ปล่อยวาง ไม่ใช่ วางเฉย
พระไพศาล วิสาโล
เช้าวันหนึ่ง นาย ก.อ่านคำสอน “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรยึดถือเป็นตัวเราของเรา”หน้าหิ้งพระ รู้สึกปล่อยวางและเบาสบาย ก่อนออกจากบ้าน นายก.หยิบขยะไปทิ้ง และสังเกตเห็นว่าซอยข้างบ้านเต็มไปด้วยขยะที่คนในชุมชนข้างซอยเอามากองทิ้งไว้ บ่ายวันนั้นฝนตก น้ำชะขยะส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ นาย ก.เห็นเหตุการณ์นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า รู้สึกทุกข์ใจ และรำคาญใจกับสภาพและกลิ่นขยะในขณะเดียวกัน แต่นาย ก.ก็ตระหนักว่า” ความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อคุณไม่ปล่อยวางและยึดมั่นถือมั่น”
วิจักขณ์ พานิช เคยออกข้อสอบวิชาพุทธศาสนาข้อหนึ่งมีข้อความข้างต้น โดยถามนักศึกษาว่าเห็นด้วยกับความคิดและการกระทำของนายก.ว่า เป็นการตีความถูกต้อง “ตรงตามพระคัมภีร์”หรือไม่ ปรากฏว่านักศึกษากว่าร้อยละ ๘๐ เห็นด้วย
การที่นักศึกษาเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับพฤติกรรมของนายก. แสดงอย่างชัดเจนว่าในทัศนะของนักศึกษาเหล่านี้ คำสอนของพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการ “ทำจิต” เท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีปัญหาอะไร สิ่งเดียวที่ทำได้คือ “ปล่อยวาง”
ความคิดเห็นดังกล่าวสะท้อนถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสอนในพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายอยู่มากไม่เฉพาะนักศึกษากลุ่มนี้เท่านั้น แท้จริงแล้วพุทธศาสนาไม่ได้สอนแค่ “การทำจิต” เท่านั้น หากยังให้ความสำคัญแก่ “การทำกิจ” ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเตือนให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ในด้านหนึ่งก็ทรงสอนให้ปล่อยวาง ดังพุทธพจน์ที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ
“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความสงบวางแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข”
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทรงสอนให้หมั่นเพียรในการทำกิจ ดังตอนหนึ่งในปัจฉิมโอวาท
“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญกิจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”
พุทธพจน์ทั้งสองไม่ได้ขัดกันแต่เน้น “จริยธรรม”คนละด้าน ซึ่งเราพึงปฏิบัติควบคู่กันไป เช่น เมื่อเรารู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย เอาอะไรไปไม่ได้แม้แต่น้อย ดังนั้นจึงต้องรู้จักปล่อยวาง หาไม่จะตายสงบได้ยาก แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรเร่งทำความดี หมั่นทำหน้าที่ให้แล้วเสร็จ ไม่เพิกเฉย หรือปล่อยให้ค้างคา เพราะเราอาจจะตายวันนี้วันพรุ่งก็ได้
การปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต เพื่อไม่ให้ทุกข์ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำอะไรมากกว่านั้นหากทำได้ เมื่อคนรักตายจากไป เราไม่สามารถทำให้เขาฟื้นขึ้นมาได้ สิ่งที่เราทำได้ในกรณีนี้ก็คือ การทำจิต หรือปล่อยวางเท่านั้น แต่หากเราล้มป่วย นอกจากการทำจิต คือ ไม่บ่นโวยวายหรือตีโพยตีพาย หากแต่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือพิจารณาว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราแล้ว เรายังควรทำกิจด้วย คือ เยียวยารักษาร่างกายให้หายป่วย หรือถึงแม้จะยังไม่ป่วย สุขภาพยังดีอยู่ ในด้านหนึ่งก็ควรเผื่อใจว่าอะไรก็ไม่เที่ยง จะได้ไม่ทุกข์ใจเมื่อต้องล้มป่วย แต่พร้อมกันนั้นก็ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใส่ใจในคุณภาพของอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มป่วยเร็วเกินไป
ใครที่ทำใจอย่างเดียว โดยไม่ทำกิจเลย ย่อมเรียกว่าเป็นอยู่อย่างไร้ปัญญา จริงอยู่กล่าวในทางปรมัตถ์แล้ว ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงสิ่งที่ “หยิบยืม”มาใช้ชั่วคราว แต่ตราบใดที่มันยังอยู่ในการดูแลของเรา เราก็มีหน้าที่ดูแลมันให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับโทรศัพท์หรือรถยนต์ที่เราหยิบยืมมาจากเพื่อน แม้มันไม่ใช่ของเรา เราก็ต้องดูแลรักษาให้ดี ใครที่ปล่อยปละละเลย เอาแต่ใช้แต่ไม่ดูแล ด้วยเหตุผลว่า มันไม่ใช่ของเรา ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้ไร้ความรับผิดชอบ เอาแต่ได้ ไม่น่าคบหาเลย
