ของดีเมืองภูเก็ต
โดย...แสวง ศรีเพ็ญ
วารสารสมาคมเพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2512
สิ่งที่ประทับใจและน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ชาวตำบลป่าตองของจังหวัดภูเก็ต จะต้องจารึกและจดจำไว้ในดวงใจตราบชั่วชีวิตของชนรุ่นนี้ ตลอดจนถึงชน รุ่นหลังสืบต่อกันไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน สิ่งนั้นก็คือเรื่องราวและความเป็นมาของราชปาทานุสรณ์ ที่กำลังจะเสนอทานดังต่อไปนี้
เมื่อวันนั้น ซึ่งหมายถึงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2502 ที่บันไดหน้าบ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 2 ที่ตั้งสงบเงียบอยู่ท่ามกลางดงมะพร้าวและสวนยางอันร่มครื้มตามสภาพบรรยากาศ ในชนบททางตอนใต้ของประเทศไทย และอยู่ตรงข้ามกับวัดสุวรรณคีรีวงศ์ ซึ่งเป็น บ้านของนางลมุล ภิรมฤทธิ์ ขณะนั้นเวลาประมาณ 12.05 น. นางลมุนกำลังรับประทานอาหารอยู่ในบ้าน บังเอิญสายตาเหลือบไปเห็นบุรุษสองคน กำลังเดินตรงมาที่บ้าน ในตอนแรกก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก คงก้มหน้ารับประทาน อาหารต่อไปอีก ด้วยเข้าใจว่าคงเป็นเพื่อนบ้าน ธรรมดาสามัญชนที่เคยผ่านไปมา
แต่ ก็คล้ายกับมีอะไรบางอย่างสะกิดใจให้นึกถึงพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ติดบูชาไว้บน หิ้งข้างฝาเหนือหัวนอน จึงหันกลับไปมองดูอย่างพิจารณาอีกครั้ง การหันกลับไป มองดูใหม่ในครั้งหลังนี้ทำให้นางลมุนตกใจแทบหมดสติ จนเผลอตัวร้องออกมาด้วย ความตกใจว่า “โอ้ ยจ้าว” และพร้อม ๆ กันนั้นก็พรวดพราดลุกขึ้นทันทีในลักษณะของคนตกใจสุดขีด ด้วยไม่เคยคาดคิดมา ก่อนว่าจะเป็นไปได้ เพราะผู้ที่ยืนอยู่ตรงหน้าบันไดบ้านนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้มาเสด็จประทับยืนอยู่อย่างเงียบ ๆ มีหม่อมทวีวงศ์ถวัลย์ศักดิ์ เป็นผู้โดยเสด็จมาด้วยในขณะนั้น
นางลมุลแต่งกายธรรมดาชนิดอยู่กับบ้านและตามแบบฉบับที่นิยมกันทั่ว ๆ ไปของชาวบ้านเป็นส่วนมากในตำบลที่ห่างไกลออกไปของจังหวัดภูเก็ต คือการนุ่งผ้าโสร่งกระโจมอก ความตกใจยังไม่หมดไปแต่ก็ยังดีที่อุตส่าห์ครองสติอยู่ ได้ นางลมุนรีบจัดแจงคว้าเสื้อมาสวมอย่างรุกรี้รุกรน พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “ไม่เป็นไรตามสบายอย่างนั้นก็ได้” แล้วมีพระราชดำรัสถามถึงทุกข์สุขและความเป็นอยู่ การทำมาหากินของนางลมุนว่าเป็นอย่างไร ตลอดทั้งเพื่อนบ้านข้างเคียงอีกด้วย และในโอกาสเดียวกันนั้นก็ทรงบันทึกภาพต่าง ๆ ไว้ ด้วยเสียงร้องอย่างตกอกตกใจ “โอ้ยจ้าว” ของนางลมุน ได้ยินไปถึงเพื่อนบ้านที่อยู่ข้างเคียงและเสียงรถยนต์ของเจ้า หน้าที่ผู้ติดตามอีกหลายคันแล่นเป็นขบวนเข้ามาในหมู่บ้านป่าตองอย่างรีบเร่ง เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่เหล่านั้นต่างก็ยังไม่ทราบว่าขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะประทับอยู่ที่ใด เพราะพระองค์ท่านได้ทรงแยกขบวนออกมา โดยไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อน
