงฉัน ต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายมาเพื่อทรงพิจารณา”
ในทางพระพุทธศาสนาก็ปรากฎว่าทรงรอบรู้ทั้งในทางปฏิบัติและปริยัติ ทรงรู้จักพระเป็นอันมาก เมื่อตรัสถึงเหตุการณ์ครั้งใดจะทรงย้อนไปถึงเรื่องราวครั้งเก่าก่อน เช่น “ครั้งสมเด็จพระสังฆราชยังเป็นพระญาณวราภรณ์” “ครั้งเจ้าคุณประยุทธ์ยังเป็นพระราชวรมุนี”
และเคยตรัสเล่าเรื่องราวความเป็นอัครศาสนูปถัมภก ว่าต้องทรงอุปถัมภ์ และคุ้มครองทุกศาสนาโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทรงเล่าพระราชทานว่า ครั้งหนึ่งควีนจากประเทศหนึ่งทูลถามว่า พุทธศาสนาไม่มีพระเจ้าแล้วชาวพุทธนับถืออะไรกัน เหตุใดไม่ยกพระพุทธเจ้าเป็น god เสียเลย
ได้ทรงตอบว่า พุทธศาสนานับถือ “ธรรม” เรานับถือธรรมยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก เพราะธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก และได้ตรัสเล่าต่อไปว่า แม้ศาสนาอื่นก็ยังต้องทรงอุปถัมภ์ ฉะนั้น ในฝ่ายพุทธศาสนาขอให้ทุกคนวางใจเถิดว่า จะเป็นเถรวาท มหายาน รามัญนิกาย มหานิกาย ธรรมยุต ก็ต้องทรงคุ้มครองและพระราชทานความเป็นธรรมเสมอกัน
รัชกาลที่ ๕ นั้น อะไรที่ไม่เคยมีและไม่มีคนไทยคนใดนึกว่าชีวิตนี้จะมี แต่ก็ทรงบันดาลหรือวางรากฐานให้มีขึ้นเป็นขึ้นทั่วถ้วน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล รถไฟ ไปรษณีย์ เลิกทาส จนคนรุ่นก่อนหน้านั้นต้องคิดว่าเหลือเชื่อ
แต่รัชกาลที่ ๙ นั้น อะไรที่ควรจะมี ควรจะคิดออก ควรจะทำเป็นนานแล้ว แต่ผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่ใคร่คิดไม่ใคร่ทำ ก็ทรงบันดาลหรือวางรากฐานให้มีให้เป็นขึ้น เช่น เขื่อน ฝาย ประตูระบายน้ำ ถนน สะพาน การสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน คนประสบภัยธรรมชาติ การแก้ปัญหาจราจร การเพิ่มผลผลิตการเกษตร การแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาพลังงาน
สมัยผมเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารใส่ซองขนาดใหญ่สีขาว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย รับสั่งต่อไป หน้าซองไม่ต้องเขียนเลขที่หนังสือ จะได้หมุนเวียนกลับลงมาใช้หลายหน ไม่ต้องทิ้ง แม้แต่เรื่องเล็กๆ ก็ควรประหยัด เวลาร่างกฎหมายโปรดให้ถวายปะหน้า ๒ แผ่น เผื่อว่าทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหมึกซึมเลอะ จะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องรอถวายใหม่ เวลาตั้งรัฐมนตรีใหม่จะต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฎิญาณ จะตรัสว่าให้รีบมา จะได้รีบไปทำงาน ไม่ต้องห่วงว่าติดเสาร์อาทิตย์ ประเทศไทยพระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ
พระมหากรุณาธิคุณปานนี้จะหาได้จากที่ไหนอีก เจ้าประคุณเอ๋ย !
ปี ๒๕๓๘ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต ลองคิดดูว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงวิปโยคขนาดไหน เสด็จไปทรงสดับพระพิธีธรรมที่พระที่นั่งดุสิตฯ ทุกราตรี แต่ทราบกันบ้างหรือไม่ว่าพอพระสวดจบ เสด็จลงมาประทับที่พระที่นั่งราชกรัณยสภาใกล้ๆ กัน พระราชทานคำแนะนำการแก้ปัญหาจราจรแทบทุกคืน
ปี ๒๕๕๓ อยู่ระหว่างประชวรประทับในโรงพยาบาล พระราชกรณียกิจอื่นภายนอกโรงพยาบาลทรงงดเสียเกือบสิ้น แต่การเสด็จไปเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ทอดพระเนตรโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมและเปิดสะพานระบายการจราจรเพื่อพสกนิกรของพระองค์ เป็นเรื่องที่ทรงถือเป็นกิจสำคัญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นยอดแห่งผู้อดทน อดกลั้น ในการประกอบพระราชกรณียกิจนั้นย่อมมีทั้งร้อนทั้งหนาวยาวนานและน่าเหนื่อยหนัก ดูเอาจากการพระราชทานปริญญาบัตรเถิด แม้แต่ที่ต้องทรงอดกลั้นด้วยขันติบารมีในคำจ้วงจาบหรือระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทอีกไม่รู้เท่าไร อย่าลืมว่า พระชนมพรรษา ๘๓ แล้ว ทรงงานมา ๖๔ ปีแล้ว
ดะไลลามะเคยพูดว่า “ใครอย่ามาชมตัวท่านเลยว่าเป็นยอดคน ไปดูที่พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยเถิด”
ผมเคยไปเฝ้าฯ เจ้าชายจิกมี กษัตริย์หนุ่มแห่งภูฏาน ตรัสว่า “กษัตริย์ของท่านเป็นแบบอย่างของข้าพเจ้าในการจะครองราชย์ให้คนรัก”
สุลต่านบรูไนที่เป็นผู้แทนกษัตริย์ ๒๕ ประเทศ ถวายพระพรในคราวฉลองการครองราชย์สมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ เคยทูลว่า การครองราชย์นานถึง ๖๐ ปีเป็นเพียงตัวเลข สำคัญอยู่ที่ว่า ๖๐ ปีนั้นได้ทำอะไร
“เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ฝ่าพระบาททรงทำทุกอย่างตลอด ๖๐ ปี
ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวไทย ชาวเอเซีย และชาวโลก
วาระนี้จึงทรงเป็นความภาคภูมิใจ
ของบรรดาพระราชามหากษัตริย์ทั้งปวงโดยทั่วกัน”
เมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาปี ๒๕๕๒ มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“ความสุขความสวัสดีของพระองค์ จะมีได้ก็ด้วยการที่บ้านเมืองมีความเรียบร้อย”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์นี้มีแต่ทรงให้พวกเรามาตลอด
แต่พระราชดำรัสนี้มีนัยเป็นทั้งสิ่งที่ “ทรงหวัง” “ทรงบอกให้รู้” และ “ทรงขอ”
ซึ่งน่าจะทรงประสงค์ยิ่งกว่าคำถวายพระพร “ทรงพระเจริญ”
ไหนว่า ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดังหวังวรหฤทัย
แล้วเรื่องอย่างนี้เราคนไทยจะพร้อมใจกันจัดถวายได้ไหมครับ
ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ที่มา http://www.dhammajak...hp?f=25&t=39621