Jump to content


Photo
- - - - -

ขอเขียนถึงการเมืองหนึ่งครั้ง และครั้งเดียว โดย : นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์


  • Please log in to reply
8 ความเห็นในกระทู้นี้

#1 wat

wat

    เนตังมะมะ เนโสหะมัสมิ นะเมโสอัตตา.

  • Members
  • PipPipPipPipPip
  • 5,542 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 09:31

8030.jpg

 

บล็อกของผมพูดถึงแต่เรื่องสุขภาพการเจ็บป่วย จะนอกเรื่องบ้างก็เป็นเรื่องสนุกสนานเฮฮาคลายเครียด เรื่องอื่นๆที่เป็นสาระแต่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพไม่ว่าจะเป็นศาสนา หรือการเมือง ผมไม่เคยพูดถึงเลย ที่ผมไม่พูดถึงการเมืองนั้นมีเหตุผลสองอย่าง อย่างหนึ่งก็เพราะคนไข้ของผมมีทั้งสีเหลืองสีแดง ที่เป็น ส.ส. ก็มี ที่เป็นรัฐมนตรีก็มี มีทั้งฝ่ายเพื่อไทยและฝ่ายประชาธิปัตย์ แม้แต่ท่านผู้อ่านบล็อกนี้ก็มีทั้งเหลืองทั้งแดง ถ้าผมพูดเรื่องการเมืองไป ไม่ว่าจะพูดออกเหลืองหรือออกแดง ก็ต้องทะเลาะกับคนไข้ของผมเสียราวครึ่งหนึ่ง ดังนั้นผมเงียบเสียดีกว่า

 

        แต่ว่ามาถึงวันนี้บ้านเมืองของเราได้เฉียดเข้าใกล้จวนแจจะตกขอบเหวของความหายนะ ผมจึงคิดว่าเป็นเวลาที่ผมควรแหกประเพณีของบล็อก ขอเขียนเรื่องการเมืองสักหนึ่งครั้ง ครั้งเดียว แล้วจะไม่เขียนถึงอีกเลย

 

        อีกเหตุผลที่ผมไม่เคยเขียนเรื่องการเมืองมาก่อนก็คือผมเองเคยตั้งใจว่าจะทำงาน เป็นหมออาชีพมุ่งใช้ชีวิตดูแลคนเจ็บไข้โดยจะไม่ยุ่งอะไรกับการเมืองอีกเลย ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา เหตุผลเรื่องนี้มันยาว แต่ผมเล่าคร่าวๆให้ท่านผู้อ่านได้ เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องที่ผมจะเขียนวันนี้ คือหลังเหตุการณ์ที่นักศึกษาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลทหารเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ผมก็เหมือนนักศึกษาในสมัยนั้นคนอื่นๆที่ฝักใฝ่การเมืองมากจนการเมืองเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิตประจำวัน ตัวผมเองเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาของมหา’ลัย ซึ่งมีงานหลักคือประสานงานม็อบต่างๆนอกมหา’ลัยมากกว่างานเรียนหนังสือ วาระหลักของขบวนการนักศึกษาสมัยนั้นมีเรื่องเดียว คือทำอย่างไรจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนลงได้ หรือที่เรียกว่า wealth distribution วิธีการที่พวกเราตกลงกันได้เป็นเอกฉันท์มีประเด็นเดียว คือต้องต่อต้านการคืนชีพของรัฐบาลเผด็จการทหารทุกรูปแบบ แต่การจะเดินหน้าไปอย่างไรโดยไม่มีเผด็จการทหารนั้น นักศึกษาเองก็แบ่งเป็นสองแนว แนวหนึ่งนิยมระบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง อีกแนวหนึ่งเชื่อว่าระบบเลือกตั้งไม่เวิร์ค เพราะเปิดช่องให้พวกนายทุนขุนศึกศักดินาตามเข่นฆ่าทำลายผู้นำคนจน จำต้องก่อการปฏิวัติลุกฮือของชนชั้นกรรมาชีพ แล้วตั้งรัฐบาลเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น เรียกง่ายๆว่าแนวทางคอมมิวนิสต์ พวกนิยมแนวทางหลังนี้บางคนก็ได้ไปติดต่อสื่อสัมพันธ์กับ พคท.(พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองนอกกฎหมายและทำงานอยู่ในป่า ตัวผมนั้นเป็นพวกไม่ชอบความรุนแรงและนิยมระบบเลือกตั้ง แม้ว่าอีกใจหนึ่งยังออกจะเห็นด้วยว่าท่ามันจะไม่เวิร์ค เพราะขณะที่พวกเราพยายามยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยอยู่นั้น ก็ได้เห็นผู้นำชาวนา ผู้นำกรรมกร ที่ลุกขึ้นมานำเรียกร้องเพื่อปากท้อง ได้ทยอยถูก “เก็บ” หรือฆ่าตายอย่างทารุณไปหลายราย

