เมื่อวานนี้ 3 กพ.57 สำนักข่าวอิสรา เขียนถึงประเด็นเดียวกับกระทู้นี้เลยครับ
มีความคืบหน้าเพิ่มเติมเช่นได้สัมภาษณ์ คุณชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการ-
คณะกรรมการกฤษฎีกา ในวันเดียวกัน กับมีความเห็นจากนักกฎหมายอาวุโส
ท่านอื่นมาประกอบเพิ่มเติมด้วย สรุปคือต้องรอวัดดวงถ้าคดีไปถึงศาลครับ
--------------------------------------------------------------
เบื้องหลัง"กฤษฎีกา"ไฟเขียวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หาเงินโปะหนี้จำนำข้าว?
http://www.isranews..../27030-bbk.html
สำนักข่าวอิสรา: วันจันทร์ ที่ 03 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 20:00 น
เปิดเบื้องหลังบันทึกความเห็น "สนง.กฤษฎีกา" ตอบข้อหารือ ก.คลัง ปมหาแหล่งเงินกู้โปะหนี้นำจำข้าว "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ดำเนินการรวดเร็วทันใจ "ถามปุ๊บตอบปั๊บ" แล้วเสร็จในวันเดียว!
ในการเดินหน้าหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของ รัฐบาลรักษาการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้
หนึ่งในเหตุผลทางกฎหมายสำคัญที่ นายกิตติรัตน์ นำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาเรื่องนี้ คือ ความเห็นของ "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา"
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร. 0901/ 85 ลงวันที่ 23 มกราคม 2557 ที่ทำถึง รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เรื่องการขอหารือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 เรื่องการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ในการพิจารณาเรื่องนี้ว่า “.. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบกรอบ ชนิด ราคา ปริมาณ ระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี การผลิต 2556/57 ซึ่งมีระยะเวลารับจำนำ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2557 สำหรับภาคใต้ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 - ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ และอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งรัดดำเนินการโครงการจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ภายใต้กรอบวงเงินของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี การผลิต 2556/57 จำนวน 270,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย ซึ่งมีเป้าหมายปริมาณการรับจำนำรวม 16.5 ล้านตัน โดยขณะนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้เริ่มดำเนินการรับจำนำใบประทวนซึ่งรัฐบาลได้ออกให้แก่เกษตรกรที่นำผลผลิตมาจำนำตามโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 แล้วอันก่อให้เกิดภารผูกพันเป็นหนี้ที่รัฐบาลจะต้องชำระแก่เกษตรกรผู้ถือใบประทวน
สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มีใบประทวนนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เกษตรกร ได้เริ่มดำเนินการปลูกข้าวเพื่อนำมาจำนำตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว แม้เกษตรกรดังกล่าวจะยังไม่มีใบประทวนแต่เป็นการดำเนินการของเกษตรกรตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบต่อไปจนสิ้นสุดโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้แล้ว
ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรได้รับชำระหนี้ กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินทุนให้เพียงพอ ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังโดยคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้ดำเนินการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 รับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 ครั้งที่ 1 ดังกล่าว และอนุมัติการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวตลอดจน ให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามโครงการดังกล่าว
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังระบุด้วยว่า พิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ได้ก่อให้เกิดหนี้ที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมายโดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติไว้แล้วก่อนมีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงินเงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น จึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เพื่อให้สามารถชำระหนี้ของรัฐบาลตามโครงการที่ได้รับอนุมัติก่อนการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ถือเป็นการกระทำอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ตามบทบัญญัติมาตรา 181 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
ลงชื่อ "นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ" เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
จากการตรวจสอบข้อมูลในหนังสือฉบับนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1. ในหนังสือฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อ้างถึงหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0900/852 ลงวันที่ 23 มกราคม 2557 โดยระบุว่ากระทรวงการคลังได้ขอหารือความเห็นมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือในเรื่องนี้
ขณะที่หนังสือตอบความเห็นทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งกลับไปถึงกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 23 มกราคม 2557 เช่นกัน
ชี้ให้เห็นว่า การพิจารณาความเห็นทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในเรื่องนี้ใช้เวลาในการพิจารณาไม่ถึง 1 วัน
2. ในหนังสือตอบความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุคำว่า "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา" เป็นผู้ตอบความเห็น "มิใช่" คณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การตอบข้อหารือเรื่องนี้ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำในนามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ส่วนการตอบความเห็นก็เป็นไปตามหลักการทางกฎหมายทั่วไป และตามข้อเท็จจริงที่ถามมา แต่การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะต้องไปดำเนินการให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายอีกครั้ง
ขณะที่ นายเฉลิมชัย วสีนนท์ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต นิติกรกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ก่อนหน้านี้ ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ใช่องค์กรผู้ชี้ขาดตามกฎหมาย ฉะนั้นแม้จะเป็นความเห็นขององค์คณะ หรือที่ประชุมใหญ่กฤษฎีกาเลย ก็ไม่ใช่ประเด็นอยู่ดี
"การกู้เงินในโครงการรับจำนำข้าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 หรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาหรือตีความบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ สมมติต่อไปมีผู้ไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่าสามารถยื่นได้เพราะปัญหาเกิดขึ้นแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำเนินการของรัฐบาลกระทำไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้น"
"ผมเคยเป็นกรรมการกฤษฎีกา เคยอยู่กรมบัญชีกลาง เคยเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ทราบเรื่องนี้ดี ฉะนั้นความเห็นของกฤษฎีกาไม่ใช่ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของตัวเลขาธิการเอง ความเห็นขององค์คณะ หรือแม้แต่ที่ประชุมใหญ่ก็ตาม ก็ลองย้อนดูว่ากี่เรื่องแล้วที่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาพอไปถึงศาลแล้ว แพ้ เมื่อก่อนศาลไม่ค่อยกลับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกานะ แต่เดี๋ยวนี้ตั้งใครเข้าไปบ้างก็ลองไปดูก็แล้วกัน ทำไมความเห็นถึงถูกกลับเป็นประจำ"
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้ทำบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด เลขที่ กค 0900/192 ถึงรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน เพื่อขอให้นำเรียนข้อสังเกตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อกรณีการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต 2556/2557
โดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (นาปี) ปีการผลิต2556/2557 ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น อาจถูกวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ฯ ต่อไปได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา181(3) หรืออาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ จึงเห็นควรนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาทบทวน หรือสั่งการยืนยันให้ดำเนินการดังกล่าวต่อไป
(อ่านประกอบ:เปิดหนังสือลับ "สบน."แย้ง “กิตติรัตน์” ดันทุรัง หาเงินกู้โปะจำนำข้าว)
อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ยืนยันความเห็นชัดเจนว่า
".. การที่ กกต.ระบุว่าการดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 21 ม.ค.2557 ไม่เข้าข่ายการใช้จ่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (1) ,(2) และ (4) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าการดำเนินการตามมติครม.ดังกล่าว ไม่ขัดต่อมาตรา 181(3) ของรัฐธรรมนูญ
ในขณะที่กระทรวงการคลัง มีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 และวันที่ 21 ม.ค.2557
จึงยืนยันให้ดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 21 ม.ค. 2557 ต่อไป.."
ส่วนเรื่องนี้ จะถูกหรือผิด สุดท้ายอาจจะต้องให้องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ชี้ขาด อีกครั้ง ?
Edited by jerasak, 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 - 12:19.