จากความเห็นของเพื่อนๆ แล้วนึกขึ้นได้อยู่เรื่องคือ เหตุการณ์ถีบลงเขา เผาลงถังแดง
เหตุการณ์ “ถังแดง” หรือ รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “เผาลงถังแดง” เป็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ใช้วิธีการรุนแรงนอกกระบวนการกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงเวลาของทศวรรษ 2510 ปฏิบัติการที่ถูกกล่าวถึงในแง่ลบนี้ คือ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐด้วยวิธีการจับกุมผู้ต้องสงสัยมาใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งใส่น้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ในก้นถังประมาณ 20 ลิตร แล้วจึงเผาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น โดยที่ผู้ต้องสงสัยบางส่วนถูกทรมานจนเสียชีวิตมาก่อนหน้านั้น ในขณะที่บางส่วนซึ่งยังไม่เสียชีวิตก็จะถูกเผาทั้งเป็น
การเลือกใช้ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อผู้ต้องสงสัยในเวลาดังกล่าว เป็นผลมาจากการหล่อหลอมความคิดเรื่องความชิงชังและความเป็นศัตรูระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐกับกลุ่มประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นผุ้ปฏิเสธอำนาจของรัฐบาล สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในยุคของสงครามเย็นซึ่งการต่อสู้กันทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและทางการทหารระหว่าง 2 ขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ คือ ประชาธิปไตย และ คอมมิวนิสต์กำลังแพร่หลายทั่วไปทั้งในระดับสากลและภายในประเทศ สำหรับพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงนั้นก็เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวที่สำคัญทั้งทางการเมืองและทางการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่สำคัญในการปฏิบัติการทางการเมืองและการทหารของรัฐบาลไทยเช่นกัน
นับตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เริ่มมีการเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นซึ่งที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนและความไม่พอใจที่กองทัพญี่ปุ่นคุกคามประเทศจีนและประเทศไทยในช่วงสงคราม กลุ่มชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้เริ่มรวมตัวกันอย่างลับๆเพื่อดำเนินการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อสงครามสงบลงคนเหล่านี้ซึ่งซึมซับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มากขึ้นก็เริ่มเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองตามระบอบคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆของภาคใต้ เช่น ตรัง หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง เป็นต้น และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและมีสมาชิกของพรรคเข้ามาปฏิบัติการทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางการเมืองดังกล่าวและเข้าร่วมดำเนินงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากปัจจัยในเรื่องความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและความไม่พอใจต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐทั้งในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นและกดขี่ข่มเหงประชาชนในพื้นที่
ในขณะที่การดำเนินงานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคใต้เริ่มเติบโตและมีอิทธิพลต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น บรรยากาศของความไม่เข้าใจและหวาดระแวงระหว่างรัฐกับประชาชนที่นิยมการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ก็เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคใต้ก็ค่อยเติบโตขึ้นเช่นกัน บรรยากาศเช่นนี้ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มถึงการต่อสู้ด้วยการใช้กำลังอาวุธในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ซึ่งมีการตั้งค่ายฝึกอาวุธให้สมาชิกที่บริเวณเขาประ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฏร์ธานี และในปี พ.