 

        แล้วทหารก็ทำรัฐประหารโหดเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจำนวนหนึ่งถูกฆ่าตาย บางคนถูกจับแขวนคอ อีกจำนวนมากหนีหัวซุกหัวซุน รวมทั้งผมด้วย ส่วนหนึ่งหนีเข้าป่าไปสมทบกับ พคท. แต่ผมหนีไปตั้งหลักไม่ไกล พอเห็นปลอดภัยก็กลับเข้าหอเรียนหนังสือต่อ ประสบการณ์ที่เหล่าผู้นำนักศึกษาได้รับจากการกระทำของขุนศึกในสมัยนั้น ผมบรรยายได้คำเดียวว่า.. “ยากที่จะลืม”

 

        ผมเองนั้นเป็นคนขี้ขลาด เมื่อเจอเข้าก็บอกตัวเองได้ทันทีว่านี่ไม่ใช่วิธีที่ผมจะใช้ชีวิตที่ทอดยาวรอผมอยู่ข้างหน้าอีกหลายสิบปี จึงสาปส่งการยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองตั้งแต่นั้น ช่วงประมาณปีพ.ศ. 2524 เมื่อเรียนจบไปเป็นหมอชนบท มีชาวบ้านนิยมนับถือมาก ก็มีคนมายุว่าคุณหมอน่าจะสมัครผู้แทน ผมได้แต่หัวเราะหึ..หึ ในช่วงเวลานั้น เมื่อไปกลับเยี่ยมบ้านเกิด เพื่อนๆมัธยมรุ่นเดียวกันซึ่งกระจายเป็นครูใหญ่ครูน้อยอยู่ทั่วเขตเลือกตั้งก็รุมชวนให้สมัครผู้แทนโดยอาสาว่าจะช่วย ผมก็ได้แต่หัวเราะหึ..หึ เพราะในใจผมนั้น ได้สาปส่งเรื่องการเมืองไปนานแล้ว

 

        ช่วงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2519 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่เมืองไทยใกล้จวนแจจะเกิดสงครามประชาชน (civil war) หมายความว่าสงครามที่ชาวบ้านรบกับชาวบ้านด้วยกันเอง

 

        ฝ่ายหนึ่งก็คือฝ่ายที่พวกเราเรียกว่า “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” ซึ่งมีกำลังพลหลักเป็นชาวบ้านที่ถูกปลุกปั่นให้เกลียดชังพวกคอมมิวนิสต์ที่ จะมาล้มเจ้า โดยพวกขุนศึกศักดินาได้ลงไปจัดตั้งมวลชนชาวบ้านขึ้นเป็นกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ทั่วประเทศ เอาไว้เป็นทัพหนุนของทัพหน้า ตัวทัพหน้าเองก็เป็นชาวบ้านที่พวกขุนศึกลงไปติดอาวุธให้โดยตรง เรียกว่า “ทหารพราน”

 

        ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือ พคท. ซึ่งมุ่งโค่นล้มนายทุน-ขุนศึก-ศักดินา และมุ่งสถาปนารัฐบาลเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพขึ้น ฝ่ายนี้มีกองกำลังเป็นชาวบ้านเช่นกัน แต่เป็นชาวบ้านที่ พคท. ได้ปลุกระดมให้ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมและให้เจ็บแค้นต่อการถูกกด ขี่ขูดรีด ส่วนที่เป็นมวลชนนั้นไม่ได้ติดอาวุธ แต่ส่วนที่เป็นแนวร่วม, เป้า ส. (หมายถึงคนที่จ่อคิวจะได้เป็นสมาชิกพรรค) และคนที่เป็นสมาชิกพรรคนั้น พคท.ได้ติดอาวุธให้ด้วย โดยที่ประมาณครึ่งหนึ่งของเพื่อนนักศึกษาที่ผมรู้จักและทำกิจกรรมด้วยกัน ได้มาอยู่กับฝ่าย พคท.

