"เจ๊งจำนำข้าว"ผิดครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก !
ในที่สุดโครงการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อยู่บนพื้นฐานอันฉ้อฉล อย่างโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร ก็มาถึงทางตัน และจะกลายเป็นจุดตายของระบอบทักษิณในไม่ช้านี้ ที่มาที่ไปของโครงการรัฐที่อัปยศที่สุดโครงการนี้ มาจากความเห็นแก่ได้ของ นช.ทักษิณ ชินวัตร คนต้นคิดโครงการนั่นเอง...
ความจริงโครงการ “รับจำนำข้าว”เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2529 แต่ในสมัยนั้นเป็นโครงการที่อยู่พื้นฐานอันสอดคล้องกับความเป็นจริง และสมเหตุสมผล ไม่ได้เจือปนด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองแต่อย่างใด นั่นคือเป็นโครงการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีเงินสดหมุนเวียนหลังเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งราคาข้าวมักจะตกต่ำ รัฐบาลจึงให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)รับจำนำข้าวในอัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาด ตามหลักการของการรับจำนำโดยทั่วไป ไม่ใช่รับจำนำสูงกว่าราคาตลาดเหมือนในยุคนี้ รอจนเมื่อราคาข้าวในท้องตลาดสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจ ชาวนาจึงมาไถ่ถอนจาก ธ.ก.ส.ไปขาย โครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม จึงไม่ได้ทำให้ ธ.ก.ส.หรือรัฐบาลเสียวินัยการคลัง แต่ก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้เกษตรกรได้ เพราะนำไปจำนำแล้วได้เงินทันที
แต่โครงการรับจำนำข้าวในยุคที่ นช.ทักษิณขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ได้ถูกดัดแปลงใหม่ เป็นการรับจำนำในราคาสูงกว่าท้องตลาด เพื่อซื้อเสียงจากชาวนา อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเข้ายึดกุมอำนาจรัฐด้วยการใช้โครงการประชานิยมซื้อเสียงจากประชาชน ส่วนข้ออ้างที่ว่า การรับจำนำในราคาสูงก็เพราะรัฐบาลต้องการซื้อข้าวเก็บไว้ปริมาณมากๆ เพื่อที่จะสร้างอำนาจต่อรองกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกเองนั้น เป็นเหตุผลที่เอามาใส่ทีหลัง หลังจากไม่สามารถระบายข้าวออกไปต่างประเทศได้ เพราะซื้อมาในราคาสูง เหตุผลที่แท้จริงของการรับจำนำสูงกว่าราคาตลาด มีเป้าประสงค์เพื่อจะซื้อเสียงจากชาวนาข้อเดียวล้วนๆ และผลก็ออกมาเช่นนั้น เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นับจากรัฐบาล นช.ทักษิณ ชินวัตร ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในอัตราสูงกว่าราคาตลาด ประเทศไทยยังไม่เคยกำหนดราคาข้าวในตลาดโลกได้ด้วยตัวเอง
ที่ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อรัฐบาลซื้อข้าวเก็บไว้เองในปริมาณมากๆ ก็ทำให้มีปัญหาการระบายข้าวออก เพราะขาดความเชี่ยวชาญ ขณะที่พ่อค้าเอกชนก็มีปัญหาขาดแคลนข้าวส่งออก เพราะรัฐบาลซื้อไปตุนไว้หมด ปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าวถูกเร่งให้เข้าสู่จุดจบในยุครีัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ หุ่นเชิดคนที่ 3 ของ นช.ทักษิณ นั่นเพราะในช่วงการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศเมื่อกลางปี 2554 นั้น ได้หาเสียงกับชาวนาว่าจะรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาตันละ 15,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้าทั่วไป และตันละ 20,000 บาทสำหรับข้าวหอมมะลิ การตั้งราคารับจำนำดังกล่าวถือว่าสูงกว่าราคาข้าวในท้องตลาดถึงร้อยละ 50 เพื่อเกทับพรรคประชาธิปัตย์ที่ดำเนินนโยบายจ่ายเงินประกันรายได้ให้ชาวนาตันละ 12,000 บาท(คิดจากต้นทุนบวกกำไร 40%) ตั้งแต่ช่วงที่เป็นรัฐบาล และจะสานต่อนโยบายนี้หากได้รับเลือกตั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของ นช.ทักษิณ ได้เป็นนายกฯ จึงนำโครงการรับจำนำข้าวกลับมาอีกครั้ง และสร้างความเสียหายให้แก่ข้าวไทยในอัตราที่หนักหน่วงกว่าเดิม
เมื่อตั้งราคารับซื้อไว้สูงกว่าเดิม การระบายออกก็ยากกว่าเดิม ทำให้รัฐบาลไทยมีข้าวค้างสต๊อกจากการรับจำนำมาตั้งแต่ยุค นช.ทักษิณเป็นนายกฯ อยู่เกือบ 20 ล้านตันแล้ว ขณะเดียวกันไทยก็เสียแชมป์ส่งออกข้าวที่เคยยึดครองมากกว่า 30 ปีให้แก่อินเดีย ในปี 2555 โดยหล่นลงไปอยู่ที่ 3 แพ้แม้กระทั่งเวียดนาม ขณะที่ยอดส่งออกก็ลดลงจากปีละ 10 ล้านตัน เหลือไม่ถึง 7 ล้านตัน ขณะที่กระบวนการดำเนินโครงการก็มีการทุจริตโกงกินยุบยับทุกขั้นตอน ตั้งแต่การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ การเวียนเทียนนำข้าวเก่ามาจำนำ การแอบนำข้าวในโกดังไปขาย การระบายข้าวให้พวกพ้องคนใกล้ชิดนักการเมืองในราคาถูกนำไปขายโกยกำไรชั่วข้ามคืน