ศ. 2508 มีการฝึกอาวุธให้แก่สมาชิกในบริเวณเขาแก้วที่เป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดตรังกับจังหวัดพัทลุง โดยในเขตนี้ มีนายประสิทธิ์ เทียนศิริ หรือ กิ้ม หรือ แทน แซ่แต้ หรือ สหายชอบ หรือ สหายชิด เลขาธิการคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ภาคใต้ในระยะนั้น เป็นผู้นำที่สำคัญ และแบ่งเขตปฏิบัติการออกเป็น 3 เขต ดังนี้ ค่ายเขตเหนือมีกำลังประมาณ 60 คน มีพื้นที่ปฏิบัติการในตำบลเกาะเต่า ตำบลป่าพะยอม [1] และตำบลพนมวังก์ ในเขต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ตำบลท่างิ้ว ตำบลหนองปรือ ของอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ตำบลท่าประจะ ตำบลท่าเม็ด ตำบลชะอวด และ ตำบลวังอ่าง ของ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลสามตำบล ตำบลร่อนพิบูลย์ และตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ค่ายเขตกลางมีกำลังประมาณ 46 คน มีพื้นที่ปฏิบัติการในตำบลเขาปู่ ตำบลเขาย่า ตำบลตะแพน และตำบลปันแต ของอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ค่ายเขตใต้ มีกำลังพลประมาณ 55 คน มีพื้นที่ปฏิบัติการอยู่ในตำบลบ้านนา ตำบลเขาเจียก ตำบลท่ามิหรำ ตำบลชะรัด ตำบลร่มเมือง ตำบลโคกชะงาย ตำบลปรางหมู่ และตำบลน่าท่อม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ตำบลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ตำบลละมอง และตำบลน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง[2]
จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งมีเงื่อนไขหลายประการที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจต่อการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เริ่มเกิดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2507 ที่บ้านควนปลง ใกล้ตัวเมืองพัทลุง โดยเริ่มจากกลุ่มแนวร่วมของขบวนการคอมมิวนิสต์ตัดสินใจยิงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อแย่งชิงปืนไปใช้ในกองกำลังคอมมิวนิสต์[3] และต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นอย่างเป็นทางการมีชื่อว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2512 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตภาคใต้จึงได้ประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธประจำภาคใต้ขึ้นใช้ชื่อว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย” ทางภาคใต้จึงได้ประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธประจำภาคใต้ขึ้นใช้ชื่อว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยประจำภาคใต้”[4]
หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้สามารถหาสมาชิกและแนวร่วมได้มากขึ้น และสามารถขยายขอบเขตความเคลื่อนไหวไปสู่การใช้กำลังอาวุธ ทำให้รัฐบาลซึ่งมีนโยบายที่แข็งกร้าวในการต่อต้านการเติบโตของแนวคิดและขบวนการคอมมิวนิสต์ ได้เพิ่มความเข้มแข็งของการดำเนินงานด้านความมั่นคงและส่งหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาประจำการในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งมีการเติบโตของขบวนการคอมมิวนิสต์มากเป็นพิเศษ ดังมีหลักฐานว่ากำลังทหารตำรวจเริ่มเข้าสู่พื้นที่จังหวัดพัทลุงในภารกิจปราบปรามการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ในราวปี พ.ศ. 2507 โดยเข้ามาในพื้นที่ ตำบลเกาะเต่า ตำบลควนขนุน และชาวบ้านไปราว 50-60 คน ในข้อหาคอมมิวนิสต์และในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2509 ก็จับชาวบ้านกว่า 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ตำบลเกาะเต่า และบ้านสังแกระ ตำบลป่าพะยอม[5] ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลได้ส่งกำลังทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และอาสารักษาดินแดน (อส.) มาตั้งฐานปฏิบัติการในหมู่บ้านบริเวณชุมชนเทือกเขาบรรทัดหลายจุดด้วยกัน[6] ต่อมา ในปี พ.ศ. 2517 รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าประจำการในพื้นที่จังหวัดพัทลุง คือ บริเวณพื้นที่บ้านคลองหมวย ตำบลบ้านนา อำเภอเมืองพัทลุง จำนวน 1 กองพัน และแยกกำลังอีกส่วนหนึ่งไปตั้งที่บ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด เพื่อหมายจะปราบปรามคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก มีการใช้อาวุธสงครามที่มีอานุภาพสูงในการปฏิบัติการ มีการจับกุมแนวร่วมและสมาชิกของขบวนการคอมมิวนิสต์ในพื้นที่[7]