 

        ตรงกลางระหว่างสองฝ่ายนี้ก็คือพวกที่หวังอาศัยเวทีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งในการแก้ปัญหา ซึ่งก็มีทั้งนายทุน ปัญญาชน คนชั้นกลางทั่วไป และนักการเมืองสายไม่รุนแรงซึ่งมีเพื่อนเก่าของผมอยู่ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง

 

        แต่เหตุการณ์ก็ผ่านมาได้อีกหลายปีโดยไม่มีสงครามกลางเมืองขนาดใหญ่จริงๆเกิด ขึ้นนอกจากยุทธการป่าล้อมเมืองระดับไม่รุนแรง เพื่อนที่อยู่กับ พคท. ได้เล่าให้ผมฟังว่า พคท. เองมีโครงสร้างภายในที่ล้าหลังพัฒนาไม่ขึ้น ไม่มีศักยภาพพอที่จะก่อการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐมาตั้งเป็นรัฐบาลเผด็จการของชน ชั้นกรรมาชีพขึ้นได้ ซึ่งน่าจะเป็นความจริง เพราะท้ายที่สุด พคท. ก็ล่มสลายไป ขณะเดียวกันรัฐบาลป๋าเปรมได้เปิดอ้าแขนรับพวกเราที่เคยเข้าป่าไปอยู่กับ พคท. ให้กลับบ้าน พวกเราเกือบทั้งหมดก็กลับมา เพื่อนรุ่นพี่บางคนกลับมาเป็นหมอฝึกหัดอยู่ภายใต้ความดูแลของผมซึ่งตอนนั้น ผมเป็นแพทย์ประจำบ้านแล้ว พวกเราที่กลับมา ได้รับการกระซิบจากฝ่ายขุนศึกว่าให้อยู่แต่ในกรุงเทพฯ คนที่เป็นหมอก็ให้เป็นหมอในกรุงเทพฯ ห้ามออกไปอยู่ชนบท คนที่ยอมเชื่อฟังก็ประคองชีวิตรอดมาได้ ซึ่งบางคนกลายมาเป็นผู้นำฮาร์ดคอร์ของมวลชนเสื้อแดงอยู่ในวันนี้ เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งกลับมา เขาไม่ยอมอยู่ในกรุงเทพ แต่ไปทำร้านอาหารอยู่ริมน้ำโขงที่เชียงราย แล้ววันหนึ่งเขาก็ถูกตาม “เก็บ” ตายคาร้านของเขาอย่างโหด***มทารุณ

 

        พวกเพื่อนๆที่ยังมีหัวคอมมิวนิสต์ได้เคยเปรยให้ผมฟังว่า เมื่อหมดสิ้น พคท. สำหรับคนชั้นกรรมาชีพ การจะยึดอำนาจรัฐมองไม่เห็นทางอื่น มีทางเหลืออยู่ทางเดียวคือต้องสามัคคีกับนายทุน ซึ่งเขาใช้คำว่า “นายทุนชาติ” เพื่อชิงอำนาจรัฐมาให้ได้ก่อน เมื่อได้แล้วก็ค่อยใช้อำนาจนั้นมากระจายรายได้หรือสร้าง wealth distribution ภายหลัง นั่นหมายความว่าการปฏิวัติต้องทำเป็นสองก๊อก ก๊อกแรก กรรมาชนสามัคคีกับนายทุนชาติโค่นล้มขุนศึกศักดินา ก๊อกสองกรรมาชนค่อยมาโซ้ยกับนายทุนชาติซะเองต่อเพื่อบังคับเฉลี่ยความรวยมาให้คนจน

 

        ต่อมาประมาณปี 2544 ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ได้มี “นายทุนใหญ่ใจถึง” เข้ามาเล่นการเมืองด้วยวิธีใช้เงินจำนวนมากซื้อสส.เข้าคอก เพื่อนผมที่เป็นนักสังคมนิยมแนวทางรุนแรงหลายคนได้เข้าไปซุกปีกนี้ พรรคของ “นายทุนใหญ่ใจถึง” ชนะเลือกตั้งอย่างง่ายดาย เรียกว่าวิธีซื้อแบบนี้ทำให้ได้อำนาจรัฐมาง่ายๆโดยแทบไม่ต้องเปลืองเลือดเนื้อเลย เพื่อนผมหลายคนแฮปปี้ ได้เป็นรัฐมนตรี และได้ผลักดันนโยบายที่หากจะเรียกจากมุมของพวกสังคมนิยมก็เรียกได้ว่าเป็นนโยบายกระจายรายได้ แต่พวกนายธนาคารเรียกว่านโยบายประชานิยม ในบรรดานโยบายเหล่านี้ ผมเห็นมีอยู่สองเรื่องที่มีผลดีต่อคนชั้นกรรมาชีพอย่างเป็นรูปธรรม คือนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค กับนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งหากไม่มี “นายทุนใหญ่ใจถึง” ให้อาศัยใบบุญ สิ่งนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

 