ที่เลวร้ายที่สุดคือการแอบอ้างว่าได้ขายข้าวให้รัฐบาลจีนแบบจีทูจี แต่แท้ที่จริงคือบริษัทของคนใกล้ชิดนักการเมืองที่อยู่ในไทยนี่เอง นี่คือการโกหกที่หน้าด้านที่สุดในโลก
ในปี 2555 ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลถูกโจมตีอย่างหนักว่าไม่สามารถระบายข้าวที่ซื้อมาในราคาสูงออกไปตลาดต่างประเทศได้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ในขณะนั้น จึงพยายามแก้ผ้าเอาหน้ารอด ด้วยการอ้างว่า รัฐบาลสามารถขายข้าวแบบจีทูจีกับหลายประเทศ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเป็นความลับ ไม่ว่าจะถูกนักข่าวซักไซร้อย่างใดก็ตาม
จนปี 2556 นายบุญทรงจึงออกมาเปิดเผยว่า สามารถทำสัญญาขายข้าวกับบริษัทจีเอสเอสจี ของประเทศจีนได้ ซึ่งก็มีข้อพิรุธเพราะในวงการขนส่งไม่มีการขนส่งข้าวไปประเทศจีนตามที่นายบุญทรงอ้าง แต่นายบุญทรงก็อ้างว่า เป็นการขายในราคาหน้าโกดัง คือผู้ซื้อมาขนเองหน้าโกดัง เราจึงไม่รู้ว่าเขาใช้บริการขนส่งของบริษัทอะไรอย่างไร
ข้อพิรุธเหล่านี้ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบแล้ว และพบว่า ไม่มีการส่งออกข้าวไปจีนแบบจีทูจีตามที่รัฐบาลอ้าง นายบุญทรงและพวก จึงถูกตั้งข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช.ไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับมีการเรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์มาไต่สวนเพิ่ม ช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา นายหลี เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเดินทางมาเยือนไทย และรับปากจะซื้อข้าวจากไทย ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดีใจแถลงต่อนักข่าวละล่ำละลักว่ารัฐบาลจีนตกลงทำสัญญาซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน ทั้งที่จริงนั่นเป็นเพียงแค่คำหวานจากพี่ใหญ่แห่งเอเชียผู้มาเป็นอาคันตุกะ ไม่ใช่สัญญาว่าจะต้องซื้อแน่นอน
ถึงแม้ว่า ในวันที่ 20 พ.ย.2556 ได้มีการลงนามกันในเบื้องต้นระหว่างรัฐบาลไทย โดยกรมการค้าต่างประเทศกับรัฐบาลจีน โดยบริษัท Beijing Great Northern Wilderness Rice Industry สังกัดบริษัท เป่ยต้าฮวง กรุ๊ป ของกรมการเกษตร มณฑลเฮยหลงเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะซื้อข้าวจากไทยในปริมาณ 1.2 ล้านตัน แต่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ก็ยอมรับว่าทางจีนได้ยกเลิกสัญญาแล้ว โดยอ้างว่า เป็นเพราะ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบการขายข้าวแบบจีทูจีกับจีน และบริษัทเป่ยต้าฮวง ก็เป็นของรัฐบาลท้องถิ่น ไม่ใช่รัฐบาลกลางของจีน จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ การออกมายอมรับว่าจีนยกเลิกสัญญาซื้อข้าว ได้สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการระบายข้าวที่ซื้อมาในราคาสูงออกไป
ซึ่งนี่ก็ส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวขาดเงินหมุนเวียน ทำให้ฤดูการผลิต 2556/2557 ยังขาดเงินที่จ่ายให้ชาวนาอยู่ 1.3 แสนล้านบาท
จะอนุมัติเงินเพิ่มก็ไม่ได้ เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ หลังจากยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.56 จะกู้เงินจากธนาคารของรัฐเพิ่มก็ไม่ได้ เพราะทุกธนาคารต่างปฏิเสธ กลัวจะผิดกฎหมาย รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงต้องเลื่อนการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาออกไปเรื่อยๆ ขณะที่กระแสการประท้วงจากชาวนาก็แรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จนล่าสุดรัฐบาลต้องหาทางออกด้วยการนำข้าวออกประมูลขายให้เอกชนในราคาถูก หรือแม้กระทั่ง บอกว่าจะจ่ายเป็นข้าวสารแทนเงินให้ชาวนา นี่แสดงว่าโครงการรับจำนำข้าวมาถึงทางตันจริงๆ นอกจากปัญหาทุจริตที่มีอยู่ทุกขั้นตอนแล้ว เงินที่จะมาทำโครงการก็หมด ระบายข้าวออกก็ไม่ได้ นอกจากความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของชาวนา และการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินจากการทุจริตแล้ว ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้คือ ระบบการค้าข้าวในตลาดโลกที่ไทยเสียตลาดให้คู่แข่ง และยากที่จะทวงคืนกลับมา ขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตของชาวนาก็ถีบตัวสูงขึ้นตามราคาข้าวที่รัฐบาลรับซื้อความเสียหายครั้งนี้ เอาคนในตระกูลชินวัตรไปประหารชีวิตเจ็ดชั่วโคตรก็ยังไม่สาสม
ผู้จัดการสุดสัปดาห์
8 กุมภาพันธ์ 2557