และด้วยการบอกเล่ากันต่อๆไปจากปากสู่ปากของชาวบ้าน ฉะนั้น เพียงชั่วไม่กี่นาที ข่าวการเสด็จมาเยี่ยมเยียนประชาราษฎรชาวป่าตองของล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว รอบ ๆ บริเวณที่พระองค์ประทับอยู่นั้นจึงเนื่องแน่นไปด้วยฝูงชนชาวป่าตอง รวมทั้ง พระภิกษุสามเณรอีกมากมายที่พากันออกมาเพื่อเฝ้ารับเสด็จด้วยความจงรักภักดี และเพื่อชื่นชมบารมี เพราะทุกคนตั้งแต่เกิดมาพึ่งจะวันนี้แหล่ะ ที่จะได้เห็นพระองค์ท่านด้วยสายตาอย่างชัดแจ้งและแท้จริง ไม่ใช่นึกฝัน เหมือนสวรรค์บันดาลและไม่มีใครคิดมาก่อน ในขณะนั้นถนนหนทางที่เข้ามาสู่บ้านนั้นก็แสนจะลำบาก ต้องเลียบไปตามไหล่เขาที่บางแห่งก็สูงชันและคดเคี้ยวไป มา เพื่อหลบหลีกชะง่อนหินและต้นยางใหญ่ที่สูงละลิ่วเสียดยอดขึ้นไปชนิดแหงน ดูคอตั้งบ่า จากถนนใหญ่เข้าสู่หมู่บ้านก็อยู่ห่างกันตั้งหลายกิโลนาน ๆ จะมีรถบรรทุกคันใหญ่ ๆ ขนสินค้าเข้าไปส่งบ้างเป็นครั้งคราว แล้วผู้ขับขี่ต้องมีความชำนาญและมือแน่จริง ๆ จึงจะกล้าขับเข้าไป ในวันนั้นชาวบ้านบอกว่าพระองค์ทรงขับรถจิ๊ปเข้าไปเอง ยิ่งทำให้เป็นสิ่งประทับใจของชาวบ้านแห่งนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
เมื่อ มีประชาชนออกมาเฝ้ารับเสด็จมากมายเช่นนั้น พระองค์จึงเสด็จออกไปประทับยืนที่ริมทางตรงกันข้ามกับประตูของวัดสุวรรณคีรีวงศ์ ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งมีบริเวณกว้างขวางพอที่ราษฎรชาวบ้านนี้จะเฝ้ารับเสด็จได้สะดวก พระองค์ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสอย่างเป็นกันเองกับชาวบ้าน เกี่ยวกับความทุกข์สุขการทำมาหากินและอื่น ๆ อีก ต่อจากนั้นยังเสด็จพระราชดำเนินร่วมกับชาวบ้านไปยัง “น้ำตกวังขี้อ้อน” เพื่อทอดพระเนตรความงามของธรรมชาติและทรงพักผ่อนอิริยาบถอยู่ที่นั้นเป็น เวลานานพอสมควร แล้วจึงเสด็จกลับเส้นทางเดิม ทิ้งความอาลัยอาวรณ์และความจง รักภักดีอย่างสุดซึ้งในน้ำพระทัยของพระองค์ไว้กับชาวบ้านป่าตอง
ล้น เกล้าล้นกระหม่อมทรงจากไปแล้ว แต่ยังมีบางสิ่งที่พระองค์ทรงทิ้งเอาไว้อย่าง ไม่ยอมจากไปง่าย ๆ สิ่งนั้นคือรอยพระบาทของพระองค์ ที่เหลือรอยทิ้งไว้ให้เป็นสักขีพยาน เป็นสิ่งประทับใจและเพื่อเป็นอนุสรณ์แทนพระองค์สืบไปอีกชั่วกาลนาน