        แต่ฮันนีมูนระหว่างนักสังคมนิยมหัวรุนแรงกับ “นายทุนใหญ่ใจถึง” มีอยู่ได้ไม่กี่ปี ปัญหาที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะมิชชั่นที่แท้จริงของ “นายทุนใหญ่ใจถึง” คือการสร้างอำนาจผูกขาดถาวรด้วยการกอบโกยกักตุนทุนทรัพย์ไว้สร้างอำนาจให้ ตัวเองและครอบครัวต่อๆกันไปไม่สิ้นสุด มิชชั่นนี้ก่อความไม่พอใจในหมู่นายทุนอื่นที่ถูกกีดกันไม่ให้ได้เอี่ยวในผล ประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนที่อิงอยู่กับขุนศึกศักดินา พวกอื่นที่ไม่พอใจก็มีนักการเมืองที่อยู่คนละพวก  (ซึ่งก็มีเพื่อนของผมอีกจำนวนหนึ่ง) และปัญญาชนคนชั้นกลางที่ต้องการให้ใช้หลักผิดชอบชั่วดีในการดูแลบ้านเมือง ทั้งสามพวกนี้ได้สามัคคีกับพวกขุนศึกศักดินาโค่นล้ม “นายทุนใหญ่ใจถึง” ซึ่ง “นายทุนใหญ่ใจถึง” ก็ทราบดี จึงด้านหนึ่งได้ใช้ยุทธการปลุกระดมและจัดตั้งมวลชนคนยากจนในชนบทไว้เป็น เกราะกันชนปกป้องตัวเองจากพวกขุนศึก อีกด้านหนึ่งได้ลงมือ “ซื้อ” ขุนศึกส่วนหนึ่งมาเป็นพวกของตน ในวันที่ถูกทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของตัวเองเมื่อปีพ.ศ. 2549 ตอนนั้นตัว “นายทุนใหญ่ใจถึง” อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อนคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเขาเล่าให้ผมฟังว่านาทีแรกที่ได้รับรายงานข่าวรัฐประหาร นายทุนใหญ่ใจถึงเอ่ยปากถามว่า “ใครทำ.. พวกเราหรือเปล่า?”

 

        นั่นหมายความว่าย้อนหลังไปไกลถึงแต่สมัยนั้น (2549) การซื้อขุนศึกไว้เป็นพวกของตนก็ได้ดำเนินไปจนถึงจุดที่หากจะใช้ก่อรัฐประหาร ก็ทำได้แล้ว เพียงแต่ว่ากลุ่มขุนศึกที่ชิงลงมือในวันนั้นเป็นอีกพวกหนึ่ง การแพ้เกมกันในชั่วเวลาสั้นๆที่นับกันเป็นชั่วโมงนี้ทำให้ “นายทุนใหญ่ใจถึง” ต้องระเห็จไปอยู่ต่างประเทศและยังไม่ได้กลับเมืองไทยจนทุกวันนี้

 