ผู้คนมักเข้าใจว่า ปล่อยวางหมายถึงวางเฉย หรือปล่อยปละละเลย นี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกิดจากความสับสนระหว่าง “ทำจิต” กับ “ทำกิจ” ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิต มุ่งแก้ความทุกข์ทางใจ แต่คนเราไม่ได้มีแต่ความทุกข์ทางใจ เรายังมีความทุกข์ทางกาย ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งต้องอาศัยการทำกิจควบคู่กับการทำจิต เช่น ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วก็ต้องซ่อม ขณะเดียวกันก็ควรรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ตรงนี้แหละที่การทำจิตเข้ามามีบทบาท แต่ถ้ารถเสียหรือหลังคารั่วแล้วไม่ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่ยังต้องใช้มันอยู่และอยู่ในวิสัยที่ซ่อมได้ อย่างนี้แหละเรียกว่า วางเฉย หรือปล่อยปละละเลย ไม่ใช่ปล่อยวาง
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชา สุภัทโท เดินผ่านกุฏิของพระรูปหนึ่ง ท่านสังเกตเห็นหลังคาแหว่งไปครึ่งหนึ่งเพราะถูกพายุฝนกระหน่ำ แต่พระรูปนั้นไม่ขวนขวายที่จะซ่อมหลังคาเลย ปล่อยให้ฝนรั่วอย่างนั้น ท่านจึงถามเหตุผลของพระรูปนั้น คำตอบที่ได้ก็คือ ผมกำลังฝึกการไม่ยึดมั่นถือมั่นครับ หลวงพ่อชาจึงตำหนิว่า นี่เป็นทำโดยไม่ใช้หัวสมอง แทบไม่ต่างจากการวางเฉยของควายเลย
ปล่อยวางนั้นเป็นเรื่องของการทำจิตเพราะเข้าใจความจริงของชีวิตว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ จัดว่าเป็นวิถีแห่งปัญญา ส่วนวางเฉยหรือปล่อยปละละเลยนั้นเป็นความบกพร่องในการทำกิจเพราะไม่เข้าใจว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ หรือเพราะสำคัญผิดว่าเป็นการทำจิต จึงไม่ใช่วิถีแห่งปัญญา
ดังนั้นเมื่อนายก. พบว่าซอยข้างบานเต็มไปด้วยขยะและส่งกลิ่นเหม็นจนรู้สึกรำคาญและทุกข์ใจนั้น การที่เขาทำใจปล่อยวาง (เช่น มีสติเห็นความรู้สึกรำคาญ และปล่อยวางมัน ไม่ยึดติดถือมั่นจนเกิดตัวกูผู้รำคาญขึ้นมา) ย่อมช่วยให้ความทุกข์ใจบรรเทาเบาบางลง แต่ทำเพียงเท่านี้ยังไม่พอ เขาควรตระหนักว่านี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ย่อมเป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เฉพาะของตนเท่านั้น แม้จะไม่ห่วงตนเองแต่ก็ควรมีสำนึกในหน้าที่ต่อส่วนรวม อันเป็นวิสัยของชาวพุทธ ดังนั้นเขาจึงควรทำกิจด้วย นั่นคือ พยายามลดขยะในซอย เช่น แจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บขยะ หรือชักชวนผู้คนให้ทิ้งขยะเป็นที่ (อันที่จริง หากเขาทำใจปล่อยวางอย่างเดียว ก็ไม่ควรเอาขยะของตนเองไปทิ้ง ควรทนอยู่กับขยะที่สุมกองอยู่ในบ้านต่อไป ถ้าทนกลิ่นเหม็นของขยะในบ้านตนไม่ได้ แต่วางเฉยต่อขยะที่อยู่นอกบ้าน แสดงว่าไม่ได้ปล่อยวางจริง แต่เป็นการปล่อยปละละเลยปัญหาของส่วนรวมมากกว่า)
ทุกวันนี้ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยสนใจแต่ทำจิต แต่ไม่ทำกิจ จึงเกิดปัญหามากมาย เช่น มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ก็ทำใจอย่างเดียว แต่ไม่คิดที่จะไปคุยหรือปรับความเข้าใจกัน ปัญหาจึงหมักหมมและลุกลาม จนทำใจไม่ไหว ในที่สุดก็ระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงทั้งวจีกรรมและมโนกรรม ไม่ใช่แต่ปัญหาส่วนตัวเท่านั้นที่ลุกลาม ปัญหาส่วนรวมก็กำลังพอกพูนมากมาย ทั้งมลภาวะ อาชญากรรม ความไม่เป็นธรรม คอร์รัปชั่น การเอาเปรียบเบียดเบียน ทั้งนี้ก็เพราะผู้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าพุทธศาสนาสอนให้ทำจิตเท่านั้น หรือสับสนระหว่างการปล่อยวางกับการวางเฉย จึงเปิดช่องให้ความเห็นแก่ตัวครอบงำจิตโดยคิดว่ากำลังทำตามคำสอนของพระพุทธองค์
ถ้าชาวพุทธในเมืองไทยรู้จักทำกิจควบคู่กับทำจิตอย่างถูกต้อง หรือตระหนักชัดว่าปล่อยวางไม่ได้หมายถึงวางเฉย คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น และสังคมจะสงบสุขมากกว่านี้อย่างแน่นอน
http://www.visalo.or...ivat255606.html