ในขณะที่ทุกคนกำลังตกอยู่ในสภาพที่ตื่นเต้นและตื้นตันใจ รวมทั้งความดีใจและ อะไร ๆ อีกร้อยแปดอย่าง บอกไม่ถูกต่อเหตุการณ์การเสด็จมาครั้งนี้ แต่มีอยู่คนเดียวเท่านั้นที่เฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ด้วยความเต็มตื้นสงบนิ่งด้วยจิตมั่นคงแน่ว แน่และกำลังใช้สมองอันเฉียบแหลม คิดจะดำเนินการอะไรสักอย่างให้เป็นอนุสรณ์ เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ เพื่อให้เกิด ประโยชน์ต่อสาธารณชนและต่อหมู่บ้านนี้สืบไป ท่านผู้นี้คือ พระครูพิสิษฐ์ กรณีย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีวงศ์
ทันใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเคลื่อนออกจากที่ประทับยืนอยู่เมื่อครู่นี้ เป็นระยะห่างพอสมควรแล้ว ท่านเจ้าอาวาสก็รีบคว้าไม้หลักที่หมายตาไว้ไปปักลงตรงรอยพระบาทที่ได้ ประทับยืนอยู่อย่างแน่นหนา เพื่อเป็นเครื่องหมาย แล้วคิดกำหนดโครงการไว้ต่อ ไปอีกว่า เมื่อถึงเวลาและมีกำลังพอก็จะหาทางร่วมกับชาวบ้านชาวป่าตอง สร้าง จำลองเป็นรอยพระบาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรงหลักที่ปักไว้เป็นเครื่องหมายอย่างถาวรเพื่อให้เป็นศักดิ์ศรีคู่บ้านคู่เมืองและเป็นสิ่งที่เคารพ สักการะแทนพระองค์ และให้เป็นที่ประจักษ์สืบต่อไป อีกชั่วนิรันดร์
ครั้นแล้วต่อมาอีกไม่นานนักด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวอันมีต่อชาวบ้านป่าตองอย่างล้นเกล้า ทำให้ชาวบ้านป่าตองทุกคน เห็นความสำคัญ เห็นคุณค่ามหาศาล ในอนาคตและเห็นดีเห็นงาม ตามความคิดกับความตั้งใจ อย่างแน่วแน่ของพระครูพิสิษฐกรณีย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีวงศ์ ทุกคนจึง พร้อมใจกันเสียสละ ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ตามความสามารถ จัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นตามแบบแปลนแผนผังที่ช่วยกันคิดขึ้น คือทำเป็นรอยพระบาทจำลองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยคอนกรีต มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงประมาณ 2 เมตร มีหลังคาสำหรับกันแดดกันฝนและเพื่อความสวยงาม สูงจากพื้นที่ประมาณ 3 เมตรเศษ ลักษณะคล้ายมณฑป และมีอักษรจารึกไว้ที่แผ่นคอนกรีตซึ่งทำขึ้นคล้ายกับหลักศิลาจารึกมีข้อความว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จเยี่ยมราษฎรในตำบลป่าตองโดยมิได้ทูลเชิญเสด็จฯ เสด็จลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ทรงเหยียบสถานที่นี้เป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2502 เวลา 12.03 น. ตรงกับวัน 4 ฯ 4 ปีกุน”