        การรัฐประหารโค่นล้ม “นายทุนใหญ่ใจถึง” ได้สำเร็จในปี 2549 ทำให้ฝ่ายต่อต้าน “นายทุนใหญ่ใจถึง” กล้าแข็งขึ้น ฝ่าย “นายทุนใหญ่ใจถึง” เองกลับต้องสาละวนตกเป็นฝ่ายตั้งรับ จนชีวิตของเพื่อนๆนักสังคมนิยมที่ไปซุกอยู่ในปีกของ “นายทุนใหญ่ใจถึง” ทุกวันนี้ไม่มีเวลามาคิดเรื่อง wealth distribution อีกต่อไปแล้ว เพราะต้องมัวแต่ยุ่งอยู่กับการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาอำนาจรัฐผ่านการใช้เงิน และลูกเล่นทุกรูปแบบโดยเลิกคำนึงถึงหลักผิดชอบชั่วดีไปเลย ขอเพียงยืดเวลายึดกุมอำนาจรัฐออกไปให้ได้อย่างเดียว นโยบายประชานิยมซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ที่เคยได้ผล ได้แปลงรูปมาเป็นวิธีหาเสียงแบบสุกเอาเผากินและก่อปัญหามากกว่าแก้ปัญหา เพื่อนๆของผมทุกคนดูเหมือนจะลืมพันธะกิจหลักที่จะ distribute wealth ไปหมดสิ้น ปัญหาพื้นฐานของคนจน ถ้าไม่นับเรื่องการรักษาพยาบาลซึ่งทำได้ดีเสียเรื่องหนึ่งแล้ว เรื่องอื่นยังไม่ได้รับการแก้ไขเลยแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเกือบสิบปี ปัญหาคนจนไร้ที่ดินทำกินซึ่งเป็นที่มาของ “ม็อบปากมูล” ที่หนังสือพิมพ์เคยขนานนามว่าม็อบตลอดกาล เคยมีอยู่อย่างไร ก็ยังมีอยู่อย่างนั้น ไม่มีแม้แต่ความคิดที่จะปฏิรูปที่ดิน ปัญหาชาวนามีต้นทุนการผลิตสูงและผลผลิตคุณภาพต่ำก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาการกระจายอำนาจและงบประมาณไปชนบทที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ นอกจากจะไม่ได้ทำแล้วยังถูกระงับอีกต่างหาก ส่วนใหญ่เพื่อนๆเผลอลืมเพราะเผลอไปยึดติดเงินและอำนาจซึ่งเป็นเพียงเครื่อง มือที่จะบรรลุเป้าหมายแทนการมุ่งมั่นที่ตัวเป้าหมายเองเสียฉิบ กิจกรรมปกป้องอำนาจนี้ทำกันโดยทิ้งหลักผิดถูกชั่วดีไปหมด มุ่งเอาแต่ชนะและยึดกุมอำนาจรัฐให้ได้ ทำกันอยู่นานตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมา จนทำให้รากวัฒนธรรมของสังคมไทยสั่นคลอนเหมือนต้นไม้ที่ถูกดึงให้รากบางส่วน ขาด สังคมไทยทุกวันนี้ไม่มีใครสนใจแยกแยะความชั่วความดีออกจากกันอีกต่อไปแล้ว คนระดับนำของสังคมและอาจารย์มหา’ลัยพูดออกโทรทัศน์ว่าชั่วหมายความว่าดีได้ อย่างหน้าตาย และคนไทยทุกคนก็มีส่วนร่วมกันปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ด้วยการทำตัวเป็น “ไทยเฉย” ดังนั้นการที่ประเทศชาติของเราเดินมาจนถึงจุดนี้ได้ จึงเป็น “กรรมหมู่” ที่คนไทยทุกๆคนร่วมกันก่อ จะโทษกันและกันไปก็ไร้ประโยชน์

 

        หลังการรัฐประหารและโดนกลศึก “ตุลาการภิวัฒน์” จนต้องหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ “นายทุนใหญ่ใจถึง” ได้ใช้ความพยายามผ่านรัฐบาลหุ่นของตนเพื่อกลับมามีอำนาจเต็มอีกครั้งให้ได้ โดยทำการอย่างไม่คำนึงถึงหลักผิดชอบชั่วดีใดๆ การกระทำดังกล่าวได้ก่อให้เกิดพลังต่อต้านขึ้นใหม่ในสังคม คือกลุ่มคนชั้นกลางที่ยังเชื่อมั่นเรื่องผิดชอบชั่วดี กลุ่มนี้ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน จากแสนเป็นล้าน จากล้านเป็นหลายล้าน  และขยายข้ามชั่วอายุจากคนรุ่นเก่าลงไปถึงคนรุ่นใหม่ เรียกว่าเป็นการฮึดสู้ของ “ไทยเฉย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และคนกลุ่มนี้ได้แสดงเจตนาที่จะเข้ามาสร้างระบบการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บน สำนึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาใหม่

 

        สังคมไทยได้เดินมาถึงปากเหวที่อาจเกิดสงครามกลางเมืองอีกครั้ง ซึ่งดูจะเป็นปากเหวที่ลึกและอันตรายกว่าครั้งก่อน หากสังคมไทยถลำเข้าสู่สงครามกลางเมืองคราวนี้ มันจะยืดเยื้อเรื้อรังไม่มีวันจบและประเทศชาติจะทรุดโทรมราวกับร่างกายของคน ป่วยเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายนั่นเทียว เพราะกำลังพลแต่ละฝ่ายนั้นมหึมามหาศาลก้ำกึ่งกัน ชนิดที่ว่าหากทั้งสองฝ่ายฆ่าฝ่ายตรงข้ามตายได้หมด ประเทศไทยก็แทบไม่เหลือคนเดินถนนเลย

 

        ฝ่ายหนึ่งก็คือมวลชนคนยากคนจนในชนบท ซึ่งโดยการปลุกปั่นของพวกเพื่อนๆนักสังคมนิยมแนวเผด็จการ พวกเขาถูกปั่นจนมีความเชื่อว่าชีวิตจะดีขึ้นถ้าปกป้อง “นายทุนใหญ่ใจถึง” ไว้เป็นพวกตน และทำลายล้างพวกขุนศึกศักดินาหรืออำมาตย์ให้สิ้นซากไปเสีย พวกตนก็จะได้ธำรงรักษาอำนาจรัฐที่พวกตนสามารถมีส่วนร่วมไว้ได้ และอนาคตก็จะแก้ปัญหาการปันส่วนผลผลิตที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นเหมือนหัวอกกลัด หนองคนจนมาตลอดได้

