- ตำรวจ -
ตำรวจ เป็นหน่วยงานแรกของกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดต้องรีบไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ณ สถานีตำรวจท้องที่ ที่การกระทำผิดนั้นเกิดขึ้น เช่น เหตุเกิดที่ อ.เวียงแก่น ต้องไปแจ้งที่ สภ.อ.เวียงแก่น ในการแจ้งความนี้ ผู้เสียหายต้องเล่ารายละเอียดของการกระทำผิดให้พนักงานสอบสวนฟังโดยกล่าวหา ว่า เมื่อวัน เดือน ปี เวลาใด มีการกระทำผิดอะไรเกิดขึ้น เหตุเกิดที่ไหน และต้องการจะให้ผู้กระทำผิดนั้นได้รับโทษ พนักงานสอบสวนก็จะบันทึกหลักฐานการแจ้งความ รับคำร้องทุกข์ ไว้ในสมุดประจำวันเกี่ยวกับคดี และดำเนินการสอบสวนติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป หากมีพยานบุคคลคนรู้เห็นเหตุการณ์ ให้นำพยาน ไปด้วย
เมื่อ ตำรวจสืบสวนจันกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องหาได้แล้ว ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ที่ไว้วางใจทราบว่าตนถูกจับและถูก ควบคุมตัวอยู่ ณ ที่ใด , สิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความสองต่อสอง , สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร, สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลทันทีเมื่อเจ็บป่วย ในระหว่างสอบสวนผู้ต้องหาจะถูกควบคุมที่โรงพัก ๔๘ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน ถ้าไม่ขอประกันตัว พนักงานสอบสวนก็จะส่งผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาล ญาติของผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถติดต่อขอประกันตัวผู้ต้องหาได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ของศาล
เมื่อ พนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทำความเห็น ควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ กรณีผู้ต้องหาประกันตัวในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนจะนำตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนฯส่งพนักงานอัยการ ผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถขอประกันตัวต่อได้ที่สำนักงานอัยการ คล้ายกับการประกันตัวที่ตำรวจ ( ผู้ต้องหา คือ บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล จำเลย คือ ผู้ต้องหา ที่ถูกฟ้องต่อศาลแล้ว )
- อัยการ -
อัยการ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๘ ให้อำนาจ พนักงานอัยการ และ ผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยถือหลักของประเทศอังกฤษว่า .. ใครก็เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาได้ .. ( Anyone may prosecute )
กรณี ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล ( ผู้เสียหายฟ้องศาลเอง ไม่แจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ) ศาลจะไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่าเรื่องที่ฟ้องนั้นมีมูลความจริงหรือไม่ เมื่อไต่สวนแล้วศาลเห็นว่า น่าจะมีความผิดเกิดขึ้นจริง และ จำเลยเป็นผู้กระทำผิด ศาลก็จะประทับฟ้องไว้พิจารณา หากศาลเห็นว่าไม่มีมูลความผิด หรือมีมูลความผิด แต่จำเลยไม่ใช่ผู้กระทำผิด หรือเป็นการกลั่นแกล้งฟ้องกันเอง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้อง
กรณี พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล ( ผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ) เมื่อพนักงานสอบสวนรับแจ้งความและทำสำนวนการสอบสวนเสร็จแล้ว ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ พนักงานอัยการก็จะพิจารณากลั่นกรองคดีจากสำนวนการสอบสวน แล้วจะมีคำสั่งในคดี ฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหา เมื่อพนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ศาลจะประทับฟ้องโดยจะไต่สวนมูลฟ้องหรือไม่ก็ได้ ( ในทางปฏิบัติศาลมักจะไม่ไต่สวน เพราะถือว่ามีการสอบสวนกลั่นกรอง ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นอัยการ กันมาก่อนแล้ว ) เมื่อพนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว ฐานะของผู้ต้องหาจะเปลี่ยนไปเป็น จำเลย
- ศาล -
ศาลยุติธรรม การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของศาลไทย ใช้ระบบกล่าวหา ( Accusatorial System ) ซึ่งมีลักษณะเป็นการต่อสู้คดีกันระหว่าง โจทก์ กับ จำเลย โดยโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ส่วนจำเลยก็มีสิทธิต่อสู้คดีว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และมีสิทธินำสืบพยานหลักฐาน เพื่อหักล้างข้อกล่าวหานั้นได้
การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของศาล เริ่มตั้งแต่ โจทก์ไปยื่นฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งอาจจะเป็นอัยการหรือผู้เสียหายฟ้องเอง เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ศาลจะนัดจำเลยมาสอบคำให้การ เรียกว่า วันนัดชี้ เมื่อถึงวันนัดชี้ คู่ความจะต้องมาศาล ถ้าเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง ต้องนำผู้ต้องหามาด้วยในตอนฟ้อง ( ถือว่าวันที่พนักงานอัยการฟ้อง เป็นวันชี้สองสถานด้วย ) ในวันนัดชี้ดังกล่าว ศาลท่านจะอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง แล้วจะถามจำเลยว่า รับสารภาพ หรือ ปฏิเสธ
