http://www.manager.c...D=9570000002030
ASTVผู้จัดการ - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ยกฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ คดีจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งปี 49 ระบุไม่มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่ามอบเงินให้กับจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปมอบต่อให้กับจำเลยที่ 2 มีเพียงคำซัดทอดของจำเลยที่ 3 และ 4 ซึ่งมีน้ำหนักน้อยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ เผยศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อปี 55 สั่งจำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
วันนี้ (7 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.961/2553 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อายุ 75 ปี อดีต รมว.กลาโหม และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายชวการ หรือกรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย นายสุขสันต์ หรือจตุชัย ชัยเทศ อดีต ผอ.การเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11
โจทก์ฟ้องสรุปว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันกระทำผิด เมื่อระหว่างวันที่ 2-7 มี.ค. 2549 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 จ้างวานให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต โดยมอบเงินค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้ดำเนินการตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อ ข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยไม่ครบ 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง, แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร และแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. เกี่ยวพันกัน
ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 ว่า จำเลยที่ 1, 3, 4, 5 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ให้จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ กกต.มีความผิดตาม พ.ร.บ.เดียวกัน มาตรา 6 ให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด และให้ริบเงินสดของกลางจำนวน 30,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1-5 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องหรือให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ในส่วนของนายอมรวิทย์ จำเลยที่ 2 โจทก์มีผู้อำนวยการสำนักงานกิจการพรรคการเมืองของ กกต.และผู้อำนวยการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลพรรคการเมืองของ กกต.และพนักงานของ กกต.เบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมี.ค. 2549 มีข่าวเผยแพร่ทำนองว่ามีการว่าจ้างจากพรรคการเมืองใหญ่ให้พรรคการเมืองเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง กกต.จึงได้มีการเรียกประชุม ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 2 ด้วย เพื่อให้ระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนในการจัดการเลือกตั้ง ขณะที่ในการจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกพรรคการเมือง จะมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบและเป็นบุคคลเดียวที่มีรหัสผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกข้อมูล
ขณะที่เมื่อได้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบฐานข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทย ที่เคยแจ้งกับ กกต.ไว้ตามลำดับ ขั้นตอนของกฎหมายเพียงครั้งเดียว เมื่อปี 2548 กับข้อมูลที่มีการบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่า แม้ตัวเลขที่กำกับลำดับที่ของข้อมูลสมาชิกพรรคจะตรงกัน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อ โดยผลจากการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ มีการบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคอีกครั้งในวันที่ 7 มี.ค. 2549 เวลา 09.30 น.และโอนถ่ายข้อมูลเสร็จสิ้นในเวลา 10.44 น. ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าเป็นผู้บันทึกข้อมูลดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่า ได้มีการปรึกษาเพื่อนร่วมงานแล้ว จึงไม่คิดว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิด ส่วนเงิน 30,000 บาท ที่จำเลยที่ 5 มอบให้เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่มานานกว่า 2 ปีเศษ ย่อมที่จะเข้าใจว่าการดำเนินการมีขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติ คือ การนำข้อมูลมาลงบันทึกเลขสารบรรณก่อน แล้วจึงเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อพิจารณาก่อนการบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อพบว่าจำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปรับข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยจาก นายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 ที่แยกลำสาลีในเวลา 21.00-22 .00 น.ซึ่งเป็นยามวิกาล ถือว่าผิดวิสัยและผิดปกติ อีกทั้งยังปรากฏว่าเมื่อได้รับข้อมูลแล้ว มีการรีบเร่งบันทึกข้อมูลในวันรุ่งขึ้น ตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อสำนักงาน กกต.ได้เปิดเวลาทำการ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนบันทึกเลขสารบรรณและเสนอผู้บังคับบัญชาก่อน ซึ่งพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเพื่อนร่วมงานของจำเลยที่ 2 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงเชื่อว่าเบิกความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนจำเลยที่ 3-5 ที่เป็นสมาชิกและผู้บริหารพรรคพัฒนาชาติไทยนั้น ปรากฏว่าช่วงเกิดเหตุได้มีการประชุมพรรคดังนั้นน่าเชื่อว่าจะได้ร่วมรู้เห็นเรื่องที่จำเลยที่ 5 นำเงิน 30,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 2 เพื่อสนับสนุนการกระทำดังกล่าว
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา และรอลงอาญานั้นเห็นว่าความผิดที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 นั้น กฎหมายดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 5 ปีในอัตราโทษต่ำสุดแล้ว จึงไม่อาจกำหนดโทษให้ต่ำกว่านี้ได้อีก และไม่อาจรอลงอาญาเพราะอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์อยู่บ้างต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน
ส่วนความผิดของจำเลยที่ 3-5 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรรัฐฯ มาตรา 11 กำหนดอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี ซึ่งศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยคน 3 ปี 4 เดือน นั้นเนื่องจากเป็นการกระทำที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหนักเกินไป เห็นควรแก้โทษจำคุกคนละ 2 ปี แต่ไม่รอลงอาญา
สำหรับ พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 เห็นว่าแม้โจทก์จะมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่ได้จากศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ที่พวกจำเลยเดินอยู่บนระเบียง โดยภาพช่วงที่เข้าไปยังกระทรวงกลาโหมและออกจากกระทรวงกลาโหมแตกต่างกันตรงที่ปรากฏซองสีขาวในมือ ของบุคคลที่ปรากฏในภาพวงจรปิด แต่โจทก์ก็ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยัน ว่าพวกจำเลยได้เข้าไปพบจำเลยที่ 1 ภายในห้องรับรองและจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้มอบซองที่อาจจะมีการบรรจุเงินในซองดังกล่าวให้กับจำเลยที่ 3 เพื่อไปมอบต่อให้กับจำเลยที่ 4 และ 5 นำไปให้จำเลยที่ 2 จริงหรือไม่ขณะที่จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด คงมีเพียงคำให้การของจำเลยที่ 3 และ 4 ในชั้นสอบสวนเท่านั้นว่าไปพบจำเลยที่ 1 ซึ่งคำให้การดังกล่าวเสมือนเป็นคำซัดทอด ของผู้ต้องหาด้วยกัน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเพราะคดีมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี ซึ่งในชั้นสืบพยานจำเลยที่ 3 และ 4 ก็ไม่ได้เบิกความยืนยันตามคำให้การชั้นสอบสวน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3-5 สนับสนุนจำเลยที่ 2 กระทำผิด จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัย ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 1
ภายหลัง พล.อ.ธรรมรักษ์กล่าวว่า ขอบคุณศาลที่ให้ความยุติธรรม เหตุการณ์นี้ถ้าตนเป็นคนทำจริง คงไม่เหลือร่องรอยหรือหลักฐานไว้แล้ว ตอนนี้ความจริงก็ได้ปรากฏตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้แล้ว
ผู้สื่อรายงานว่า ในวันนี้มีบุคคลใกล้ชิดและผู้ติดตามมาให้กำลังใจจำนวนมากจนแน่นห้องพิจารณาคดี ซึ่งภายหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ดีใจและมีใบหน้ายิ้มแย้ม