 

        อีกฝ่ายหนึ่งคือไทยเฉยฮึดสู้ ซึ่งประกอบขึ้นจากนายทุนน้อย นักการเมืองที่สู้สนามเลือกตั้งที่ใช้เงินไม่ได้ ปัญญาชน-คน ชั้นกลางที่ทนสังคมแบบไร้ความผิดถูกชั่วดีอีกต่อไปไม่ไหว ฝ่ายนี้นอกจากจะถูกปลุกจิตสำนึกให้ลุกขึ้นมา “กู้ชาติ” แล้ว ยังถูกทำให้เชื่อว่าการจะนำประเทศกลับมาเป็นสังคมที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่ว ดีใหม่ได้อีกครั้งนั้น ไม่มีวิธีอื่นนอกจากต้องกำจัด “นายทุนใหญ่ใจถึง” และบริวารให้สิ้นซากไปเสียก่อน

 

        ในท่ามกลางกำลังรบอันเปรียบเสมือนฝูงจิ้งหรีดข้างละฝูงนี้ ตรงกลางก็คือนักปั่นจิ้งหรีด ซึ่งนั่งกันอยู่สองมุม มุมหนึ่งคือ “นายทุนใหญ่ใจถึง” อีกมุมหนึ่งคือขุนศึกที่นายทุนใหญ่ยังซื้อไม่สำเร็จ ซึ่งผมขอเรียกง่ายๆว่า “ขุนศึกศักดินา” ก็แล้วกัน ดูจากเรคคอร์ดของนักปั่นจิ้งหรีดที่นั่งประจำที่ทั้งสองมุมแล้ว งานนี้คงหลีกเลี่ยงการฆ่ากันตายเป็นเบือได้ยาก เพราะนายทุนใหญ่นั้นมีเรคคอร์ดที่ชัดเจนจากทั้งกรณี “ยิงทิ้ง” ขี้ยาสองพันกว่าศพ กรณีกรือเซะ กรณีตากใบ กรณีเผาราชประสงค์ ส่วนเรคคอร์ดของฝ่ายขุนศึกศักดินานั้นก็ใช่ย่อย ผมเองเคยเห็นกับตามาแล้วสมัยเป็นนักศึกษา รวมทั้งการถูกฆ่าตายของเพื่อนสนิทของผมเองที่ริมฝั่งโขง ซึ่งผมขออนุญาตไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บนะครับ

 

        ไปภายหน้าเมื่อเล่าขานให้ลูกหลานฟัง มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เหลือเชื่อ ที่มวลชนจำนวนมหาศาลสองฝ่ายมารบกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีวาระของตัวเองอยู่ในมือ แต่เมื่อเปิดโผออกมา วาระของแต่ละฝ่ายนั้นกลับเป็นคนละเรื่อง และไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันเลย แบบนิทานชาวนาสามคน คนหนึ่งอุ้มไก่ อีกคนอุ้มห่าน แล้วต้องมาตบตีกันเพราะชาวนาคนที่สามบอกว่าไก่กับห่านของทั้งสองคนจะจิกตี กันจนทำให้สัตว์เลี้ยงของฝ่ายตรงข้ามตาย ทั้งๆที่ในชีวิตจริง ไก่บ้าที่ไหนจะมาจิกตีกับห่าน

 

        วันจันทร์นี้ผมจะไปเดินถนนร่วมกับพี่ๆน้องๆหมอๆและพยาบาล ตามนัด ด้านหนึ่งไปเดินเพื่อให้น้องๆเกิดความรู้สึกอบอุ่นว่าขณะที่พวกเขาออกมาช่วย ประชาชนคนเจ็บไข้ในสนาม ผมซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่แก่แล้วได้ให้ความชื่นชมและสนับสนุนการธำรงเกียรติของ วิชาชีพที่พวกเขาได้ทำ อีกด้านหนึ่งก็เพื่อร่วมเป็น “ไทยเฉยฮึดสู้” อีกคนหนึ่ง ที่อยากแสดงออกถึงความอยากเห็นสังคมไทยกลับมาเป็นสังคมที่เปี่ยมสำนึกผิดถูก ชั่วดีดังเดิม ทั้งนี้โดยไม่ได้ให้ราคาอะไรกับพวกนักปั่นจิ้งหรีดที่อยู่เบื้องหลังไม่ว่าข้างไหนแม้แต่น้อย