กรณี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะตัดสินในวันนั้นและจะปราณีลดโทษให้จำเลยไม่เกินครึ่งหนึ่ง และศาลจะสั่งงดสืบพยาน เว้นแต่คดีที่มีโทษจำคุกอย่างต่ำ ตั้งแต่ ๕ ปีขึ้นไป แม้จำเลยจะรับสารภาพศาลก็ยังต้องสืบพยานประกอบ เพื่อฟังให้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำผิดจริง
กรณี จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจะนัดสืบพยานโจทก์ และจำเลยต่อไป โดยจะสืบพยานโจทก์ก่อน โดยทั่วไปแล้วผู้เสียหายจะเป็นพยานโจทก์ปากแรก เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วจึงจะสืบพยานจำเลย และเมื่อศาลได้สืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยเสร็จแล้ว ศาลก็จะพิจารณาพิพากษาตัดสินไปตามรูปคดี ตามความหนักเบาแห่งการกระทำผิด และอ่านคำพิพากษาให้ทั้ง โจทก์ - จำเลย ฟังในศาล
- ราชทัณฑ์ -
ราชทัณฑ์ ( เรือนจำ ) เมื่อคดีถึงที่สุด ( ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วคู่ความไม่ อุทธรณ์ - ฎีกา ) ก็ต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้น เช่นพิพากษาให้ยกฟ้อง ถ้าจำเลยถูกขังอยู่ที่เรือนจำ ศาลก็จะออกหมายปล่อยจำเลยให้พ้นข้อหาได้รับอิสรภาพไป ถ้าพิพากษาลงโทษจำคุกก็จะจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาของศาล ( ฐานะของจำเลยจะเปลี่ยนเป็น ผู้ต้องขัง ) ระหว่างที่ถูกจำคุก ผู้ต้องขังจะได้รับการแก้ไขปรับปรุงความประพฤติ เพื่อให้สามารถกลับสู่สังคมได้ตามปกติหลังจากพ้นโทษแล้ว และไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
- คุมประพฤติ -
การคุมประพฤติ เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ ใช้แทน การลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำผิด เพื่อให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้เช่นเดิม ภายใต้การสอดส่องดูแลของเจ้าพนักงาน ที่เรียกว่า พนักงานคุมประพฤติ การคุมประพฤติมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ปรับปรุงแก้ไขผู้กระทำผิดในคดีเล็กๆน้อยๆ ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี โดยให้ผู้กระทำผิดซึ่งเรียกว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติ นั้น ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่ปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นพลเมืองดี ศาลอาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นลงโทษในสถานหนักต่อไปได้
ลักษณะงานและบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคุมประพฤติ โดยสรุป ดังนี้.-
- การสืบเสาะและพินิจ... เป็นขั้นตอนก่อนศาลพิพากษา โดยศาลจะมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการรวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับจำเลย ตลอดจนสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี นำมาประมวลแล้วรายงานต่อศาล เพื่อศาลจะได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาว่า จะลงโทษจำเลยในสถานใด หรือสมควรให้ใช้วิธีการคุมประพฤติหรือไม่ อย่างไร
- การควบคุมและสอดส่อง... เป็นขั้นตอนภายหลังศาลพิพากษาให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้คอยช่วยเหลือ แนะนำ ตักเตือนในเรื่องนิสัยและความประพฤติ การประกอบอาชีพและอื่นๆ เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติมีโอกาสได้แก้ไขปรับปรุงตนเองให้เป็นพลเมืองดี ต่อไป
( โทษทางอาญา คือ ประหารชีวิต - จำคุก - กักขัง - ปรับ - และริบทรัพย์สิน )
- ทนายความ -
ทนายความ กับ ผู้ต้องหา , จำเลย
ในระบบกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งเป็นการต่อสู้คดีกันระหว่าง โจทก์ กับ จำเลย นั้น ทนายความได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้ ผู้ต้องหา และจำเลย ได้ใช้สิทธิต่อสู้คดีอย่างถูกต้องและเป็นธรรมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจจะว่าจ้างทนายความโดยจ่ายค่าตอบแทนให้ตามแต่จะตกลงกัน เอง หากจำเลยไม่มีทนายความ ศาลจะจัดหาให้ ( รัฐจัดหาทนายความให้โดยรัฐเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทนตามที่กฎหมายกำหนด )
ทนายความ กับ ผู้เสียหาย
- ในชั้นสอบสวนของตำรวจ ผู้เสียหาย สามารถปรึกษาทนายความ เพื่อแนะนำการให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวน หรือ อ้างพยานหลักฐานต่างๆให้รัดกุมมากขึ้น
- ในชั้นอัยการและศาล ผู้เสียหาย สามารถแต่งตั้งทนายความ เพื่อยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ฟ้องคดีอาญาต่อศาลจนกว่าคดีจะเสร็จเด็ดขาดได้
กรณี ผู้เสียหายฟ้องศาลด้วยตนเอง ( ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ และอัยการ ) ผู้เสียหาย สามารถแต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ช่วยเหลือ ในการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้