ภายหลังจากที่มุสโสลินีขึ้นสู่อำนาจโดยกษัตริย์วิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ ๓ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็เริ่มผลักดันให้มีกฎหมายที่มอบอำนาจเต็มให้แก่นายกรัฐมนตรีมากขึ้น ตั้งแต่ปี ๑๙๒๕ จนถึง ๑๙๒๙ เป็นช่วงที่อิตาลีผลิตกฎหมายที่เรียกว่า "กลุ่มกฎหมายฟาสซิสม์นิยม" เพื่อให้รัฐอิตาลีกลายเป็นรัฐฟาสซิสต์โดยสมบูรณ์
กฎหมายลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๑๙๒๘ เป็นกฎหมายที่กำหนดการได้มาซึ่งสมาชิกสภาในรูปแบบใหม่
สหภาพวิชาชีพเสนอชื่อ ๘๐๐ คน
องค์กรอื่นของรัฐเสนอชื่อ ๒๐๐ คน
รวมเป็น ๑๐๐๐ คนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกลางฟาสซิสม์(Gran consiglio del fascismo, Grand Council of Fascism) ซึ่งจะเลือกจาก ๑๐๐๐ คนให้เหลือ ๔๐๐ คน หรือเลือกรายชื่ออื่นที่ไม่อยู่ใน ๑๐๐๐ คน เข้าไปใน ๔๐๐ คนก็ได้
จากนั้นนำ ๔๐๐ รายชื่อ ไปให้ประชาชนให้ความเห็นชอบ ประชาชนไม่มีสิทธิเลือก ทำได้เพียงรับหรือไม่รับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกฎหมายนี้อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติ วุฒิสภาได้ท้วงติงว่า ไม่ควรให้คณะกรรมการกลางฟาสซิสม์ ซึ่งไม่ใช่องค์กรของรัฐ เข้ามามีส่วนเลือก
มุสโสลินีจึงผลักดันให้ตรากฎหมายอีกฉบับเพื่อแปลงสภาพให้คณะกรรมการกลางฟาสซิสม์กลายเป็นองค์กรของรัฐ มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ นั่นคือ กฎหมายพื้นฐานของรัฐฟาสซิสต์ว่าด้วยองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางฟาสซิสม์ ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๑๙๒๘
คณะกรรมการกลางฟาสซิสม์ ประกอบไปด้วย
นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
เลขาธิการพรรคฟาสซิสต์ เป็นเลขาธิการ
สี่ผู้ยิ่งใหญ่แห่งการเดินทัพของกองกำลังชุดดำสู่กรุงโรม เป็นกรรมการถาวร
นอกจากนั้นก็ประกอบไปด้วยกรรมการชั่วคราว ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ กรรมการบริหารพรรคฟาสซิสม์ ปลัดกระทรวงความปลอดภัย อธิบดีกรมรถไฟ เลขาธิการสหพันธ์อาชีพ ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจอาสา
คณะกรรมการกลางฟาสซิสม์มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ
เสนอรายชื่อสมาชิกสภา
แต่งตั้งเลขาธิการและกรรมการบริหารพรรคฟาสซิสม์
กำหนดแนวนโยบายทางการเมืองของพรรค
ให้ความเห็นชอบกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวกับสถาบันการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจและการสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์
เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
กลไกสำคัญของระบอบฟาสซิสต์ของอิตาลี คือ คณะกรรมการกลางฟาสซิสม์ ที่นำโดยมุสโสลินี และสหาย มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมาย ตั้งนายกรัฐมนตรี เสนอชื่อสมาชิกสภา และพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ปิยบุตร แสงกนกกุล
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย