Jump to content


Photo
- - - - -

ดูช้างให้ดูหาง ดูรัฐบาลต้องดูงบ


  • Please log in to reply
2 ความเห็นในกระทู้นี้

#1 อู๋ ฮานามิ

อู๋ ฮานามิ

    สมาชิกหน้าเก่า

  • Members
  • PipPipPipPipPipPipPip
  • 12,018 posts

ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 - 14:11

ดูช้างให้ดูหาง ดูรัฐบาลต้องดูงบ

3 กุมภาพันธ์ 2014

 
หางกระดิกหมา
 
เข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านไปเมื่อวานนั้น เป็นการเลือกตั้งที่คนจำนวนไม่น้อยกาบัตรไปโดยไม่เคยแม้แต่จะได้ฟังนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ กกต. เอามาเวียนออกทางโทรทัศน์เลยสักครั้ง จนหลายคนบอกว่านี่เป็นเรื่องผิดธรรมชาติของการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เพราะคนเข้าคูหาไปโดยแทบไม่มีความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองจะเลือก
 
อย่างไรก็ตาม นั่นก็ยังพอที่จะเข้าใจได้ เพราะลำพังแค่เรื่อง Vote No หรือ No Vote นี่คนก็เถียงกันจนแทบไม่เป็นอันทำมาหากินอยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนมาพิจารณานโยบายอื่น แต่ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าก็คือ ต่อให้ใครหาเวลาไปฟังนโยบายพรรคการเมืองเหล่านี้ขึ้นมาจริงๆ ก็จะพบว่ามันไม่ได้ช่วยให้เรามีข้อมูลหรือความรู้ความเข้าใจอะไรขึ้นมาอยู่ดี
 
ทั้งนี้เป็นเพราะบรรดาพรรคการเมืองห้าสิบกว่าพรรคที่มาออกทีวีนั้น ส่วนใหญ่ก็ตั้งหน้าตั้งตาบอกแต่ว่าถ้าตัวเองเป็นรัฐบาลจะเอาอะไรมาแจกประชาชนท่าเดียว โดยไม่มีการให้ข้อมูลเชื่อมโยงกับความเป็นจริงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบันอะไรทั้งสิ้น และที่แน่ๆ ก็คือ ไม่บอกข้อมูลว่าต้นทุนของของที่จะเอามาแจกนั้นเป็นเท่าไหร่ หรือจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อของดังกล่าว การตัดสินใจเลือกตั้งของคนไทย จึงเหมือนถูกบังคับให้ต้องทำอย่างฉาบฉวย แม้อยากจะเลือกตั้งโดยความรู้มากกว่าความหวัง ก็ยังทำไม่ได้
 
ในประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ เพราะเขารู้ดีว่า “ข้อมูล” นั้น เป็นหัวใจของประชาธิปไตยที่แข็งแรง เพราะมีแต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ หรือ “Informed Electorate” เท่านั้น ที่จะสามารถแยกแยะนโยบายอันทรามและประณีตออกจากกันได้
 
ด้วยเหตุนี้ พอถึงฤดูเลือกตั้งทีหนึ่ง เขาจึงบังคับให้รัฐต้องจัดทำ “Pre-Election Report” กล่าวคือ รายงานสภาพทางการเงินการคลังของรัฐบาลที่เป็นอยู่ขณะก่อนเลือกตั้ง โดยระบุเกี่ยวทรัพย์สิน หนี้สินของรัฐบาลทั้งหมด รวมไปจนถึงสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน หนี้สินเงินบำนาญข้าราชการ หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และประมาณการณ์เกี่ยวกับงบประมาณในปีนั้นและอีกสองปีถัดไป เพื่อให้คนสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลพิจารณาประกอบกับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และบอกได้ว่าประเทศในสภาวะเช่นนั้น ควรจะได้รับนโยบายของพรรคไหนเข้าไปบริหาร
 
และความจริงเขาก็ไม่ได้ทำกันแค่นี้ด้วย เพราะ Pre-Election Report นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาเรียกกันว่า Fiscal Transparency หรือความโปร่งใสทางงบประมาณ อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลดีๆ จะขาดไปเสียไม่ได้
 
เพราะจะว่าไป สำหรับประชาชนแล้ว งบประมาณนั้นกล่าวได้ว่าเป็นสาระสำคัญที่สุดของรัฐบาลหนึ่งๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่แปรเอานามธรรมที่รัฐบาลฝอยไว้เป็นคุ้งเป็นแควมาเป็นเรื่องจริง-เงินจริงที่จับต้องได้ โดยนัยนี้ รัฐบาลดีๆ จึงจำเป็นต้องมีความโปร่งใสทางงบประมาณ เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะช่วยทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงกิจกรรมทางการเงินของรัฐบาล และสามารถวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้งบประมาณได้อย่างเจาะลึกในเนื้อหาสาระ อันจะนำไปสู่การกดดันให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีขึ้นได้ โดยเขานิยามกันว่าความโปร่งใสทางงบประมาณนั้น คือ “การเปิดเผยข้อมูลทางงบประมาณอย่างครบถ้วน ทันเวลา และเป็นระบบ” ซึ่งมีลักษณะสำคัญๆ บางส่วน เช่น
 