 

        ทุกครั้งที่ผมไปเดินก่อนหน้านี้ ผมพยายามมองหาทางออกของสังคมไทยที่เป็นรูปธรรมแต่ก็ยังมองไม่เห็น ผมไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลสุดท้ายของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร บนนาทีที่ใกล้ถึงจุดหักล้างกันนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่าจะมีโอกาสที่ฝ่ายหนึ่งซึ่งก็คือคนจนในชนบทที่ต้องการการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งก็คือไทยเฉยฮึดสู้ที่ต้องการฟื้นฟูสังคมที่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกลับขึ้นมาใหม่ จะได้มีโอกาสจูนความต้องการของกันและกัน และสร้างสรรค์สังคมใหม่ร่วมกันโดยไม่ถูกปั่นให้ฆ่าฟันกันได้อย่างไร เพราะ

 

        ตราบใดที่ยังมีนักปั่นจิ้งหรีดหน้าเดิมนั่งประจำที่ทั้งสองมุมอยู่ โอกาสที่จะไม่ฆ่าฟันกันนั้นผมคิดว่า…ไม่มีเลย...

 

http://chaoprayanews...ึงการเมืองหนึ่/

 

-_-  กระพ๊มเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณหมอขอรับ... กระพ๊มพิจารณามาโดยตลอด... การจะหลีกพ้นการนองเลือดครานี้นั้น... หามีไม่... แม้สุดท้ายมวลมหาชนเราจะชนะ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าสงครามจะสงบโดยพลัน... นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการนองเลือดจริงๆก็เป็นได้ขอรับ...

 

:angry: แต่ถ้าไม่ทำก็เป็นขี้ข้ากันไปชั่วลูกชั่วหลาน... ใครจะยอม!!! 

 

 

 

 

 

 


:) Sometime...Sun shine through the rain...

#2 แสงดาวแห่งศรัทธา

แสงดาวแห่งศรัทธา

    ขาประจำ

  • Members
  • PipPipPip
  • 951 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 10:20

เห็นด้วยอย่างแรงงงงส์!!!! สู้เว้ยยย!!

#3 Octavarium

Octavarium

    ขาประจำ

  • Members
  • PipPipPip
  • 1,095 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 11:02

wealth distribution ที่ว่ามามันก็แค่ข้ออ้างให้ฟังดูหรู แท้จริงแล้วก็แค่อยากได้อำนาจไว้ในมือตัวเอง

หลังจากได้อำนาจมาแล้ว ช่องว่างของรายได้มันลดลงมั้ยล่ะ? สามสิบบาท กองทุนหมู่บ้าน ทำอะไรได้?

มีแต่กลุ่มที่ได้อำนาจไว้ในมือนั่นแหละที่รวยเอารวยเอา

 

ความเห็นส่วนตัว พวกนี้บางคนไม่ควรมีชีวิตกลับออกมาจากป่าด้วยซ้ำ


       Invoke ExitWindowsEx, EWX_SHUTDOWN | EWX_POWEROFF | EWX_FORCEIFHUNG, SHTDN_REASON_MAJOR_SYSTEM


#4 กระต่ายหมายจันทร์

กระต่ายหมายจันทร์

    รู้ดินรู้ฟ้า หรือจะสู้รู้คน

  • Members
  • PipPipPip
  • 1,394 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 11:13

เนื้อหาชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่ผมมีข้อสังเกตุในบทความ ดังนี้

1.คำว่า"นายทุนใหญ่ใจถึง" มันไม่น่าจะใช่ หากดูจากพื้นสันดาน

ของคนๆนี้ ที่มีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้เป็นที่ตั้ง  ประกอบกับ

ความใจแคบ ชอบเอาเปรียบคนอื่นทุกกรณีเป็นทุนเดิม น่าจะใช้

คำว่า"นายทุนใหญ่ใจหมานรก"มากกว่าถึงจะเหมาะสม

2.อารมณ์และความรู้สึกของบทความนี้ ผูเขียนยึดติดแนวความคิด

ทฤษฎีการเล่มเกมทางการเมือง โดยมองผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้

