คลังหารือกกต.ยันเดินหน้าจำนำข้าวนาปี2556/57 ได้ แม้ยุบสภา นักวิชาการชี้โครงการเริ่มส่อวิกฤติ หลังชะลอจ่ายเงิน เชื่อรัฐไม่มีเงินดำเนินการต่อ
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (10 ธ.ค.) ว่า ได้มีการหารือกับคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปี 2556/57 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดย กกต. ยืนยันว่าโครงการยังสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้
ขณะนี้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เข้าโครงการวันละหลายพันล้านบาท ขณะนี้จ่ายเงินให้เกษตรกรรวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่ยังมีปัญหาการรับเงินจากโครงการล่าช้าตั้งแต่เดือนต.ค. นั้น คาดว่าจะจ่ายเงินให้เกษตรกรที่นำใบประทวนมาขึ้นเงินได้ครบภายในกลางเดือนม.ค. 2557
กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มรับจำนำวันที่ 1 ต.ค. ถึงวันที่ 4 ธ.ค. 2556 มีข้าวเข้าโครงการแล้ว 5.91 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3 ล้านตัน
นายทนุศักดิ์ กล่าวว่าในส่วนของโครงการจำนำข้าวฤดูกาลผลิตข้าวนาปรังปี 2557 รัฐบาลจะต้องรอสอบถามจาก กกต. ว่าจะยังสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะดำเนินการได้ทัน เพราะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 โดยจะเปิดให้เกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการภายในวันที่ 28 ก.พ. 2557 และนำใบประทวนมาขึ้นเงินไม่เกินวันที่ 31 มี.ค. 2557
นายอำพน กิตติอำพน รักษาการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวยังดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ได้เป็นการอนุมัติงบประมาณที่ผูกพันกับงบประมาณของรัฐบาลต่อไป และไม่ต้องขออนุญาตกับกกต.ก่อน เพราะงบประมาณที่ต้องขออนุญาตจาก กกต.อย่างชัดเจน คือ งบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น
นายอำพน กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่สามารถออกได้เพราะอาจจะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป ยกเว้นกรณีตอนนี้ที่เศรษฐกิจ และการส่งออกไม่สามารถเติบโตได้เลย ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่จะสามารถออกมาตรการได้เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระบุไว้ชัด คือเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
นักวิชาการชี้ปีที่3เข้าขั้นวิกฤติ
นายสมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่าโครงการรับจำนำข้าวในปีที่ 3 จะสร้างวิกฤติจากงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการ แต่หากรัฐบาลมีการระบายข้าวเร็วก็จะต่ออายุโครงการได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งการออกพันธบัตรเพื่อมาใช้ในโครงการ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชะลอจ่ายเงิน และกระทรวงการคลังไม่สามารถหาช่องอื่นได้ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไม่มีประสิทธิภาพในการระบายข้าว
นายสมพร กล่าวว่า ปัญหาการจ่ายเงินให้กับชาวนาในฤดูกาลผลิตใหม่ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวได้ หรือแม้จะขายข้าวได้ แต่ได้ในราคาต่ำ โดยเฉพาะการขายข้าวระดับรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ก็ไม่คิดว่าจะได้ราคาสูง
"ในที่สุดหนี้จะกลับมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งเป็นภาษีที่จ่าย ในที่สุดก็จะไปกระทบด้านอื่น จะถูกดึงมาเรื่องข้าว ตอนนี้ทรัพยากรของกระทรวงอื่นที่เกี่ยวกับจำนำข้าวมันวิ่งมาอยู่ที่จำนำข้าวหมดแล้ว ไม่มีทำอย่างอื่น"
นายสมพร กล่าวว่า ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าความไม่มีประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องระบายข้าวออก เพราะฉะนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้น มันจะลามไปเศรษฐกิจมหภาค
"ผลกระทบวันนี้ก็คือ มันจะถูกตีขนาบมาจากภายนอก ภายนอกจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้โครงการเหล่านี้ เครดิตของประเทศจะลดลง คนไทยตระหนักว่าโครงการนี้ไม่มีประโยชน์ ถึงตอนนั้นโครงการนี้จะอยู่ไม่ได้ ผมยังเชียร์ให้เขาระบายออก แต่ต้องยอมรับว่าขาดทุนเยอะขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเน่าเหมือนลำไย ก็จะขาดทุนหนักอีก"
คาดขาดทุนตันละหมื่นบาท