ภายใต้ปฏิบัติการด้านความมั่นคงเหล่านี้ทำให้มีชาวบ้านจำนวนมากถูกจับกุม และนำตัวไปสอบสวนในเขตพื้นที่ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2515 ชาวบ้านบางส่วนที่ถูกนำตัวไปสอบสวนในค่ายทหารบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่ายเกาะหลุง” ใน ตำบลบ้านนา และ “ค่ายท่าเชียด” ใน ตำบลตะโหมดเริ่มสูญหายไปเป็นจำนวนมาก[8] และเมื่อมีผู้มาสืบถามถึงผู้ที่สูญหายหลังจากการการถูกจับกุมมาให้สอบสวน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จับกุมชาวบ้านมาสอบสวนก็จะชี้แจงว่าได้ดำเนินการปล่อยตัวคนเหล่านั้นกลับบ้านไปแล้ว แต่ต่อมาก็เริ่มมีการร่ำลือกันถึงการ “เผาลงถังแดง” แพร่ไปทั่วพื้นที่จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ใกล้เคียง[9] เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้งขึ้นก็ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงการหายตัวไปดังกล่าว และเริ่มมีการโจษจันถึงการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กระบวนการ “ถังแดง” เพื่อจัดการกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นแนวร่วมหรือสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมักจะอ้างอิงถึงการพบกลุ่มควันไฟต้องสงสัยขนาดใหญ่ที่พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างบ่อยครั้งในเขตพื้นที่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
ต่อมาเมื่อข่าวการสูญหายไปของประชาชนจำนวนมากในพื้นที่กลายเป็นที่โจษจันของชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้น ทำให้ประชาชนจังหวัดพัทลุงและผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มนำเรื่องราวเหล่านี้ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยเมื่อ13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาและแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เปิดอภิปรายที่สนามหลวง และมีแถลงการณ์กรณีถังแดง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุบ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)โดยด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยุติการสังหารประชาชนในการปราบปรามคอมมิวนิสต์แบบเหวี่ยงแหและให้รัฐบาลใหม่ชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายทุกครอบครัว[10] 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ชาวบ้านจากจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยนายพินิจ จารุสมบัติ รองเลขาฝ่ายการเมืองศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นเพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับกรณีถังแดง ซึ่ง พล.อ.กฤษณ์ ยอมรับว่า เรื่องถังแดงนั้นได้เกิดขึ้นจริง พร้อมกันนั้นได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่ถอนกำลังจาก กอ.รมน. ให้หมดด้วย[11] ขณะที่นายอ่ำ รองเงิน ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง 3 สมัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำกรณีนี้ไปอภิปรายในรัฐสภาและเปิดเผยต่อประชาชนร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย[12] ผลพวงจากการเปิดเผยเรื่องราวของเหตุการณ์ “ถังแดง” ยังส่งผลกระทบต่อข้าราชการในพื้นที่ คือ นายจำลอง พลเดช ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ซึ่งเห็นด้วยกับการเปิดเผยข้อเท็จจริงในกรณีถังแดง แต่กลับถูกถูกนายวิญญู อังคณารักษ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นเรียกตัวเข้าพบและตำหนิในท่าทีดังกล่าว[13]