เป็นเพียงเบี้ยของขุนศึกศักดินา ที่จะสั่งการให้ทำอะไรก็ได้ตามที่

จะบัญชา มันถูกเพียงครึ่งเดียวในฝั่งของเสื้อแดง  แต่สำหรับมวล

มหาประชาชนของ กปปส  มันไม่ใช่อย่างที่คุณหมอสันต์มีทัศนะ

ทุกคนมีความเป็นตัวตน มีจิตสำนึกกบฏ(สาธารณะ) ฝากคุณหมอสันต์

ด้วย  คงต้องปรับกรอบความคิดใหม่ โปรดจำไว้หลักพุทธเป็นอมตะ


อย่าให้ความชั่วร้ายครอบงำเรา  จนไม่รู้จักผิดชอบดีชั่ว


#5 เสือยิ้มยาก

เสือยิ้มยาก

    เมพ

  • Members
  • PipPipPipPipPip
  • 8,695 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 11:22

เห็นด้วยครับ

แต่ในวรรคท้ายๆ ผมว่าผู้มาชุมนุม ไม่ใช่จิ้งหรีดนะครับ ผู้มาชุมนุมสติปัญญาเขามากกว่าแกนนำด้วยซ้ำ

ถ้าจะมีจิ้งหรีดสักตัวก็น่าจะเป็นคุณหมอนี่แหละครับ อิอิ :lol:


        shotgun.gif       d444.gif        cheesy.gif

 


#6 ขะยิ่นดง

ขะยิ่นดง

    ขาประจำ

  • Members
  • PipPipPip
  • 667 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 11:52

อีป้านกแสก มันบอกเป็นช่างตัดผม...... :D :D :D   ที่จริงแล้วแกเป็นเกษตรกรต่างหาก คุณหมอแกมีที่แถวๆ มวกเหล็ก สระบุรี ปลูกผักขายแบบไม่แสวงหากำไรด้วย....


  • wat likes this

#7 ชายน้ำ

ชายน้ำ

    สมาชิกขั้นสูง

  • Members
  • PipPipPipPip
  • 3,256 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 12:12

ผมชอบการไล่เรียงประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างชัดเจนของคุณหมอ

 

ผมอยู่ชั้นม.ศ.5 ในปี 2516 เข้าร่วมการชุมนุม14 ตุลาฯและทุกการชุมนุมหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน

 

แต่ที่คุณหมอเห็นคนสองกลุ่มเป็นจิ้งหรีดผมว่าน่าผิดหวัง การล้างสมองปัญญาชนคนชั้นกลางขนาดจำนวนที่เข้าร่วมกับกำนันสุเทพเพื่อประโยชน์ของคนหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และผมจะไม่มีวันเรียกกลุ่มคนที่ต้องการส่งผ่านประเทศไทยที่มีคุณธรรมสู่ลูกหลานว่าเป็นจิ้งหรีดเป็นอันขาด

 

จิ้งหรีดไม่มีวิจารณญาณครับ แต่ผมมี

 

และกลุ่มขุนศึกศักดินาที่คุณหมอว่ากำลังปั่นจิ้งหรีดผมก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน คนกลุ่มนี้ก็คือพวกเราเมื่อต้นทศวรรษที่70นั่นแหละครับ เพียงแต่เขาเรียนเตรียมทหารและเป็นนักเรียนเหล่าเท่านั้น ถ้าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ขายตัวให้ทักษิณเหมือนกับอดีตนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมพคท.บางคน พวกขุนศึกศักดินาที่คุณหมอกล่าวถึงก็คือแนวร่วมโค่นล้มระบอบทักษิณเหมือนพวกเรานี่แหละ



#8 sorrow

sorrow

    REFORM BEFORE ELECTION

  • Members
  • PipPipPip
  • 717 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 12:52

ความคิดเห็นของคุณหมอท่านนี้ในเรื่อง "นายทุน-ขุนศึก" เหมือนถูกแช่แข็งไว้กว่าสามสิบปี ถ้ามีใครบอกผมว่าแกเพิ่งถูกปลุกออกมาจาก Time Capsule ผมก็คงเถียงไม่ออก


ร่วมกันทำลายล้างระบอบทักษิณ-เผด็จการชินวัตรให้หมดไปจากแผ่นดินไทย

 

โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่      เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
คงยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ      ยอมอาสัญก็เพราะปองเทิดผองไทย


#9 Vekakav Vkkn

Vekakav Vkkn

    ขาประจำ

  • Members
  • PipPipPip
  • 881 posts

ตอบ 29 มกราคม พ.ศ. 2557 - 13:01

มีความเห็นแย้งครับ แต่ไหลตามน้ำดีกว่า


โหมด ผ่อนคลาย





ผู้ใช้ 1 ท่านกำลังอ่านกระทู้นี้

สมาชิก 0 ท่าน, ผู้เยี่ยมชมทั่วไป 1 ท่าน และไม่เปิดเผยตัวตน 0 ท่าน