ธาม เชื้อสถาปนศิริ :"อัปยศสื่อ??"
"..ผมยังจำได้ เมื่อครั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ลงสมัครเลือกตั้งสส. ครั้งแรก เป็นเธอนี่เอง ที่เข้าพบปะเยี่ยมชมสื่อเพื่อหารือ "บางอย่าง" ที่ข่าวไม่ได้ลง และมีเพียงแค่รูปเธอยิ้มปั้นหน้าพร้อมรับจับมือกับบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น.."
ข่าวที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าพบปะสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวานนั้น สะท้อนนัยยะหลายอย่างของความ "ไม่ควร" แม้ข่าวจะออกมาว่า เป็นการเยี่ยมเยือนและหารือแนวทางการปฏิรูปการเมือง และการเลือกตั้ง
แต่มันใช่หน้าที่สื่อหนังสือพิมพ์ในการเป็นที่ปรึกษาเรื่องการปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้งหรือไม่
อำนาจหน้าที่สื่อ คือ การนำเสนอข่าวสาร ความรู้ ความจริง มิใช่มาเจรจาหารือกับตัวปัจจัยปัญหา ซึ่งในที่นี้ คือรัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ และปัญหาทางการเมืองในสังคมไทย
สื่อเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างไร? ถึงขนาดที่นายกรัฐบมนตรีต้องไปเยี่ยมพบปะหารืองั้นหรือ?
ผมยังจำได้ เมื่อครั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ลงสมัครเลือกตั้งสส. ครั้งแรก เป็นเธอนี่เอง ที่เข้าพบปะเยี่ยมชมสื่อเพื่อหารือ "บางอย่าง" ที่ข่าวไม่ได้ลง และมีเพียงแค่รูปเธอยิ้มปั้นหน้าพร้อมรับจับมือกับบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น
นี่ถือเป็นเรื่องที่ไม่บังควร ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความขัดแย้ง และอยู่ในช่วงของการเตรียมทางสู่การเลือกตั้ง ซึ่งสื่อไปในทางนัยยะ "ข้อตกลงลับๆ" ในเชิงผลประโยชน์มากกว่า
ในเชิงว่า "คุมได้? สั่งได้? ช่วยด้วย? ช่วยได้?"
ความไม่บังควรที่เกิดขึ้นนั้นคือ
(1) สื่อต้องรักษาระยะห่าง ระหว่างแหล่งข่าว กับความอิสระของกองบรรราธิการ
เพื่อไม่ให้ต่างฝ่ายต่างล้ำเส้นการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน เพราะนักข่าว/สื่อ ต้องยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับรัฐบาลในฐานะสุนัขเฝ้าบ้านที่มีประชาชนเป็นเจ้านาย แต่ทว่า ภาพดังกล่าวสะท้อนว่า สื่อได้ไปยืนอยู่ฝั่งเดียว หรือเปิดบ้านต้อนรับคนที่เขาควรจะตรวจสอบ
ผมไม่รู้ว่า เจรจากันลับๆ คือเรื่องอะไร ระหว่างเม็ดเงินโฆษณาที่สัญญาว่าจะให้ หรือ ผลประโยชน์จัดสรรอื่นๆ ที่รัฐบาลสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ได้หลังเลือกตั้ง
ทว่าปกหนังสือพิมพ์การเมืองสุดสัปดาห์ฉบับหนึ่ง - ล่าสุด ก็สะท้อนความ "น่าเกลียดและน่าแสยะ" ว่าเชียร์ออกนอกหน้านอกตา - หมดท่าความเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพระดับประเทศไปนาน??
(2) สื่อต้องรักษาความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือ ศรัทธา จากผู้อ่าน
เพราะหน้าที่สื่อ คือ การสื่อข่าวสารที่มีความน่าเชื่อถือในจากมุมมองผู้อ่าน
ผู้อ่านจะนึกคิดรู้สึกอย่างไร ที่ผู้นำพรรคการเมืองหนึ่ง เข้าเยี่ยมชมหารือกับสื่อ เพื่อกำหนด หรือเจรจาการบ้านการเมืองกับสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ก็แล้วฉบับอื่นๆ เล่า ใยไม่ไปเยือนให้ถ้วนหน้า เช่น แนวหน้า ไทยโพสต์ บ้านเมือง และ โพสต์ทูเดย์ หรือคมชัดลึก??
นี่สะท้อนความไม่จริงใจ แอบแฝง และเลือกปฏิบัติ
การไปเยือนสื่อนั้น สะท้อนอคติและนัยยะแอบแฝงซ่อนเร้นว่า "รัฐบางไปประนีประนอม และแสดงอำนาจในการกำหนดควบคุมวาระข่าวสารมากกว่า"
ที่ผมจำได้จากการศึกษาภาพข่าวการเลือกตั้งที่ผ่านมา สื่อหลายฉบับ "ออกนอกหน้านอกตาว่าเอนเอียง กลายเป็นนักสร้างภาพ นักประชาสัมพันธ์ให้คุยิ่งลักษณ์มีภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ดูดี" เหนือความเป็นจริงมากมาย
ฉะนั้น นี่คือ "ความอัปยศ" ที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะ ความอิสระวิชาชีพ และอุดมการณ์นักหนังสือพิมพ์ มันสะท้อนว่า "สื่อมวลชนนั้นๆ มิได้มีศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ"
ผมขอท้าทายท่านผู้อ่านโดยทั่วไปว่า ต่อไปนี้ ท่านจะเห็นภาพข่าว พาดหัวข่าว คำบรรยายข่าว ประเด็นข่าว ในสัญลักษณ์และความหมายเชิงบวก สร้างภาพ และสนับสนุนการเดินหน้าเลือกตั้งและผลงานความดีงามชอบธรรมของรัฐบาลและคุณยิ่งลักษณ์จากหนังสือพิมพ์ที่เธอไปเยี่ยมชม
และคุณจะเห็นว่า สื่อเหล่านี้ มีหน้าโฆษณาจากหน่วยงานรัฐมากมาย และอาจเป็นกระทั่งบริษัทจาดงานอีเว้นท์สรา้งภาพ และเป็นต้นตอแลห่งข่าวของรัฐบาลที่สื่อต่างๆ ต้องเอาภาพข่าว หมายข่าว และกำหนดงานต่าง ที่นายกลงพื้นที่ไปนำเสนอกันอย่างครึกครื้น
เดาอย่างเลวร้ายที่สุด ผมคิดว่าสื่อพวกนี้ขายวิญญาณสื่อตนเองไปแล้ว
เดาอย่างชั่วร้ายที่สุด ผมว่าวิญญาณความเป็นสื่อของพวกเขาถูกขายเป็นเม็ดเิงินราคาแพงกว่าข่าวที่พวกเขาขาย
ถ้าผมเดาผิด ก็เป็นความโง่บัดซบส่วนตัวของผม
แต่ถ้าผมเดาถูก มันก็เป็นความอัปยศเลวทราม ของสื่อไทย
และเป็นความน่าเศร้าของผู้เสพสื่ออย่างเราๆ ท่านๆ ทุกคน!
ไม่ว่าจะอย่างไร "นี่คือช่วงเทศกาลเลือกตั้ง/วิกฤติการเมือง"
รัฐบาลกับสื่อ ต้องมีระยะห่าง เพื่อรักษาความเป็นกลาง!