แม้จะเชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัตินี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถระบุถึงจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างชัดเจน โดยบางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 3,008 ราย[14] ในขณะที่ข้อมูลจากพันเอกวิจักขพันธุ์ เรือนทอง นายทหารผู้รับผิดชอบภารกิจด้านการเจรจากับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ภาคใต้ในเวลาต่อมาระบุว่าจำนวนดังกล่าวเป็นยอดผู้เสียชีวิตในกรณีคอมมิวนิสต์ทั้งหมดของจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฏร์ธานี มิใช่กรณีของถังแดงเท่านั้น[15] ในขณะที่ พ.อ.หาญ พงศ์สิฏานนท์ ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการและประสานงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในในขณะนั้น ยอมรับในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ว่าข่าวที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. ได้สังหารชาวบ้านจากหลายอำเภอของจังหวัดพัทลุง ด้วยการจุดไฟเผาซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 3,000 ศพ นั้นเป็นความจริง[16] และในท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวของการสังหารโหดด้วยวิธีการถังแดงก็ไม่มีการติตตามอย่างจริงจังในการเอาผิดทางกฎหมายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับเหตุการณ์รุนแรงที่สำคัญอื่นๆอีกหลายครั้งที่กระทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อประชาชนในยุคสงครามเย็น
ผลจากกรณี “ถังแดง” ทำให้ชาวบ้านในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงก็ดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก เพราะประชาชนไม่กล้าเข้าเขตป่าเขาเพื่อหาของป่าหรือล่าสัตว์ รวมถึงไม่กล้าเข้าไปทำไร่ ทำสวนในเขตป่าลึก เนื่องจากเป็นเรื่องต้องห้ามจากทางการที่เกรงว่าชาวบ้านจะเข้าป่าเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของขบวนการคอมมิวนิสต์ ในทางกลับกันชาวบ้านจำนวนมากก็ไม่กล้าติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากเกรงว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะเพ่งเล็งว่าตนเป็นศัตรู[17] อย่างไรก็ตามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ดังกล่าวก็เลือกใช้เรื่องราวของกรณี “ถังแดง” เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่พอใจการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐให้หันมาเข้าร่วมดำเนินงานทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ดังกรณีของเพลง “ถังแดง” ที่ประพันธ์คำร้องและทำนองขึ้นโดย แสง ธรรมดา นักดนตรีใน “วงจรยุทธ์” ซึ่งมีหน้าที่เคลื่อนไหวทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการเมืองให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ในเขตเทือกเขาบรรทัด
ถังแดง [18]
ปังๆโวยว้าย เสียงเจ้านายรบกวน ค่ำมืดลมหวน เสียงมันชวนครางครัน
กระโดดลงใต้ถุนหลบกระสุนนาย กลิ่นควายตายโชยมา
เขาว่าพัทลุงสบาย ฉันว่าอันตรายแท้เชียว
จะไปทางไหนให้หวาดเสียว มันโกรธเรานิดเดียวก็ตาย
จับไปลงถัง ราดน้ำมันแล้วจุดไฟ ข้อหาคอมมิวนิสต์ มันคิดไป
จับเราใส่เตา แล้วเผาไฟ แล้วมันก็ป้ายสีแดง
บ้างเมียก็เสียผัว ถูกตัดหัวเสียบประจาน
มันขี้หกลูกหลาน ว่าสันดานเป็นคอมฯ
แท้จริงมันคือเจ้านาย หัวหน้าตัวร้ายไอ้สอพลอ
มึงต้องออกไปไอ้หัวหมอ ไอ้พวกสอพลอต้องออกไป
ชีวิตคนไทย มันขาย เป็นทาสรับใช้ไอ้กัน
พรากลูกเมียเขาเพื่อเอาเงิน แร่ไทยมันขนกัน สุดประเมิน แล้วยังสรรเสริญเยินยอ
อาจกล่าวได้ว่ากรณี “ถังแดง” อันเป็นการดำเนินการที่ผิดพลาดของฝ่ายรัฐได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังได้สร้างความรู้สึกหวาดกลัวขึ้นในหมู่ประชาชนในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย ขณะเดียวกันกรณี “ถังแดง” ยังเป็นแรงขับให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายเกิดความรู้สึกหวาดระแวง ไม่ไว้ใจ และนำไปสู่ความเกลียดชังที่มีต่อฝ่ายรัฐ และที่สุดแล้วผู้คนเหล่านี้ก็หันไปเข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ โดยในบางครอบครัวได้อพยพครอบครัวไปเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในบริเวณเทือกเขาบรรทัด ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนผู้ปฏิบัติงานมากขึ้นในเวลาต่อมา
http://www.kpi.ac.th...เขา_เผาลงถังแดง