http://www.thaipost....ws/131213/83328
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกังวลหนี้ครัวเรือนปี 2557 เหตุสัดส่วนจะเกิน 80% ของจีดีพี หวั่นฉุดการบริโภค ซ้ำเติมเศรษฐกิจทรุด มองกรณีการเมืองเลวร้ายสุด ขัดแย้งรุนแรง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ทุบส่งออกโตไม่ถึง 3% กดจีดีพีเหลือแค่ 0.5% เท่านั้น
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนในปี 2557 เนื่องจากในสิ้นปีนี้ คาดว่าอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศเกิดการชะลอตัวลง ยิ่งหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จะทำให้การบริโภคในประเทศไม่เติบโตขึ้น ที่คาดว่าจะเติบโต 0% โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานที่มีรายได้น้อย ซึ่งแรงงานในภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงภาคธุรกิจที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2557 บริษัทมองว่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองเป็นหลัก โดยบริษัทได้ประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองออกมาใน 4 ลักษณะ ประกอบไปด้วย 1.หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2557 และรัฐบาลสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที การส่งออกของไทยขยายตัวได้ในระดับ 7% จะส่งผลให้จีดีพีขยายตัวที่ 4.5%
กรณีที่ 2 หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในครึ่งปีแรกปี 2557 แต่รัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และภาคการส่งออกเติบโตในระดับ 5% จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ 3%
กรณีที่ 3 หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้าออกไปเกินกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 ซึ่งจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2557 ของภาครัฐล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2558 หากภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ถึง 7% โดยที่เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐไม่ขยายตัว อัตราการขยายตัวของจีดีพีจะอยู่ที่ 2.5%
กรณีสุดท้ายเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด หากการเมืองยังมีความขัดแย้งรุนแรงและไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ รวมถึงภาคการส่งออกขยายตัวไม่ถึง 3% จะส่งผลให้จีดีพีลดเหลือเพียง 0.5% เท่านั้น จากที่ปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7%
อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ 2 ล้านล้านบาท ที่มีแนวโน้มว่าจะมีความล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบโดยตรงในระยะแรก แต่จะไม่รุนแรงมากนักต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากในระยะแรกของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลงทุนเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่การลงทุนขนาดใหญ่และใช้เม็ดเงินไม่สูงมากนัก
นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การส่งออกปีหน้าคาดว่าจะโตอยู่ในระดับ 5-9% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 7% โดยมีปัจจัย 4 ด้านที่สำคัญ คือ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน และอาเซียน 2.อุตสาหกรรมบางกลุ่มมีแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น อย่างเช่น การส่งออกรถยนต์ 3.สินค้าเกษตรแปรรูปจะทยอยคลี่คลายปัญหาได้ในปีหน้า อย่างเช่น สินค้าจำพวกสัตว์น้ำแปรรูป โดยเฉพาะกุ้งแช่แข็ง ที่ในปีนี้ประสบกับปัญหาโรคกุ้ง EMS สุดท้ายทิศทางราคาของสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตรจะปรับตัวดีขึ้น และขยายการส่งออกได้มากขึ้น เช่น ยางพาราและน้ำตาล.