เมื่อ การก่อสร้างทุกอย่างเกี่ยวกับอนุสรณ์สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูและชาว บ้านทั้งหลายต่างก็ปราบปลื้มชื่นชมโสมนัสกันเป็นที่สุด เจ้าอาวาสได้ตั้ง ชื่อให้ว่า “ราช ปาทานุสรณ์” มีงานสมโภชกันทั้งวันทั้งคืน ประชาชนทั้งในตำบลนี้และใกล้เคียงตลอดทั้งจาก จังหวัดภูเก็ต ก็มาร่มการสมโภชกันอย่างมากมายเป็นที่สนุกสนานและเป็นเกียรติ ประวัติ แล้วต่อจากนั้นมาคณะกรรมการจัดงานของตำบลนี้ยังจัดให้เป็นงาน ประจำปีตลอดมาทุกๆปีอีกด้วย เจ้าอาวาสและชาวป่าตองพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะรักษาสมบัติอันล้ำค่านี้ไว้ ตลอดทั้งที่โครงการที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมอนุสรณ์สถานให้สวยงาม ยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้สมกับพระเกียรติและศักดิ์ศรีของ สิ่งคู่บ้านคู่เมือง
ได้ พยายามอยู่ทุกวิถีทางที่จะดำเนินการต่อไปอีกจนถึงที่สุด และชาวป่าตองทุกคน ก็ยังมั่นอยู่ในบุญญาบารมีอภินิหารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสิ่ง นี้คือ “ราชปาทานุสรณ์” ว่าคงจะช่วยดลบันดาลให้กุศลเจตนาอันดีมีประโยชน์ ทั้งในพลังทางใจและตลอดทั้งมีประโยชน์อย่างมหาศาล ในทางประวัติศาสตร์ของชาว ป่าตองรวมทั้งท่านเจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้ริเริ่มมาด้วยดี ได้สำเร็จลงสมความ ปรารถนาทุกประการ พร้อมกันนี้ ก็ยังหวังในความกรุณาของท่านผู้มีเมตตาจิต คิดจะช่วยเหลือในกิจการนี้อีก ด้วย
สิ่ง ที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ในบ้านป่าเมืองดอน เช่นบ้านป่าตองนี้เสมือน ฟ้ามาโปรดและประดุจเทพเจ้าแห่งความปรานี มาช่วยสร้างความร่มเย็นชุ่มฉ่ำให้ หรือจะเป็นด้วยดวงชะตาของหมู่บ้านแห่งนี้ อันกำลังรุ่งโรจน์ก็ไม่ทราบได้ หลังจากวันนั้นคือวันที่ล้นเกล้าล้นกระหม่อม อันเป็นที่เคารพรักสักการะ ยิ่งของชาวไทยได้เสด็จมาเยี่ยมและเสด็จกลับไปแล้ว ครั้งต่อมาอีกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2510 เวลาประมาณ 14.40 น. พระราชชนนีก็ได้เสด็จมาที่บ้านป่าตองนี้อีก เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรและชมราช ปาทานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ชาวป่าตองได้ช่วยกันสร้างขึ้น ด้วยพลังใจแห่งความศรัทธาอย่างสูงสุดขึ้นไว้ พระราชชนนีได้ทรงจารึกพระนาม “ศรีสังวาลย์” ไว้ที่ด้านหลังของหลักศิลาจารึกราชปาทานุสรณ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์คู่กันสืบต่อ ไปอีกด้วย ช่างเป็นมหาโชคอะไรเช่นนี้ ชาวป่าตองควรภูมิใจไว้เถิดว่านิมิตดี ได้บังเกิดขึ้นแล้ว และกำลังทอแสงเรืองรองขึ้นด้วยดี ขอให้พวกเราชาวบ้านป่า เมืองดอนแห่งนี้จงช่วยกันรักษาสมบัติล้ำค่านี้ไว้เพียงชีวิต และช่วยกัน บำรุงรักษาให้ภิญโญยิ่งขึ้นเถิด ผู้เขียนมั่นใจเหลือเกินว่าสักวันหนึ่งข้าง หน้านี้ แสงที่กำลังทอเรืองรองอยู่นี้จะสว่างไสวรุ่งโรจน์ยิ่งขึ้น จงช่วยกันรักษาไว้เป็นพิเศษประดุจเพชรน้ำเอกที่มีคุณค่ามหาศาล และสุดจะหาสิ่งใดมาเปรียบปานได้
๙๙๙๙๙๙