หนึ่ง งบประมาณจะต้องได้รับการนำเสนอในรูปแบบที่เอื้อต่อการวิเคราะห์และการกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ มีการบอกวัตถุประสงค์ของการใช้งบประมาณ สมมติฐานที่ใช้ในการกำหนดงบประมาณ ความเสี่ยงที่สำคัญ รวมทั้งความเสี่ยงจากการรับประกันและเงินสำรองเพื่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
 
สอง งบประมาณจะต้องระบุถึงรายรับรายจ่ายอย่างครบถ้วน และมีความเห็นประกอบตัวเลข รวมทั้งระบุถึงข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน เช่น เป้าหมายของการดำเนินการ ควบคู่ไปกับรายการรายจ่ายที่เกี่ยวข้อง
 
สาม งบประมาณจะต้องมีการประมาณผลระยะกลาง (medium-term perspective) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายรับและรายจ่ายจะพัฒนาไปในทิศทางใดในช่วงสองปีหลังจากปีถัดไป รวมทั้งแสดงให้เห็นว่างบประมาณในปัจจุบันสอดคล้องกับการประมาณการณ์ที่ปรากฏในรายงานฉบับก่อนหน้าหรือไม่ และหากไม่ มีข้ออธิบายอย่างไร
 
สี่ รายงานงบประมาณจะต้องมีการจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นระยะๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ติดตามความก้าวหน้าในการใช้วงเงินตามงบประมาณ เช่น Pre-Budget Report, Monthly Report, Mid-Year report, Year-End report รวมถึง Pre-Election Report เพื่อให้เห็นสถานะทางการเงินของรัฐบาลในขณะก่อนการเลือกตั้ง และ Long-Term Report ทุกๆ ห้าปี เพื่อแสดงให้เห็นข้อมูลในแง่ความยั่งยืนของนโยบายต่างๆ
 
ห้า รายงานจะต้องมีมาตรฐานการบัญชี และระบบตรวจสอบตรวจทานที่ชัดเจนตั้งแต่ระดับภายในองค์กร ระดับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ระดับสภา จนถึงระดับการตรวจสอบโดยประชาชน ผ่านทางการเผยแพร่ข้อมูลให้เป็นสาธารณะ ฯลฯ
 
เห็นรายละเอียดแล้ว ก็นึกอยากให้บ้านเรามีอะไรอย่างนี้บ้าง เพราะคงช่วยแก้ปัญหาการหมกเม็ด สับขาหลอก หรือ “White Lies” อะไรต่างๆ ที่เป็นธรรมเนียมของงบประมาณแบบไทยได้มาก
 
แต่ก็คงต้องรออีกพักใหญ่ เพราะทุกวันนี้ ยังไม่เห็นเรื่องนี้อยู่ในนโยบายของพรรคไหนทั้งนั้น
 
ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557
 
 
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
เรื่องเปิดเผยงบแบบนี้ รัฐบาลบ้านเราจะกล้าทำไหม ? 

ถึงผมจะเป็นคนหัวขบถ แต่ไม่คิดทรยศบุญคุณแผ่นดินเกิด

 

เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่ใช่ใบอนุญาตทำร้ายประเทศชาติ


#2 GODarmy

GODarmy

    ขาประจำ

  • Members
  • PipPipPip
  • 278 posts

ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 - 14:51

จำได้ตอน ปชป ยุบสภา

คุณอภิสิทธิ์ ก็แถลงเรื่องการเงินออกทีวีนะครับ

รัฐบาลปู แถ แถลงไหมผมไมแน่ใจ



#3 anntracite

anntracite

    ขาประจำ

  • Members
  • PipPipPip
  • 266 posts

ตอบ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 - 15:10

อยากให้คณะ รบ แต่ละคนมี KPI ประจำตัวไปเลย บอกวิธีวัดผล KPI แต่ละตัวด้วยนะ

ของนายก KPI เป็นของภาพรวมแต่ละกระทรวง หรือตัวสำคัญที่เป็นนโยบายที่อยากทำ เช่นลดคอร์รัปชั่น

แล้วแต่ละกระทรวงก็กำหนดของ รมต อธิบดี ปลัด รองปลัด ลดหลั่นไป จนถึงคนทำงาน

ทุกเดือนก็ดูผลแล้ววางแผนแก้ อาจทำรายงานส่งทุก 6 เดือน

จะได้รู้ว่าทำงานจริงเปล่า ไม่ใช่อย่างพาณิชย์บอกจะขายข้าวอย่างงู้นอย่างงี้ สุดท้ายทำไม่ได้ ก็หน้าด้านไปเรื่อย

อย่างนี้ประชาชนจะได้มีข้อมูลไว้ตัดสินใจตอนเลือกตั้ง ว่ามันดีแต่พูดเปล่า






ผู้ใช้ 1 ท่านกำลังอ่านกระทู้นี้

สมาชิก 0 ท่าน, ผู้เยี่ยมชมทั่วไป 1 ท่าน และไม่เปิดเผยตัวตน 0 ท่าน