“สิริพรรณ” แจงงานวิจัยเรื่องการซื้อเสียงถูกบิด ปัดชี้ชัดภาคใต้รับเงินมากที่สุด แค่ระบุใจนักเลงรับเงินพรรคไหนจะเลือกพรรคนั้น เผยคนจบสูงกว่า ป.ตรีเลือกเพื่อไทยมากกว่าประชาธิปัตย์ เป็นผลจากเหตุการณ์ปี 53 ทั้งที่ก่อนหน้าเคยเลือกอีกพรรค
จากกรณีที่มีบุคคลและสื่อมวลชนจำนวนมากได้นำงานวิจัยผลการเลือกตั้งในปี 2554 ของ รศ.สิริพรรณ นกสวน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเผยแพร่แบบย่นย่อ เช่น กรณีคนภาคใต้เป็นภาคที่รับเงินมากที่สุด หรือกรณีบุคคลที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีเลือกพรรคเพื่อไทย (พท.) มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั้น
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 รศ.สิริพรรณ นกสวน กล่าวชี้แจงเรื่องนี้กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในเรื่องงานวิจัยที่ถูกเอาไปอ้างกันเยอะ แต่ว่าที่เอาไปอ้างมันผิด มีการบิดเบือนนิดหนึ่ง คือคำถามในงานวิจัยซึ่งทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในปี 2554 เราตั้งใจจะถามว่า ประชาชนไทยมองการซื้อเสียงหรือว่าการรับผลประโยชน์และสิ่งตอบแทนอื่น ๆ อย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ได้มีธงเป็นตัวตั้ง แต่แค่อยากสอบถามความเห็น ซึ่งตระหนักดีว่าการสอบถามความเห็นแบบนี้ เป็นไปได้สูงที่คนจะไม่ตอบความจริง แต่ก็ไม่มีทางอื่น และเราได้พยายามที่จะออกแบบระเบียบวิธีวิจัยอย่างรัดกุมแล้ว และใช้วิธีวิจัยที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดซึ่งไว้ใจได้มาปิดจุดอ่อนตรงนี้
รศ.สิริพรรณ กล่าวอีกว่า ดังนั้นผลที่ออกมาพบว่า ประชาชนใน 22 จังหวัดที่ใช้แบบสัมภาษณ์ 6,558 ชุด บอกว่า 10.1% มองว่าถ้ารับเงินหรือสิ่งตอบแทนแล้วจะเป็นสิ่งผูกมัดที่จะต้องเลือกนั้น เผอิญคนภาคใต้เป็นภาคที่สูงที่สุดคือ 19.0% แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าภาคใต้ใช้เงินในการซื้อเสียงมากที่สุด คือถามแค่ว่าถ้าท่านรับเงินถือเป็นสิ่งผูกมัดไหม คนใต้ตอบว่าเป็นสิ่งผูกมัดมากที่สุดถ้าเทียบกับภาคอื่น มันแปลได้เพียงว่าคนใต้เป็นคนที่ซื่อสัตย์ ใจนักเลง คือรับเงินพรรคไหนก็เลือกพรรคนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเขารับเงินมากที่สุด หรือมีการใช้เงินซื้อเสียงในภาคใต้มากที่สุด เพราะว่าตรงนั้นเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้เลย
“การเอาไปอ้างแบบนี้นัยหนึ่งมันก็เป็นการยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง บิดเบือนความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะคนก็ยิ่งประเมินผิดว่า แม้แต่งานวิจัยยังออกมาไม่ถูกต้อง พยายามจะบิดเบือนว่าไม่ได้มีการซื้อเสียง แต่จริง ๆ มันมีการซื้อเสียงอะไรแบบนี้ อันนี้เป็นข้อที่อยากให้ทำความเข้าใจมากที่สุด” รศ.สิริพรรณ กล่าว
รศ.สิริพรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีบุคคลที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีเลือก พท. มากกว่าอันนี้ยืนยัน จริง ๆ ไม่ใช่ทำเฉพาะแบบสอบถาม แต่จะมีการส่งคนลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์หัวคะแนน สัมภาษณ์นักการเมือง สัมภาษณ์ประชาชนด้วย คือใช้ข้อมูลหลายด้านเพื่อที่จะมาใช้ประกอบคำอธิบายของข้อสรุป เนื่องจากในปี 2550 พบว่า คือบุคคลที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีเลือก ปชป. มากกว่า แต่มาคราวนี้กลับเปลี่ยน โดยเมื่อเลือกตั้งปี 2554 พบว่าบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเลือก ปชป. แต่พอจบสูงกว่าปริญญาตรีเลือก พท มากกว่า
“อธิบายตรงนี้คือ เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 และเหตุการณ์ดังกล่าวมันเปลี่ยนมุมมองของคนพอสมควร และคนที่อาจจะเปลี่ยนมากที่สุดคือคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เพราะเข้าถึงข้อมูล และได้เห็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว ก็เลยทำให้เขาเปลี่ยนมาเลือก พท. แทน” รศ.สิริพรรณ กล่าว
ที่มา .. http://www.isranews....21-siripan.html
Edited by Hollowman, 20 December 2013 - 14:12.