นายสมพร กล่าวว่า ผลขาดทุนจากโครงการนี้คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนตันละ 1 หมื่นบาท รวมทั้งหมดของโครงการทั้งหมดในเวลานี้ รัฐบาลจะขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท
"ตอนนี้ถึงจุดเริ่มเสื่อมแล้ว สู่ภาวะคุณภาพเริ่มเสื่อมเร็วกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนเก็บได้ 1-2 ปี ผมคิดว่าแม้รัฐบอกว่าระบายข้าวได้ส่วนหนึ่ง ผมคิดว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา การระบายสู่ตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เป็นตัวกดดันให้ราคาข้าวสารในประเทศไม่ได้สูงขึ้น ในแง่ของเอาใจผู้บริโภค ใช่ แต่ดูราคาข้าวสารกับราคาข้าวเปลือก จะเห็นว่าราคาข้าวสารต่ำกว่า ราคาข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาท ตอนนี้ราคาข้าวสารที่โรงสีขายอยู่ที่ 1.3 หมื่นบาท ข้าวเปลือก 1 ตันสีเป็นข้าวสารได้ 650 กิโลกรัม ดังนั้น ข้าวเปลือก 1 ตันที่รัฐบาลซื้อมานั้น ขาดทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท จากราคาตลาดตอนนี้"
นายสมพร ย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ขาดทุนอยู่แล้วจากโครงการนี้ หากใช้ข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พูดถึง ต้องยอมขาดทุน 300-360 ดอลลาร์ต่อตัน นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเกิดขึ้น แล้วเราเอา 300-360 คูณด้วย 31 บาท ก็อยู่ที่หมื่นบาทขึ้นไปต่อตัน
เชื่อรับจำนำข้าวไปไม่รอด
นายสมพร กล่าวว่า หากรัฐบาลดำเนินนโยบายต่อไป จะเกิดผลเสียที่สังคมเห็นชัดเจนมากขึ้น ตอนนี้สังคมเริ่มเห็นชัดเจนกว่าเมื่อปีแรกๆ
"ต่อไปผมคิดว่าเน่าเฟะ ไม่สามารถเอาใบบัวไปปิดช้างตายได้แล้ว ผลที่สุดก็ต้องเลิก ประเทศอื่นก็เลิก เมื่อคุณอุดหนุนมาก ในที่สุดก็จะสะท้อนกลับมาที่ตัวเอง การศึกษาเราก็จะตกต่ำ สาธารณสุขก็แย่ ตัวนี้เป็นเคพีไออย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศที่จะก้าวไป เครดิตของประเทศก็จะกระทบ ในที่สุดก็กระทบลงทุน ถึงวันนี้ รัฐบาลก็ควรตระหนักข้อเท็จจริงว่าฝืนกลไกตลาดไม่ได้"
นายสมพร กล่าวว่า อียูเคยทำก็เคยอุดหนุนสูง แต่ในที่สุดหลังจากทำไปได้ 8-9 ปี ก็ต้องเลิก สินค้าแข่งขันไม่ได้ ก็ถอนตัวออก ออสเตรเลียก็ถอนตัวออกในเรื่องอ้อย ปรับไปใช้กลไกตลาด เกษตรกรก็ต้องปรับตัวเองให้แข่งขันได้
ชี้ปีหน้าราคาข้าวช่วงขาลง
นายสมพร กล่าวว่า ในปีนี้ ข้าวอยู่ในช่วงขาลง แม้ฟิลิปปินส์จะมีปัญหาเรื่องอุทกภัย อินโดฯ จะนำข้าวเพิ่มขึ้น แต่ว่าพม่าจะเป็นตัวแปร และละตินอเมริกาคนจะหันมาปลูกข้าวมากขึ้น เมื่อข้าวมีราคาแพง ข้าวจากละตินอเมริกาก็จะเข้ามาในตลาดมากขึ้น ในขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ผู้นำเข้าฟิลิปปินส์และอินโดฯ ก็พยายามพึ่งตัวเอง แม้แต่จีน 140 ล้านตันข้าวสาร ปีที่แล้ว 2 ล้านตัน ปีนี้อาจนำเข้ามากขึ้น ในที่สุดก็พึ่งพาตนเอง แม้แต่เกาหลี ญี่ปุ่น ก็พยายามพึ่งพาตนเอง
"โอกาสสำหรับตลาดข้าวไม่มี เพราะทุกคนพยายามพึ่งตนเอง อีกทั้งเทคโนโลยีไปเร็วมาก ประเทศกัมพูชาและพม่าก็พยายามเข้ามาในตลาด"
นายสมพร กล่าวว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า ราคาข้าวโลกยังอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งหากไม่มีภัยพิบัติขนาดใหญ่จริงๆ เนื่องจากมีผู้ส่งอีกรายใหม่เข้ามา เช่น พม่า หากส่งออกเพิ่มอีก 2-3 ล้านตัน ก็ทำให้ตลาดแย่ลงอีก ซึ่งพม่าสามารถทำได้แน่นอน ขณะเดียวกันอินเดียมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจะเป็นตัวกดราคาในตลาดโลก
"ราคาข้าวจะลงมาระดับ 380-390 ความแปรปรวน จะอยู่ 390-440 แต่ไม่ขึ้นไปถึง 500 หรือ 600 รัฐบาลหวังว่าราคาข้าวจะอยู่ 500 ปลายๆ เราซื้อมา 800 ขาดทุนตันละ 3000 บาทเราก็อยู่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ตันละ 3 พันบาท แต่ตันละหมื่นบาท คงยากลำบากที่จะเอาเงินไปอุดหนุน"
อย่างไรก็ตาม หากรัฐยอมลดราคารับจำนำจาก 1.5 หมื่นบาท มาเป็น 1.2 หมื่นบาทต่อตัน ตลาดเอกชนก็จะทำงานได้ เอกชนก็สามารถซื้อแข่งได้ การทำข้าวนึ่ง เนื่องจากข้าวไทยเป็นข้าวเปลือก เราพัฒนาพันธุ์มาดี ข้าวนึ่งมีคุณภาพมากกว่าเวียดนาม ต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะตามทัน การส่งออกของเอกชน ส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นข้าวนึ่ง
ที่มา :: http://money.th.msn....entid=254661662